Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เที่ยวนี้มีธรรม
•
ติดตาม
25 ส.ค. 2023 เวลา 18:00 • ปรัชญา
ไหว้พระ...ปริวาสกรรม
“ทางสายกลาง” มีคำที่มีความหมายทำนองเดียวกัน
นั่นคือ “พอเพียง” และพอดี”
การอยู่ในทางสายกลางจะทำให้ชีวิต
ไร้ทุกข์ และสบายกายสบายใจ
“พอเพียง” อย่างไร
พอเพียงในการประกอบสัมมาอาชีพ
ไม่ดิ้นรนเกินฐานะและความจำเป็น
ไม่หลงใหล ไต่ไปในจุดยืนที่สูงเกินกำลัง
จนลืมความดีงาม
พอเพียงในวัตถุสิ่งของ
ดั่งปัจจัยสี่ที่พุทธองค์ตรัสสอนไว้
มีเท่าที่ต้องใช้ ตอบสนองชีวิตพื้นฐาน
ใช้พอเพียงเท่าที่จำเป็นเพื่ออยู่รอด
“พอดี” อย่างไร
พอดีในความความคิดที่มีต่อสิ่งต่างๆ รอบตัว
มองโลกอย่างที่เห็น และที่เป็น
ไม่คิดแต่งเติมเสริมเรื่องราวให้ดีสุดขั้ว หรือชั่วสุดโต่
พอดีในความรู้สึกรัก คิดถึง ผูกพัน
พ่อ แม่ ลูก คู่ชีวิต และเพื่อน
เต็มใจรู้สึก และเต็มใจปฏิบัติกับเขาเหล่านั้น
ด้วยความพอดี และเข้าใจ
เมื่อวางใจเป็นกลางได้อย่างนี้
ย่อมนำไปสู่การก้าวเดินที่มั่นใจ
และการมีลมหายใจที่มั่นคง
ไม่โอนเอียง และอ่อนไหวไปตามกระแสใดๆ ...✍️ By ศุชีวา
ทริปนี้จะพาทุกท่านไปไหว้พระและเล่าประสบการณ์ที่ผู้เขียนเคยเข้าร่วมปริวาสกรรม ณ. วัดเกตุมดีศรีวราราม จ.สมุทรสาคร วัดนี้ตั้งอยู่ถนนพระราม 2 ไม่ไกลจากกรุงเทพฯ มากนัก หากรถไม่ติดก็ใช้เวลาราว 1-1.30 ชั่วโมง ผู้ที่สร้างวัดแห่งนี้ก็คือ ท่านพ่อบัณฑูรสิงห์ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นศูนย์รวมแห่งศรัทธาของวัดแห่งนี้ก็คือ พระบรมธาตุเกตุมวดีย์ ซึ่งท่านได้ตั้งสัจจอธิษฐานตั้งองค์พระเจดีย์ขึ้น ครั้งแรกสูง 9 ศอก และท่านได้อธิษฐานจิตขอให้ผู้ที่เคยเป็นญาติของท่านมาร่วมสร้างบารมี
ร่วมกันสร้างองค์พระธาตุต่อไป
"พระอุโบสถ"
"หลวงพ่อพระพุทธชินราช"
เมื่อเข้าไปถึงในวัด จุดแรกที่ท่านจะพบ คือ พระอุโบสถขนาดใหญ่ ซึ่งข้างในเป็นที่ประดิษฐานของ "หลวงพ่อพระพุทธชินราช" เป็นที่สักการะบูชา และเป็นที่สำหรับทำบุญทำทาน นอกจากนี้ยังเป็นที่สำหรับทำพิธีกรรมในวันสำคัญต่างๆ อีกด้วย
"พระบรมธาตุเกตุมดีย์"
