4 ก.ย. 2023 เวลา 16:26 • ข่าว

เปิดใจ ‘ป้าดำ’ คนจนเมือง ในวันถูกไล่รื้อบ้าน ที่อาศัยอยู่มา 28 ปี

HUMANITY: เปิดใจ ‘ป้าดำ’ คนจนเมือง ในวันถูกไล่รื้อบ้าน ที่อาศัยอยู่มา 28 ปี เปลี่ยนที่รกร้างเป็นป่าชายเลนผืนเดียวในเขตเทศบาลนครสงขลา ขอรัฐจัดที่อยู่ข้างบ่อบำบัดน้ำเสียทดแทนเพื่อให้ยังทำงานเดิมต่อได้ ‘สลัมสี่ภาค’ ย้ำสิทธิในที่อยู่อาศัยเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์
ผู้สื่อข่าว The Reporters ลงพื้นที่บริเวณป่าชายเลน สวนเฉลิมพระเกียรติ 72 พรรษา พระมหาราชินี เขตเทศบาลนครสงขลา อ.เมือง จ.สงขลา ติดตามกรณีที่ นางไพจิตร จันทร์โต หรือ ป้าดำ หญิงวัย 58 ปี ถูกเจ้าหน้าที่เทศบาลนครสงขลา เข้ารื้อถอนบ้านพักอาศัยในบริเวณป่าชายเลนออกเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ที่ผ่านมา โดยปัจจุบันจังหวัดสงขลาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้จัดหาบ้านเช่าให้ชั่วคราวก่อนจะหาที่พักให้ใหม่
'ป้าดำ' เล่าให้ The Reporters ฟังว่า เดิมตนเองเป็นคนจังหวัดนครศรีธรรมราช มาหางานทำที่ จ.สงขลา ใช้ชีวิตที่นี่มานานกว่า 30 ปีแล้ว โดยยึดอาชีพออกหาปลาด้วยเรือหางยาวขนาดเล็ก และรับจ้างคัดแยกปลาในแพปลา มาสร้างบ้านอยู่ในพื้นที่สวนสาธารณะนี้ราว 28 ปี แต่เดิมในพื้นที่ไม่มีต้นโกงกาง เป็นพื้นที่รกร้าง มีเพียงดินโคลน เนินดิน จึงเข้ามาใช้ประโยชน์อยู่อาศัยกับครอบครัว
ต้นโกงกางที่เห็นอยู่ก็เป็นฝีมือของตนเองเป็นผู้ปลูกทั้งสิ้น จนทำให้ตอนนี้เป็นป่าชายเลนเพียงผืนเดียวในเขตเทศบาลนครสงขลาที่ยังเหลืออยู่ และมีความอุดมสมบูรณ์ มีกลุ่มชาวประมงมาใช้ประโยชน์ในการจอดเรือ หลบลมพายุ ทำเพิงพักออกหาปลา มีสัตว์น้ำมาใช้หลบลม อนุบาลสัตว์เล็ก แต่มีเพียงตนเองที่มีบ้านอยู่ที่นี่
“เขามาไล่ มาติดประกาศหลายหน ป้าก็ไปอุทธรณ์ที่เทศบาล 2 ครั้งแล้วเขาก็ไม่ให้อุทธรณ์ ป้าดำจะทำยังไง ไม่มีบ้านจะอยู่ เขามาติดป้ายหน้าบ้าน ป้าไปโรงพัก เขาให้ 3 เดือน ป้าก็นึกว่าบ้านป้าอยู่ในเขตของเจ้าท่า เขาก็ไปขอเจ้าท่าให้มาช่วยไล่ป้าดำอีก“
ป้าดำ เล่าต่อว่า วันที่มีการรื้อ เจ้าหน้าที่มาที่บ้านป้าดำเป็นร้อยคน แต่ป้าดำมีเพื่อนอยู่ด้วยอีกหลายคน เขาบอกว่าจะขอนัดไปเจรจาคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัด เพื่อขอชะลอเรื่องไปก่อน แต่ในขณะประชุมยังไม่เสร็จ เจ้าหน้าที่ก็รื้อบ้านเลย
ป้าดำ ยืนยันว่า ตนเองไม่มีบ้าน ไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง แต่รัฐบอกว่าป้าดำมีบ้านเพราะมีคนรู้จักเอาชื่อป้าดำไปใส่เป็นเจ้าของบ้านในทะเบียนราษฎร เพื่อให้ป้าดำและครอบครัวได้รับสิทธิทางกฎหมาย เช่น สิทธิการเลือกตั้ง สิทธิการรักษาพยาบาล แต่ป้าดำไม่ได้เป็นเจ้าของกรรมสิทธิในทรัพย์สินนั้นเลย “ถ้าป้ามีบ้านไม่ไปนอนอยู่บ้านดีกว่ามานอนตรงนี้ตั้ง 30 ปีเหรอ” ป้าดำกล่าวย้ำ
“ป้ายอมรับว่าป้าก็ผิด ป้าบุกรุกจริง เราไม่ได้ขัดขวางอะไรเขา แต่เราไม่มีที่ไป ไม่มีที่ของเราจริงๆ คืนนั้นป้าต้องนอนข้างถนนจนยุงกัดเป็นรอยทั้งตัว ตอนเช้าเทศกิจมาแจ้งให้เก็บ จะปรับเรื่อง พ.ร.บ.ความสะอาดอีก 2,000 บาท”
ด้านผู้ประสานงานเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวเพิ่มเติมว่า สิทธิในที่อยู่อาศัยเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของคนไทยที่คนจนเมืองแบบป้าดำมักถูกละเมิด ทั้งที่คนจนเหล่านี้เป็นคนแบกเมือง ป้าดำมาอยู่ ปลูกต้นไม้ เปลี่ยนที่รกร้างเป็นป่าชายเลน รัฐจะใช้เพียงหลักนิติศาสตร์โดยขาดความเข้าใจไม่ได้ คนจนเมืองมักอยากมีที่อยู่อาศัยใกล้แหล่งงาน บ้านของเขาไม่ใช่แค่ที่นอนแต่คือชีวิต คืออาชีพของคนจน ป้าดำพร้อมเป็นกลไกในการพัฒนาเมืองมีส่วนดูแลพื้นที่ การพัฒนาเมืองไม่จำเป็นต้องไล่คนจนออกไป
ขณะนี้เรื่องราวของป้าดำ ได้รับการดูแลจากนายอำเภอ ศูนย์ดำรงธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ออกค่าเช่าบ้านให้ป้าดำและครอบครัวเป็นเวลา 1 เดือน ป้าดำนำสิ่งของสำคัญไปเก็บไว้แต่ยังมานอนเฝ้าอยู่ที่ป่าชายเลนนี้ทุกคืนเพราะยังมีเครื่องมือทำมาหากินจำนวนมากวางกองอยู่ กลัวจะถูกขโมย รวมถึงบ้านเช่าก็อยู่ไกลจากทะเล การมารออยู่ตรงนี้เผื่อจะมีจังหวะที่คลื่นลมไม่แรง ป้าดำจะได้ออกไปหาปลาบ้าง
ก่อนหน้านี้ทางเทศบาลนครสงขลา ได้เสนอพื้นที่ใหม่ให้ป้าดำย้ายไปอยู่ ซึ่งป้าดำได้พาผู้สื่อข่าว The Reporters ลงไปสำรวจ พบเป็นชุมชนรกร้างทรุดโทรม ตั้งอยู่ข้างจุดจอดเรือประมงพาณิชย์ขนาดใหญ่ เป็นพื้นที่ที่ไม่มีความปลอดภัย มักมีเหตุอาชญากรรม ซึ่งพื้นที่ที่เทศบาลจะจัดให้เป็นช่องว่างของอาคารเก่าหน้ากว้างประมาณ 2.5 เมตร ไม่มีสิ่งปลูกสร้าง ต้องมาสร้างเอง
ภาพพื้นที่ที่ทางเทศบาลนครสงขลาจะจัดให้ป้าดำ ไปอยู่อาศัย ซึ่งมีลักษณะเป็นชุมชนสภาพเสื่อมโทรม ขนาดหน้ากว้างพื้นที่ประมาณ 2.5 เมตร อยู่ระหว่างอาคารชำรุด
ป้าดำ เผยกับผู้สื่อข่าว The Reporters และพาไปชี้จุดที่ป้าดำคิดว่าจะพออยู่ได้ คือบริเวณข้างบ่อบำบัดน้ำเสียของเทศบาล ที่แม้จะมีกลิ่นเหม็นของน้ำเสียจากบ่อดักไขมัน แต่สภาพชุมชนไม่อันตรายเท่าที่แรกที่เขาจัดไว้ให้ และคิดว่าหากป้าดำมาอยู่ก็จะช่วยดูแล ปลูกต้นโกงกาง ฟื้นฟูเรื่องกลิ่นได้
ภาพพื้นที่ที่ป้าดำ คิดว่าจะสามารถอยู่อาศัยได้ อยู่บริเวณบ่อบำบัดน้ำเสีย เทศบาลนครสงขลา
นอกจากนี้ผู้สื่อข่าว The Reporters ยังได้มีโอกาสพูดคุยกับกลุ่มเพื่อนป้าดำ ทั้งที่เป็นภรรยาของสัปเหร่อในวัด และเป็นเจ้าของเรือประมง ต่างบอกว่าป้าดำเป็นคนที่มีจิตใจดี ชอบช่วยเหลือผู้อื่น หากรู้ว่ามีศพไร้ญาติมักจะอาสาเป็นคนเรี่ยไรเงินคนที่ตนรู้จักหรือขอเป็นปลาสดๆ เพื่อไปช่วยงานเขา ทำแบบนี้ตลอดจนมีแต่คนรัก แม้ตัวเองจะไม่มีอะไรเลย ก็เป็นคนชอบช่วยเหลือสังคม ป้าดำจึงมักได้การช่วยเหลือจากเพื่อนๆ เอาของใช้ในบ้าน อุปกรณ์ประมง มาให้ ป้าดำอยากได้อะไรขอให้บอกก็จะมีคนให้
“แกช่วยเหมือนแกรวย แต่พอได้สัมผัสจริงๆ แกไม่มีอะไรเลย แต่การกระทำที่แกช่วย แกรวยน้ำใจ เหตุการณ์ที่ได้เกิดกับแกแบบนี้ ‘เพราะว่าแกจน’ พี่ไม่เคยเห็นคนรวยเกิดเรื่องแบบนี้ ส่วนมากเกิดแต่กับคนจน ถ้าป้าดำรวย เป็นลูกท่านหลานเธอ เป็นลูกคนมีอำนาจ น่าจะไม่เป็นแบบนี้” เพื่อนป้าดำ กล่าว
#TheReporters #เดอะรีพอร์ตเตอร์ #ป้าดำ
โฆษณา