17 ส.ค. 2023 เวลา 11:12 • ครอบครัว & เด็ก

การทดลองตุ๊กตาโบโบ้ ( Bobo doll experiment )

ผมคิดว่าทุกท่านคงเคยได้ยินคำว่า “พฤติกรรมเลียนแบบ” ใช่หรือไม่? โดยปกติแล้ว ในวัยรุ่นตอนปลายและในวัยผู้ใหญ่นั้น หากมีสภาพจิตที่ปกติดี ก็ย่อมจะแยกแยะได้ เมื่อท่านได้เฝ้าดูพฤติกรรมต่างๆ ผ่านทางละคร การ์ตูน หรือบุคคลอื่นๆ ท่านจะสามารถแยกได้ ว่าพฤติกรรมใด สามารถประพฤติตามได้หรือไม่ได้ อันไหนเป็นพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ ซึ่งไม่ควรลอกเลียนแบบ อาทิ ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสื่อ และอันไหนเป็นพฤติกรรมที่ลอกเลียนแบบได้ อาทิ การที่ตัวละครในละคร ได้ให้การช่วยเหลือผู้คน เป็นต้น
ในส่วนของวัยที่เรียกได้ว่า ยังไม่บรรลุนิติภาวะ นั้น การเกิดพฤติกรรมลอกเลียนแบบนั้น มักจะเกิดขึ้นได้มากกว่าในช่วงวัยรุ่นตอนปลายและวัยผู้ใหญ่ และจะเกิดพฤติกรรมลอกเลียนแบบมากหรือน้อยนั้นก็จะแตกต่างกันออกไปในแต่ละช่วงอายุ ในแต่ละการสอนหรือการสร้างทัศนคติ โดยผู้ปกครองของเด็ก และในแต่ละสังคมที่เด็กอยู่ อาทิ สังคมเพื่อน เป็นต้น
ทั้งนี้ทางผู้เขียนขออนุญาตทุกท่าน ในการที่จะนำประสบการณ์ส่วนตัวของผู้เขียนมาทำการอธิบายขยายความเพื่อให้ท่านเห็นภาพได้ชัดยิ่งขึ้น เอาละ เรามาเข้าเรื่องกันครับ
ในช่วงที่ผมนั้นกำลังศึกษาอยู่ชั้นประถมศึกษาของโรงเรียนแห่งหนึ่ง ในช่วงเวลานั้น สิ่งที่ผมเห็นก็คือ เพื่อนผมหลายคนมีพฤติกรรมเลียนแบบการ์ตูนที่พวกเขาดู บ้างก็บอกว่าตัวเองนั้นเป็นซาตานมีพลังเหนือมนุษย์ บ้างก็ชอบใช้ความรุนแรงตามตัวละครในการ์ตูนที่ตนชอบ บ้างก็ทำตามบุคลิกของตัวละครนั้นๆ และ ต่อมา เมื่อผมศึกษาอยู่ในช่วง มัธยมต้น ผมก็ยังพบการเลียนแบบการ์ตูนอยู่บ้าง แต่ปรากฏว่ามีน้อยมากๆแล้ว แต่สิ่งที่เพื่อนรอบตัวผมในวัยนี้มักจะทำคือ การเลียนแบบเพื่อน สิ่งที่ผมจะสื่อนั้น มีทั้งด้านดีและไม่ดีครับ
ในด้านดีนั้น อาทิ การที่เพื่อนในห้องพิเศษ( ห้องเด็กเก่ง ) อยู่รวมกันในกลุ่ม มักจะมีการโน้มน้าวกัน แบ่งปันทัศนคติ ความคิด ต่างๆซึ่งกันและกัน ผลลัพธ์ก็คือ พวกเขาจะพากันเรียน พากันติวหนังสือครับ พากันแนะนำว่าหนังสือเล่มไหนดี หนังสือเล่มไหนน่าอ่าน
ในด้านไม่ดี อาทิ กลุ่มเพื่อนที่ชอบสูบบุหรี่ หรือ ท้าต่อยตีกัน บุคคลซึ่งอยู่ในกลุ่มเหล่านี้นั้น มีแนวโน้มที่จะประพฤติตนเช่นเดียวกับเพื่อนในกลุ่ม เช่น การคิดว่าสูบบุหรี่มันเท่ คิดว่าการไปท้าต่อยตี ยกพวกตีกัน เป็นพฤติกรรมที่ดูเจ๋ง ดูเป็นลูกผู้ชาย เลยประพฤติตนตามเพื่อนในกลุ่ม
เอาละครับ ก็เป็นอันจบเรื่องราวที่ผมได้พบเจอมาในช่วงวัยเรียนนะครับ ต่อมาเราจะเข้าเรื่องกันครับ โดยจะเป็นเรื่องของการทดลองที่ชื่อว่า “การทดลองตุ๊กตาโบโบ้” ครับ
โดยการทดลองตุ๊กตาโบโบ้นั้น ได้รับการออกแบบการทดลองโดย อัลเบิร์ต แบนดูรา ( Albert bandura ) ซึ่งเป็นนักจิตวิทยา สำหรับการดำเนินการ การทดลองนั้น ผมขอแบ่งเป็น 6 ขั้นตอนการทดลอง ดังนี้ครับ
1.) การทดลองนี้ ใช้เด็กผู้ชาย 36 คนและเด็กผู้หญิง 36 คน อายุระหว่าง 3-6 ปี
2.) กลุ่มควบคุมแบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือกลุ่มเล็กที่ประกอบด้วยเด็กผู้ชาย 12 คน และเด็กผู้หญิง 12 คน
3.) ต้นแบบในการทดลอง คือ ผู้ใหญ่ที่เป็นผู้ชาย 1 คน และผู้หญิง 1 คน
4.) เด็กผู้ชายและเด็กผู้หญิงจากกลุ่มควบคุมแรก รวมกัน 24 คน ได้รับอนุญาตให้ดูต้นแบบผู้ชายหรือผู้หญิงโจมตีของเล่นที่เรียกว่า “ตุ๊กตาโบโบ้” ด้วยความก้าวร้าว โดยใช้วิธีต่างๆ รวมถึงการใช้ค้อนทุบตุ๊กตา หรือโยนตุ๊กตา และตะโกนด้วยวาจาที่ก้าวร้าว
5.) เด็กจากกลุ่มควบคุมกลุ่มที่ 2 จำนวน 24 คน ได้ดูต้นแบบที่ปฏิบัติต่อตุ๊กตาโบโบ้โดยไม่ใช้ความรุนแรง
6.) เด็กกลุ่มควบคุมกลุ่มที่ 3 จำนวน 24 คน ไม่ต้องดูต้นแบบอะไรเลย
ผลสรุปจากการทดลองคือ เด็กๆที่ได้ดูต้นแบบที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว จะเลียนแบบการตอบสนองเกือบทั้งหมดต่อตุ๊กตาโบโบ้มากกว่าเด็กๆที่ได้ดูต้นแบบที่ไม่ใช้ความรุนแรง
จากการทดลองยังพบอีกว่า เด็กผู้หญิงที่ดูต้นแบบที่ใช้ความรุนแรงจะมีการตอบสนองทางวาจาที่ก้าวร้าวมากกว่า เมื่อต้นแบบเป็นผู้หญิง และ จะมีการตอบสนองทางกายที่ก้าวร้าวมากกว่า เมื่อต้นแบบเป็นผู้ชาย ขณะที่เด็กผู้ชายนั้น จะเลียนแบบพฤติกรรมก้าวร้าวทางกายมากกว่าเด็กผู้หญิง และเลียนแบบต้นแบบที่เป็นเพศเดียวกันมากกว่าเด็กผู้หญิง
จากการทดลองตุ๊กตาโบโบ้ อัลเบิร์ต แบนดูรา ผู้ออกแบบการทดลอง ได้ประสบความสำเร็จในการแสดงให้เห็นว่า เด็กๆเรียนรู้พฤติกรรมทางสังคม ซึ่งในกรณีนี้ คือ การที่เด็กๆเฝ้าดูพฤติกรรมก้าวร้าวของผู้อื่น
แหล่งอ้างอิงเนื้อหา : หนังสือ PSYCH 101
แหล่งที่มาของรูปภาพประกอบ : https://reder.red/aggression-29-11-2021/
โฆษณา