14 ส.ค. 2023 เวลา 13:17 • ประวัติศาสตร์

เล่าจากรูป “จูบบันลือโลก”

หนึ่งในภาพจำที่หลายคนรู้จักเกี่ยวกับการสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 คือ ภาพถ่ายขาวดำที่เรียกกันว่า “จูบบันลือโลก” ซึ่งช่างภาพจับจังหวะแห่งความยินดีนั้นเอาไว้ได้ ในบ่ายวันที่ 14 สิงหาคม 1945 เรียกกันว่า วันแห่งชัยชนะเหนือญี่ปุ่น หรือ V-J Day
แต่เชื่อว่ามีคนอีกไม่น้อยที่ยังไม่รู้ที่มาและรายละเอียดของภาพถ่ายที่กลายเป็นตำนานภาพนั้น วันนี้ Histtalk ที่นี่มีเรื่องเล่า นำ 10 เรื่องราวของภาพ “จูบบันลือโลก” มาฝากกันครับ
1. บ่ายวันที่ 14 ส.ค. 1945 ข่าวลือเรื่องการยอมจำนนของญี่ปุ่นแพร่สะพัดผ่านการบอกปากต่อปากไปทั่วสหรัฐ ผู้คนโห่ร้อง โยนข้าวของและหลั่งไหลออกจากบ้าน ร้านค้า และสำนักงาน ไปตามท้องถนนด้วยความยินดี โดยไม่ได้นัดหมาย โดยเฉพาะจัตุรัสไทม์สแควร์ (Time Square) ศูนย์กลางเศรษฐกิจที่พลุกพล่านที่สุดในโลก มีผู้คนกว่าสองล้านคนรวมตัวกันรอฟังการยืนยันข่าวอย่างเป็นทางการ
ภาพฝูงชนคลาคล่ำที่จัตุรัส Time Square บ่ายวันที่ 14 ส.ค. 1945 (จาก https://scx1.b-cdn.net/csz/news/800a/2015/2-afternoonsha.jpg)
2. ภาพ “จูบบันลือโลก” มีช่างภาพอย่างน้อย 2 คน ถ่ายไว้ คนแรก คือ อัลเฟรด ไอเซนสเตดต์ (Alfred Eisenstadt) ช่างภาพของนิตยสาร Life อีกคนหนึ่ง นาวาตรี วิกเตอร์ เจอร์เกนเซน (Lieutenant Victor Jorgensen) ช่างกองทัพเรือสหรัฐ จับภาพเดียวกันไว้ได้ และตั้งชื่อว่า Kissing the War Goodbye และเผยแพร่ในหนังสือพิมพ์ New York Times ในวันรุ่งขึ้น ภาพของเจอร์เกนเซนเป็นสาธารณสมบัติ (public domain) จึงได้รับการทำซ้ำมากกว่าภาพของไอเซนสเตดต์ที่มีลิขสิทธิ์
ภาพที่ไอเซนสเตดต์ถ่ายไว้ (จาก https://en.wikipedia.org/wiki/V-J_Day_in_Times_Square#/media/File:Legendary_kiss_V–J_day_in_Times_Square_Alfred_Eisenstaedt.jpg)
ภาพที่เจอร์เกนเซนถ่ายไว้ (จาก https://en.wikipedia.org/wiki/V-J_Day_in_Times_Square#/media/File:Kissing_the_War_Goodbye.jpg)
เขาเห็นกะลาสีคนหนึ่งเดินอยู่และคว้าทุกคนที่พบมาจูบ ไม่ว่าเด็กหรือหญิงชรา
3. ไอเซนสเตดต์ เล่าว่า บ่ายวันที่ 14 ส.ค. 1945 ขณะกำลังเก็บภาพผู้คนที่จัตุรัสไทม์สแควร์ เขาเห็นกะลาสีคนหนึ่งเดินอยู่และคว้าทุกคนที่พบมาจูบ ไม่ว่าเด็กหรือหญิงชรา แล้วพอเห็นกะลาสีคว้าร่างหญิงในชุดสีขาวคล้ายพยาบาล เขาก็ความคิดทันทีว่า ชุดสีเข้มของกะลาสี กับชุดสีสว่างที่หญิงคนนั้นสวมใส่ ช่างตัดกันเหลือเกิน ซึ่งจะช่วยให้ภาพถ่ายขาวดำออกมาโดดเด่นและน่าสนใจมาก
