10 ส.ค. 2023 เวลา 08:53 • ข่าวรอบโลก

ภารกิจตามหาทหารสหรัฐฯที่สูญหายในอาเซียน

สหรัฐฯ เป็นประเทศที่มีบทบาทอย่างมากในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และสงครามเวียดนาม มีการส่งกำลังทหารเข้ามาในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นับหมื่นนาย หลายสิบปีผ่านไป อีกภารกิจสำคัญตอนนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ คือการตามหาร่างนายทหารที่สูญหายในสงครามเพื่อส่งคืนครอบครัว
พาไปพูดคุยกับผู้อำนวยการหน่วยงานของสหรัฐฯ ที่มีภารกิจตามหาร่างหรือซากของเชลยศึกและผู้สูญหายของทหารที่ออกปฏิบัติภารกิจทั่วโลก
แต่ถ้าจะถามว่าแล้วเกี่ยวกับอาเซียนอย่างไร สหรัฐฯ มีเจ้าหน้าที่ที่สูญหายหรือเสียชีวิตในภูมิภาคอาเซียนจำนวนมาก โดยเฉพาะช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และช่วงสงครามเวียดนาม ดังนั้นภารกิจของหน่วยงานนี้เกี่ยวเนื่องในหลายประเทศแถบนี้ ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม กัมพูชา ลาว อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ หรือไทย
โดยหน่วยงานที่เรียกว่า สำนักงานค้นหาเชลยศึกและผู้สูญหายของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ (Defense POW/MIA Accounting Agency - DPAA) หน่วยงานนี้เพิ่งจัดตั้งในปี 2015 เท่านั้น แต่งานที่พวกเขาทำ เริ่มกันมาตั้งแต่ปี 1985 แล้ว
ภาพจากพิธีฝังศพทหารที่สูญหายในสงครามเกาหลี เมื่อเดือนมีนาคม ปี2019
เคลลี่ แม็กกีค ผู้อำนวยการ DPAA เล่าว่า ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในเวียดนาม ลาว และกัมพูชา คือที่ที่ภารกิจเริ่มอย่างจริงจังตั้งแต่ 10 ปีหลังสงครามเวียดนาม และยังคงต่อเนื่องมาจนถึงทุกวันนี้
ไม่นานมานี้ สหรัฐฯ ก็เพิ่งลงนามข้อตกลงกับอินโดนีเซียที่จะอนุญาตให้ DPAA เริ่มภารกิจที่นั่นได้ เป็นการค้นหาทหารสหรัฐฯ ที่ออกปฏิบัติภารกิจช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และจะเริ่มไปที่เกาะ Morotai เดือนหน้าเป็นที่แรก
แม็กกีคบอกกับเราว่า ความยากคือการค้นหาที่เจาะจงอย่างมากในแต่ละกรณี แต่ละที่ก็จะมีความท้าทายแตกต่างกันออกไป แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันคือทหารเหล่านี้สูญหายไปหลายสิบปีแล้ว ต้องใช้ข้อมูลจากหลากหลายแหล่ง เพื่อการค้นหาจุดเริ่มต้น ไม่ว่าจะเป็นบันทึกทางความมั่นคง หรือแม้แต่เรื่องเล่าของชาวบ้านในพื้นที่
"ความท้าทายทุก ๆ ที่คือการที่จะหาร่างที่หายไปให้พบ อย่างสงครามโลกครั้งที่สอง ก็เกือบ 80 ปีแล้ว ร่างถูกสัมผัสกับองค์ประกอบต่างๆ เกิดความเสื่อมโทรม โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เวียดนามและลาว ที่ความเป้นกรดในดินนั้นสูงจนกัดกร่อนกระดูก บ่อยครั้งที่เหลือแต่ฟันครับ" แม็กกีค ให้สัมภาษณ์
หรืออย่างที่ฟิลิปปินส์ที่นับได้ว่าน่าจะเป็นประเทศที่สูญเสียทหารสหรัฐฯ มากที่สุดในแถบนี้ คือราว 11,400 คน จากช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มีเชลยศึกจำนวนมากที่ถูกสังหารและฝังรวมกัน ยังไม่นับพลขับเครื่องบินและอื่น ๆ ที่เสียชีวิตระหว่างปฎิบัติภารกิจ
ภาพจากภารกิจกู้ซากเครื่องบินสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ในประเทศฟิลิปปินส์ (ถ่ายเมื่อ มีนาคม 2023)
แม็กกีคบอกว่า หลังสงคราม มีค่ายเชลยศึก ค่ายกักกันเชลยศึกก็จะใช้หลุมฝังศพร่วมกันจำนวนมากเมื่อมีเชลยศึกเสียชีวิต รัฐบาลสหรัฐฯ มีความพยายามค้นหาหลุมฝังศพเหล่านั้น และหวังว่าจะสามารถระบุอัตลักษณ์พวกเขาได้ "เรายังมีทีมไปทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทีมใต้น้ำเพื่อค้นหาร่าง ทีมบนบกที่ค้นหาร่างเช่นกัน ของนักบิน ทหาร หรือนาวิกโยธินของเรา"
ส่วนภารกิจที่เวียดนาม เป็นภารกิจที่เริ่มทำตั้งแต่ปี 1985 มีทหารสหรัฐฯสูญหายราว 950 ราย 288 ที่ลาว 48 ที่กัมพูชา และกว่า 600 ที่เมียนมา
อย่างที่ประเทศไทย สูญหายทั้งหมด 5 ราย และเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่ผ่านมา มีการส่งกระดูกทหารอเมริกันสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 กลับสหรัฐฯ เพื่อไปพิสูจน์อัตลักษณ์ที่รัฐฮาวาย ซึ่งเป็นที่ตั้งห้องปฏิบัติการที่น่าจะเรียกได้ว่าเป็นหนึ่งในที่ที่ทันสมัยที่สุดในโลก หลังจากพิสูจน์ได้แน่ชัดว่าคือใคร จะได้แจ้งครอบครัวที่ยังรอคอยข่าวคราวมาหลายสิบปีให้ทราบต่อไป
ครั้งนั้นเป็นกระดูกที่พบที่ จังหวัดลำปาง เชื่อว่าเป็นของนักบินสหรัฐฯ ที่บินเครื่องบิน P-38 ตกใกล้กับ ม.บ้านแม่กัวะ อ.สบปราบ โดยเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ บอกว่าได้รับความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ ชาวบ้านและเจ้าของพื้นที่เป็นอย่างดี ทุกคนช่วยเหลืออย่างเต็มที่จนภารกิจประสบความสำเร็จในการเก็บกู้
ภาพระหว่างภารกิจที่จังหวัดลำปาง มีนาคม ปี 2022
แต่ภารกิจตามหาผู้สูญหายในไทยยังไม่จบ จุดหนึ่งคือที่ดอยฝรั่ง จังหวัดลำปาง ที่จะเริ่มค้นหาต่อในเดือนมกราคมปีหน้า และที่แสมสาร จังหวัดชลบุรี ซึ่งเชื่อว่าเป็นจุดที่เครื่องบินทิ้งระเบิด B-52 ตก โดยช่วงฤดูใบไม้ผลิปีหน้า คือช่วงเดือนเมษายน จะมีการส่งชุดนักประดาน้ำลงสำรวจเก็บข้อมูลหลักฐานเพิ่มตรงจุดที่ลึกลงไปราว 30 เมตร ซึ่งแม็กกีคบอกว่า เขาได้เห็นภาพถ่ายใต้น้ำแล้ว และบรรดานักดำน้ำก็รู้เรื่องเครื่องบินที่ว่านี้ด้วย
แน่นอนว่ามีคำถามว่าต้องทำงานกับประเทศที่น่าจะเรียกได้ว่าอยู่ฝั่งตรงข้ามกันในสงครามมาก่อน อย่างเวียดนามหรือญี่ปุ่น แต่ภารกิจของหน่วยงานนี้เป็นภารกิจมนุษยธรรม แม็กกีค บอกว่าได้รับความร่วมมือจากทุกรัฐบาลเป็นอย่างดี ซึ่งความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ในอดีตหรือปัจจุบันไม่ได้ส่งผลต่อความร่วมมือที่ได้รับในการทำงาน
แม็กกีคชื่นชมและขอบคุณชาวบ้านที่ให้ความช่วยเหลือพวกเขาเป็นอย่าวดี "คนในท้องถิ่นนั้นยอดเยี่ยมมากครับ ผมคิดว่า สำหรับหลาย ๆ วัฒนธรรม - เราทำงานในยุโรปและทั่วภูมิภาคเอเชีย - หลายคนเข้าใจ จริงๆ แล้วประโยคที่เราได้ยินกันบ่อยๆ ว่า “คุณกำลังตามหาปู่ใช่ไหม พวกเราเข้าใจ เราจะช่วยคุณ” และชาวบ้านเหล่านี้ซึ่งมักอยู่ในพื้นที่ห่างไกลก็ทำงานหนักวันแล้ววันเล่า มันเป็นงานที่หนักมาก เพราะบ่อยครั้ง พวกเขาต้องมองหาชิ้นส่วนของกระดูก"
จนถึงตอนนี้ DPAA สามารถพิสูจน์อัตลักษณ์จากร่างที่พบทั่วโลกได้ราว 200 รายต่อปี
ภาพระหว่างภารกิจที่เวียดนาม เดือนสิงหาคมปี 2017
ขอบคุณภาพจาก สำนักงานค้นหาเชลยศึกและผู้สูญหายของกระทรวงกลาโหมสหรัฐ (Defense POW/MIA Accounting Agency - DPAA)
โฆษณา