14 ส.ค. 2023 เวลา 11:54 • สิ่งแวดล้อม

ปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูม บอกอะไรแก่เรา?

แพลงก์ตอนพืช คือสาหร่ายเซลล์เดียวที่มีขนาดเล็กและมีความสำคัญต่อระบบนิเวศทางทะเลเป็นอย่างมาก น้อยคนนักที่จะทราบว่าหน้าที่ของมัน จะส่งผลต่อระบบนิเวศของมหาสมุทรอย่างไร
ตั้งแต่การผลิตออกซิเจนให้กับโลกรวมถึงการดูดซับคาร์บอนที่โลกปล่อยออกมา ตลอดถึงเป็นแหล่งอาหารชั้นเลิศให้กับปลาและสิ่งมีชีวิตชนิดต่างๆในมหาสมุทร
แพลงก์ตอนพืชขนาดจิ๋วนี้จะล่องลอยอยู่บนพื้นผิวของมหาสมุทร กระบวนการสังเคราะห์ของมันด้วยการดูดซับแสงแดดและคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อผลิตออกซิเจนและใยอาหาร ซึ่งประกอบด้วยคาร์โบรไฮเดรต ที่ใช้หล่อเลี้ยงสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ในทะเลมาอย่างยาวนาน
แพลงก์ตอนพืชมีบทบาทสำคัญในการผลิตออกซิเจนออกสู่มหาสมุทรและชั้นบรรยากาศของโลก คิดเป็น 50% ของออกซิเจนทั้งหมดถูกผลิตขึ้น ซึ่งมันได้ทำหน้าที่ของมันมาแล้ว มากกว่าสองพันล้านปี
อย่างไรก็ตามการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวน แพลงก์ตอนพืชตัวจิ๋วนี้ ก็สามารถสร้างผลกระทบต่อระบบนิเวศของมหาสมุทรได้เช่นเดียวกัน
เมื่อแพลงก์ตอนพืชที่มากเกินไปเหล่านี้ตายลง จะถูกแบคทีเรียย่อยสลายและเกิดการเน่าเปื่อยของซากที่หมดสภาพแล้ว นั่นหมายถึงไม่มีการสังเคราะห์แสงอีกต่อไป ซึ่งจะทำให้น้ำในบริเวณนั้นเริ่มขาดออกซิเจน และส่งกลิ่นเหม็นทำให้ระบบนิเวศของทะเลบริเวณนั้นเสียไป
ปัจจัยที่เอื้อต่อการขยายตัวอย่างรวดเร็วของแพลงก์ตอนพืช คือปริมานของธาตุอาหารที่ไหลลงสู่ทะเล เช่นปุ๋ยเคมีจากพื้นที่การเกษตร และการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ บวกกับสภาพภูมิอากาศที่อุ่นขึ้นส่งผลให้การเติบโตของแพลงก์ตอนนั้นขยายวงกว้างออกไป
การศึกษาของนักวิจัยยังพบอีกด้วยว่า ค่ามัธยฐานของการเพิ่มขึ้นของแพลงก์ตอน เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 59 ของพื้นที่ทั้งหมดซึ่งนั่นหมายความว่า การเพิ่มขึ้นของแพลงก์ตอน กินพื้นที่กว่า 4 ล้านตารางกิโลเมตร เปรียบเทียบได้กับพื้นที่ครึ่งหนึ่งของประเทศแคนาดา
เรื่องนี้อยู่ในความสนใจขององค์การ NASA เพื่อศึกษาถึงสายพันธุของแพลงก์ตอนพืชเหล่านี้ ด้วยการส่งดาวเทียมพร้อมด้วยระบบที่ทันสมัยขึ้นไปโคจรเหนือพื้นที่มหาสมุทรเพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลมาวิเคราะห์ ถึงผลกระทบต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติจากการเพิ่มขึ้นและลดลงของจำนวนแพลงก์ตอน
นักสมุทรศาสตร์ชีวภาพ ของศูนย์การบินอวกาศ ก็อดดาร์ดของ NASA ในเมืองกรีนเบลต์ รัฐแมรีแลนด์กล่าวว่า แพลงก์ตอนพืชแต่ละสายพันธุ์มีลักษณะ และความสามารถในการดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ที่แตกต่างกัน
แพลงก์ตอนพืชบางชนิด รวมเอาคาร์บอนที่มันดูดซับได้เข้ากับสารเคลือบผิวชั้นนอกที่เปรียบเสมือนเปลือกของมัน เมื่อแพลงก์ตอนตายลงเปลือกของมันจะจมลงพร้อมกับทิ้งคาร์บอนไว้ใต้ก้นมหาสมุทร
แต่แพลงก์ตอนบางชนิดจับคาร์บอนไว้ในรูปของการสังเคราะห์แสง เมื่อพวกมันตายลงก็จะปล่อยคาร์บอนกลับคืนสู่ชั้นบรรยากาศโลกในรูปของก๊าสคาร์บอนไดออกไซด์
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์ของ NASA ต้องการศึกษาและนำเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ ถึงการไหลเวียนของก๊าสคาร์บอนไดออกไซด์ในมหาสมุทร
และใช้ข้อมูลจากดาวเทียมเพื่อติดตามตรวจสอบรวมถึงการถอดระหัสสายพันธุ์ เพื่อนำเอาข้อมูลมาวิเคราะห์และศึกษาหาแนวทางป้องกัน การขยายตัวของแพลงก์ตอนพืช ที่บางสายพันธุ์นั้นเป็นพิษต่อระบบนิเวศของทะเล
ดังนั้นปรากฏการณ์แพลงก์ตอนบลูมที่เกิดขึ้น ไม่เพียงแต่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นในหลายพื้นที่ ทั่วโลก การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของจำนวนแพลงก์ตอน รวมถึงความถี่ของการเกิดปรากฏการณ์นี้ อาจจะบ่งบอกถึงนัยยะสำคัญของการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศทางทะเล และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศอีกด้วย
เราทุกคนควรตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม ปรับตัวและเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกับธรรมชาติ หากเราดูแลโลก โลกก็จะดูแลเราเช่นกัน
ข้อมูลอ้างอิง
โฆษณา