4. ภาพถ่ายของไอเซนสเตดต์ไม่ได้บันทึกข้อมูลตัวแบบไว้ หลังภาพนี้เผยแพร่ออกไป มีผู้ชายจำนวนมากอ้างตัวว่าเป็นกะลาสีในภาพ แต่ปรากฏว่ามีผู้หญิงไม่กี่คนที่อ้างว่าเป็นบุคคลในภาพ แต่หลังจากมีการวิเคราะห์ทางนิติวิทยาศาสตร์อยู่หลายปี ในที่สุด ก็เหลือคนที่เป็นไปได้ แค่ 2 คน คือ จอร์จ เมนดอนซา (George Mendonsa) ทหารฝ่ายพลาธิการ วัย 22 ปี ที่กลับมาจากสมรภูมิในมหาสมุทรแปซิฟิก กับ เกรตา ซิมเมอร์ ไฟรด์แมน (Greta Zimmer Friedman) วัย 21 ปี ทว่าเธอไม่ใช่พยาบาล แต่เป็นผู้ช่วยทันตแพทย์
จอร์จ เมนดอนซา (จาก https://veteransbreakfastclub-org.translate.goog/wp-content/uploads/2020/08/George-Mendosa.jpg?_x_tr_sl=auto&_x_tr_tl=th&_x_tr_hl=en-US)
เกรตา ซิมเมอร์ ไฟรด์แมน (จาก https://veteransbreakfastclub-org.translate.goog/wp-content/uploads/2020/08/Greta-Zimmer-Freidman-600x798.jpg?_x_tr_sl=auto&_x_tr_tl=th&_x_tr_hl=en-US)
5. จอร์จเล่าว่าบ่ายวันนั้นเขาไปดูหนังกับคู่เดท ชื่อ ริต้า (Rita, แต่งงานกับจอร์จในปี 1946) พอหนังฉายได้ครึ่งเรื่อง ก็หยุดฉายแล้วประกาศว่า ตอนนี้สงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลงแล้ว จอร์จ ริต้าและคนอื่น ๆ ตื่นเต้นมาก ไม่มีใครอยากดูหนังต่อ ทุกคนวิ่งออกมาที่ถนน เขากับริตาพลัดหลงกัน ความดีใจทำให้เขาคว้าทุกคนที่ได้พบมากอดและจูบ
เขาจึงคว้าตัวเธอมาจูบเพื่อเป็นการขอบคุณ เพราะเข้าใจว่าเธอเป็นพยาบาล
6. จากประสบการณ์ที่เขาเคยอยู่บนเรือรบ USS The Sullivans (DD-537) และได้เห็นการโจมตีแบบกามิกาเซ่ที่เกิดขึ้นกับเรือรบ USS Bunker Hill กับตาตัวเองในสมรภูมิโอกินาวา ทำให้เขารู้สึกตื้นตันใจ และเมื่อได้พบเกรตา เขาจึงคว้าตัวเธอมาจูบเพื่อเป็นการขอบคุณ เพราะเข้าใจว่าเธอเป็นพยาบาล
7. แต่เกรตาในภาพต่างออกไป เธอเล่าว่า เมื่อข่าวการยอมจำนนของญี่ปุ่นแพร่สะพัดในบ่ายวันนั้น หัวหน้าทันตแพทย์ก็สั่งปิดคลินิก เกรตาในชุดผู้ช่วยทันตแพทย์เดินฝ่าฝูงชนที่อยู่กันเต็มจัตุรัสไทม์สแควร์ และถูกจอร์จจูบในที่สุด ภายหลังเธอให้สัมภาษณ์ว่า “ที่จริงฉันไม่ได้เป็นเป้าหมายของการจูบแต่แรก ชายคนนั้น (จอร์จ) แค่เดินเข้ามาแล้วคว้าทุกคนมาสวมกอดหรือจูบ”
8. ความจริงข้อหนึ่งที่จอร์จไม่รู้คือ เกรตาเกี่ยวข้องกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วย เธอเป็นชาวยิวที่อพยพมาจากกรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย เพื่อหลบหนีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของนาซีในปี 1939 ก่อนสงครามโลกครั้งที่สองจะปะทุขึ้น พ่อแม่ของเธออยู่ที่ออสเตรียและเสียชีวิตในเหตุการณ์ดังกล่าว
สมุดประจำตัวชาวยิวของเกรตา ออกโดยนาซีเมื่อวันที่ 15 ส.ค. 1939 (จาก https://veteransbreakfastclub-org.translate.goog/wp-content/uploads/2020/08/1939_Passport-600x800.jpg?_x_tr_sl=auto&_x_tr_tl=th&_x_tr_hl=en-US)
