14 ส.ค. 2023 เวลา 03:01 • ข่าว

มีผลแล้ว❗มหาดไทยปรับเกณฑ์รับเบี้ยคนชราใหม่ ต้องเป็นผู้มีรายได้ไม่เพียงพอเท่านั้น

หลังจากมีข่าวลือมานาน ว่าทางภาครัฐกำลังพิจารณาลดงบประมาณเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุหรือที่ชาวบ้านเรียกสั้น ๆ ว่า "เบี้ยคนชรา" ลง
ด้วยการยกเลิกการจ่ายเบี้ยยังชีพให้แก่ผู้ที่มีฐานะดี
1
ตามความเห็นของหน่วยงานด้านการคลังที่มองว่า การจ่ายเบี้ยยังชีพเดิม ที่มีการจ่ายแบบถ้วนหน้า
จะยกเว้นก็แต่เฉพาะผู้สูงอายุที่ยังมีรายได้ประจำจากภาครัฐแบบต่อเนื่อง เช่น ข้าราชการบำนาญ เป็นต้น
เป็นการใช้จ่ายงบประมาณที่สูงเกินความจำเป็น สร้างภาระทางการคลังให้กับประเทศในระยะยาว
หลังมีกระแสข่าวนี้ออกมา ก็มีเสียงคัดค้านจากหลายฝ่าย โดยเฉพาะองค์กรภาคเอกชนที่ผลักดันเรื่องรัฐสวัสดิการ
ที่มองเห็นว่าเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ถือเป็นสิทธิที่คนไทยทุกคนควรได้รับ ไม่ควรมีการแบ่งแยกการจ่าย
1
แต่ล่าสุด ได้มีประกาศระเบียบกระทรวงมหาดไทย ลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม 2566 เรื่องหลักเกณฑ์การจ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ปี 2566
ลงนามโดยนายอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
โดยใจความสำคัญที่เปลี่ยนแปลงไปจากหลักเกณฑ์เดิมที่ทุกคนควรทราบก็คือ..
ในส่วนของหัวข้อคุณสมบัติผู้รับเบี้ยยังชีพ ที่ประกอบไปด้วย
1).มีสัญชาติไทย
2).มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน ในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
3).มีอายุ 60 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และได้ยืนยันสิทธิขอรับเบี้ยยังชีพ จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว
4).เป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ
ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด
หากสังเกตจะพบว่า ในส่วนของคุณสมบัติผู้รับเบี้ยยังชีพ มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมที่เคยมีการระบุว่า...
ผู้ที่มีสิทธิได้รับเบี้ยยังชีพ ต้องเป็นผู้ที่ไม่ได้รับสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่นจากภาครัฐ รัฐวิสาหกิจและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
1
อาทิ เบี้ยหวัด เงินบำนาญ บำนาญพิเศษ หรือเงินอื่นใดที่เทียบเคียงได้
โดยหลักเกณฑ์ใหม่ ได้ตัดส่วนนี้ออกไป แล้วใส่หลักเกณฑ์ ข้อ 4 ที่ระบุว่า ..
ผู้ได้รับเบี้ยยังชีพต้องเป็นผู้ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ ตามที่คณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยผู้สูงอายุกำหนด
ซึ่งตรงนี้เอง ที่เป็นเนื้อหาของหลักเกณฑ์ใหม่ ที่จะนำเอาฐานะหรือรายได้ของผู้สูงอายุมาใช้ในการวัดว่าใครมีสิทธิจะได้รับเบี้ยยังชีพหรือไม่ได้รับเบี้ยยังชีพ ?
คำถามต่อมาคือ แล้วเกณฑ์ของคำว่าไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การครองชีพ อยู่ที่เท่าไร? วัดจากอะไร?
ตรงนี้ ตามประกาศระบุว่า ในระหว่างที่ยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์รายได้ตรงนี้ออกมาจากทางคณะกรรมการผู้สูงอายุแห่งชาติ ให้ใช้หลักเกณฑ์เดิมตามประกาศเมื่อปี 2552 ไปก่อน
อีกคำถามที่สำคัญก็คือ .. แล้วในส่วนของผู้สูงอายุที่เคยได้รับเบี้ยยังชีพมาแล้วล่ะ
มีสิทธิจะถูกตัดเบี้ยยังชีพไหม หากในอนาคตคำนวณแล้วเข้าเกณฑ์เป็นผู้มีรายได้เพียงพอแก่การยังชีพ ?
ในส่วนนี้ ตามประกาศได้มีการเขียนข้อยกเว้นไว้ให้ผู้ที่ได้รับเบี้ยยังชีพมาก่อนที่ประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ (12 สิงหาคม 2566) ให้ยังคงได้รับเบี้ยยังชีพต่อไปตามเดิม
โดยหลักเกณฑ์ใหม่นี้ ให้มีผลสำหรับผู้สูงอายุที่จะเริ่มลงทะเบียนยืนยันสิทธิการรับเบี้ยผู้สูงอายุตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2566 เป็นต้นไปเท่านั้น
..
สรุปก็คือ..
1. ต่อไป เบี้ยผู้สูงอายุ จะจ่ายให้เฉพาะผู้สูงอายุที่ไม่มีรายได้หรือมีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ
(นำเกณฑ์ฐานะทางเศรษฐกิจ มาใช้ตรวจสอบสิทธิการรับเบี้ยยังชีพ)
2
2. ผู้สูงอายุที่เคยได้รับเบี้ยยังชีพมาแล้ว ก่อนประกาศฉบับนี้มีผลตามกฎหมาย ให้ได้รับเบี้ยยังชีพต่อไปตามเดิม
(ประกาศนี้ไม่มีผลให้มีการตัดสิทธิผู้สูงอายุที่ได้รับเบี้ยยังชีพมาก่อนประกาศนี้ มีผลบังคับตามกฎหมาย )
2
References;
ติดตามอ่านบทความได้ที่
โฆษณา