22 ส.ค. 2023 เวลา 16:09 • ท่องเที่ยว

เสถียรธรรมสถาน กรุงเทพฯ

เมื่อใดที่รู้สึกเหนื่อยล้า
ลองทำชีวิตให้เล็กลง
สู่ความเป็นธรรมชาติและธรรมดา
เกี่ยวข้องกับผู้คนให้น้อยลง
เกี่ยวข้องกับวัตถุสิ่งของให้น้อยลง
แล้วเติมความว่างให้กับตัวเอง
ด้วยการ "วางเฉย" และ "ปล่อยวาง"
วางเฉย คือ ไม่หวั่นไหวกับความยินดีหรือยินร้าย 
ตั้งจิตใจให้อยู่ตรงกลาง
โดยปราศจากอคติต่อทุกสิ่งที่ได้สัมผัส
ปล่อยวาง คือ  ไม่ยึดติดกับสิ่งใด
ไม่ว่าทุกข์หรือสุข ด้วยสติปัญญาที่เข้าใจว่า 
ทุกสิ่งที่เกิดนั้นล้วนตั้งอยู่เพียงชั่วคราว ไม่นานก็ดับไป
จะมีประโยชน์อันใดที่เราไปแบกมันไว้...✍️By ศุชีวา
"หลบโลกไปพบธรรม"
รีวิว 1 คืน 2 วัน
วันหยุดยาวเมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2566 ซึ่งเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา คือ วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา หลังจากควานหาที่สงบเพื่ออยู่กับตัวเอง ก็ได้ตัดสินใจเลือกไปที่เสถียรธรรมสถาน กรุงเทพฯ
"สงบร่มรื่น"
ครั้งแรกที่มาที่นี่ ก่อนมาก็ลองค้นข้อมูลคร่าวๆ และพยายามจินตนาการตาม แต่ก็ยังนึกภาพไม่ออก กระทั่งได้มาสัมผัสด้วยตา รู้สึกว่าเลือกไม่ผิดจริงๆ เมื่อก้าวเข้ามาในเขตของเสถียรธรรมสถาน เหมือนหลุดจากเมืองหลวงไปอยู่ในป่าอันแสนสงบร่มรื่น เสมือนอยู่โลกคนละใบ
"เรียบง่ายกับธรรมชาติ"
เสถียรธรรมสถาน ไม่ใช่วัด ไม่มีพระสงฆ์ ไม่มีวัตถุบูชา และไม่ได้มีปาฏิหาริย์ใดๆ แต่ที่นี่เป็นสถานที่ที่เหมาะกับคนที่ต้องการทำความเข้าใจตัวเองด้วยการฝึกอานาปานสติ (ฝึกจิตให้อยู่กับลมหายใจของตัวเอง) เพื่อให้มีสติอยู่ตลอดเวลาด้วยกิจกรรมที่อิงแอบกับธรรมชาติและการใช้ชีวิตแบบเรียบง่าย
"เคลื่อนไหวด้วยสติ"
"สะพานแห่งสติ"
หากใครที่กำลังเริ่มต้นสนใจในคำสอนของพระพุทธเจ้าและการฝึกสมาธิ เพื่อเดินทางสู่หนทางแห่งการหลุดพ้น ที่นี่คือคำตอบ เพราะที่แห่งนี้มีพุทธสาวิกา (แม่ชีซึ่งครองศีล 10) ผู้คอยดูแลและจัดกิจกรรมให้ผู้ที่สมัครมาร่วมกิจกรรมได้ฝึกปฏิบัติธรรม ตามแนวทางของอานาปานสติ
"พุทธสาวิกา"
เช้าวันแรกที่ไปถึงเป็นเวลา 7 โมงเช้า ด้านหน้าประตูยังไม่เปิด พี่แท็กซี่ใจดีและรู้ทาง บอกว่ามีซอยด้านหลังและพาไปส่ง เจอกับคุณ รปภ. เห็นว่าเราจะมาปฏิบัติธรรมก็กุลีกุจอเปิดประตูให้เข้าไป เมื่อเข้าไปถึง สิ่งแรกที่ต้องปฏิบัติ คือ ถอดรองเท้า และเดินด้วยเท้าเปล่า (ถ้าเข้าจากด้านหน้าจะมีถุงผ้าให้ยืมสำหรับเก็บรองเท้า) เคยมีคนบอกว่าเท้าของเราควรได้เดินสัมผัสกับผืนดินบ้าง จะได้รับความรู้สึกผ่อนคลายและเป็นธรรมชาติ แต่ทางเดินส่วนใหญ่ก็เป็นสะพานไม้เชื่อมต่อกัน มีบางที่เป็นหญ้า และดินทราย
"เตรียมใส่บาตร"
มาครั้งแรกก็จะเก้ๆ กังๆ หน่อย แต่ผู้คนในที่นี้มีความเป็นมิตรทั้งทักทายและช่วยแนะนำ บริเวณขายอาหารกาแฟ เรียกว่าอู่ข้าวอู่น้ำ อาหารมีแต่มังสวิรัติเท่านั้น ซึ่งก็เข้ากับความชอบของเราพอดี ช่วง 8 โมงจะมีการใส่บาตรแม่ชี ที่ร้านอาหารมีของใส่บาตรขายและมีถาดใส่ของให้ยืม จึงซื้อเตรียมไว้ 1 ชุด และไปนั่งรอตรงลานหญ้า ซึ่งมีโต๊ะและปูแผ่นพลาสติกเตรียมไว้ให้นั่ง แม่ชีที่นี่ออกบิณฑบาตรข้างนอก ก่อนที่จะกลับมารับใส่บาตรข้างใน วันนี้น่าจะจัดขึ้นเป็นกรณีพิเศษเพราะมีคนจากข้างนอกเข้ามารอร่วมใส่บาตรด้วย
"อาหารใส่บาตร"
"อู่ข้าวอู่น้ำ"
"ลานหน้าอู่ข้าวอู่น้ำ"
หลังจากใส่บาตรเสร็จไปตรวจ ATK ก่อนเข้าร่วมกิจกรรม สำหรับคนที่ตรวจผ่านก็ไปลงทะเบียน และช่วง 10.00-12.00 มีบรรยายธรรมะโดยแม่ชี ต่อด้วยรับอาหารกลางวัน ทางเสถียรธรรมสถานจัดเตรียมอาหารไว้ให้ (มังสวิรัติ) ช่วงบ่ายก็ไปเช็คอินห้องพัก ซึ่งมีให้เลือกตามศรัทธา คือร่วมทำบุญเพื่อบำรุงที่พักมี 3 แบบ แบบที่ 1 ปลีกวิเวก แบบที่ 2 พัก 2 คน และแบบสุดท้าย ร่วมทำบุญมากน้อยตามศรัทธา พักรวมกัน 5 คน ค่าร่วมทำบุญแบบที่ 1-2 อัพเดทอัตราได้ในวันที่ไปร่วมกิจกรรม (ขออนุญาตไม่โพสต์เนื่องจากข้อมูลอาจมีการเปลี่ยนแปลง)
"พระพุทธรูปที่ธรรมศาลา"
"อาคารธรรมศาลา"
ช่วงบ่ายฝึกอานาปานสติที่อาคารธรรมศาลา ซึ่งเป็นอาคารโล่ง พื้นเป็นไม้ บรรยากาศโปร่งสบาย มีแม่ชีนำฝึก ซึ่งการฝึกนั้นจะเน้นเกี่ยวกับอวัยวะในร่างกายของเรา โดยให้เราฝึกดูลมหายใจจากอิริยาบถทั้ง 4 ยืน เดิน นั่ง นอน จากนั้นกล่าวคำรับศีล 8 ต่อหน้าพระพุทธรูป พอถึงเวลาประมาณ 15.00 น. ก็เป็นช่วงพักและรับปานะ มีปานะใส่ขวดแช่น้ำแข็งมารอ มีน้ำหลากหลายรสให้เลือก
"ลานทำวัตรเย็นและเวียนเทียน"
"เทียนที่จะใช้จุดเวียน"
ไฮไลต์ความประทับใจในการมาครั้งนี้ ก็คือ ช่วงเย็นนี่เอง มีสวดมนต์ทำวัตรเย็นและเวียนเทียนถวายพระพุทธเจ้า วันนี้เป็นวันอาสาฬหบูชา วันแรกที่พระพุทธเจ้าประกาศศาสนา วันแรกที่ทรงแสดงธรรม และมีพระสงฆ์องค์แรก จึงเป็นวันที่มีพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครบองค์พระรัตนตรัย บรรยากาศการสวดมนต์ที่ลานหญ้ากลางแจ้งในยามเย็นนั้น ทำให้รู้สึกสงบเป็นอันมาก มีลมพัดมาเป็นระยะ แวดล้อมไปด้วยแมกไม้ เมื่อทำวัตรเย็นเสร็จก็ต่อด้วยการเวียนเทียนที่ไม่น่าจะเหมือนการเวียนเทียนทั่วๆ ไป
"บรรยากาศรอเวียนเทียน"
"จุดเทียนรอ"
ประมาณหนึ่งทุ่ม แม่ชีเดินนำเวียนเทียน ที่นี่พระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูป
ดังนั้นการเวียนเทียนจึงเป็นการเดินรอบๆ บริเวณทั้งหมด โดยมีพระบรมสารีริกธาตุและพระพุทธรูปเป็นพระประธาน เทียนสวยๆ ที่เห็นอยู่นี้ ไม่ต้องซื้อหา แต่เป็นฝีมือการประดิษฐ์ของแม่ชี ซึ่งแม่ชีที่จำพรรษา ณ. ทีนี้ แต่ละท่านล้วนมีฝีมือต่างๆ กันไป
การเดินเวียนเทียนก็เป็นการฝึกอานาปนสติอีกอย่างหนึ่งเช่นกัน พอทุกคนเดินเวียนครบ 3 ก็นำเทียนมาวางไว้รอบๆ ต้นไม้ เป็นอันจบกิจกรรมในค่ำคืนนี้
"อาคารธรรมาศรม (ที่พัก)"
"ห้องพักแบบปลีกวิเวก"
ประมาณสองทุ่ม ก็แยกย้ายกันไปพักผ่อน และนัดหมายเวลาสำหรับกิจกรรมในวันรุ่งขึ้นที่จะต้องพบกันคือ ตีห้า ทำวัตรเช้า อาคารที่พักเรียกว่า "อาคารธรรมาศรม" เป็นสถาปัตยกรรมแบบปูนเปลือย มีความสัปปายะ (เงียบสงบ) อาคารแห่งนี้ใช้การออกแบบที่เรียกว่า "ธรรมนิเวศ" บวกกับธรรมชาติบำบัด คือ การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เป็นธรรมชาติ และเน้นความสงบ นอกจากนี้ในห้องพักยังมีโคมเกลือเสียบไว้ข้างผนังห้องทุกห้องอีกด้วย
"ร้านปลอดภัย"
"ห้องเกลือ"
ภายใต้อาคารธรรมาศรม มีร้านขายเสื้อผ้าสำหรับปฏิบัติธรรม หนังสือสวดมนต์และของสมุนไพรจิปาถะ ชื่อว่า ร้านปลอดภัยโดยธรรม...ที่นี่มีโคมไฟหินเกลือหิมาลัยขายด้วยนะ นอกจากนี้ในห้องพักยังมีโคมเกลือทุกห้องอีกด้วย และถัดกันไป ยังมีห้องภาวนา ปฏิบัติธรรม ที่สร้างจากหินเกลือหิมาลัย สำหรับผู้ที่สนใจอยากลองเข้าไปนั่งสมาธิในห้องนี้ ก็สามารถติดต่อขอใช้บริการได้ที่ร้านปลอดภัย (หินเกลือหิมาลัยจัดเป็นธรรมชาติบำบัดอย่างหนึ่ง เชื่อกันว่าความร้อนที่ผ่านหินเกลือนี้จะช่วยปรับสมดุลย์ร่างกาย คลายเครียด)
ฝึกโยคะตอนเช้า
ตีห้ารุ่งขึ้นอีกวัน ซึ่งเป็นวันสุดท้ายของการมาปฏิบัติ ตื่นมาอาบน้ำเก็บของ และเก็บผ้าปูที่นอน ปลอกหมอนที่ใช้แล้วเตรียมส่งคืน พร้อมกับเคลียร์ขยะ ซึ่งคนเข้าพักจะต้องทำให้เรียบร้อย จากนั้นไปทำวัตรเช้า ต่อด้วยฝึกโยคะบนดาดฟ้า บรรยากาศเช้าๆ ดีมาก เก็บภาพมาได้ภาพเดียว เพราะเขาให้งดถ่ายภาพ (ต้องตั้งใจฝึก) เสร็จจากโยคะก็ไปบำเพ็ญประโยชน์ ช่วยกันทำความสะอาด กวาดถูตามที่ต่างๆ โดยแบ่งกันเป็นกลุ่มไปช่วยกันทำ ประมาณ 8.00 น. ก็ไปรับอาหารเช้า ต่อด้วยฟังบรรยายธรรมและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับแม่ชีซึ่งเป็นวิทยากร
"อาคารมหาสมุทรแห่งปัญญา"
ช่วงบ่ายเป็นกิจกรรมฝึกอานาปานสติกับ 4 อิริยาบถอีกครั้ง โดยมีวิทยากรจากข้างนอกมาเป็นครูฝึกให้ (วิทยากรก็เป็นศิษย์ของเสถียรธรรมสถาน) บรรยากาศเป็นไปด้วยความสนุก เพราะวิทยากรมีเทคนิคในการพูดและพาฝึกที่มีชีวิตชีวามาก
จบกิจกรรมนี้ก็ประมาณเกือบบ่ายสามโมงและเสร็จสิ้นการมาปฏิบัติธรรมอย่างสมบูรณ์ ขอกราบขอบพระคุณในความเมตตากรุณาของแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต ผู้ก่อตั้งเสถียรธรรมสถานแห่งนี้ขึ้นมา และนำทางให้สัตว์โลกอย่างเราได้เดินในมรรคาของการดับทุกข์
"ภาพความประทับใจและสถานที่สำคัญๆ บางจุดไม่ได้รับอนุญาตให้เก็บภาพ เช่น เจดีย์พระอารยตารามหาโพธิสัตว์ หากผู้อ่านสนใจไปเยี่ยมชมและร่วมปฏิบัติธรรม เชื่อแน่ว่าทุกท่านจะต้องประทับใจเช่นเดียวกับผู้เขียนอย่างแน่นอน"
#เสถียรธรรมสถาน
#แม่ชีศันสนีย์
#อานาปานสติ
#ฮีลใจ
โฆษณา