15 ส.ค. 2023 เวลา 13:47 • หนังสือ

ค น ไ ม่ รู้ ห นั ง สื อ

คนเราต่างมีความใฝ่ฝันหรือความปรารถนาในชีวิต หากเรามีการศึกษา ความรู้ และรายได้ที่สามารถกู้เงินผ่อนบ้านได้ ความต้องการบ้านสักหลังคงไม่ยากเกินไป และเราคงจะไม่รู้สึกอายหรือกลัวใครจะหลอกลวงเมื่อจะกู้เงินซื้อบ้าน แต่สำหรับผู้ยากไร้ที่ด้อยการศึกษาและไม่เคยเรียนเขียนอ่านเลย ความฝันที่อยากจะมีบ้านของตนเองดูจะเกินเอื้อมและเกินตัวเหลือเกิน
เรื่อง "คนไม่รู้หนังสือ (Analfabeten)" ของอีวาร์ ลู-ยูฮันส์ซอน (Ivar-lo Johansson)​ นักเขียนชาวสวีเดนเป็นวรรณกรรมเพื่อสังคมที่สื่อให้เห็นการต่อสู้อย่างทรหดและขมขื่นของครอบครัวชาวไร่เพื่อความฝันและโอกาสที่จะมีบ้านเป็นของตนเองแม้จะเป็นการกู้เงินรัฐ และขณะเดียวกันก็สะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นขวนขวายของลูกชาวไร่ที่ต้องการมีการศึกษา
.
.
หนังสือเล่มนี้อาจจะไม่ค่อยคุ้นหูคุ้นตานักอ่านคนไทยมากนัก แต่เมื่อมีการแปลเป็นไทยโดยคุณ บุญส่ง ชเลธร ครูสอนภาษาไทยผู้เคยอยู่ในกรุงสต็อคโฮลม์ ประเทศสวีเดน เรื่องของคนไม่รู้หนังสือก็มีผู้ชื่นชอบมากจนมีการตีพิมพ์มาแล้วสี่ครั้ง ปกฉบับนี้จัดพิมพ์เป็นครั้งที่ห้าโดยสำนักพิมพ์ยิบซีเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๕๖
.
ผู้เขียนถ่ายทอดเรื่องราวของชนชั้นกรรมาชีพชาวสวีเดนสมัยศตวรรษที่สิบเก้าที่อยู่ในชนบท ซึ่งยังคงมีระบบเจ้าขุนมูลนาย แม้สวีเดนจะเป็นประเทศที่มีระบบ 'รัฐสวัสดิการ' ที่ดี เราไม่คิดว่าจะมีคนที่อ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ แต่ในความจริงแล้วสังคมสวีเดนก็มีความแตกต่างทางชนชั้นในสังคมและความเลื้อมล้ำด้านความเป็นอยู่ทางเศรษฐกิจมากกว่าในยุคนี้
.
อีวาร์ ลู-ยูร์ฮันส์ซอนเขียนเรื่องนี้ผ่านประสบการณ์จริงในชีวิตที่เติบโตมาในครอบครัวชาวไร่โดยมีพ่อเป็นคนไม่รู้หนังสือ ในเรื่องนี้ตัวเอกในวัยสิบหกปีเล่าเรื่องพ่อและความคิดลบที่มีต่อพ่อว่า พ่อเป็นคนจิตใจดี และแรก ๆ ใครที่พบพ่อจะดูเหมือนว่าพ่อเป็น 'คนมีการศึกษา' แต่เมื่อไปติดต่อหน่วยงานของรัฐและต้องลงนามในเอกสาร เจ้าหน้าที่ก็จะรู้ทันทีและบางคนก็อุทานว่ายังมีคนไม่รู้หนังสืออีกเหรอในยุคนี้
.
พ่อนำเงินเก็บไปจับจองที่ดินและขอกู้เงินไว้ แต่มีเพื่อนบ้านที่จำเป็นต้องใช้เงินมาขอยืม ทั้งๆ ที่รู้ว่าเขาไม่มีปัญญาจะเอามาคืนตามที่บอกไว้ พ่อก็ยอมให้เขายืมไป...เงินที่พ่อแม่เก็บสะสมมานานกว่าสิบปีตลอดเวลาที่ทำงานรับใช้บารอนและบารอนเนสมาเกือบทั้งชีวิตจึงหมดไป
.
พ่อต้องไปกู้เงินรัฐ แต่พ่อของเขาไม่รู้หนังสือเพราะไม่เคยเรียนเขียนอ่านมาก่อน ลายมือพ่อเปลี่ยนไปทุกครั้งที่เขียนชื่อ พ่อรู้สึกน้อยอกน้อยใจเมื่อต้องไปลงชื่อในเอกสาร
.
ขณะอ่านเราสัมผัสได้ถึงความกลัวของผู้ไม่รู้หนังสือ กลัวที่จะถูกคนรู้หนังสือหลอกลวง กลัวเมื่อมีเอกสารของราชการที่ต้องลงลายมือและเซ็นชื่อ กลัวถูกฟ้องร้องหากลงชื่อผิด หรือจากกรณีอื่นๆ ที่ได้ยินมาจากเพื่อนบ้าน
.
หนุ่มวัยสิบหกภูมิใจที่เขายังพอมีความรู้ เขาถ่ายทอดความขมขื่นใจที่พ่อของตัวเองต้องต่อสู้อย่างอดทนเพื่อให้ความฝันเป็นจริงอย่างชัดเจนเช่นในฉากที่พ่อลูกคุยกัน
.
"ฉันน่าจะอ่านออกเขียนได้" พ่อเคยกล่าวเศร้า ๆ ในบางหน ... "มันสำคัญมากพอ ๆ กับการหัดทำงานเลย เดี๋ยวนี้คนเขาหัวเราะเยาะคนที่ไม่รู้ หลอกลวงคนที่ไม่รู้ คนส่วนหนึ่งจึงต้องจ่ายค่าโง่ให้ตัวเอง" พ่อไม่ค่อยคิดถึงมันบ่อยนัก แต่ในยามสับสนแล้ว พ่อวิตกเสมอว่ากำลังโดนหลอก พ่อไม่ยอมเชื่อแม้แต่หลักฐานที่วางแบอยู่ตรงหน้า" (น.๖๔)
.
สภาพชีวิตของคนชนชั้นแรงงานที่มีการศึกษาน้อยยังคงมีให้เห็นอยู่ในสังคมไทยและประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก แม้เราจะเข้าสู่ยุคดิจิทัลแล้วก็ตาม วรรณกรรมแนวนี้ช่วยให้เราเห็นภาพชีวิตของพวกเขาที่ยังคงถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่เสมอ แต่ความรักความผูกพันในครอบครัวก็ทำให้ผู้อ่านประทับใจ
.
แอดชอบฉากที่ลูกชายไปช่วยพ่อขุดดิน ขณะที่พ่ออยากให้ลูกไปอ่านหนังสือที่ซื้อมา "ผมสัมผัสได้ถึงความใกล้ชิด และพยายามขุดให้เร็วเท่าพ่อ เราสูดอากาศเดียวกัน งานที่ทำหลอมเราเข้าหากัน ความรู้สึกนี้เป็นสิ่งใหม่สำหรับผม ผมนึกอยากกุมมือพ่อไว้..." (น. ๑๘๕)
.
หากใครไม่สามารถมีบ้านของตนเอง ยามแก่ชราก็อาจจะต้องไปอยู่ที่บ้านพักคนชรา ซึ่งไม่ได้มีสวัสดิการดีเท่ากับที่รัฐบาลสวีเดนจัดให้ได้เท่าในปัจจุบัน ในครอบครัวของเขายังมีพี่ชายและตายายที่ชรามากแล้ว ก็มีตาอีกคนที่เป็นน้องของยาย แต่ครอบครัวไม่สามารถดูแลได้ ในที่สุดตาก็ต้องไปอยู่บ้านพักคนชรา
.
1
อีวาร์ ลู-ยูร์ฮันส์ซอนเขียนหนังสือเล่มนี้เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๔ (ค.ศ. ๑๙๕๑) เขาสื่อให้เราได้เข้าใจความเป็นจริงในสังคมสวีเดนและ ความสำคัญของการศึกษาและการเป็นคนมีความรู้มากขึ้น ถ้าสังคมมีคนไม่รู้หนังสือจำนวนมากก็จะด้อยการพัฒนาและคนที่มีความรู้ก็สามารถตักตวงผลประโยชน์ต่างๆ ความเหลื้อมล้ำทางสังคมจะยิ่งมากขึ้น
.
วรรณกรรมเรื่องนี้ยังเป็นบันทึกสะท้อนภาพสังคมในยุคที่มีระบบเจ้าขุนมูลนาย และชีวิตของคนยากไร้ นักอ่านคนไทยยังไม่ค่อยรู้จักเขามากนัก แต่ในสวีเดนเขาได้รับการยกย่องอย่างสูงว่าเป็นนักเขียนที่ต่อสู้เพื่อคนยากไร้ตลอดมา ได้มีการก่อตั้งรางวัลวรรณกรรมในชื่ของเขาเพื่อสนับสนุนปลงานเขียนของชนชั้นแรงงานด้วย เขาเสียชีวิตเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ (ค.ศ. ๑๙๙๐)
.
.
ผู้อ่านที่สนใจสามารถซื้อได้ที่นี่ค่ะ
#อ่านอีกครั้งก็ยังชอบ #คนไม่รู้หนังสือ #Analfabeten #อีวารลูยูฮันส์ซอน #IvarloJohansson #นักเขียนชาวสวีเดน #บุญส่งชเลธร #การศึกษา​#ความเหลื่อมล้ำทางสังคม #การมีบ้านของตนเอง
โฆษณา