20 ส.ค. 2023 เวลา 14:17 • ประวัติศาสตร์

ฤดูร้อนกับเรื่องขนลุก กระตุกต่อมความกลัวกับสามวิญญาณแค้นแดนปลาดิบ (ตอนจบ)

【ละครสยองขวัญมีหรือจะสู้ตำนานที่มีอยู่จริง】
“วิญญาณ” ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า ยูเร (幽霊) เป็นดวงจิตของผู้เสียชีวิต แต่หากวิญญาณนั้นมีพลังสาปแช่งหรือก่อภัยพิบัตินำหายนะมาสู่ผู้คนได้ จะเรียกวิญญาณเหล่านั้นว่า องเรียว (怨霊) ในอดีตชาวญี่ปุ่นเชื่อกันว่า หากบูชาบวงสรวงเหล่าวิญญาณร้ายพวกนั้นในฐานะเทพโดยตั้งศาลให้สิงสถิตย์จะนำมาซึ่งความสงบสุขร่มเย็นตามความเชื่อเรื่องการนับถือดวงวิญญาณในลัทธิชินโต (御霊信仰)
2
เมื่อพูดถึงองเรียว – วิญญาณร้ายที่มีแรงอาฆาตซึ่งเป็นที่โจษจัณฑ์กันมาตั้งแต่ในอดีตจนถึงปัจจุบัน คงหนีไม่พ้น “สามวิญญาณอาฆาตแห่งแดนอาทิตย์อุทัย” ได้แก่ สึกาวาระ โนะ มิจิซาเนะ, ไทระ โนะ มาสะคาโดะ, จักรพรรดิซูโตกุ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีตัวตนอยู่จริงในประวัติศาสตร์
1
【สึกาวาระ โนะ มิจิซาเนะ - 菅原道真】
ขุนนางผู้มีชีวิตอยู่ในยุคเฮอันผู้นี้เป็นผู้มีความสามารถโดดเด่นทั้งด้านวิชาการ การเขียนโคลงกลอน และงานราชการบ้านเมือง เขาสอบเข้ารับราชการในปี ค.ศ. 870 ได้คะแนนสูงสุดเป็นอันดับหนึ่ง แล้วยังได้รับความไว้วางใจจากจักรพรรดิอุดะจนได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีฝ่ายขวา ผลงานโดดเด่นคือการยกเลิกการส่งราชทูตไปจีนในยุคราชวงศ์ถัง ซึ่งอยู่ในช่วงที่กำลังระส่ำระสายด้วยเหตุการณ์วุ่นวายภายในและภัยธรรมชาติที่ถาโถมใส่จีนในช่วงเวลานั้น
1
ภาพวาดของสึกาวาระ โนะ มิจิซาเนะ เครดิตภาพ : https://ja.wikipedia.org/wiki/%E8%8F%85%E5%8E%9F%E9%81%93%E7%9C%9F
การเป็นผู้มีความสามารถและผลงานโดดเด่นย่อมต้องมีทั้งคนรักและคนชัง หนึ่งในนั้นก็คือฟุจิวาระ โนะ โทคิฮิระ – เสนาบดีฝ่ายซ้าย ตระกูลขุนนางที่มีความใกล้ชิดกับราชวงศ์อย่างแนบแน่น ฟุจิวาระเพ็ดทูลใส่ความสึกาวาระว่ากำลังวางแผนโค่นราชบรรลังค์จักรพรรดิไดโกะ ทำให้พระองค์ทรงกริ้วมากเนรเทศสึกาวาระ ส่งไปจองจำอยู่ที่ดะไซฟุ (คิวชูในปัจจุบัน) สึกาวาระทนทรมานอยู่ได้ 2 ปีก็สิ้นชีวิตลง
1
หลังจากที่ฟุจิวาระ โนะ โทคิฮิระได้ครอบครองตำแหน่งทั้งเสนาบดีฝ่ายซ้าย – ขวา ได้ไม่นานเขาก็จบชีวิตลงอย่างกะทันหันโดยไร้สาเหตุในวัย 39 ปี ในเวลาไล่เลี่ยกันยังเกิดเหตุอาเพศฟ้าผ่าลงกลางพระราชวังเป็นเหตุให้ขุนนางหลายรายเสียชีวิต รวมทั้งจักรพรรดิไดโกะและมกุฎราชกุมารเองก็ต้องล้มหมอนนอนเสื่อและสิ้นพระชนม์ลงในเวลาต่อมา
1
ศาลคิตะโนะเท็นมังงู สถานที่สถิตย์ของดวงวิญญาณของสึกาวาระ เครดิตภาพ : https://thegate12.com/jp/article/351#content-6
ภัยพิบัติและเรื่องร้ายที่เกิดอย่างต่อเนื่องทำให้หลายคนเชื่อว่าเป็นการแก้แค้นของสึกาวาระ แม้จะมีการทำพิธีมอบตำแหน่งเสนาบดีกลับคืนให้ก็ไม่ได้ทำให้เหตุอาเพศต่าง ๆ ลดน้อยลง กระทั่งมีการจัดตั้งศาลคิตาโนะเท็นมังงู (北野天満宮) ขึ้นที่เกียวโตแล้วอัญเชิญดวงวิญญาณของสึกาวาระให้มาสิงสถิตย์ ขนานนามใหม่ว่า เทพเท็นจิน – เทพเจ้าแห่งสายฟ้า ภายหลังผู้คนทั่วไปนิยมบวงสรวงเทพเท็นจินเพื่อขอพรให้มีสติปัญญาเฉลียวฉลาดเหมือนอย่างสึกาวาระ
1
【ไทระ โนะ มาสะคาโดะ - 平将門】
ไทระ โนะ มาสะคาโดะ เกิดในตระกูลไทระหนึ่งในทายาทของจักรพรรดิคัมมุ มีอิทธิพลในภูมิภาคคันโต เดิมเขาเป็นซามูไรที่คอยดูแลตระกูลฟุจิวาระ เมื่อบิดาของเขา – ไทระ โยชิฮิระ ซึ่งเป็นนายทัพรักษาการณ์ตอนเหนือสิ้นชีวิตลงจึงตัดสินใจกลับมายังบ้านเกิดในคันโต
ไทระ โนะ มาสะคาโดะ เครดิตภาพ : https://ja.wikipedia.org/wiki/%E5%B9%B3%E5%B0%86%E9%96%80
มาสะคาโดะใช้ฝีมือของตัวเองต่อสู้เอาชนะลุง – คุนิกะ (国香) และโยชิคาเนะ (良兼) ที่หวังจะครอบครองมรดกที่ผู้เป็นพ่อได้ทิ้งเอาไว้มากมาย รวบรวมกองกำลังของตนและเดินทางไปปราบหัวเมืองทั้งแปดในภูมิภาคคันโต ตั้งตนขึ้นเป็นจักรพรรดิใหม่ (新皇) ว่ากันว่ามาซาคาโดะปลดแอกประชาชนจากผู้ปกครองท้องถิ่นที่ใช้อำนาจเอารัดเอาเปรียบ
ทว่าการกระทำของมาสะคาโดะเข้าข่ายกระด้างกระเดื่องต่อราชสำนัก ทางวังหลวงจึงตัดสินใจส่งนักรบฝีมือดีซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องของมาสะคาโดะ – ไทระ โนะ ซาดะโมริ และอดีตสหายคนสนิท – ฟุจิวาระ โนะ ฮิเดซาโตะ รวมไพร่พลอีกเป็นจำนวนมากไปปราบ
มาสะคาโดะในสงครามกบฏโจเฮเทนเงียว เครดิตภาพ : https://ja.wikipedia.org/wiki/%E5%B9%B3%E5%B0%86%E9%96%80