9. ต่อมามีนักฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัย Texas State University อยากรู้ว่าภาพดังกล่าวถ่ายตอนไหน จึงศึกษาภาพถ่ายทางอากาศ พิมพ์เขียนสถาปัตยกรรม แผนที่โบราณ และลักษณะของแสงอาทิตย์เพื่อเปรียบเทียบกับแสงและเงา จนได้ข้อสรุปว่าภาพที่มีเงาทอดอยู่บนพื้นคือภาพของไอเซนสเตดต์ซึ่งจะเกิดเงาแบบนั้นได้ก็ต่อเมื่อ “ดวงอาทิตย์ทำมุมในแนวราบหรือมุมอาซิมุท (azimuth) ที่ 270 องศาทางทิศตะวันตก และที่ระดับความสูง +22.7 องศา” เท่านั้น ซึ่งเท่ากับภาพดังกล่าวถ่ายไว้ในเวลา 17.51 น. ของวันที่ 14 ส.ค. 1945 นั่นเอง
ภาพจำลองพื้นที่จัตุรัส Time Square และจุดที่ให้กำเนิดภาพ "จูบบันลือโลก" (จาก https://scx1.b-cdn.net/csz/news/800a/2015/1-afternoonsha.jpg)
10. ปี 2013 มีการทำรูปปั้นบรอนซ์ ชื่อ Unconditional Surrender (การยอมจำนนโดยปราศจากเงื่อนไข) ที่มีความสูงกว่า 7 เมตร (25 ฟุต) และหนักกว่า 7 ตัน จากภาพถ่าย “จูบบันลือโลก” เพื่อตั้งไว้ที่ ท่าเรือ Port San Diego ใกล้พิพิธภัณฑ์เรือรบ USS Midway และในปี 2015 มีคู่รักจำนวนมากจากทั่วโลกไปรวมตัวกันที่จัตุรัส Time Squre และทำท่าเลียนแบบคนทั้งคู่ในภาพ “จูบบันลือโลก” เพื่อร่วมฉลองวาระ 70 ปี ของการบันทึกภาพดังกล่าว
รูปปั้นบรอนซ์สูงกว่า 7 เมตร ที่ท่าเรือ Port San Diego (จาก https://i.dailymail.co.uk/i/pix/2013/02/10/article-2276366-17775EE1000005DC-472_630x418.jpg)
กิจกรรมฉลองวาระ 70 ปี ของภาพ "จูบบันลือโลก" (จาก https://www.ndtv.com/world-news/hundreds-of-couples-reenact-times-square-kiss-in-new-york-1207463)
นับถึงปี 2566 สงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลงมาได้ 78 ปีแล้ว แต่เหตุการณ์และภาพ “จูบบันลือโลก” ที่เกิดขึ้นในวัน V-J Day ยังคงอยู่และสร้างความประทับใจให้ผู้ได้พบเห็นเสมอ
การจูบและโยนข้าวของแสดงความยินดีเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เมื่อสงครามยุติ แต่จะดีกว่าไหมถ้าไม่มีสงคราม ไม่มีฝ่ายแพ้และฝ่ายชนะ การแสดงความยินดีควรเกิดในโอกาสอื่น ๆ ไม่ใช่พิษภัยของสงครามเช่นนี้
เพราะไม่มีใครต้องการสงคราม
เกร็ดเสริม
เกรตา ซิมเมอร์ ไฟรด์แมน เสียชีวิตเมื่อวันที่ 8 ก.ย. 2016 ขณะอายุ 92 ปี ส่วนจอร์จ เมนดอนซา เสียชีวิตเมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2019 ขณะอายุ 95 ปี โดยขณะมีชีวิต ทั้งคู่เคยพบและนั่งรถในขบวนแห่วันชาติสหรัฐของเมืองบริสตอล รัฐโรดไอแลนด์ เมื่อวันที่ 4 ก.ค. 2009
จอร์จ กับ เกรตา ในขบวนแห่ วันที่ 4 ก.ค. 2009 (จาก https://en.wikipedia.org/wiki/V-J_Day_in_Times_Square#/media/File:George_Mendonca_and_Greta_Friedman.jpg)
โฆษณา