9 ก.ย. 2023 เวลา 04:00 • ธุรกิจ

บริษัทโฮลดิ้ง...พลาดภาษี “ลดทุนบริษัทลูก”

บริษัทโฮลดิ้งมีกิจการหลัก คือ ลงทุนถือหุ้นใน “บริษัทลูก” และ “บริษัทอื่น” สัดส่วนการถือหุ้นมากน้อยเป็นไปตามเงื่อนไขทางธุรกิจ ทั้งนี้ ต้องไม่น้อยกว่า 25% เพื่อยกเว้น “ภาษีเงินปันผล” (Dividend Tax) ที่กฎหมายเอื้ออำนวยให้
บริษัทลูก “บางราย” ขาดทุนไม่มีเงินปันผลจ่ายให้แก่บริษัทโฮลดิ้ง แต่ “บริษัทโฮลดิ้ง” ที่เป็นผู้ถือหุ้นบริษัทลูกยังไม่ถือว่าขาดทุน (Unrealized Loss) เป็นเพียงผลกระทบใน “งบดุล” ที่ “เงินลงทุน” ในบริษัทลูก “ด้อยมูลค่าลง” เท่านั้น (Impairment) จนกว่าบริษัทโฮลดิ้งจะขาย “หุ้นบริษัทลูก” นั้นออกไปและรับรู้ “ผลขาดทุน” (Realized Loss) ทันทีใน “งบกำไรขาดทุน”
ก่อนหน้านี้ เคยมี “บริษัทโฮลดิ้ง” รายหนึ่งลงทุนถือหุ้นในบริษัทลูก เมื่อบริษัทลูกขาดทุนจำนวนมากจนต้อง “ปรับโครงสร้างทุน” (Recapitalization) ด้วยการ “ลดทุนบริษัทลูก” เพื่อ “ล้างผลขาดทุนทางบัญชี” (Accounting Loss) ก่อนที่ “บริษัทโฮลดิ้ง” จะ “เพิ่มทุนใหม่” เข้าไป เพื่อให้ “บริษัทลูก” ไม่มี “มูลค่าหุ้นติดลบ” ​(Negative Book Value) เมื่อบริษัทลูกไม่ติดลบ จะส่งผลให้ทำกำไรได้เร็ว และมีเงินปันผลจ่ายให้แก่บริษัทโฮลดิ้งได้ในที่สุด
การลดทุนในบริษัทลูกรายนี้ บริษัทโฮลดิ้งที่เป็น “ผู้ถือหุ้น” เลือกใช้การลดทุนด้วยการ “ตัดหุ้นเดิม” แทนที่จะใช้การลดทุนด้วยการ “ลดมูลค่าหุ้นที่ตราไว้” (Par Value) ตามกฎหมายบริษัทที่ให้ “ทางเลือกลดทุน” ได้สองแนวทาง
ผลของการลดทุนด้วยการ “ตัดหุ้นเดิม” ในบริษัทลูก ส่งผลให้บริษัทโฮลดิ้งนำ “ผลขาดทุนจากการลงทุน” ในบริษัทลูกไปถือเป็น “รายจ่าย” ทันทีใน “งบกำไรขาดทุน” ของบริษัทโฮลดิ้ง และนำไปเป็น “รายจ่ายทางภาษี” ในรอบระยะเวลาบัญชี (Accounting Period) นั้นเพื่อการคำนวณภาษีเงินได้บริษัท (Corporate Income Tax) ของบริษัทโฮลดิ้ง
ต่อมา กรมสรรพากรทราบเรื่องนี้จึงได้ประเมินภาษี “บริษัทโฮลดิ้ง” กรณี “รายจ่ายต้องห้ามทางภาษี” (Non-deductible expense) ในการคำนวณภาษีเงินได้บริษัทอันมีสาเหตุจากการ “ตีราคาทรัพย์สินต่ำลง” (Devaluation) ตามแนวทาง “บัญชีภาษีอากร” (Tax Accounting) ซึ่งต่างจาก “งบการเงิน” (Financial Accounting) และนำไปสู่ข้อพิพาททางภาษีระหว่างบริษัทโฮลดิ้งรายนี้กับกรมสรรพากรในศาลภาษีและศาลฎีกา
สุดท้าย ศาลฎีกาตัดสินข้อพิพาทนี้ด้วย “ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา” ในปี 2550 ซึ่งต้องเชิญผู้พิพากษาในศาลฎีกาทั้งหมดเข้าร่วมประชุมเพื่อตีความวินิจฉัยปัญหากฎหมายสำคัญ และศาลฎีกาตัดสิน “คดีภาษี” นี้มีสาระสำคัญอันเป็นประโยชน์ต่อการลงทุนและการใช้งานบริษัทโฮลดิ้ง ดังนี้
“ป.รัษฎากร มาตรา 65 ตรี (17) ที่บัญญัติมิให้นำค่าของทรัพย์สินที่ตีราคาต่ำลง มาถือเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธินั้น มีเจตนารมณ์ที่จะห้ามบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนำมูลค่าของทรัพย์สินที่มีราคาต่ำลงมาหักเป็นรายจ่ายในการคำนวณกำไรสุทธิ เนื่องจากมูลค่าของทรัพย์สินที่มีการตีราคาต่ำลงนั้น ยังมิใช่รายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลนั้น รายจ่ายจะเกิดขึ้นจริงก็ต่อเมื่อมีการขายทรัพย์สินดังกล่าวไปแล้วได้มูลค่าต่ำกว่ามูลค่าที่ลงทุนซื้อทรัพย์สินนั้นมา”
ศาลฎีกาใช้ “เหตุผลทางกฎหมายภาษี” ข้างต้นนี้ในการตีความและวินิจฉัยคดีภาษีนี้ว่า “การด้อยค่าของทรัพย์สิน” (Impairment) ยังไม่ถือว่าเป็น “รายจ่ายทางภาษี” จนกว่าจะได้ “ขายทรัพย์สิน” นั้นออกไปก่อนแล้วเกิดผลขาดทุนจึงจะถือว่าเป็น “รายจ่ายทางภาษี” ได้
กรณีบริษัทโฮลดิ้งในคดีภาษีนี้ยังไม่ขาดทุนจริง (Unrealized Loss) ต้อง “ขายหุ้น” ออกไปก่อนจึงเป็น “ขาดทุนจริง” (Realized Loss) และใช้เป็นรายจ่ายทางภาษีได้ เหตุผลนี้เองจึงเป็น “ความต่าง” ระหว่าง “บัญชี” และ “ภาษี” ที่การใช้งานบริษัทโฮลดิ้งต้องระมัดระวังอย่างมาก
กรณีศึกษาการใช้งาน “บริษัทโฮลดิ้ง” รายนี้พบว่า “บริษัทโฮลดิ้ง” ดังกล่าวซื้อหุ้นของ “บริษัทอื่น” โดยถือไว้ในลักษณะทรัพย์สิน (Investment) เพื่อรับผลประโยชน์จากเงินปันผล ต่อมา “บริษัทอื่น” นั้นลดทุนลงโดยลดจำนวนหุ้นที่มีอยู่เพื่อลดผลขาดทุนสุทธิทางบัญชี (Accounting Loss) มีผลเพียงทำให้มูลค่าหุ้นรวมที่ลงทุนใน “บริษัทอื่น” ของ “บริษัทโฮลดิ้ง” ลดลงตามสัดส่วนที่มีการลดจำนวนหุ้น (ลดทุนตัดหุ้นทิ้ง) ซึ่งเป็นผลให้มูลค่า “เงินลงทุนในหุ้น” ของบริษัทโฮลดิ้งมีมูลค่าลดลง (Devaluation)
แต่กรณีนี้จะถือเป็นรายจ่ายทางภาษี (Tax Accounting) ได้ต่อเมื่อมีการขายหุ้นส่วนที่เหลือจากการลดจำนวนหุ้นดังกล่าวไปทั้งหมดแล้วและมีผลขาดทุน ในกรณีตาม Case Study นี้ เมื่อ “บริษัทโฮลดิ้ง” ยังมิได้ขายหุ้นในส่วนที่เหลือจากการลดจำนวนหุ้นไป จึงถือว่ายังไม่มีรายจ่ายที่เกิดขึ้นจริงของทรัพย์สินดังกล่าว (Unrealized Loss) ที่จะนำมาหักเป็นรายจ่ายทางภาษีได้ ผลทางภาษีจึงกลายเป็น “รายจ่ายต้องห้ามทางภาษี”
และเมื่อกฎหมายภาษีห้ามนำไปใช้เป็นรายจ่ายทางภาษี “บริษัทโฮลดิ้ง” รายนี้จึงต้องนำ “รายจ่ายต้องห้าม” นี้ไป “บวกกลับ” เพื่อเป็น “เงินได้ที่ต้องเสียภาษี” (Taxable Income) ในการคำนวณภาษีเงินได้บริษัท (Corporate Income Tax Calculation) นั่นคือ “บริษัทโฮลดิ้ง” ต้องเสีย “ภาษีบริษัท” เพิ่มจาก “รายจ่ายต้องห้าม” นี้เอง
ดังนั้น ผู้ประกอบการ เจ้าของบริษัท ธุรกิจครอบครัวที่ลงทุนและใช้งานบริษัทโฮลดิ้ง ควรทำความเข้าใจความต่างระหว่าง “กฎหมายบริษัท” (Corporate Law) “บัญชีการเงิน” (Financial Accounting) และ “บัญชีภาษี” (Tax Accounting) ที่แม้จะมี “มุมต่าง” แต่ก็เกี่ยวข้องใน “เรื่องเดียวกัน” และพึงระมัดระวังในการใช้งานบริษัทโฮลดิ้งอย่างมาก
บทความห้องเรียนผู้ประกอบการ
เขียนโดย: ชินภัทร วิสุทธิแพทย์
ONE Law Office
โฆษณา