ไฮไลต์ของที่นี่คือ "พระบรมธาตุเกตุมดีย์" ซึ่งญาติธรรมที่มาที่นี่เป็นประจำมักจะเรียกติดปากว่า "ปู่พระธาตุ" โดยผู้ที่มาอธิษฐานขอพรก็มักจะสมหวังกันทุกคน ทำให้มีผู้คนศรัทธามาทำบุญและปฏิบัติธรรมกันเป็นจำนวนมาก ข้างในมีองค์พระธาตุ และสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้กราบไหว้ เช่น พระบรมรูปรัชกาลที่ 5 มีกิจกรรมให้ทำบุญตามศรัทธา ไม่ว่าจะเป็นการบูชาผ้าห่มองค์พระธาตุ การถวายสังฆทาน และมีวัตถุมงคลของทางวัดให้บูชาอีกด้วย
"ท้าวเวสสุวัณมหาราช"
ยุคนี้คงไม่มีสายมูท่านใดที่จะไม่รู้จักท้าวเวสสุวัณ ผู้ทรงอิทธิฤทธิ์อานุภาพ และลือเลื่องเป็นที่รู้จักกันทั้งด้านการปกปักษ์คุ้มครองและให้พรด้านโชคลาภแก่ผู้สักการะบูชา หากศึกษาประวัติของท่านจะทราบว่าท่านเป็นผู้หนึ่งที่ถูกกล่าวถึงมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล ฉะนั้นหากใครแอบสงสัยอยู่ว่าท้าวเวสสุวัณเป็นเพียงเรื่องเล่าหรือมีอยู่จริง ก็อาจต้องลองบูชาท่านด้วยตัวเอง ก็จะได้คำตอบ ญาติธรรมของวัดเกตุมดีฯ มักจะเรียกท่านสั้นๆ ว่า "ปู่เวส"
นอกจากนี้ในวัดเกตุมดีฯ ยังมีสิ่งศักดิ์สิทธ์ให้กราบไว้อีกหลายจุด เช่น พระพุทธสิหิงค์ พระสิวลี ฯลฯ
"ปริวาสกรรม"
"ปรก"
มาถึงกิจกรรมสำคัญที่นักปฏิบัติธรรมไม่ควรพลาดนั่นคือ "การอยู่ปริวาสกรรม" ทุกปีทางวัดจะมีการจัด "ปริวาสกรรม" หรือ “การอยู่กรรม” อธิบายเป็นภาษาที่เข้าใจกันง่ายๆ คือ การปฏิบัติหนักเพื่อชดใช้กรรมนั่นเอง
เดิมการอยู่ปริวาสกรรมมักเป็นกิจกรรมของสงฆ์ แต่ความเป็นมาสมัยพุทธกาลนั้น ปริวาสกรรมมีเพื่อบุคคลสองประเภท คือ คฤหัสถ์ และพระภิกษุสงฆ์ที่บวชอยู่แล้วแต่ต้องอาบัติหนัก อยู่ปริวาสเพื่อนำตนให้พ้นจากอาบัติตามเงื่อนไขทางพระวินัยและเงื่อนไขของสงฆ์ โดยนับจำนวนสามราตรีเท่ากับหนึ่งดิถีปริวาส ซึ่งทางวัดจัดให้ทั้งพระสงฆ์และญาติธรรม แยกพื้นที่ในการปฏิบัติ คือ พระสงฆ์อยู่ปริวาสกรรมในพื้นที่ของวัดอีกที่หนึ่งซึ่งเป็นป่า ส่วนพวกเราก็ปฏิบัติอยู่ในบริเวณวัด และพระสงฆ์จะมาฉันภัตตาหารเช้า-เพลที่วัด
"เหล่าญาติธรรม"
การปฏิบัติธรรมที่วัดเกตุมดีฯ แห่งนี้ก็เช่นเดียวกัน ผู้ที่จะมาอยู่ปริวาสกรรมนั้นจะต้องอยู่ให้ได้อย่างน้อยสามคืนจากทั้งหมดที่ทางวัดนำจัดกิจกรรมสิบคืน ซึ่งทุกช่วงหนึ่งปี จะมีการจัดปริวาสกรรมสองรุ่นคือรุ่นเล็ก (ช่วงเดือนสุดท้ายถึงเดือนแรกของปี) และรุ่นใหญ่ในช่วงวันมาฆบูชา ส่วนใหญ่ผู้เขียนมักเลือกเข้าร่วมกิจกรรมรุ่นเล็กของทุกปี เพราะเป็นช่วงที่มีคนเข้าร่วมไม่มาก ทำให้ไม่แออัด
การอยู่ปริวาสกรรมนั้นไม่เหมือนกับการปฏิบัติธรรมทั่วๆ ไปที่มักจะมีโรงนอน
หรือนอนรวมกัน เพราะถือว่าเป็นการมาใช้กรรม ดังนั้นความเป็นอยู่ในระหว่างปฏิบัตินี้จึงมีความยากลำบากกว่าการปฏิบัติธรรมแบบปกติ นั่นคือ นอนแบบลำบากตามลำพัง กางเต้นท์ในบริเวณที่ทางวัดกำหนดให้ หรืออาจจะปลูกปรกซึ่งมีลักษณะเป็นการนำไม้ไผ่มาประกอบกันเป็นจั่วสามเหลี่ยมเหมือนกระโจมโดยทางวัดได้จัดเตรียมผ้ายางสำหรับทำเป็นหลังคา สำหรับปูพื้นและมีเสื่อกับหมอนให้ยืมใช้ (ทำบุญเป็นค่าบูชาตามศรัทธา)
"บริเวณลานรอบองค์พระธาตุ"
ในวันแรกที่ไปถึงจะต้องรับศีล 8 เสียก่อนและมีการลาศีลเมื่อปฏิบัติครบทั้งสามคืน สิ่งพิเศษที่ไม่เหมือนที่อื่น คือ ทุกคนจะต้องรับศีลปรมัตถ์อย่างน้อย 1 ข้อจาก 5 ข้อ (ศีลปรมัตถ์ คือ การรับศีลเพื่อนำไปปฏิบัติตลอดชีวิตจนกว่าจะชีวิตจะหาไม่) และทุกคนจะได้รับ "เทียนปรมัตถ์" ที่ได้จากพิธีรับศีล ซึ่งถือเป็นเทียนประจำตัว ใช้จุดขอพรได้ 3 ครั้งเมื่อถึงคราวชีวิตประสบปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขด้วยวิธีทางโลกได้ (เป็นความศรัทธาและความเชื่อ) จึงนับเป็นความท้าทายสำหรับผู้ที่สนใจมาเป็นส่วนหนึ่งของการอยู่ปริวาสกรรมที่นี่
การรับศีลปรมัตถ์จะมีพิธีรับซึ่งนำโดยเจ้าอาวาสวัด เมื่อไปที่นี่ครั้งแรกก็แอบแปลกใจ แต่เมื่อได้ร่วมปฏิบัติและรับศีลมา 1 ข้อในปีแรก จึงทำให้เข้าใจว่า นี่เป็นอุบายธรรมหรือกุศโลบายทางธรรมที่แยบยล เพื่อให้คนธรรมดาอย่างเราได้ระลึกถึงการไม่ทำผิดศีล เพราะการรักษาศีลนั้นส่งผลถึงการฝึกสมาธิที่จะทำให้จิตใจของเรามีความสงบและเข้าถึงสมาธิได้ง่ายขึ้นเพราะเมื่อเราไม่ได้ทำผิดก็จะไม่มีสิ่งกังวลใดให้เราต้องคิดวุ่นวาย นอกจากนี้ยังเป็นการฝึกให้เรามีสติและทำความดีนั่นเอง (สามารถทยอยรับศีลเพิ่มได้ในแต่ละปีที่ไป)
"ใส่บาตรเช้า"
