Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กมลธิรักษ์
•
ติดตาม
17 ส.ค. 2023 เวลา 16:15 • หนังสือ
บทความเรื่อง
วิธีคิดและการปฏิบัติเพื่อบรรเทาทุกข์
“Smile Grey Bat”
“No stick”
วิธีคิดและการปฏิบัติเพื่อบรรเทาทุกข์นี้ เป็นวิธีคิดเพื่อปรับเปลี่ยนมุมมอง ปรับเปลี่ยนทัศนคติ และการทำสมาธิง่ายๆ โดยผู้เขียนได้รวบรวม หยิบยกเอาหลักการของศาสนาต่างๆ ทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ต่างๆ วิธีคิดต่างๆ หลักปฏิบัติต่างๆ ที่มีผู้คิดค้นไว้อยู่แล้ว รวมทั้งความคิดเห็นของผู้เขียนเอง ที่ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่าอาจจะช่วยให้เข้าใจและเข้าถึงวิธีคิดและการปฏิบัตินี้ได้โดยง่าย
วิธีการนี้อาจจะไม่ได้ทำให้ผู้ปฏิบัติมีความสุข หรือดับทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง เพียงแค่วิธีการนี้อาจจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติบรรเทาทุกข์ลงได้บ้าง แค่ไม่ทุกข์ก็ถือว่าสุขแล้ว แต่หากผู้ใดสามารถปฏิบัติได้จนพบความสุข หรือดับทุกข์ได้โดยสิ้นเชิง ผู้เขียนก็ขอแสดงความยินดีด้วย แล้วอย่าลืมแบ่งปันสิ่งที่เป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นด้วย หรือจะไม่แบ่งปันก็ได้ แล้วแต่ ปล่อยวาง เอาที่สบายใจ
เนื้อหาในวิธีคิดและการปฏิบัตินี้ไม่ใช่เรื่องราวเหนือธรรมชาติ ไม่มีการเหาะเหินเดินอากาศ ไม่มีการหายตัว แต่เป็นเรื่องธรรมชาติที่มีอยู่ในทุกสรรพสิ่ง เป็นสิ่งที่วิทยาศาสตร์เข้าถึงได้ ผู้เขียนก็เป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งที่นับถือศาสนาพุทธ ไม่ได้อยู่ในฐานะนักบวช ไม่ได้มียศฐาบรรดาศักดิ์สูงส่ง ไม่ใช่ผู้วิเศษ ไม่ได้มีอิทธิฤทธิ์เหนือธรรมชาติแต่อย่างใด และผู้เขียนอาจจะใช้คำที่ให้ความรู้สึกกลางๆ เช่น อาจจะ น่าจะ คิดว่า หรือคำอื่นๆ ที่หมายถึงอย่างน้อย หรือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
ผู้เขียนจะไม่ยึดติดกับสิ่งหนึ่งสิ่งใด ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ไม่ตัดสินว่าสิ่งไหนดีกว่ากัน เพราะไม่มีอะไรเป็นที่สุด ทุกสรรพสิ่งมีคุณค่าในตัวเอง
ผู้เขียนมีความหวังว่าวิธีคิดและการปฏิบัตินี้จะสามารถเข้าถึงได้โดยทุกสรรพสิ่งที่สามารถรับรู้และเข้าใจความหมายของวิธีการปฏิบัตินี้ได้ ประมาณว่าเป็นวิธีการที่เป็นสากล จับต้องได้โดยไม่มีการยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตชนิดใด ไม่จำกัดเพศ อายุ สีผิว ความสมบูรณ์ของร่างกาย เชื้อชาติ สัญชาติ หรือแม้แต่ศาสนาใดๆ ก็ตาม
ผู้อ่านท่านใดมีความเห็นด้วย เห็นต่าง เห็นแย้ง หรือมีข้อมูลการศึกษาเชิงลึกใดเพิ่มเติม ก็อาจจะเก็บไว้เป็นส่วนตัวหรือแบ่งปันผู้อื่นก็ได้ อาจจะเป็นประโยชน์หรือไม่ก็แล้วแต่ฯ ผู้เขียนจะน้อมรับไว้และไม่มีความเห็นแย้งแต่อย่างใด
ผู้ใดจะคัดลอกไปใช้เพื่อการใดก็ได้ จะอ้างอิงที่มาหรือไม่ก็ได้ จะเอาไปแปลเป็นภาษาใดอีกกี่ภาษาก็ได้ จะเอาไปจัดเก็บไว้ที่ใดก็ได้ จะเอาไปเผยแพร่ด้วยวิธีการใดก็ได้ จะเอาไปศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติมอย่างไรก็ได้ หรืออยากจะเอาไปอ้างว่าตนเองเป็นผู้เขียนก็ได้ ผู้เขียนไม่หวงห้าม ไม่จำกัด ไม่ยึดติดอะไรทั้งสิ้น แล้วแต่ฯ ขอเพียงแค่เกิดประโยชน์ ผู้เขียนก็ยินดีแล้ว
วิธีคิดเพื่อบรรเทาทุกข์
“ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์”
ความคิดนั้นทรงพลังมาก ความคิดเป็นสิ่งเริ่มต้นของสิ่งต่างๆ คิดสิ่งใดก็จะดึงสิ่งนั้นเข้ามาหา การฝึกให้ตัวเองคิดบวกซ้ำๆ จะทำให้พลังงานด้านบวกเข้ามาหาเรา การปรับทัศนคติให้คิดบวกเริ่มง่ายๆ ดังนี้
1. ยิ้ม (Smile)
- กุญแจคือฮอร์โมนเอนดอร์ฟิน (Endorphin)
เอนดอร์ฟินเป็นฮอร์โมนที่หลั่งออกมาในตอนที่เรามีความสุข เมื่อมีความสุขแล้วเราก็จะยิ้ม ในทางกลับกัน การยิ้มก็อาจจะทำให้ฮอร์โมนเอนดอร์ฟินหลั่งออกมาได้เช่นกัน ในสถานการณ์คับขันหรือกดดันสุดๆ หรือในตอนเศร้าเสียใจ ลองฝืนยิ้มให้กำลังใจตัวเองดูแล้วจะรู้สึกว่ารอยยิ้มช่วยเราได้ การปฏิบัติธรรม การสวดมนต์ การทำสมาธิก็อาจทำให้เอนดอร์ฟินหลั่งออกมา
ผู้ที่จะเข้าใจและรับรู้ว่าวิธีแบบนี้มีอยู่จริง คือคนที่อยู่ในความทุกข์ ความเศร้า ความเสียใจ ความวิตกกังวล หรือสถานการณ์ที่ทำให้รู้สึกในด้านลบ เมื่อเข้าวัดปฏิบัติธรรม สวดมนต์ ทำสมาธิ ก็จะทำให้คลายทุกข์ มีความสบายใจ มีความสุขขึ้นได้
- ประตูคือฮอร์โมนอะดรีนาลีน (Adrenaline)
เมื่อมีฮอร์โมนอะดรีนาลีน (Adrenaline) หลั่งออกมา ก็จะมีเอนดอร์ฟินตามออกมาด้วย ในความคิดเห็นของผู้เขียนเอง คิดว่าอะดรีนาลีนอาจจะเป็นประตูที่จะทำให้เข้าถึงวิธีการนี้ อะดรีนาลีนจะมาในตอนเราตกใจแบบสุดขีด กลัวสุดขีด ให้นึกถึงตอนที่เรากลัวผี ความรู้สึกก็จะประมาณนั้น หรือในตอนออกกำลังกายจนถึงจุดพีคก็จะเพิ่มอะดรีนาลีนได้เช่นกัน แล้วถ้าไม่กลัว ไม่ตกใจ จะเพิ่มอะดรีนาลีนได้อย่างไร การปลีกวิเวกของพระสงฆ์ ก็เป็นวิธีการหนึ่งในการเพิ่มความกลัวได้
บางศาสนาก็จะมีวิธีการเพิ่มอะดรีนาลีนและเอนดอร์ฟิน เช่น การสวดมนต์ การเปล่งเสียงโอม เสียงร้องของวัว เสียงฆ้อง เสียงระฆัง เสียงเครื่องเคาะ ผู้เขียนคิดว่าคลื่นความถี่เสียง คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า บางย่านความถี่ อาจจะช่วยเพิ่มอะดรีนาลีนและเอนดอร์ฟินได้เช่นกัน หรือแม้แต่สารเคมีบางอย่างก็อาจทำให้เกิดผลดังกล่าวได้เช่นกัน ดังเช่น การจุดน้ำมันหอมระเหย การให้ดื่มเครื่องดื่มและรับประทานอาหารหรือยาบางอย่าง
2. สีเทา (Grey)
ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็นสีเทามีข้อดีข้อเสียปะปนกันเสมอ ไม่มีสิ่งใดขาวสะอาดโดยปราศจากสีดำ และไม่มีอะไรดำมืดโดยปราศจากสีขาว ในที่ที่ว่าดี ยังมีสิ่งไม่ดี และในที่ที่ว่าไม่ดี ยังมีสิ่งที่ดี อยู่ที่มุมมองว่าจะมองหาสิ่งใด มองหาสิ่งที่ดี ก็จะเจอแต่สิ่งที่ดี มองหาสิ่งไม่ดี ก็จะเจอแต่สิ่งไม่ดี มองหาโอกาสก็จะเจอแต่โอกาส มองหาอุปสรรค ก็จะเจอแต่อุปสรรค
3. มองมุมกลับ (Bat)
มองสิ่งต่างๆ ให้รอบด้าน เหรียญไม่ได้มีแค่ 2 ด้าน แต่เหรียญมีถึง 3 ด้าน ทุกสิ่งทุกอย่างมีมุมมองได้หลายมุมมอง ไม่มีสิ่งใดที่มีมุมมองเพียงแค่ด้านเดียว ไม่จำเป็นต้องมองในมุมเดียวกันกับคนอื่นเสมอไป ลองเปลี่ยนมุมมอง หรือมองในมุมกลับ จะเห็นสิ่งที่แตกต่างซ่อนอยู่ สิ่งที่แตกต่างเท่านั้นที่จะทำให้เกิดสิ่งใหม่
วิธีการปฏิบัติเพื่อบรรเทาทุกข์
1. ปล่อยวาง (No stick)
“แล้วแต่ ปล่อยวาง เอาที่สบายใจ”
ผู้ปฏิบัติต้องเริ่มต้นด้วยการ “ปล่อยวาง” ไม่ยึดติดกับสิ่งใดทั้งสิ้น เริ่มที่ตัวเราเอง ผู้เขียนไม่ได้แนะนำให้ทิ้ง เพียงแค่ละได้ไม่ถึงต้องกับทิ้ง เพราะการทิ้งส่วนใหญ่จะอยู่ในสถานการณ์บังคับ
แต่หากสามารถตัดใจได้ ทิ้งได้ก็เป็นผลดียิ่งขึ้น ลดอคติ ลดความยึดมั่นถือมั่น ลดความเป็นตัวเราตัวเขา ลดความเห็นแก่ตัว ลดความก้าวร้าว ลดความหยาบกระด้างในจิตใจและตัวตนของผู้ปฏิบัติก่อน และเพิ่มความรัก เพิ่มการแบ่งปัน เพิ่มการให้ เพิ่มการช่วยเหลือ เพิ่มความจริงใจแก่ผู้อื่น รู้จักเห็นอกเห็นใจ รู้จักการให้อภัย เชื่อมั่นว่าวิธีการปฏิบัตินี้อาจจะช่วยให้ผู้ปฏิบัติบรรเทาทุกข์ลงได้
ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนมีกรรมและผลกรรมของตัวเอง ไม่ว่าจะอยากมีหรือไม่ อยากรับหรือไม่ เกรงกลัวหรือไม่ เจตนาหรือไม่ ก็ไม่สามารถหนีพ้นกรรมและผลกรรมได้ ดังนั้นควรทำใจยอมรับ ทำความเข้าใจ และปล่อยวาง ทั้งผลกรรมดีและไม่ดี หากยังยึดมั่นถือมั่นอยู่ ก็จะเสียโอกาสในการทำกรรมดีในวันต่อไป เรื่องของกรรมและผลกรรมนั้น ผู้เขียนมีความคิดเห็นสนับสนุนว่ากรรมและผลกรรมนั้น เกี่ยวข้องกับกฎพลังงานธรรมชาติที่พยายามรักษาสภาวะสมดุล พลังงานที่รับเท่ากับพลังงานที่ให้ พลังงานไม่ได้สูญหายไป เพียงแต่เปลี่ยนรูป
ในด้านหน้าที่การงาน การจะปล่อยวางได้ แต่ไม่ใช่ทิ้งหน้าที่การงานนั้น ผู้เขียนมีความคิดเห็นส่วนตัวว่าอาจจะเป็นการปฏิบัติงานตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายให้เต็มที่โดยสุจริต ตั้งใจให้บรรลุเป้าหมายที่องค์กรตั้งไว้โดยถือประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน มีการตอบแทนให้เหมาะสมกับการปฏิบัติหน้าที่การงานนั้นๆ
ความสัมพันธ์ของคนในครอบครับ ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่าเป็นส่วนที่ปล่อยวางยากที่สุด เนื่องจากมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับตัวเรามากที่สุด และในความคิดเห็นของผู้เขียน การจะปล่อยวางในส่วนนี้ได้ ก็เพียงปฏิบัติต่อกันให้เกิดความสบายใจซึ่งกันและกัน ลดปัญหาให้แต่ละฝ่าย เข้าใจซึ่งกันและกัน เห็นอกเห็นใจกัน เคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ปล่อยให้เกิดการเรียนรู้ คอยดูแลอยู่ห่างๆ อย่างจริงใจ ผู้เขียนคิดว่าน่าจะทำให้ปล่อยวางได้ โดยไม่ต้องทิ้งความสัมพันธ์ของคนในครอบครัว
2. ฝึกทำสมาธิ
“สติและลมหายใจสำคัญที่สุด”
หากจะทำอะไรก็ตาม ถ้ามีสติจะทำได้ดี ความผิดพลาดจะน้อยลง ถึงแม้เกิดความผิดพลาด ก็จะหาสาเหตุความผิดพลาดได้อย่างรวดเร็ว แม้แต่อยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้าย ถ้าพยายามรวบรวมสติ แล้วเผชิญกับสถานการณ์นั้น ก็จะผ่านไปได้ และผู้เขียนมีความคิดเห็นส่วนตัวว่า สติน่าจะเป็นความหมายของแต่ละปรางค์ของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้ามีกี่ปรางค์ผู้เขียนไม่ทราบ แต่ผู้เขียนเข้าใจเพียงว่าทุกปรางค์ของพระพุทธเจ้านั้นมีความหมายเดียวคือสติ
การเห็นคุณค่าของลมหายใจที่มีอยู่นั้นสำคัญที่สุด ตราบใดที่ยังมีลมหายใจ แสดงว่ายังมีชีวิต อย่าเสียดายสิ่งที่ผ่านไปแล้ว อย่ากังวลกับสิ่งที่ยังไม่เกิด สิ่งที่กำลังทำอยู่ก็ทำให้เต็มที่ ทำให้ดี ทำให้เกิดประโยชน์ให้มากที่สุด
การฝึกทำสมาธิง่ายๆ อาจจะเริ่มจากการหาที่สงบ สวดมนต์ เดินจงกรม นั่งสมาธิ นอนสมาธิ ฟังเพลง ฟังเสียงที่ทำให้เกิดสมาธิ
“ใช้สติเพ่งการรับรู้ลมหายใจเข้า-ออกไปที่ปลายจมูก หายใจเข้า-ออกลึกๆ” แล้วคิดเพียงว่า
“อดีตไม่มีอยู่จริง อนาคตก็ไม่มีอยู่จริง แม้แต่ปัจจุบันก็ไม่มีอยู่จริง มีเพียงขณะจิตเท่านั้นที่มีอยู่จริง ขณะจิตที่สติรับรู้ลมหายใจ”
อดีต ปัจจุบัน อนาคต เป็นเรื่องเกี่ยวกับเวลา ตามทฤษฎีสัมพัทธภาพนั้นเวลาเป็นสิ่งสัมพัทธ์ เวลาที่แท้จริงเป็นเวลาที่อยู่ในใจ สั้นยาวไม่เท่ากัน อดีตผ่านไปแล้วไม่มีอยู่จริง ปัจจุบันก็กลายเป็นอดีตถูกแทนที่ด้วยอนาคตแล้วไม่มีอยู่จริง อนาคตก็ไม่รู้จะไปถึงหรือไม่ ยังมาไม่ถึงไม่มีอยู่จริง มีเพียงขณะจิตหรือปัจจุบันขณะเท่านั้นที่มีอยู่จริง
ความคิดเห็นส่วนตัวของผู้เขียนคิดว่า เมื่อเรามีอาการขนลุกจากสิ่งใดก็ตาม ความรู้สึกคล้ายกับตอนที่รู้สึกกลัวผี ให้ใช้สติเพ่งการรับรู้ลมหายใจไปที่บริเวณกึ่งกลางระหว่างคิ้วให้รู้สึกว่าแผ่ซ่านไปทั้งร่างกาย แล้วลองเปลี่ยนอริยาบทแต่สติยังเพ่งการรับรู้ลมให้ใจอยู่ที่กึ่งกลางระหว่างคิ้ว จนกว่าอาการแผ่ซ่านดังกล่าวจะหายไป แล้วค่อยๆ ลองลืมตาขึ้น
จะมีความรู้สึกว่าคลายความกังวล คลายความเศร้า คลายความกลัว ทุกข์จะบรรเทา มีความสุขเพิ่มขึ้น รู้สึกมีพลังมากขึ้น เป็นพลังงานภายใน และจะแสดงออกภายนอกในด้านความสุข ความคิดสร้างสรรค์ เรี่ยวแรงในการทำงาน รวมถึงอาจจะช่วยบรรเทาทุกข์และเยียวยาจิตใจ และผู้เขียนยังมีความคิดเห็นเพิ่มเติมอีกว่า ความรู้สึกแบบนี้จะเข้าถึงได้ง่ายถ้าหากอยู่ในภาวะครึ่งหลับครึ่งตื่น และจะยิ่งเข้าถึงได้ง่ายในตอนเวลารุ่งเช้า ผู้เขียนก็เลยเรียกตามความคิดเห็นส่วนตัวว่า
“รุ่งแจ้งเห็นจริง”
การปลีกวิเวก การท่องหรือฟังบทสวดมนต์ การกล่าวหรือฟังเสียงโอมยาวๆ การฟังเสียงร้องของวัว การฟังเสียงฆ้อง ระฆัง หรือเครื่องเคาะของแต่ละศาสนา การนำเท้าแช่น้ำในบ่อดินหรือเหยียบเท้าบนพื้นดินเปียก สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็เป็นตัวช่วยให้เข้าถึงสมาธิได้ง่ายขึ้น
ถ้าหากฝึกทำสมาธิบ่อยๆ จะทำให้เข้าถึงสมาธิได้ง่าย ถึงแม้ว่าอาจจะเป็นเพียงวิธีการทำสมาธิขั้นต้นหรือการทำสมาธิง่ายๆ แต่ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่าเป็นประโยชน์มาก ไม่ว่าจะอยู่ในสถานการณ์หรืออริยาบทใดก็ตาม ถ้าหากเราใช้สติเพ่งการรับรู้ไปที่ลมหายใจ จะสามารถคลายความกังวล คลายความเศร้า คลายความเสียใจ คลายความกลัวลงได้ ทุกข์จะบรรเทา และหากใครมีความสุขอยู่แล้ว ก็น่าจะทำให้มีความสุขมากขึ้น
ผู้เขียนมีความคิดเห็นส่วนตัวว่าอาจจะมีผู้ที่คอยช่วยเหลือ สนับสนุน แนะนำ ชี้ทาง ผลักดัน กดดัน บังคับ ยกตัวอย่างให้ผู้เขียนเข้าใจวิธีนี้จนสามารถอธิบายให้ผู้อื่นหรือสิ่งอื่นเข้าใจได้ จากที่ผู้เขียนก็คงจะเข้าถึงโดยไม่รู้ตัวมาก่อน และอาจจะมีวิธีการเข้าถึงโดยวิธีทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่อาจจะก่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างต่อไป
บทความนี้ผู้เขียนไม่ได้คิดขึ้นเอง ไม่ได้แต่งขึ้นเองแต่อย่างใด หากแต่เนื้อหาในบทความนี้มีอยู่ก่อนแล้วตามสื่อต่างๆ ที่ค้นหาศึกษาเพิ่มเติมได้ไม่ยาก ผู้เขียนเพียงหยิบยกส่วนที่ผู้เขียนเข้าใจและมีความคิดเห็นส่วนตัวว่าอาจจะเข้าใจได้โดยง่ายและอาจจะเป็นประโยชน์มารวบรวมไว้เท่านั้น
หากบทความนี้ซ้ำกับบทความที่มีอยู่ก่อนแล้ว หรือขัดกับหลักทางศาสนา วิทยาศาสตร์ การแพทย์ กฎหมาย จารีตประเพณี วัฒนธรรม ความเป็นจริง ธรรมชาติ รวมไปถึงการอ้างอิงหยิบยกผิดประเด็น หรือมีการพาดพิงที่ทำให้เกิดความเสียหาย ผู้เขียนขออภัย ณ ที่นี้ผู้เขียนไม่มีเจตนาดังกล่าวแต่อย่างใด
ผู้เขียนหวังอย่างยิ่งว่า บทความนี้จะเป็นประโยชน์ แม้จะมีเพียงหนึ่งสิ่งหรือหนึ่งชีวิตที่ได้รับประโยชน์ ผู้เขียนก็มีความยินดีมากแล้ว
สุดท้ายนี้ ผู้เขียนกราบขอบพระคุณและกราบขออภัย ขอขมา ขออโหสิกรรมบิดามารดา ญาติพี่น้อง ปู่ย่าตายาย บรรพบุรุษ เจ้ากรรมนายเวร ทุกคน ทุกชีวิต ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้เขียนในทุกด้าน ที่ทำให้ผู้เขียนได้เข้าใจชีวิตมากขึ้นจนเข้าใจวิธีคิดและการปฏิบัติเพื่อบรรเทาทุกข์อย่างง่ายในแบบของผู้เขียน ที่อาจเข้าถึงและปฏิบัติได้ง่าย และเกิดประโยชน์กับทุกสิ่งทุกอย่าง. 71-4
หนังสือ
ปัญญา
ข้อคิด
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย