Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
AdminField
•
ติดตาม
11 ก.ย. 2023 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์
กินทุกอย่าง แม้ “หัวใจพระเจ้าหลุยส์ที่ 14” (ภาคสุริยกษัตริย์)
หากจะกล่าวถึงบุคคลผู้ยิ่งใหญ่ในประวัติศาสตร์แล้ว มีมากมายหลายคนด้วยกัน หนึ่งในต้องมี “สมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส” รวมอยู่ด้วย ซึ่งตลอดรัชสมัยของพระองค์ อาจกล่าวได้ว่าเป็นช่วงที่ฝรั่งเศสมีความยิ่งใหญ่และเกรียงไกรมากที่สุดยุคหนึ่ง ทำให้พระองค์กลายเป็น “ตำนาน” ของโลกหน้าหนึ่งซึ่งจะขาดไปเสียมิได้เลยจริง ๆ รวมถึงเรื่องราวที่ “พระหทัย” หรือหัวใจของพระองค์ถูกกินโดยชายที่มีชื่อว่า “วิลเลียม บัคแลนด์” ในอีกร้อยกว่าปีให้หลังจากนั้นด้วย
สมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส หรือ “พระเจ้าหลุยส์ที่ 14” ที่เรียกกันโดยทั่วไป มีพระนามว่า “หลุยส์-ดิเยอดอนเน” (Louis-Dieudonné) เป็นพระราชโอรสในสมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 กับสมเด็จพระราชินีแอนน์แห่งฝรั่งเศส (หรือเดิมคือ อานาแห่งออสเตรีย) ประสูติเมื่อวันที่ 5 กันยายน ค.ศ. 1638 (พ.ศ. 2181) ทรงมีพระอนุชาร่วมสายพระโลหิต 1 พระองค์ คือ เจ้าฟ้าชายฟิลิป
เมื่อพระชนมายุได้ 4 พรรษา สมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 13 พระราชบิดาได้เสด็จสวรรคตในวันที่ 14 พฤษภาคม ค.ศ. 1643 (พ.ศ. 2186) ทำให้ราชสมบัติตกเป็นของเจ้าฟ้าชายหลุยส์ แจ่เนื่องจากยังทรงพระเยาว์ จึงได้มีการแต่งตั้งสมเด็จพระราชินีแอนน์ เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ บริหารราชการแผ่นดินจนกว่าเจ้าฟ้าชายหลุยส์ หรือ “สมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14” จะทรงบรรลุนิติภาวะ
สมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เมื่อครั้งทรงพระเยาว์ กับสมเด็จพระราชินีแอนน์ พระราชมารดา ในฐานะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ (ภาพ: Wikipedia)
การนี้ ยังได้รับความช่วยเหลือจากจูลส์ มาซาแรง (Jules Mazarin) มุขมนตรี หรือนากยรัฐมนตรีแห่งฝรั่งเศส แล้วยังเป็นพระคาร์ดินัลชาวอิตาลีคนสนิทของพระองค์อีกด้วย
จูลส์ มาซาแรง (ภาพ: Wikimedia)
ในปีแรก ๆ ของรัชกาล สมเด็จพระราชินีแอนน์ และมาซาแรง ได้มีนโยบายที่จะรวมอำนาจขึ้นตรงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ให้หมด ซึ่งสร้างความขุ่นเคืองให้แก่บรรดาขุนนางและกลุ่มอภิชนในฝรั่งเศส จนกลายเป็นกบฏฟรองด์ (Fronde) ในปี ค.ศ. 1648 (พ.ศ. 2191) โดยมีสเปนให้การหนุนหลัง แต่สุดท้ายก็สามารถปราบปรามลงได้ในปี ค.ศ. 1653 (พ.ศ. 2196) พร้อมกับมีการฟื้นฟูความสงบเรียบร้อยภายในและเจรจาสนธิสัญญาสันติภาพกับสเปน ทำให้ฝรั่งเศสกลายเป็นมหาอำนาจชั้นนำของยุโรป
ความวุ่นวายในช่วงกบฏฟรองด์ (Fronde) (ภาพ: Wikipedia)
หลังจากนั้น ในปี ค.ศ. 1660 (พ.ศ. 2203) เมื่อพระชนมายุได้ 22 พรรษา สมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ทรงราชาภิเษกสมรสกับมารีอา เทเรซาแห่งสเปน (Maria Theresa of Spain) พระราชธิดาในสมเด็จพระเจ้าเฟลิเปที่ 4 แห่งสเปน กับเอลิซาเบธแห่งฝรั่งเศส (Elisabeth of France) มีพระราชโอรสธิดาด้วยกัน 6 พระองค์ แต่มีเพียงพระองค์เดียวที่สามารถดำรงพระชนม์ชีพต่อมาได้ คือ เจ้าฟ้าชายหลุยส์ โดแฟ็ง หรือมกุฎราชกุมารแห่งฝรั่งเศส (Louis de France) และยังมีพระราชโอรสธิดานอกสมรสอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งเกิดจากพระสนมและบาทบริจาริกา
พระราชพิธีราชาภิเษกสมรส ระหว่างสมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 กับมารีอา เทเรซาแห่งสเปน เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน ค.ศ. 1660 (พ.ศ. 2203) (ภาพ: Wikimedia)
สมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (ประทับนั่งกลาง) พร้อมด้วยพระราชโอรส เจ้าฟ้าชายหลุยส์ มกุฎราชกุมารแห่งฝรั่งเศส (ประทับยืนทางซ้าย) พระราชนัดดา เจ้าชายหลุยส์ ดยุกแห่งบูร์กอญ (ประทับยืนขวา) พระราชปนัดดา หลุยส์ ดยุกแห่งอ็องฌู (ต่อมาเสวยราชย์เป็น "สมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 15") และมาดาม เดอ ปอมปาดูร์ พระอภิบาล (พี่เลี้ยง) ของดยุกแห่งอ็องฌู (ภาพ: Wikimedia)
ในปี ค.ศ. 1661 (พ.ศ. 2204) ที่ปรึกษาคนสำคัญ อย่างมาซาแรงได้เสียชีวิตลง แต่สมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ไม่ได้ทรงแต่งตั้งใครขึ้นทำหน้าที่มุขมนตรี เนื่องจากทรงประกาศว่าจะบริหารราชการแผ่นดินด้วยพระองค์เอง โดยรอให้คณะมุขมนตรี 2 คณะ ครบวาระในปี ค.ศ. 1691 (พ.ศ. 2234) ส่วนหนึ่งมาจากความเชื่อส่วนพระองค์ที่ว่า ทรงเป็นตัวแทนโดยตรงของพระผู้เป็นเจ้า จึงเป็นที่มาของสัญลักษณ์ประจำพระองค์ที่เรียกว่า “เลอ คัว-เซอเลย” (le Roi-Soleil) อันหมายถึง สุริยกษัตริย์
พระบรมราชสัญลักษณ์ เลอ คัว-เซอเลย ที่ประดับรอบรั้วพระราชวังแวร์ซายส์ เมืองแวร์ซายส์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส (ภาพ: Linternaute.com)
ทันทีที่พระองค์ทรงเป็นองค์ “รัฏฐาธิปัตย์” ตามแนวคิดเทวสิทธิราชย์ (Divine Right of Kings) ได้ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจนานัปการ ไม่ว่าจะเป็นการรวมศูนย์กลางทางอำนาจไว้ที่พระองค์แต่เพียงผู้เดียว เพื่อลดทอนอำนาจพวกศักดินา ชนชั้นสูง และอัศวินที่เชี่ยวชาญการรบ ให้มารับใช้พระองค์เช่นเดียวกับสมาชิกในราชสำนักและข้าราชบริพารทั่วไป
การปฏิรูปด้านอุตสาหกรรมที่ช่วยลดการขาดดุลและส่งเสริมการเจริญเติบโต การขยายและจัดระเบียบกองทัพฝรั่งเศสเสียใหม่ การจัดการความสงบภายใน ทรงดำเนินพระราชวิเทโศบาย (นโยบายต่างประเทศ) ในลักษณะที่ก้าวร้าว ด้วยการทำสงครามกับรอบข้างเพื่อผนวกดินแดน สร้างความเป็นปึกแผ่นให้กับฝรั่งเศส
สมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ขณะเสด็จพระราชดำเนินเข้าเยี่ยมพื้นที่สมรภูมิ ในสงครามแห่งการทำลายล้าง (War of Devolution) ที่เมืองดูเอ ประเทศฝรั่งเศส ช่วงปี ค.ศ. 1667 (พ.ศ. 2210) (ภาพ: Wikimedia)
รวมถึงการเสด็จออกรับคณะราชทูตสยามของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นำโดยออกพระวิสูตรสุนทร (ปาน) เพื่อเป็นการเจริญทางพระราชไมตรี เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2229 และการประหารชีวิตใครก็ตามที่ไม่ได้นับถือคริสต์ศาสนา นิกายโรมันคาทอลิก ในปี ค.ศ. 1685 (พ.ศ. 2228) ด้วยความเชื่อส่วนพระองค์ต่อภาษิตที่ว่า “กษัตริย์องค์เดียว กฎหมายเดียว ความเชื่อเดียว” (one king, one law, one faith.)
สมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เสด็จออกรับคณะราชทูตสยามของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช นำโดยออกพระวิสูตรสุนทร (ปาน) ณ พระราชวังแวร์ซายส์ เมืองแวร์ซายส์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2229 (ภาพ: parsons.edu)
ทรงให้ความสำคัญในด้านศิลปะ การดนตรี จึงปรากฏบุคคลสำคัญเกิดขึ้นในยุคนี้อย่างมากมาย เช่น มอลีแยร์ (Molière) ผู้ที่ได้รับการยกย่องให้เป็นหนึ่งในบรมครูด้านสุขนาฏกรรมในแวดวงวรรณคดีตะวันตก ฌ็อง-บาติสต์ ลูว์ลี (Jean-Baptiste Lully) คีตกวีชาวฝรั่งเศสเชื้อสายอิตาลี เจ้าของบทเพลงบาเลเดอลานุย (Ballet de la Nuit)
นอกจากนี้ ยังทรงรับเป็นองค์บรมราชูปถัมภกของบัณฑิตยสถานแห่งฝรั่งเศส หรืออาคาเดมีฟร็องเซส (Académie Française) ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องกับภาษาฝรั่งเศส และก่อตั้งสถาบันศิลปะ ตลอดจนวิทยาศาสตร์ขึ้นหลายแห่ง
การเบิกตัวของคณะบุคคลราชวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ (Royal Academy of Sciences) เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ราวปี ค.ศ. 1680 (พ.ศ. 2223) (ภาพ: Wikipedia)
รวมถึงมีพระราชดำริในการปรับปรุงพระราชวังแวร์ซายส์ เมืองแวร์ซายส์ กรุงปารีส ให้กลายเป็นศูนย์กลางการปกครองและที่ประทับหลักส่วนพระองค์มาตั้งแต่ราวปี ค.ศ. 1662 (พ.ศ. 2205) ด้วยงบประมาณจากภาษีของประชาชนที่มากมายมหาศาล จนกลายเป็นประเด็นที่นำไปสู่การปฏิวัติฝรั่งเศส ในปี ค.ศ. 1667 (พ.ศ. 2210) (ภาพ: Wikipedia)
พระราชวังแวร์ซายส์ เมืองแวร์ซายส์ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส (ภาพ: Shannon Shipman)
อาจกล่าวได้ว่า การใช้พระราชอำนาจอันเด็ดขาดของพระองค์ ทำให้ความวุ่นวายต่าง ๆ หมดสิ้นไปจากฝรั่งเศส (ชั่วระยะหนึ่ง) ส่งผลให้พระองค์ทรงดำรงสิริราชสมบัติได้อย่างยาวนานถึง 72 ปี 110 วัน
แต่ด้วยธรรมชาติของชีวิตที่มีเริ่มต้นย่อมมีสิ้นสุดไปตามกาลเวลา โดย 4 วันก่อนวันเฉลิมพระชนมพรรษาปีที่ 77 จะมาถึง สมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้เสด็จสวรรคตด้วยพระโรคเนื้อเน่า ที่พระราชวังแวร์ซายส์ เมื่อวันที่ 1 กันยายน ค.ศ. 1715 (พ.ศ. 2258)
สมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ช่วงใกล้จะเสด็จสวรรคต (ภาพ: Hyperallergic)
ทรงประกาศก่อนสิ้นพระทัยว่า “ข้าจะไปแล้ว แต่รัฐของข้าจะคงอยู่ตลอดไป” (Je m'en vais, mais l'État demeurera toujours)
อ้างอิง:
●
5 Facts You May Not Know About King Louis XIV of France โดย acis (
https://acis.com/blog/5-facts-you-may-not-know-about-king-louis-xiv-of-france/
)
●
History โดย Château de Versailles (
https://en.chateauversailles.fr/discover/history#the-reign-of-louisxiv1638-1715
)
●
Louis XIV โดย History (
https://www.history.com/topics/european-history/louis-xiv
)
●
10 อันดับกษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลก โดย The Standard (
https://thestandard.co/10-long-live-kings/
)
●
ประวัติศาสตร์ศึกษา พระเจ้าหลุยส์ที่14 และดนตรีอุปถัมป์,ฌ็อง-บาติสต์ ลูว์ลี โดย เพจ The Learning school (
https://www.facebook.com/496883623739623/posts/2119079518186684/
)
●
พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ตรัสชมโกษาปาน “ราชทูตได้ปฏิบัติล้วนแต่ถูกใจเราทุกอย่าง…” โดย ศิลปวัฒนธรรม (
https://www.silpa-mag.com/quotes-in-history/article_15997
)
●
รู้ไปโม้ด : พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (ตอนแรก) โดย ข่าวสดออนไลน์ (
https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_915236
)
●
รู้ไปโม้ด : พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 (ตอนจบ) โดย ข่าวสดออนไลน์ (
https://www.khaosod.co.th/lifestyle/news_919226
)
#AdminField #ชอบเล่าชอบแชร์แต่ไม่ชอบเป็นคนดีย์
#พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 #LouisXIV #WilliamBuckland
ราชวงศ์
ฝรั่งเศส
สหราชอาณาจักร
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย