12 ส.ค. 2023 เวลา 16:42 • ยานยนต์

4 ปัจจัยหลัก สู่ความสำเร็จของโมเดลธุรกิจสลับแบตเตอรี่ EV

การสลับแบตเตอรี่หรือ “Battery Swap” เป็นแนวคิดทางเลือกของการเติมพลังงานในยานยนต์ไฟฟ้าที่มีความน่าสนใจมากในยุคปัจจุบัน และช่วยให้เกิดการเปลี่ยนผ่านจากยานยนต์ใช้น้ำมันไปเป็นยานยนต์ไฟฟ้าได้ในอนาคตอันใกล้ โดยการสลับแบตเตอรี่นั้น เป็นกระบวนการที่ผู้ใช้งานสามารถเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่ชาร์จไฟเต็มแล้วในยานยนต์ไฟฟ้าของตนได้ทันที โดยไม่ต้องรอเวลานานในการชาร์จแบตเตอรี่ ทำให้สามารถใช้งานยานยนต์ไฟฟ้าได้ตลอดเวลาและสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น
เพื่อให้เข้าใจตรงกัน "ยานยนต์ไฟฟ้า" ในที่นี้ อาจเป็นได้ทั้งรถยนต์ไฟฟ้า หรือมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ก็ได้เช่นกัน แต่เราจะยังไม่กล่าวถึงเรือไฟฟ้า หรือเครื่องบินไฟฟ้า และอื่น ๆ
จากบทความฉบับที่แล้วของ Future Perfect ได้กล่าวถึงบทเรียนจากความผิดพลาดของ "Better Place" สตาร์ทอัพธุรกิจสลับแบตเตอรี EV ให้ทุกท่านได้รับทราบแล้ว จึงเห็นได้ว่าทุกอย่างมีทั้งด้านบวกและด้านลบเสมอ มีจุดตายที่ต้องระมัดระวังไม่ให้เกิดความล้มเหลว เช่นเดียวกับโมเดลธุรกิจของ Better Place
ในทางตรงกันข้าม หากจะทำให้โมเดลการสลับแบตเตอรี่ประสบความสำเร็จได้ หรือมีอนาคตที่น่าจะไปได้สวย จะมีปัจจัยใด และมีประเด็นใดที่น่าสนใจบ้าง Future Perfect มีคำตอบมาอัพเดทและเปิดมุมคิดให้กับทุกคนครับ
Cr. Image by Freepik
ในปัจจุบัน การสลับแบตเตอรี่ได้รับความนิยมเพราะมีความสะดวกสบายและเร็วกว่าการชาร์จแบตเตอรี่ที่มีอยู่ในตลาดในปัจจุบัน ผู้ใช้งานสามารถสลับแบตเตอรี่ได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้น อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบและเลือกแบตเตอรี่ที่มีสภาพดีและพร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา ซึ่งช่วยลดปัญหาในการรอเวลาการชาร์จและการจัดการกับแบตเตอรี่ที่มีปัญหาได้อย่างมาก
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันนี้ เราอาจพบเจอการใช้โมเดลธุรกิจการสลับแบตเตอรี่ สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าหรือสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้า ที่เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม มีแนวโน้มที่จะขยายตัวและประสบความสำเร็จได้มากกว่ารถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งถ้าวิเคราะห์ดูแล้วจะมีข้อสังเกตดังนี้
มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าประยุกต์ใช้โมเดลการสลับแบตเตอรี่ได้ง่ายกว่า เหตุผลก็คือ ขนาดแบตเตอรี่ของมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเก็บพลังงานไฟฟ้าได้น้อยกว่ารถยนต์ไฟฟ้าเกิน 10 เท่าตัว
ยกตัวอย่างแบตเตอรี่ที่ใช้สลับของมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าบางรุ่น มีขนาดอยู่ที่ประมาณ 1-3 kWh มีน้ำหนักอยู่ประมาณ 5-20 กิโลกรัม ยิ่งจุพลังงานไฟฟ้าได้มาก ก็ยิ่งหนักมากตามไปด้วย แต่ยังพอที่จะให้คนยกเปลี่ยนเองได้ จึงสามารถทำออกมาเป็นโมเดลตู้สลับแบตเตอรี่ได้ เมื่อเปรียบเทียบกับของรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว ต้นทุนที่ต้องลงทุนก็ถูกกว่ากันเยอะ อีกทั้งหากหน่วยงานกลางจะกำหนดมาตรฐานแบตเตอรี่เพื่อให้รองรับการสลับก็เป็นไปได้ง่ายกว่าด้วย
เมื่อหันมาพิจารณารถยนต์ไฟฟ้า จะเห็นว่าโมเดลสลับแบตเตอรี่นี้เกิดได้ยากกว่า จากการที่แบตเตอรี่มีขนาดใหญ่ อย่างรถยนต์ไฟฟ้าแบตเตอรี่ 100% (Battery Electric Vehicle, BEV) ที่เราเห็นวิ่งกันอยู่บนท้องถนน หลาย ๆ ยี่ห้อจะมีขนาดแบตเตอรี่อยู่ที่ราว ๆ 40-50 kWh หรือมากกว่านั้น เรื่องน้ำหนักไม่ต้องพูดถึง ลืมไปได้เลยที่จะให้คนยกเปลี่ยนเองได้ ต้องใช้อุปกรณ์ยกรถและถอดเปลี่ยนอย่างเดียว อีกทั้งแบตเตอรี่และอุปกรณ์ที่ว่านั้นก็ทำให้ต้นทุนการลงทุนและดำเนินการสูงตามไปด้วย การกำหนดมาตรฐานร่วมกันก็ทำได้ยากกว่า
ปฏิเสธไม่ได้ว่าถ้าแบตเตอรี่สามารถกำหนดให้เป็นมาตรฐานที่เทียบเท่ากัน หรือเปลี่ยนทดแทนกันระหว่างรถแต่ละรุ่น หรือแม้กระทั่งแต่ละยี่ห้อได้นั้น ก็จะช่วยให้เจ้าของธุรกิจสลับแบตเตอรี่มีผู้ใช้งานที่มากขึ้นตามไปด้วย
แต่ถ้าจะไม่คำนึงถึงมาตรฐานตามที่กล่าวมานั้น ผู้ประกอบธุรกิจก็มักใช้โมเดลขายรถ พร้อมกับมีเครือข่ายสถานีสลับแบตเตอรี่ของตนเองเป็นบริการเสริมให้ลูกค้าด้วย ถือเป็นจุดขายหนึ่งอย่างที่แบรนด์จีน ได้แก่ NIO และ Geely ทำตลาดอยู่ที่ประเทศจีน แต่ก็ต้องแน่ใจว่ามีฐานลูกค้าหรือกลุ่มเป้าหมายที่ใหญ่พอจะทำให้ธุรกิจไปรอดได้เช่นกัน
ผิดกับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่ถือว่าเป็นตลาดใหญ่ โดยเฉพาะกับบางประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย ที่ผู้ใช้งานมอเตอร์ไซค์ปกติมีโอกาสจะเปลี่ยนมาใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ด้วยแรงจูงใจจากกรณีน้ำมันแพง และการรณรงค์ใช้พลังงานสะอาดของภาครัฐ
โดยประเทศไทยเองมีผู้ใช้งานมอเตอร์ไซค์มากกว่า 21 ล้านคัน คิดเป็นมอเตอร์ไซค์ใช้น้ำมันประมาณ 95% โดยนอกจากผู้ใช้งานปกติ และมอเตอร์ไซค์รับจ้างที่มีจำนวนมากอยู่แล้ว กลุ่มไรเดอร์ถือเป็นกลุ่มผู้ใช้งานที่เพิ่มจำนวนขึ้นเป็นอย่างมากตั้งแต่สถานการณ์ COVID-19 เมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา จากการที่ธุรกิจสั่งอาหารและสินค้าออนไลน์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
Cr. Photo by 政徳 吉田 , from Pixabay
จากที่เล่ามานั้น สามารถขมวดประเด็นปัจจัยแห่งความสำเร็จ หรือ Key Success Factors ที่ช่วยให้โมเดลธุรกิจสลับแบตเตอรี่ ประสบความสำเร็จได้ มีด้วยกัน 4 ด้านดังนี้
1. ความเป็นมาตรฐานที่เทียบเท่ากันของแบตเตอรี่ ที่สามารถใช้บริการสลับแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้าได้ เพื่อให้ผู้ใช้สามารถสลับแบตเตอรี่ระหว่างสถานีได้อย่างไม่ยากลำบาก และมียานยนต์ไฟฟ้าต่างรุ่นกัน หรือแม้แต่ต่างยี่ห้อ แต่ใช้แบตเตอรี่ที่มีมาตรฐานเทียบเท่ากัน จะทำให้มีความหลากหลายของยานยนต์ที่สามารถใช้บริการสลับแบตเตอรี่ได้
2. โครงสร้างพื้นฐานที่เหมาะสม: ระบบในการให้บริการต้องสามารถเชื่อมโยงระหว่างสถานีสลับแบตเตอรี่และยานยนต์ไฟฟ้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และปลอดภัย สถานีสลับแบตเตอรี่จำเป็นต้องมีพื้นที่ที่เหมาะสมและสามารถรองรับจำนวนยานยนต์ไฟฟ้าที่มาใช้บริการในเวลาเดียวกันได้ รวมถึงต้องมีระบบการเชื่อมต่อที่มีประสิทธิภาพเพื่อให้สามารถสลับแบตเตอรี่ได้สะดวกและรวดเร็ว นอกจากนี้ การมีจำนวนสถานีสลับแบตเตอรี่ที่มากพอและกระจายอยู่ทั่วถึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงบริการได้สะดวกและรวดเร็วทุกที่ทุกเวลา
3. ต้นทุนและราคาที่เหมาะสม: การบริหารต้นทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยีและการติดตั้งอุปกรณ์ รวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ การให้บริการสลับแบตเตอรี่ต้องมีราคาที่เหมาะสมและแข่งขันได้กับวิธีการอื่น ๆ
ประเด็นที่ถือเป็นจุดแข็งของการสลับแบตเตอรี่ หรือ Battery Swap เมื่อเทียบกับที่ลูกค้าต้องซื้อยานยนต์ไฟฟ้าพร้อมแบตเตอรี่ ก็คือ ลูกค้าไม่จำเป็นต้องแบกภาระค่าใช้จ่ายเพื่อครอบครอง บำรุงรักษา และเปลี่ยนทดแทนแบตเตอรี่ที่เสียแล้ว แต่เปลี่ยนมาเป็นการเช่าใช้แบตเตอรี่ และมีค่าใช้จ่ายตามที่ขับขี่จริง เท่ากับว่าในการจ่ายเงินเพื่อซื้อรถมาเป็นเจ้าของนั้น ลูกค้าจ่ายแค่ตัวรถ แต่ไม่รวมค่าแบตเตอรี่ ราคารถจึงถูกลงมาก
หากพิจารณาโดยรวมตลอดอายุการใช้งานทั้งตัวรถและแบตเตอรี่แล้ว ค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่าหรือเทียบเท่าจะเป็นปัจจัยสำคัญในการดึงดูดและรักษาลูกค้า
4. จำนวนยานยนต์ไฟฟ้าสะสม: เมื่อผู้ใช้งานตระหนักถึงข้อดีทั้ง 3 ข้อข้างต้น ประกอบกับมีความเข้าใจเกี่ยวกับระบบการสลับแบตเตอรี่และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อการใช้งานยานยนต์ไฟฟ้า ก็จะช่วยให้มีความพร้อมในการใช้งานและยอมรับแนวคิดใหม่นี้มากขึ้น ทั้งนี้ โมเดลธุรกิจการสลับแบตเตอรี่จะประสบความสำเร็จมากขึ้นหากมีจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าที่มีผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างแพร่หลาย ที่เข้ามาใช้บริการสลับแบตเตอรี่เพิ่มขึ้น
จากประเด็นที่กล่าวมา จึงปฏิเสธไม่ได้ว่าโมเดลสลับแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าน่าจะดูเหมาะกว่าการนำมาใช้กับรถยนต์ไฟฟ้าในปัจจุบัน ยกเว้นว่ามีบริษัทรถยนต์ไฟฟ้า หรือที่ทำธุรกิจสลับแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้าใดที่สามารถตอบโจทย์ปัจจัยแห่งความสำเร็จทั้ง 4 ด้านตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ก็อาจจะเป็นผู้นำตลาดรายแรก ๆ และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในระยะยาวได้เช่นกัน
ผู้อ่านสามารถกดติดตามเพจ Future Perfect และร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างสรรค์เพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ผ่านการแสดงความคิดเห็นและแบ่งปันเรื่องราวต่าง ๆ กันได้เลยครับ
3 มุมคิดที่ Future Perfect ขอฝากไว้
1) Standardization: การกำหนดมาตรฐานแบตเตอรี่ที่ใช้สลับได้ จะเป็นตัวกระตุ้นสำคัญของการขยายผลโมเดล Battery Swap
2) Infrastructure: เทคโนโลยีของโครงสร้างพื้นฐานที่ดี ตอบสนองผู้ใช้งานได้ตรงใจ และมีต้นทุนแข่งขันได้ จะสร้างความได้เปรียบให้กับธุรกิจ และมีความเสี่ยงทางธุรกิจที่ต่ำลง
3) Potential Demand: ต้องมั่นใจได้ว่า มีผู้ใช้งานหรือตลาดที่มีศักยภาพรองรับแล้วหรือไม่ สำหรับโมเดล Battery Swap
#FuturePerfect #FuturePerfectExpert #อนาคตกำหนดได้ #เปิดมุมคิดใหม่สู่ความยั่งยืน #Sustainovation #InnovateForSustainableFuture #BatterySwap #รถยนต์ไฟฟ้า
โฆษณา