21 ส.ค. 2023 เวลา 20:05 • ประวัติศาสตร์

ว่าด้วยวิชาฮวงจุ้ยบ้านคน

วิชาฮวงจุ้ยบ้านคนค่อยๆแยกตัวจากฮวงจุ้ยสุสานในสมัยราชวงศ์ชิงตั้งแต่ยุคจักรพรรดิ์คังซี-เฉียนหลงเป็นต้นมามีการนำแนวคิดเรื่องมังกรน้ำของหยางกงเป็นรากฐาน ว่าด้วยหลักเล้งซัวเหี่ยงจุ้ย หรือความสัมพันธ์ระหว่างมังกร-ภูเขา-ทิศหน้าบ้าน-ปากแม่น้ำที่เป็นลักษณ์ในชี่ เข้ามาสัมพันธ์กับทิศดาวเหนือทั้ง 9 ที่เป็นชี่ในลักษณ์
1
แต่เดิมจีนแสสายวิศวกร ซึ่งมักมีความรู้ด้านสถาปนิกและการแพทย์อยู่ด้วยกัน จะเน้นไปที่รูปลักษณ์ภูเขาทางน้ำและจุดรับพลังที่รับรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า ต่อมาจีนแสสายนักบวชเต๋า หรือสายวิศวกรที่ไปเรียนรู้วิชาเต๋า นำวิชาพยากรณ์เรื่องการย้ายกว้า เพื่อหาจุดและเวลารับพลังชี่เข้ามาปรับใช้กับวิชาฮวงจุ้ย
เริ่มมีการพัฒนาองค์ความรู้ที่เป็นเอกลักษณ์ มีการปรับตัวจากไสยศาสตร์ ที่พลังชี่ยังรับรู้ได้เฉพาะตน เชื่อถือในภูมิผีปีศาจเทพที่ก่อเกิดพลังดีร้าย ให้เป็นวิทยาศาสตร์แบบจีนโบราณมากขึ้น โดยใช้วิชาพยากรณ์ประกอบทั้งก่อนและหลังการจัดฮวงจุ้ยเพื่อยืนยันจุดรับพลังงาน
ต่อมาก็ใส่วิชาพยากรณ์ให้การจัดฮวงจุ้ยบ้านมีวัตถุประสงค์ชัดเจนมากขึ้นทั้งด้าน ความร่ำรวย ยศศักดิ์ สุขภาพ ลูกหลานสืบสกุล เพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะบุคคล
ช่วงปลายราชวงศ์ชิงจนถึงยุคสาธารณรัฐ เริ่มก่อตัวขึ้นเป็นแนวทางสำนักใหม่ที่เรียกว่าซานหยวน (三元 หรือสามยุค)งานเขียนที่อิงกับประมาจารย์ฮวงจุ้ยย้อนไปถึงสมัยถัง-ซ่งกลับมาได้ความนิยมและตีความใหม่ โดยเฉพาะงานเขียนของเจี่ยงต้าหง (蒋大鸿) จีนแสสมัยปลายราชวงศ์หมิงต้นราชวงศ์ชิง ที่เป็นจีนแสสายรูปลักษณ์ที่มีโอกาสได้ศึกษาวิชามังกรน้ำและวิชาพยากรณ์ลัทธิเต๋า
1
โดยเฉพาะเรื่องดาวเหนือทั้งเก้าและสามวัฏจักร ที่ต่อมาเรียกกันว่าแนวทางเสวียนคง (玄空) ที่มาจากคำว่าลึกลับ+ว่างเปล่า เข้ามาผสมผสานกับวิชาฮวงจุ้ยรูปลักษณ์ ปัจจุบันที่พอเห็นมีการเรียนการสอนและตำรับตำราจะมี
1 สายดาวเหิร หรือเสวียนคงเฟยซิง (玄空飞星) ทั้งที่เป็นวิชาสายสกุลเสิ่นที่เผยแพร่มาตั้งแต่ราวปีค.ศ.1930 และของท่านหลี่เหยายังคงสอนอยู่ในปัจจุบัน ท่านเรียนมาจากท่านถันหยางอู๋ ที่เป็นสายตรงสืบถอยกลับไปได้ถึงปรมาจารย์จางจ้งซานผู้ก่อตั้งและเผยแพร่วิชานี้
2 สายดาวเหิรหกหลักการ หรือเสวียนคงลิ่วฝา (玄空六法) เผยแพร่โดยนักบวชเต๋าท่านหลี่เฉียนชื้อ ต่อมาได้ถ่ายทอดให้ท่านถันหยางอู๋ จนกระทั่งปีค.ศ 1939 ท่านถังหยางอู๋ได้ประกาศว่าวิชาดาวเหิรหกหลักการนั้นเป็นของแท้
วิชานี้คล้ายคลึงกับวิชาดาวเหิร คือให้ดาวห้าเหลือง หรือเนียมเจ็ง(廉贞) เหิรออกนอกช่องกลางได้ แต่ดาวนี้กลับให้คุณประโยชน์ใหญ่หลวง ไม่ได้เป็นภัยร้ายแรงแบบวิชาดาวเหิร เพียงแต่ต้องกำหนดทิศทางดาวห้าเหลืองให้สัมพันธ์กับยุคบน-ล่าง (เจี่ยซิ้ง-หลั่งซิ้ง) และหลักเล้งซัวเหี่ยงจุ้ย คืออิงกับชัยภูมิที่ปรากฏ นอกจากนี้ยังแบ่งยุคโดยใช้กว้าหยินหยางมาคำนวณ กลายเป็น 2 วัฏจักรบน-ล่าง ซึ่งยุค 9 จะอยู่ช่วงปีค.ศ. 2017-2043 ต่างกับวิชาดาวเหิรที่แบ่งเป็น 3 วัฏจักรบน-กลาง-ล่าง ซึ่งยุค 9 อยู่ในช่วงปีค.ศ. 2024-2043
ที่มา:www.masterfengshui.com
3 สายหกสิบสี่กว้า หรือเสวียนคงต้ากว้า ( 玄空大卦) บ้านเรามักเรียกว่าสายซำง้วน (ที่จริงการใช้ดวงชะตาบุคคลกับยุค ควรถือเป็นสายซำง้วนทั้งหมด) เผยแพร่โดยปรมาจารย์จางซินเหยียน ที่อ้างตามตำราของท่านเจี่ยงต้าหงว่าดาวห้าเหลืองไม่เหิรออกจากตรงกลาง จึงใช้กว้า (ข่วย) ที่ไม่มีดาวห้าแทนผังดาวเหิร และใช้ผังก่อนฟ้า หรือเซียนเทียนปากว้า (先天八卦) มาผสมกับตัวเลขตามหลอซู และตั้งชื่อว่าผังกลางฟ้า หรือจงเทียนปากว้า (中天八卦 ) มาใช้จัดเรียงและกระจายกว้าเป็น​ 64 ส่วนของวงกลมบนจานเข็มทิศ
ที่มา: 天平要術 ของท่านพันธุ์กฤษฏ์​ บุญสิทธิ์ ผู้เป็นครูของข้าพเจ้า
มีการตั้งชื่อและให้ความหมายแต่ละกว้าตามตำราพื้นบ้านวิชาการคำนวณดอกเหมย หรือไหมฮวาอี้ซู่ (梅花易数)ที่แต่งโดยเส้าคังเจี๋ย (梅花易数)จีนแสและนักพยากรณ์เรืองนามสมัยราชวงศ์ซ่ง
สำนักนี้ยังยึดหลักเล้งซัวเหี่ยงจุ้ย แต่ตีความผ่อนปรนลง​ ให้เล้ง-จุ้ย หรือมังกรภูเขา-ปากน้ำ (ลักษณ์ในชี่)สามารถมีสัมพันธ์แบบภาคีชุดพลังเดียวกัน​(เหอถูและฮะ5-10-15) กับซัว-เหี่ยง หรือทิศหลังอิง-หน้าหัน (ชี่ในลักษณ์) ได้ทำให้สามารถเลือกทำเลเปิดรับพลังชี่ได้ง่ายขึ้น ไม่เคร่งครัดเหมือนตำราหยางกงแต่เดิม ที่กำหนดตำแหน่งลักษณ์ในชี่และชี่ในลักษณ์ต้องตรงกัน เพื่อให้ทั้งคู่เกิดการถ่ายพลังกันได้
ที่มา:pheyedesign.com
ซึ่งนักวิชาการเคร่งตำราฝ่ายหยางกงวิจารณ์ว่าเป็นความเข้าใจผิดหรือความตั้งใจของท่านเจี่ยงต้าหงในการตีความตำราโบราณที่ปรากฏในตำราแก้ไขภูมิศาสตร์ของเจี่ยง ข้าพเจ้ามองว่าหากไม่ทำเช่นนั้นมิต้องใช้เวลา 3 ปีหาทำเลสร้างบ้าน 7 ปีหาตำแหน่งหน้าหันหลังอิงเหมือนฝั่งฮวงจุ้ยสุสานดอกหรือ (3ปีหามังกร 7พบหาจุด) จึงนับเป็นข้อดีที่ทำให้วิชาฮวงจุ้ยบ้านมีการพัฒนาต่อยอดขึ้นไปได้
2
ควบคู่ไปกับการพัฒนาฮวงจุ้ยสายซานหยวนเสวียนคง ทางฝั่งจีนแสพื้นบ้านก็มีการนำหลักการดูรูปลักษณ์แบบซานเหอมาปรับใช้กับการดูบ้านที่อยู่อาศัยเช่นกัน ผสมผสานและเป็นรากฐานให้กับวิชาฮวงจุ้ยทุกสำนัก ฮวงจุ้ยของคนจีนจึงเป็นวัฒนธรรมมากกว่าวิชาเฉพาะ หนังสือฮวงจุ้ยภาษาไทยในท้องตลาดมากกว่า 90% จะว่าด้วยวิธีดูรูปลักษณ์มีทั้งที่คัดลอกมาแต่ดั้งเดิม ปรับปรุง คิดค้น เปลี่ยนแปลงตามองค์ความรู้ และประสบการณ์ของผู้เขียนหนังสือตามแต่ละยุคสมัย
ขณะเดียวกันตำราสมัยก่อนที่แปลมาจากตำราภาษาจีน มักเป็นตำราดูฮวงจุ้ยแบบพื้นบ้านที่เรียกว่าบ้านแปดทิศ หรือ ปาไจ๋/โป๊ยแทะ (八宅明镜)ที่อ้างว่าเขียนโดยท่านหยางกงและนิยมกันมากในหมู่จีนแสพื้นบ้าน
นักวิชาการเคร่งตำราฝ่ายหยางกงเชื่อว่าเป็นการทยอยเขียนขึ้นปรับปรุงแก้ไขเสริมแต่จากจีนแสหลายท่านต่างยุคต่างสมัยที่ได้แรงบันดาลใจจากตำราของท่านหยางหยุนซ่ง จนมีหลายสำนวน แยกแยะแท้จริง ก่อนหลังได้ยาก
ที่มา:doppia2.pixnet.net
เทียบเคียงได้กับตำราพรหมชาติแบบบ้านเรา ที่อ้างกันไปมาจนไม่รู้ผู้แต่งที่แท้จริง เลยใช้ชื่อพรหมชาติตามความเชื่อดั้งเดิมว่าองค์ความรู้นี้ได้มาจากพระพรหม
วิชานี้มีการใช้รหัสปีเกิดบุคคลตามผังหลอซู มาแยกเป็นบุคคลราศีตะวันออกและตะวันตก เพื่อนำมาหาทิศดีร้ายทั้งแปดต่อไป ขณะที่ตำราในสมัยหลังทั้งที่เขียนโดยผู้รู้ที่เป็นคนไทยเริ่มมีตำราแนวดาวเหิรผุดขึ้นเป็นอันมาก
สำหรับผู้มาใหม่และมีความตั้งใจศึกษาวิชานี้ มิต้องไปหาว่าสายไหนวิชาไหนดีสุดแม่นสุด ศรัทธา สติปัญญา ประสบการณ์ ตามตำราและครูผู้ถ่ายทอด จะเป็นเครื่องนำทางให้ทางให้ท่านเอง
徐华发
22 สิงหาคม 2566
โฆษณา