9 ก.ย. 2023 เวลา 05:34 • ประวัติศาสตร์

• ‘ภาษาฝรั่ง สำเนียงไทย’ จะเกิดอะไรขึ้นเมื่อคนไทยต้องพูดภาษาฝรั่ง?

นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 2 เป็นต้นมา ชาวยุโรปจากหลากหลายชาติได้เดินทางเข้ามาค้าขายและมีสัมพันธ์อันดีกับไทยหรือสยามในขณะนั้น ภายหลังจากที่ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับชาติยุโรปต้องยุติลงเป็นเวลานานกว่า 150 ปี หลังสิ้นรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
แต่แน่นอนว่าการสื่อสารระหว่างคนไทยกับชาวต่างชาติหรือ ‘ฝรั่ง’ นี้ ก็ได้ก่อให้เกิดปัญหาอยู่บ่อยครั้ง นั่นก็เพราะคนไทยเราไม่สามารถที่จะพูดหรือกระดกลิ้นให้เหมือนกับฝรั่งได้
1
ดังนั้นคนไทยเลยเรียกชื่อของชาวต่างชาติหรือคำศัพท์ภาษาอังกฤษในสำเนียงของคนไทยเองเสียเลย
เริ่มจาก จอร์จ วอชิงตัน (George Washington) ประธานาธิบดีคนแรกของสหรัฐอเมริกา คนไทยเรียกว่า ‘พ่อยอด วัดชิงตัน’ ส่วนตำแหน่งประธานาธิบดีก็เรียก ‘ปริไสเดนท์’
1
เซอร์เจมส์ บรูค (Sir James Brooke) ราชทูตอังกฤษที่เดินทางมาไทยสมัยรัชกาลที่ 3 และยังได้รับการแต่งตั้งจากสุลต่านบรูไนให้เป็นราชาแห่งซาราวัก คนไทยก็เรียกว่า ‘นายเยม สับรุก’ หรือ ‘นายเยม สัปบุรุษ’
จอห์น ครอฟอร์ด (John Crawfurd) ราชทูตอังกฤษสมัยรัชกาลที่ 3 คนไทยเรียก ‘นายจอน การะฝัด’
เฮนรี่ เบอร์นี่ (Henry Burney) ตัวแทนบริษัทอินเดียตะวันออกของอังกฤษ คนไทยเรียก ‘กปิตัน หันตรี บารนี’
มาร์ควิส เฮสติงส์ (Marquess of Hastings) ผู้สำเร็จราชการอินเดียของอังกฤษ คนไทยเรียก ‘มารเกศ หัสตึ่ง’
โรเบิร์ต ฮันเตอร์ (Robert Hunter) พ่อค้าชาวอังกฤษที่เปิดห้างสรรพสินค้าแห่งแรกของไทยในสมัยรัชกาลที่ 3 คนไทยเรียก ‘นายหันแตร’
มิสเตอร์ริดซัน (Ridson) ตัวแทนบริษัทอินเดียตะวันออกอีกคนที่เคยเจรจาขอซื้อช้างกับไทย คนไทยเรียก ‘นายฤทธิ์ชอน’
1
เจมส์ เฮย์ (James Hay) พ่อค้าอังกฤษ ชื่อเรียกยากแต่เป็นคนยิ้มเก่ง คนไทยเลยเรียก ‘เสมียนยิ้ม’
แดน บีช แบรดลีย์ (Dan Beach Bradley) คุณหมอชาวอเมริกันที่นำวิทยาการการแพทย์อย่างการผ่าตัดและการฉีดวัคซีนเข้ามาในไทย รวมถึงก่อตั้งหนังสือพิมพ์เจ้าแรกในไทย คนไทยเรียก ‘หมอบรัดเลย์’ หรือ ‘หมอปลัดเล’
แอนนา เลียวโนเวนส์ (Anna Leonowens) หรือแหม่มแอนนา อาจารย์สอนภาษาอังกฤษที่รัชกาลที่ 4 ทรงว่าจ้างให้สอนพระโอรสและพระธิดาของพระองค์ คนไทยเรียก ‘แมมเนวละเวน’
ดอนญ่า มารี กีมาร์ เดอ ปินา (Donna Marie Gemard de pina) หรือ ดอน กีมาร์ แม่ครัวหลวงในสมัยพระเพทราชา ภรรยาของออกญาวิไชเยนทร์และเป็นผู้คิดค้นขนมไทยอย่าง ทองหยิบ ทองหยอด คนไทยก็เรียกว่า ‘ท้าวทองกีบม้า’
2
นอกจากชื่อคนแล้ว ยังมีศัพท์อื่น ๆ ที่น่าสนใจอย่างเช่น
เบงกอล (Bengal) คนไทยเรียก ‘มังกล่า’
ปาเลมบัง (Palembang) คนไทยเรียก ‘กุดัง’
ฟอสฟอรัส (Phosphorus) คนไทยเรียก ‘ฝาศุภเรศ’
เฟิร์สคลาส (First Class) คนไทยเรียก ‘เปิ๊ดสะก๊าด’
2
โทรเลข (Telegraph) คนไทยเรียก ‘ตะแล็บแก็บ’
1
สหรัฐอเมริกา (United States of America) คนไทยเรียก ‘ยูไนติสเตศอะเมริกา’
อังกฤษหรืออิงแลนด์ (England) คนไทยเรียก ‘วิลาส’
รัฐบาลสยาม (Government of Siam) คนไทยเรียก ‘กัดฟันมันสยาม’
และนี่ก็คือตัวอย่างของคำในภาษาอังกฤษที่คนไทยในสมัยก่อนได้พูดรวมไปถึงใช้งานกัน คุณคิดเห็นอย่างไรกับภาษาฝรั่งสำเนียงไทยนี้ อย่าลืมมาแสดงความคิดเห็นกันนะครับ
*** References
• หนังสือ 100 เรื่องเก่าเล่าสนุก โรม บุนนาค สำนักพิมพ์สยามบันทึก
• มติชน ออนไลน์. ชื่อฝรั่งที่คนไทยเรียกให้สะดวกลิ้น! เจ้าของชื่อยังต้องจำว่านี่คือชื่อของไอเอง!!. http://bitly.ws/BBTc
• มติชน สุดสัปดาห์. นิตยา กาญจนะวรรณ : ทําไม ไดนะซอร์/ไดนาซอร์ ถึงเขียนว่า “ไดโนเสาร์”. http://bitly.ws/BBTf
#HistofunDeluxe
โฆษณา