กิจกรรมตลอด 3 คืนที่อยู่ปริวาสกรรมก็ประกอบไปด้วย ทำวัตรเช้า-ทำวัตรเย็น เข้านอนประมาณสี่ทุ่ม ตื่นตีสามมาฝึกกรรมฐาน (นั่งสมาธิ) จนถึงตีห้าทำวัตรเช้า เมื่อทำวัตรเช้าเสร็จก็ไปร่วมใส่บาตร ทางวัดมีข้าวและอาหารคาวหวานขาย สำหรับข้าวจะนำไปใส่บาตรที่ทางวัดจัดวางไว้ให้ตามจำนวนพระสงฆ์ที่มาอยู่ปริวาสกรรม และอาหารคาวหวานยกไปถวายที่ศาลาไตรซึ่งมีพระสงฆ์รอรับประเคน ลองนึกภาพดูว่ามีพระสงฆ์มาอยู่ปริวาสกรรมหลายร้อยรูป เราได้ใส่บาตร 3 วัน อาจเยอะกว่าที่เราใส่บาตรตามปกติตอนอยู่ที่บ้านก็เป็นได้
หลังจากใส่บาตรแล้วก็ไปรับประทานอาหารเช้าซึ่งทางวัดมีอาหารเลี้ยงทั้งเช้าและเพล หรือหากต้องการซื้อรับประทานเองก็อุดหนุนโรงครัวของทางวัดได้ ช่วงระหว่างหลังอาหารเช้าไปถึงเพล และหลังเพลไปถึงสี่โมงเย็น เป็นช่วงว่างของผู้ปฏิบัติธรรม ซึ่งสามารถทำกิจกรรมได้ตามอัธยาศัยเช่น สวดมนต์ฝึกสมาธิด้วยตนเอง ทำบุญในองค์พระธาตุ บำเพ็ญประโยชน์ หรือพักผ่อน ช่วงทำวัตรเย็นคือสี่โมงเย็นไปจนถึงห้าโมงและฝึกกรรมฐาน จากนั้นประมาณสองทุ่มจะเป็นการฟังธรรมและฝึกกรรมฐานโดยมีหลวงพ่อเจ้าอาวาสเป็นผู้นำปฏิบัติ
"ลาศีล"
ถึงเช้าวันสุดท้าย หลังจากทำวัตรเช้าแล้ว ทุกคนต้องมาร่วมลาศีล 8 ก่อนกลับบ้าน และสิ่งหนึ่งซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติกันมา คือ การอธิษฐานขอพรกับปู่พระธาตุคนละ 1 ข้อก่อนกลับ...และส่วนใหญ่ที่เล่าต่อกันมาก็มักจะสมหวัง จึงทำให้มีผู้ศรัทธากลับมาปฏิบัติธรรมอย่างต่อเนื่องทุกปีไม่ขาด ผู้เขียนมีความประทับใจที่เห็นจำนวนผู้มาปฏิบัติธรรมอย่างล้นหลามทุกปี แสดงให้เห็นถึงผู้ที่ตั้งใจทำความดีและช่วยทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้คงอยู่สืบไป
ผู้เขียนได้ไปไหว้พระและอยู่ปริวาสกรรม ณ. วัดเกตุมดีฯ แห่งนี้มากว่า 10 ปี แล้ว และเป็นผู้ปวารณาตนรับศีลปรมัตถ์ครบทั้ง 5 ข้อ...ก่อนจากกันโพสต์นี้ ขอเชิญชวนทุกท่านแวะเวียนไปไหว้พระทำบุญ หรือหากสนใจไปปฏิบัติธรรมที่นี่ ก็หวังว่าโพสต์นี้จะเป็นแนวทางให้กับทุกท่านได้ 😇🙏🙏🙏
#วัดเกตุมดีศรีวราราม
#ปริวาสกรรม
#ปฏิบัติธรรม
#ทางสายกลาง
#ฮีลใจ
ท่องเที่ยว
ธรรมะ
พัฒนาตัวเอง
บันทึก
8
2
4
8
2
4
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย