23 ส.ค. 2023 เวลา 16:21 • ประวัติศาสตร์

"ด้ามเหวี่ยงหอก" อุปกรณ์ล่าสัตว์ที่สร้างความเท่าเทียมทางเพศ ภูมิปัญญาของบรรพชน

"Atlatl" หรือด้ามเหวี่ยงหอก เครื่องทุ่นแรงที่บรรพบุรุษของเราพัฒนาขึ้นมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการขว้างหอกในการล่าสัตว์ ซึ่งงานวิจัยล่าสุดได้บ่งชี้ว่าไม่เพียงด้ามเหวี่ยงหอกจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการขว้างหอกแต่มันยังช่วยให้เหล่านักล่าหญิงสามารถยืนเคียงข้างผู้ชายในการออกล่าด้วย
ก่อนหน้าที่จะมีด้ามเหวี่ยงหอกมนุษย์เรารู้จักการใช้หอกซัดหรือ "แหลน" ในการออกล่าสัตว์หรือแม้แต่การต่อสู้ด้วยที่หอกซัดสามารถกันการโจมตีในระยะประชิดได้พอประมาณซ้ำยังสามารถซัดขว้างในระยะไกลได้
"แหลน" หรือ javelin ต้องใช้พละกำลังและการฝึกฝนในการขว้างเพื่อที่จะให้ได้ประสิทธิภาพในการล่า
แต่หอกซัดนั้นถึงจะขว้างซัดออกไปได้ระยะไกล แต่ก็ไกลได้เพียงแค่ราว 20-30 เมตรเท่านั้น ซึ่งถือว่าค่อนข้างใกล้มากเสียจนสุ่มเสี่ยงต่อการโดนโจมตีกลับจากสัตว์ที่ออกล่า
ลองนึกถึงการออกล่าแมมมอธของมนุษย์ยุคหินที่กว่าจะล่าได้ก็เสี่ยงโดนสวนดับกันไม่รู้เท่าไหร่ แม้ในยุคเดียวกันนั้นมนุษย์เราจะมีธนูที่ยิงได้ไกลกว่าแต่ลูกธนูก็เล็กและเบาเกินกว่าที่จะสังหารช้างแมมมอธได้ง่าย ๆ
การออกล่าแมมมอธของมนุษย์ยุคโบราณ
จึงทำให้มีการพัฒนาด้ามเหวี่ยงหอก หรือ Atlatl ซึ่งทำมาจากด้ามไม้ยาวประมาณช่วงศอกที่ถูกขัดส่วนปลายด้ามให้เป็นตะขอเล็กๆ เพื่อใช้เกี่ยวปลายหอกไว้ และเมื่อวางหอกเข้ากับด้ามเหวี่ยงนี้แล้วหวดออกไป แรงเหวี่ยงจากด้ามหวดนั้นจะส่งทั้งแรงและความเร่งไปยังหอกซัดทำให้มันสามารถเพิ่มความเร็วได้สูงถึง 150 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและเพิ่มระยะการซัดไปได้ไกลถึง 80-100 เมตรสำหรับนักล่าที่เชี่ยวชาญ (สามารถไปได้ไกลถึง 250 เมตรยังได้ขึ้นอยู่กับขนาดของหอกซัด)
2
โดยพัฒนาการในการสร้างเครื่องทุ่นแรงชนิดนี้นั้นยังคงเป็นที่ถกเถียงกัน นักโบราณคดีเชื่อว่ามีการใช้โดยมนุษย์โฮโมซาเปียนมาตั้งแต่ 30,000 ปีก่อนคริสตกาล
ส่วนหลักฐานที่เชื่อถือได้ถึงการใช้ด้ามเหวี่ยงหอกนั้นย้อนไปตั้งแต่ 19,000 ถึง 17,000 ปีก่อนคริสตกาลจากการขุดค้นพบอุปกรณ์ชนิดนี้ในถ้ำที่ฝรั่งเศส ก่อนที่ไม่นานเครื่องทุ่นแรงชนิดนี้ก็ได้รับความนิยมและได้แพร่กระจายไปทั่วทุกทุมโลก ซึ่งในปัจจุบันก็ได้พัฒนามาเป็นงานอดิเรกของเหล่าผู้นิยมกิจกรรมกลางแจ้ง
และล่าสุดก็ได้มีงานวิจัยที่ตีพิมพ์ใน Scientific Reports โดย ดร. Michelle Bebber จากมหาวิทยาลัย Kent State ในอเมริกา ได้ท้าทายความเชื่อที่ว่าหน้าที่การออกล่าสัตว์นั้นเป็นของบุรุษ
โดยผลจากการทดลองโดยอาสาสมัครมือสมัครเล่นที่รวมไปถึงเหล่านักศึกษาในมหาลัยจำนวน 108 คน ผ่านการทดลองปาหอกซัดที่ใช้ด้ามเหวี่ยงหอกและหอกซัดธรรมดากว่า 2,160 ครั้ง
ด้านบนหอกซัดธรรมดาจะเห็นถึงความต่างของระยะปาของเพศหญิงและเพศชาย แต่กับการปาหอกซัดด้วยด้ามเหวี่ยงหอกนั้นไม่เพียงแต่ระยะปาที่เพิ่มขึ้นแต่ความแตกต่างจากเพศของผู้ปานั้นแคบลงอย่างเห็นได้ชัด
ผลที่ได้นั้นไม่เพียงด้ามปาหอกจะช่วยเพิ่มระยะการปาหอกซัด แต่ยังแสดงให้เห็นว่าไม่ว่าจะเพศชายหรือหญิงก็ปาหอกได้ระยะใกล้เคียงกัน
ดร. Michelle ได้ให้ความเห็นว่านักล่าหญิงและชายจะมีความสามารถในการออกล่าได้แทบไม่แตกต่างกันเมื่อมีด้ามปาหอก ซึ่งบริบททางโบราณคดียังบ่งชี้ว่าผู้ประดิษฐ์ด้านปาหอกนั้นอาจเป็นผู้หญิง และยังได้ให้ความเห็นอีกว่าเพศหญิงนั้นมีความสามารถในการใช้อุปกรณ์ให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเพศชายที่เน้นการใช้พละกำลังมากกว่าเทคนิคในการใช้อุปกรณ์
atlatl หรือ ด้ามปาหอกนี้อาจไม่เป็นเพียงสิ่งที่แสดงถึงความก้าวหน้าทางวิทยาการของมนุษย์เรา แต่มันอาจเป็นเครื่องแสดงถึงความเท่าเทียมทางเพศรวมถึงการมีส่วนร่วมของผู้หญิงในการเขียนประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติก็เป็นได้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา