3 ก.ย. 2023 เวลา 10:46 • ความคิดเห็น

เกิดเป็น "เด็กสมัยนี้" ชีวิตไม่ง่ายเลย

สุดสัปดาห์ที่แล้ว ผมมีโอกาสได้ไปร่วมไลฟ์กับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ภายใต้หัวข้อ "เคล็ด (ไม่) ลับ เตรียมตัวอย่างไรให้ได้ใจองค์กรยุคใหม่"
ก่อนจบ คุณโจ้ ฉวีวรรณ ผู้รับหน้าที่พิธีกรถามผมว่า มีอะไรที่อยากจะฝากไว้สำหรับเด็กที่เพิ่งเรียนจบหรือกำลังจะเรียนจบหรือไม่
คำตอบของผมก็คือ ขอเป็นกำลังใจให้ เพราะการเป็นเด็กจบใหม่ในพ.ศ.นี้เป็นเรื่องที่ท้าทายสุดๆ
ประเด็นนี้ติดค้างอยู่ในใจมาเป็นสัปดาห์ เลยอยากนำมาเขียนบันทึกลงไว้ในบล็อก แน่นอนว่านี่คือมุมมองของคนวัยสี่สิบกว่า จึงไม่สามารถอ้างได้ว่าตัวเองเข้าใจ Gen Z อย่างถ่องแท้
แต่อย่างน้อยในทีมผมก็มีน้องๆ ที่เพิ่งเรียนจบมาเช่นกัน จึงเชื่อว่าสิ่งที่ผมกำลังจะเขียนนี้น่าจะมีประโยชน์บ้างไม่มากก็น้อย
มาดูกันว่าเด็กจบใหม่พ.ศ.นี้ (อาจ) มีอุปสรรคอะไรบ้าง เมื่อเทียบกับคนรุ่นผมที่เริ่มทำงานเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว
1
#ค่าครองชีพโตเร็วกว่าค่าจ้าง
ค่าครองชีพถีบตัวสูงขึ้นมาก ตอนปี 2003 ผมยังหาบะหมี่เกี๊ยวหมูแดงชามละ 25 บาท พิเศษ 30 บาทในกรุงเทพได้ ตอนนี้ราคาอาหารแพงขึ้นอย่างน้อยสองเท่า แต่เงินเดือนเด็กจบใหม่ไม่ได้เพิ่มขึ้นสองเท่า น่าจะประมาณ 50% เท่านั้น
1
#เงินไหลออกง่ายกว่าแต่ก่อน
สมัยผมเริ่มทำงานและมีโทรศัพท์มือถือ ก็จ่ายแค่ค่ารายเดือน และอาจจะมีซื้อริงโทนบ้างนิดหน่อย
สมัยนี้จ่ายค่ารายเดือนยังไม่พอ ยังมีค่า subscription ต่างๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็น Netflix, Spotify, หรือ YouTube Premium
สมัยก่อน ถ้าเราอยากจะซื้อของ ก็ต้องแต่งตัวไปเดินห้าง ใช้เวลาอย่างน้อยครึ่งวัน
สมัยนี้ถ้าอยากซื้ออะไรก็เอฟของได้จากบนเตียง ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาที
2
#กินของแพงเป็นประจำ
ผมรู้สึกว่าเด็กสมั้ยนี้กล้าซื้อของกินแพงๆ มากกว่าแต่ก่อน
ตอนที่ผมเงินเดือนไม่เกินสามหมื่น ผมจะกินอาหาร street food (ร้านแบกับดิน) เป็นหลัก เครื่องดื่มของหวานราคาแก้วละ 50 บาทจะซื้อทีต้องคิดแล้วคิดอีก ส่วนร้านในห้างที่ราคาต่อหัวเกินสองร้อยบาทอาจจะได้กินเดือนละสองสามมื้อเท่านั้น
1
แต่สมัยนี้เด็กจบใหม่เหมือนจะสั่งเครื่องดื่มหรือของหวานอินเทรนด์ราคาเกินร้อยสัปดาห์ละหลายครั้ง
อาจจะเป็นเพราะเพื่อนๆ และพี่ๆ ก็ทำกันเป็นเรื่องปกติ เป็น norm ที่เปลี่ยนไป ก็เลยกล้าใช้จ่ายมากกว่าคนรุ่นผมพอสมควร
#มีตัวเปรียบเทียบตลอดเวลา
2
สมัยผมเวลาจะเปรียบเทียบกับใคร เราก็มีแค่คนที่เราได้เจอกันตัวเป็นๆ เท่านั้น (ส่วนคนในทีวีเราไม่คิดจะเปรียบเทียบอยู่แล้ว)
แต่สมัยนี้ social media ทำให้เราได้เห็น "ชีวิตของคนอื่นที่ดีกว่าเรา" อยู่ตลอด ซึ่งก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะทำให้เรารู้สึกว่าอยากจะมีชีวิตที่ดีอย่างเขาบ้าง
2
เมื่อรายได้น้อยแต่ความต้องการสูงการมีเงินเหลือเก็บและ ลงทุนจึงต้องอาศัยแรงใจมากกว่าแต่ก่อนเสียอีก
2
#ทางเลือกมีมากมาย (เกินไป)
สิ่งที่มาพร้อมกับ internet และ social media ก็คือมันทำให้เราเห็นทางเลือกมากมาย แต่มันก็ทำให้เกิดสองสิ่งนี้ได้
หนึ่งคือ Paralysis by analysis เมื่อมีตัวเลือกเยอะเกินไป เราจึงเลือกไม่ถูกและทำอะไรไม่ถูก สุดท้ายเลยไม่ได้เลือกเลยสักอย่าง
1
สองคือ Shiny object syndrome (SOS) เมื่อเราเห็น "ของเล่นที่แวววาว" เราก็กระโดดเข้าหาสิ่งนั้น แต่สักพักก็จะมีของเล่นชิ้นใหม่ที่น่าสนใจกว่า แล้วเราก็จะกระโดดไปหาของเล่นชิ้นใหม่อยู่เรื่อย เราจึงกลายเป็นวัยรุ่นสมาธิสั้นที่ถูกการตลาดชักจูงได้โดยง่ายดาย
3
#ไม่คุ้นเคยกับการอดทนรอ
1
เมื่อตัวเลือกมีมากมาย และทุกอย่างได้มาง่ายดายด้วยปลายนิ้ว เด็กสมัยนี้จึงไม่ได้รับการฝึกฝนให้รอคอย
1
สมัยผมเรียนมัธยม ก่อนคนไทยจะมีโทรศัพท์มือถือ เวลานัดไปเที่ยวห้างกับเพื่อน หากผมไปถึงจุดนัดพบตามเวลาและเพื่อนยังไม่มา ผมก็ต้องนั่งรอเพื่อนตรงนั้น ไปเดินเล่นที่ไหนไม่ได้
หรือเวลาที่รอพ่อหรือแม่มารับที่โรงเรียน สิ่งเดียวที่พอทำได้คือนั่งตรงนั้นแล้วทำการบ้านหรือนั่งอ่านหนังสือรอ
เมื่อต้องฝึกรอมาตั้งแต่เด็ก เราจึงโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักการรอคอย
แต่สำหรับเด็กสมัยนี้ ที่ไม่ต้องรอใคร เพื่อนมาถึงเมื่อไหร่แล้วค่อยโทรมา อยากได้อะไรก็สั่งได้ทันที กล้ามเนื้อการรอคอยจึงไม่ค่อยได้รับการฝึกฝน
ผมจึงบอกน้องๆ เสมอว่า "จงเป็นคนที่รอได้" เพราะคนที่รอได้คือคนที่จะได้รับสิ่งดีๆ - Good things take time.
4
เหมือนการปลูกต้นไม้ เราไม่ควรรีรอที่จะหย่อนเมล็ด รดน้ำ พรวนดิน แต่เราต้องรอให้แสงแดดและวันเวลาได้ทำหน้าที่ของมัน กว่าที่เมล็ดพันธุ์จะผลิดอกออกผลและให้ร่มเงากับเราได้
2
#มองไม่เห็นความสำคัญของการเข้าหาคนอื่น
เรื่องนี้ผมไม่ได้เจอกับตัวแต่ได้ยินเพื่อนรุ่นพี่อย่างน้อยสองคนพูดถึง
ว่าเด็กที่มาฝึกงานที่บริษัทมักไม่เอ่ยทักทายพี่ๆ ในออฟฟิศ
ผมไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะอะไร ถ้าเป็นเรื่องค่านิยมก็คงเป็นเรื่องของยุคสมัย
4
แต่อีกปัจจัยหนึ่งที่ผมคิดว่ามีส่วน ก็คือเด็กเรียนจบยุคนี้ต้องผ่านช่วงล็อคดาวน์ เรียนออนไลน์ จึงขาดโอกาส้ปฏิสัมพันธกับผู้คนเป็นเวลาอย่างน้อยสองปี
2
เมื่อไม่ได้เข้าสังคมมาพักใหญ่ ก็เข้าใจได้ที่จะขัดเขินในการเข้าหาคนไม่คุ้นเคย
นี่จึงเป็นเหตุผลที่เราไม่ควรทำงานที่บ้าน 100% เพราะมนุษย์ต้องทำงานกับมนุษย์ และไม่ใช่ทุกอย่างที่สามารถถ่ายทอดผ่าน Zoom / Slack / หรือ Google Meet
คนที่จะเติบใหญ่ในวิชาชีพ เก่งงานอย่างเดียวไม่พอ ต้องเก่งคนควบคู่ไปด้วย
#ความมั่นใจสูงเกินความสามารถ
จริงๆ เด็กวัย 20-30 มีความมั่นใจสูงมาทุกยุคทุกสมัยอยู่แล้ว แต่สมัยนี้จะสูงยิ่งกว่าแต่ก่อนเพราะ
1. หาความรู้ได้ไม่จำกัด ยิ่งอิน ยิ่งอ่าน ยิ่งมั่นใจ ที่ต้องระวังก็คือเรามักจะเลือกเสพเนื้อหาที่สนับสนุนชุดความเชื่อของเราอยู่แล้ว จึงมักเกิด confirmation bias
1
2. อัลกอริธึมของ social media อาจนำพาให้เราเจอคนที่มีชุดความเชื่อคล้ายๆ กัน ก็เลยยิ่งเชื่อมั่นว่าความคิดของเราถูก และรู้สึกว่าตัวเองมีพวกเยอะ (echo chamber)
1
#ขาดผู้นำทางความคิด
สมัยที่ยังไม่มีอินเทอร์เน็ตหรือโซเชียล จะมีคนเพียงหยิบมือที่มีโอกาสขึ้นเป็นผู้นำทางความคิดของสังคม เป็นซึ่งการที่เขาขึ้นไปถึงจุดนั้นได้น่าจะเป็นความพ้องพานของจังหวะ ผลงาน สถานะ และโชคชะตา
อาจจะขาดความหลากหลายไปบ้าง แต่ก็มีสื่อหลักต่างๆ ที่ทำหน้าที่เป็น curator จนมั่นใจได้ระดับหนึ่งว่าผู้นำทางความคิดเหล่านี้เขามีของจริงๆ
มาสมัยนี้ ทุกคนสามารถพูดออกสื่อได้หมด คนที่เสียงดังจึงอาจไม่จำเป็นต้องเป็นคนที่ฉลาดและล้ำลึกเสมอไป
“The problem with the world is that the intelligent people are full of doubts, while the stupid ones are full of confidence.”
― Charles Bukowski
3
เมื่อมีคนพูดมากมาย ข้อดีคือมีความหลากหลาย ข้อเสียคือหากเราไม่มีวิจารณญาณ มากพอ เราก็อาจจะเชื่อคนผิด (แถมเรายังมั่นใจสุดๆ ว่าเราเชื่อคนถูก) ซึ่งอาจทำให้เราหลงทางไปได้ไกลเหมือนกัน
2
#Disruption จาก AI
ยุคสมัยของ AI มาถึงเร็วกว่าที่เราส่วนใหญ่คาดคิด
1
สมัยผมเด็กๆ ไม่มีใครเชื่อว่าคอมพิวเตอร์จะเอาชนะมนุษย์ในการแข่งหมากรุกได้
แต่พอปี 1997 Deep Blue ของ IBM ก็เอาชนะ Garry Kasparov แชมป์โลกหมากรุกจนเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก
1
ถึงกระนั้น ก็ยังมีคนเชื่อว่ากันว่า แม้ AI จะเอาชนะมนุษย์ในเกมหมากรุกได้ แต่ไม่มีทางที่ AI จะชนะมนุษย์ในเกมหมากล้อมได้แน่นอน
จนกระทั่งปี 2016 AlphaGo ของ Google ก็เอาชนะปรมาจารย์ลี เชดอล (Lee Sedol) ได้สำเร็จ
แล้วคนก็ยังปลอบใจตัวเองว่า ถึง AI จะเก่งในหมากรุกหรือหมากล้อม มันก็เก่งแค่เพียงเรื่องใดเรื่องหนึ่งเท่านั้น ยังห่างไกลกับ General Intelligence ที่มนุษย์มีมากมายนัก
จนกระทั่งปลายปี 2021 ที่ ChatGPT เข้ามาสั่นคลอนความเชื่อนี้ เมื่อมันสามารถทำอะไรได้หลายอย่างที่เราคาดไม่ถึง และนำพาโลกมนุษย์เข้าสู่ยุคของ Generative AI อย่างแท้จริง
เด็กที่จบมาสมัยนี้ แข่งกับคนไทยยังไม่พอ แข่งกับคนทั่วโลกก็ยังไม่พอ ยังต้องมาแข่งกับคนที่ใช้ AI เก่งๆ อีก
ทักษะหลายอย่างที่ร่ำเรียนกันมาเป็นสิบปี อาจจะเหลือมูลค่าทางเศรษฐกิจเพียงน้อยนิดเพราะ AI ทำได้เร็วกว่า ถูกกว่า และไม่ต้องการเวลาพักผ่อน
Baby Boomers และ Gen X ที่ใกล้เกษียณ ถ้ามีเงินเก็บประมาณหนึ่งและใช้ชีวิตบั้นปลายอยู่ "นอกเกม" ก็น่าจะลดผลกระทบจาก AI มาแย่งงานได้
1
คน Gen Y อย่างผมคงหนี AI ไม่พ้น แต่อย่างน้อยก็ทำงานมายี่สิบปี มีเวลาได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ สถานะ และทรัพยากรมากพอให้ตั้งหลักหากเกิดความพลิกผันทางวิชาชีพ
แต่คน Gen Z ที่จบออกมาแล้วต้องมาเจอกับ AI ทันที การก่อร่างสร้างตัวและวางยุทธศาสตร์ให้ชีวิตนั้นไม่ง่ายเลย เพราะความไม่แน่นอนนั้นแน่นอนยิ่งกว่ายุคใด
ถ้าปรับตัวไม่ทัน คนจำนวนไม่น้อยอาจกลายเป็น "ชนชั้นไร้ประโยชน์" (The Useless Class) ตามที่นักประวัติศาสตร์ Yuval Harari เคยทำนายเอาไว้ก็ได้
-----
หากพูดแต่อุปสรรคและไม่พูดถึงทางออกเลยก็ดูจะหม่นหมองไปหน่อย สิ่งที่ผมพอจะแนะนำได้มีดังนี้
#เป็น Creator ไม่ใช่แค่ Consumer
ถ้าเราใช้ FB/IG/X เพื่อการเสพแต่เพียงอย่างเดียว เราจะกลายเป็น "สินค้า" ที่แพลตฟอร์มเหล่านี้เอาไปขายเพื่อทำรายได้
แต่ถ้าเราใช้มันเพื่อสร้าง content หรือคุณค่าอะไรบางอย่าง เราก็กำลังใช้เทคโนโลยีเพื่อเอื้อประโยชน์ให้เรามากกว่าแค่ความบันเทิง แม้จะยังไม่มีรายได้ แต่การมีตัวตนบนโลกออนไลน์คือสินทรัพย์ที่มีคุณค่า
#อยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้นานพอ
เมื่อทางเลือกมีมากมายและคนส่วนใหญ่ใจร้อน หากเราใจเย็น คัดสรรให้ดี และใช้เวลาอยู่กับสิ่งหนึ่งสิ่งใดให้นานพอ เราก็จะมีโอกาสมากกว่าคนอื่นที่จะเก็บเกี่ยวประโยชน์จากสิ่งนั้น
2
#อ่านหนังสือเก่า
ถ้าเสพแต่คลิปหรือข้อความสั้นๆ เราก็จะมีวิธีคิดไม่ต่างจากผู้คนมากมายในรุ่นเดียวกัน
แต่การอ่านหนังสือเก่าคือการพาตัวเราเข้าถึงสิ่งที่ลุ่มลึก เพราะหากหนังสือเก่าหลายสิบหรือหลายร้อยปีแล้วยังมีคนอ่านอยู่ แสดงว่ามันได้รับการพิสูจน์มาแล้วว่าเป็นอกาลิโก
1
โลกจะเปลี่ยนไปแค่ไหน แต่มนุษย์ก็ยังเหมือนเดิม ไม่ต่างอะไรจากเมื่อ 2600 ปีที่แล้ว สิ่งใดที่เคยเป็นจริงเมื่อ 100 ปีที่แล้ว ก็มีแนวโน้มที่จะยังเป็นจริงในอีก 100 ปีข้างหน้า
#หาเวลาอยู่กับตัวเอง
สิ่งที่เราขาดแคลนในยุคนี้ไม่ใช่ความรู้
สิ่งที่เราขาดแคลนคือการมองและคิดให้ชัดเจน (clarity of thought) เพราะเราถูกซัดด้วยข้อมูลที่มากมายเกินไป
ลองปิดจอทุกชนิด และจัดเวลาที่จะได้อยู่กับตัวเองจริงๆ จะนั่งเฉยๆ จะเขียนความคิดลงสมุด หรือจะไปเดินเล่นแถวบ้านก็ได้
ให้ตัวเองได้ถอยห่างจากโลกอันวุ่นวาย เพื่อจะได้เห็นอะไรชัดเจนขึ้น
ขอนำถ้อยคำที่พี่ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เคยพูดไว้ที่บริษัทเมื่อสี่ปีที่แล้ว
"ถึงที่สุดแล้ว AI ก็เป็นมนุษย์ไม่ได้ ปัญหาคือมนุษย์สูญเสียความเป็นมนุษย์ต่างหาก เราจึงกลัว AI จึงกลัวหุ่นยนต์และกลไก สิ่งที่ต้องรักษาไว้สูงสุดคือความเป็นมนุษย์ และเรื่องที่ผมคุยมาตลอดหนึ่งชั่วโมงที่ผ่านมาทั้งหมดคือความเป็นมนุษย์
ถ้าเรารักษาความเป็นมนุษย์ไว้ไม่ได้ นั่นคือเหตุผลที่เราต้องกลัวหุ่นยนต์ให้มากที่สุด แต่ถ้าเรารักษาความเป็นมนุษย์ แล้วเรารู้ว่าคุณค่าสูงสุดของมนุษย์อยู่ที่ไหน เราไม่จำเป็นที่จะต้องกลัวความเปลี่ยนแปลง AI จะ disrupt เราไม่ได้ ฉะนั้นจงหาให้เจอว่าคุณค่าที่แท้จริงที่สูงสุดของมนุษย์อยู่ตรงไหน"
โจทย์นี้ไม่มีเฉลย ChatGPT ก็ไม่อาจช่วยได้ มีแต่เราเท่านั้นที่ต้องค้นหาและประเมินด้วยตนเอง
2
เกิดเป็นเด็กสมัยนี้ชีวิตไม่ง่าย
2
ขอเป็นกำลังใจให้น้องๆ ทุกคนนะครับ
โฆษณา