แม้ว่ามาสะคาโดะจะมีฝีมือเก่งกาจเพียงใด เมื่อเจอกับกองทัพที่มีทหารมากกว่ากำลังพลของตนถึงสิบเท่าก็ไม่อาจต้านทานได้ ท้ายที่สุดตัวเขาก็เป็นฝ่ายพ่ายแพ้จบชีวิตลงกลางสมรภูมิใกล้กับแคว้นชิโมสะ (บริเวณตอนเหนือของจังหวัดชิบะในปัจจุบัน) หลังจากตั้งตนเป็นจักรพรรดิใหม่ได้เพียงสองเดือน
ศีรษะของมาสะคาโดะที่เต็มไปด้วยลูกธนูถูกนำกลับมาเสียบประจานในฐานะกบฎแผ่นดินไว้ที่ริมแม่น้ำคาโมะกาว่า เมืองหลวงเฮอัน (เกียวโตในปัจจุบัน) แม้ว่าทุกวันนี้แม่น้ำคาโมะกาว่าจะกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง แต่ในยุคเฮอันริมฝั่งแม่น้ำแห่งนี้คือลานประหารนักโทษคดีอุกฉกรรจ์โดยมีศีรษะของมาสะคาโดะเป็นศพแรก
เสียงลือเสียงเล่าอ้างถึงความสยองขวัญเริ่มขึ้นที่นี่
ศีรษะของมาสะคาโดะที่ถูกเสียบประจานอยู่นั้น ทำให้ผู้คนตื่นกลัวไม่น้อยนั่นเป็นเพราะดวงตาอาฆาตที่เบิกโพรงอยู่ตลอดเวลายาวนานหลายเดือน บางค่ำคืนผู้คนที่อาศัยในละแวกนั้นมักได้ยินเสียงกัดฟันดังกรอดมาจากศีรษะที่ถูกเสียบอยู่ ทำให้ไม่มีใครกล้าออกนอกบ้านยามอาทิตย์ลับขอบฟ้า
ศีรษะของมาซาคาโดะที่เต็มไปด้วยลูกธนูกำลังลอยกลับไปหาร่างของตน เครดิตภาพ : https://thegate12.com/jp/article/351#content-6
ในค่ำคืนหนึ่งปรากฏดวงไฟสว่างวาบบริเวณแท่นเสียบศีรษะของมาสะคาโดะแต่ไม่มีใครกล้าออกไปดู พอรุ่งสางศีรษะของมาสะคาโดะก็อันตรธานหายไป บางตำนานเล่ากันว่าศีรษะได้ลอยกลับไปหาร่างที่ถูกฝังเอาไว้ในเมืองบันโด จังหวัดอิบารากิ ขณะที่ลอยกลับไปหาร่างของตนได้ตกตามสถานที่ต่าง ๆ หนึ่งในสถานที่ที่มีชื่อเสียงคือ เนินโชมงสึกะ (将門塚) เขตชิโยดะ กรุงโตเกียว
เรื่องราวความเฮี้ยนของมาสะคาโดะมีให้ได้ยินได้ฟังเรื่อยมา
หลังเกิดแผ่นดินไหวคันโตครั้งใหญ่ในปี ค.ศ. 1923 รัฐบาลได้ก่อสร้างอาคารสำนักงานชั่วคราวกระทรวงการคลังบริเวณเนินโชมงสึกะ หลังจากนั้นไม่นานรัฐมนตรีกระทรวงการคลังและหัวหน้าผู้คุมการก่อสร้างอาคารก็ได้เสียชีวิตลงอย่างกะทันหันตามกันไป ยังไม่นับรวมผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอีกหลายรายที่ต้องพบเจอกับความโชคร้ายนานับประการ ท้ายที่สุดจำเป็นต้องรื้ออาคารทิ้งทั้งหมด
"เนินโชมงสึกะ" สถานที่ต้นกำเนิดเรื่องราวอาถรรพ์ต่าง ๆ เครดิตภาพ : https://thegate12.com/jp/article/351#content-6
นอกจากนี้หลังจากญี่ปุ่นแพ้สงครามในเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 ศูนย์บัญชาการสูงสุดของฝ่ายสัมพันธมิตร (GHQ) มีแผนจะปรับพื้นที่บริเวณเนินโชมงสึกะเพื่อทำอาคารจอดรถ ทว่าเกิดอุบัติเหตุรถขุดขนาดใหญ่พลิกคว่ำคนขับเสียชีวิตคาที่ ทำให้ต้องยกเลิกการก่อสร้างไปในที่สุด
ตำนานเล่าขานถึงความน่ากลัวของเนินโชมงสึกะมีมากมายอีกหลายเรื่อง เพราะมักจะเกิดเหตุอาเพศขึ้นทุกครั้งเมื่อมีโครงการทุบทำลายพื้นที่บริเวณดังกล่าว ปัจจุบันมีการจัดทำป้ายสุสานของไทระ โนะ มาสะคาโดะ บริเวณเนินโชมงสึกะซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศาลเจ้าคันดะเมียวจิน (神田明神) กลายเป็นที่สักการะบูชาในฐานะปรมาจารย์แห่งบูชิโด นักรบผู้มีจิตวิญญาณในการต่อสู้กับความอยุติธรรมและช่วยเหลือผู้ที่อ่อนแอกว่า
【จักรพรรดิซูโตกุ – 崇徳上皇】
จักรพรรดิซูโตกุทรงสืบราชบัลลังก์ขึ้นเป็นสมเด็จพระจักรพรรดิองค์ที่ 75 เมื่อทรงมีพระชนม์มายุได้เพียงแค่ 3 พรรษา ทว่าพระองค์ก็มิได้ทรงมีพระราชอำนาจในการปกครองบ้านเมืองแต่อย่างใด
จักรพรรดิซูโตกุ เครดิตภาพ : https://ja.wikipedia.org/wiki/%E5%B4%87%E5%BE%B3%E5%A4%A9%E7%9A%87
แม้ว่าพระองค์จะทรงเป็นพระราชโอรสองค์โตของจักรพรรดิโทบะ แต่ก็มิได้รับความรักและเอ็นดูอย่างที่ควรเป็น เมื่อทรงครองราชย์ได้จนมีพระชนม์มายุ 19 พรรษา ก็ถูกอดีตจักรพรรดิโทบะซึ่งเป็นพระราชบิดาบังคับให้สละราชสมบัติ แล้วส่งต่อราชบัลลังก์ให้แก่เจ้าชายนาริฮิโตะ (躰仁) ซึ่งเป็นโอรสของจักรพรรดิโทบะกับฟูจิวาระ โนะ นาริโกะ (藤原得子) กลายเป็นจักรพรรดิโคโนเอะ (近衛天皇) ครองราชบัลลังก์ลำดับที่ 76 ด้วยพระชนม์มายุเพียง 2 พรรษา
เมื่อจักรพรรดิโคโนเอะมีพระชนม์มายุได้ 15 พรรษา พระองค์ก็เริ่มมีร่างกายไม่แข็งแรง ประชวรเรื่อยมาจนเสด็จสวรรคตลงด้วยพระชนม์มายุเพียงแค่ 16 พรรษา นำความโศกเศร้าเสียใจมาสู่พระราชบิดา อดีตจักรพรรดิโทบะทรงปักใจเชื่อว่าเป็นเพราะอดีตจักรพรรดิซูโตกุไม่พอพระทัยจึงสาปแช่งจักรพรรดิโคโนเอะ ยิ่งทำให้พระองค์รู้สึกเกลียดชังอดีตจักรพรรดิซูโตกุมากขึ้นไปอีก ถึงขนาดสั่งข้าราชบริพารเอาไว้ว่าหากแม้พระองค์สิ้นพระชนม์ลงก็มิให้จักรพรรดิซูโตกุไหว้พระศพเป็นอันขาด
ภาพความวุ่นวายภายในราชสำนักงานขณะเกิดสงครามกบฏปีโฮเง็น เครดิตภาพ : https://ja.wikipedia.org/wiki/%E4%BF%9D%E5%85%83%E3%81%AE%E4%B9%B1
เมื่ออดีตจักรพรรดิ์โทบะทรงสิ้นพระชนม์ลง จักรพรรดิซูโตกุที่ทรงเก็บความน้อยเนื้อต่ำใจและความไม่พอพระทัยทั้งหลายเอาไว้ในใจมาตลอด ต้องการทวงสิทธิ์ในการสืบพระราชบัลลังก์จากจักรพรรดิโกะชิราคาวะ เกิดเป็นความวุ่นวายขึ้นระหว่างทั้งสองพระองค์รวมทั้งเหล่าขุนนางที่สนับสนุนทั้งสองฝ่าย กลายเป็นสงครามกบฏปีโฮเง็น (保元の乱)
จักรพรรดิซูโตกุเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ พระองค์ตัดสินพระทัยออกบวช ด้วยธรรมเนียมปฏิบัติของราชวงศ์ในอดีตให้ละเว้นไม่เอาโทษสำหรับเชื้อพระวงศ์ที่กระทำความผิดหากออกบวช ทว่าแม้จักรพรรดิซูโตกุจะเสด็จออกบวชก็ตาม แต่พระองค์ก็ยังถูกเนรเทศไปยังดินแดนห่างไกลแคว้นสะนุกิ (讃岐) ปัจจุบันคือพื้นที่จังหวัดอิชิกาวะ
จักรพรรดิซูโตกุทรงเกิดความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาขณะออกบวช อีกทั้งยังมีความสามารถทางภาษาและการแต่งกาพย์กลอนที่โดดเด่น พระองค์จึงตัดสินพระทัยคัดพระคัมภีร์สัทธรรมปุณฑริกสูตร 5 เล่ม ส่งกลับไปยังอารามหลวงในเมืองเกียวโต เพื่อเป็นการรำลึกถึงผู้วายชนม์และสำนึกผิดต่อเหตุการณ์ความไม่สงบที่ก่อขึ้น แต่กลับโจษจันกันว่าพระคัมภีร์เหล่านั้นคือคำสาปแช่งจากจักรพรรดิซูโตกุ
จักรพรรดิซูโตกุที่กลายเป็นปิศาจด้วยความแค้น เครดิตภาพ : https://ja.wikipedia.org/wiki/%E5%B4%87%E5%BE%B3%E5%A4%A9%E7%9A%87
ทางวังหลวงจึงส่งพระคัมภีร์ทั้งหมดกลับไปยังวัดที่จักรพรรดิซูโตกุพำนักอยู่ ความโศกเศร้าเสียใจแปรเปลี่ยนเป็นความเคียดแค้น ใช้เลือดของพระองค์สลักข้อความสาปแช่งลงบนพระคัมภีร์ที่ถูกส่งกลับมานำไปทิ้งยังทะเลเซโตะ โดยมีใจความว่า
「我、日本国の大魔縁となり、皇を取って民とし民を皇となさん!」
“ข้า, จะกลายร่างเป็นพญาอสูร กินกลืนเปลี่ยนจ้าวกลายเป็นไพร่
แล้วร่ายเวทย์เสกสรรข้าไท ให้ยิ่งใหญ่เหนือราชันในแดนดิน”
กล่าวกันว่าจักรพรรดิซูโตกุในเวลานั้นทรงจมอยู่กับความเคียดแค้นปล่อยปะละเลยกับสุขภาพและรูปร่างของพระองค์เอง ผมเผ้ายาวรุงรัง เล็บยาวแหลมคม หน้าตาน่ากลัวราวกลับอสูร และคำสาปที่พระองค์ทรงหลั่งเลือดเขียนขึ้นก็กลายเป็นความจริง ด้วยความโกลาหลในการแย่งชิงอำนาจและไร้ความสามารถในการปกครองบ้านเมืองในช่วงปลายยุคเฮอัน ทำให้เหล่านักรบซามูไร ไดเมียว และโชกุนต่างรวบรวมอำนาจตั้งตนเป็นรัฐบาลทหารบาคุฟุ (幕府)สำเร็จในเวลาต่อมา
สถูปที่สร้างขึ้นเพื่อบวงสรวงจักรพรรดิซูโตกุภายในวัดชิรามิเนะ จังหวัดอิชิกาวะ อันเป็นดินแดนที่สิ้นพระชนม์ชีพ เครดิตภาพ : https://thegate12.com/jp/article/351#content-6
อาถรรพ์และลางร้าย
หลังจากจักรพรรดิซูโตกุสิ้นพระชนม์ลงก็เกิดเหตุอาเพศขึ้นมากมายตั้งแต่ฟูจิวาระ ชินเซ (藤原信西) ขุนนางผู้สั่งการให้นำพระคัมภีร์ฉบับคัดทั้ง 5 เล่ม ส่งกลับคืนมายังจักรพรรดิซูโตกุ และมินาโมโตะ โนะ โยชิโตโมะ (源義朝) ซามูไรผู้อยู่เคียงข้างจักรพรรดิโกะชิราคาวะในเหตุการณ์กบฏปีโฮเง็นก็ถูกลอบสังหารเสียชีวิต
จักรพรรดินิโจ (二条天皇) ซึ่งเป็นมกุฏราชกุมาร และจักรพรรดิโรคุโจ (六条天皇) พระราชนัดดา (ต่อมาขึ้นครองบัลลังก์) ในจักรพรรดิโกะชิราคาวะ ทรงประชวรและสิ้นพระชนม์ตามกันไป อีกทั้งยังเกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่เฮอันในปี ค.ศ. 1178 ที่เผาทำลายเมืองหลวงไปถึง 1 ใน 3 ของพื้นที่ทั้งหมดรวมทั้งศาลาไดโกคุเด็น (大極殿) จนเหลือแต่เถ้าธุลี
แม้ว่าทางราชสำนักจะทำพิธีบวงสรวงขอขมาและคืนพระยศให้แก่จักรพรรดิซูโตกุ รวมทั้งมินาโมโตะ โนะ โยริโตโมะ (源頼朝) ลูกชายของโยชิโตโม สร้างสถูปชิรามิเนะ (白峰御陵) เพื่อบูชาก็ไม่มีวี่แววว่าเหตุการณ์ร้ายแรงจะลดน้อยถองลง กระทั่งจักรพรรดิโกะชิราคาวะสิ้นพระชนม์ลง คำสาปของจักรพรรดิซูโตกุก็ดูเหมือนจะเบาบางลง แต่ก็ยังมีการบวงสรวงบูชาจักรพรรดิซูโตกุเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
ศาลเจ้ายาสุอิคมปิระกู สถานที่ยอดฮิตสำหรับสายมูผู้ที่ต้องการตัดใจ เครดิตภาพ : https://thegate12.com/jp/article/351#content-6
แม้ว่าเรื่องราวของจักรพรรดิซูโตกุจะฟังดูโหดร้ายน่ากลัว แต่ก็กลายเป็นที่นับถือของชาวญี่ปุ่นไม่น้อยโดยเฉพาะการเดินทางไปบูชาและอธิษฐานตัดใจในเรื่องต่าง ๆ ที่ศาลเจ้ายาสุอิคมปิระกู (安井金毘羅宮) เมืองเกียวโต ซึ่งเชื่อกันว่าเป็นสถานที่ที่จักรพรรดิซูโตกุตั้งจิตอธิษฐานตัดความอาลัยอาวรณ์ก่อนก่อกบฏโฮเง็นนั่นเอง
※เครดิตภาพหน้าปก : https://unsplash.com/ja/%E5%86%99%E7%9C%9F/YhpUW7l33DQ
โฆษณา