Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Main Stand
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
23 ส.ค. 2023 เวลา 13:14 • กีฬา
#MainStand : Slipstreaming คืออะไร? รู้จักกับเทคนิคหลักพลศาสตร์ในวงการแข่งรถ
"อันตรายเ-ี่ยอะไร นี่เขาเรียก Slipstreaming รถเราไม่ปะทะลม วงการกระบะซิ่งเขารู้กันทั้งนั้นอะ" วาทะเด็ดจากคุณป้าในวิดีโอ นักเลงกระบะซิ่งเขารู้กัน ของ Salmon House ที่แทรกเสริมข้อมูลจากหลักอากาศพลศาสตร์มาจิกกัดกระแสสังคมได้อย่างแนบเนียน
แต่ Slipstream เป็นหลักอากาศพลศาสตร์ที่มีผลต่อการแข่งขันกีฬานานาชนิดจริง โดยเฉพาะรถแข่งฟอร์มูล่าวัน ที่การปรับแต่งองศาของปีกรถเพียงเล็กน้อยก็สามารถสร้างผลกระทบต่อผลงานในสนามของนักขับได้
แล้ว Slipstream คืออะไรกันแน่ มีประโยชน์ต่อการแข่งขันมากน้อยแค่ไหน ไปทำความรู้จักพื้นฐานของหลักดังกล่าวไปพร้อมกับ Main Stand
ในระหว่างที่รถแข่งฟอร์มูล่าวันกำลังขับเคลื่อนไปข้างหน้า มี 3 แรงหลักที่กระทำกับตัวรถ ได้แก่ แรงต้าน (Drag) ที่มีทิศตรงกันข้ามกับการเคลื่อนที่ แรงกด (Downforce) ที่เพิ่มการยึดเกาะให้กับตัวรถ และ แรงกระทำด้านข้าง (Lateral)
แรงต้าน ทำให้รถแข่งฟอร์มูล่าวัน (เช่นเดียวกับการแข่งขันรายการอื่นที่อาศัยความเร็ว) ถูกออกแบบมาให้มีความลู่ลม รวมถึงมีระบบลดแรงต้าน (DRS) เพื่อใช้แซงกันในสนามแข่ง แต่ก็แลกมาด้วยประสิทธิภาพการยึดเกาะกับพื้นผิวที่น้อยลงเมื่อรถต้องเข้าโค้ง
จอร์จ รัสเซลล์ นักขับของทีมเมอร์เซเดส อธิบายว่า "เมื่อระดับของแรงกดลดลง ความรู้สึกของผมเมื่อขับคือรถจะส่ายไปมามากขึ้น มีกริปในการเข้าโค้งที่น้อยลง แต่คุณก็สามารถขับได้เร็วขึ้นในทางตรง"
"ในทางกลับกัน ถ้าปรับค่ารถให้มี Downforce สูง ๆ คุณจะรู้สึกถึงการยึดเกาะเมื่อเข้าโค้งที่ดีมาก แต่บางครั้งคุณก็อาจรู้สึกเหมือนมีร่มชูชีพกางอยู่ด้านหลังรถเวลาที่กำลังวิ่งอยู่ในช่วงทางตรง"
จากจุดนี้จะเห็นว่าการเซ็ตอัพรถแข่งนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยมีทั้งปัจจัยอย่างคุณสมบัติของสนาม เช่น มอนซ่า (Monza) ที่ประเทศอิตาลี ที่ได้รับสมญานามว่าเป็น 'มหาวิหารแห่งความเร็ว' จากการมีพื้นที่ทางตรงค่อนข้างมาก และนักขับสามารถจมคันเร่งได้มากกว่า 80% ของรอบการแข่งขัน ก็มักปรับรถให้มีความลู่ลมเป็นหลัก เห็นได้ชัดจากปีกท้ายที่แทบแบนราบ แตกต่างจากสนามที่สิงคโปร์ที่เต็มไปด้วยโค้ง และมักถูกเซ็ตอัพให้เน้นเรื่องแรงกดแทน
ส่วนในพื้นที่ทางตรง รถแข่งจะต้องวิ่งต้านอากาศด้วยความเร็วสูงประมาณ 350 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งรถคันนำหน้าที่แหวกอากาศด้วยความเร็วจะช่วยให้เกิดช่องว่างของอากาศ โดย แจ็ค ชิลเวอรส์ นักอากาศพลศาสตร์ของทีม วิลเลียมส์ ระบุว่า "รถคันนำได้สร้างพื้นที่ที่มีแรงดันอากาศต่ำไว้ด้านหลังรถ และถ้าคันที่ตามมาสามารถเข้าใกล้ได้เพียงพอก็จะสามารถอาศัยประโยชน์จากเอฟเฟ็กต์ของลมดูดได้" อันหมายถึงความสามารถในการเร่งความเร็วได้มากกว่าโดยมีแรงต้านอากาศน้อยกว่ารถคันหน้า
เทคนิคนี้เป็นเหมือนกับการ 'ลากจูง' ผ่านการแหวกอากาศ ซึ่งมักถูกใช้โดยนักขับในทีมเดียวกันที่อาจให้อีกคันหนึ่งขับนำหน้าเพื่อช่วยแหวกอากาศในพื้นที่ทางตรงระหว่างทำเวลารอบคัดเลือกหรือสถานการณ์ตอนแข่งขันที่สามารถให้รถคันนำทั้งทำหน้าที่แหวกอากาศและอยู่ในระยะเปิดปีกท้าย DRS เพื่อทำความเร็วเพิ่มเติมได้
ทั้งนี้เทคนิคดังกล่าวยังถูกใช้ในการแข่งรถ NASCAR, MotoGP หรือกระทั่งการแข่งจักรยาน ที่เรามักเห็นนักปั่นรายการแข่งประเภทถนนมักออกปั่นเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ซึ่งมีผลช่วยลดแรงต้านให้กับนักปั่นที่อยู่ช่วงกลาง ๆ หรือรั้งท้ายของกลุ่มได้มากถึง 50-70%
อย่างไรก็ตาม แม้การทำ Slipstreaming จะมีผลดีต่อความเร็ว และตามหลักแล้วยังสามารถช่วยประหยัดน้ำมัน รักษ์โลกได้จริง แต่การนำไปใช้บนถนนสาธารณะที่มีผู้ร่วมขับขี่สัญจรมากมายคงไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก ทั้งอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้จากการเบรกกะทันหัน และการจะได้รับผลประโยชน์จากการทำ Slipstream กับรถบนถนนจริง คือการต้องจ่อท้ายในระยะประมาณ 1 เมตร ซึ่งอันตรายมาก ๆ สำหรับการขับขี่โดยทั่วไป
ที่สำคัญต้องอย่าลืมว่าแม้นักขับรถแข่งรายการต่าง ๆ จะเหยียบทำความเร็วแตะหลัก 350 กิโลเมตร/ชั่วโมงในสนาม แต่พวกเขาอยู่ในสนามปิดที่มีอุปกรณ์เซฟตี้เต็มรูปแบบ และสามารถมั่นใจได้ว่านักขับคันหน้าจะไม่อยู่ดี ๆ เบรกกะทันหันถ้าไม่มีเหตุการณ์จำเป็นจริง
ดังนั้นแล้ว ปล่อยให้ Slipstream อยู่ในการแข่งขันกีฬาที่ต้องอาศัยความเร็วเพียงอาจเป็นเรื่องที่ดีที่สุด
อ้างอิง:
https://youtu.be/edZycMFeEkU?si=HqWjurvDCHypmL4y
https://wtf1.com/post/why-are-so-many-f1-teams-slipstreaming-in-monza/
https://racecar-engineering.telegraph.co.uk/tech-explained/slipstream-and-dirty-air-explained/
https://youtu.be/nivswe7Zyuc?si=8RkY-KUFwODU6Bui
2 บันทึก
8
1
2
8
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย