13 ก.ย. 2023 เวลา 09:03 • ความคิดเห็น

เกิด แก่ เจ็บ (น้อย) ตาย

เกิด แก่ เจ็บ ตาย ดูจะเป็นสิ่งที่แน่นอนของชีวิตคนเราไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ เป็นขั้นเป็นตอนเป็นลำดับ เอาจริงๆ แล้วส่วนที่น่ากลัวที่สุดอาจจะไม่ใช่ตายด้วยซ้ำ แต่คือส่วนเจ็บ ถ้าเจ็บนานเจ็บมากก่อนตายนี่ชีวิตน่าจะทรมานน่าดู แต่ก็มีผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ผมเคารพได้บอกผมว่า มันอาจจะไม่ได้ต้องเป็นแบบนั้นซะทีเดียวนะ
คุณไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม หรืออากู๋แห่งแกรมมี่ อดีตเจ้านายของผมเป็นคนบอกประโยคนี้ คุณไพบูลย์ตอนนี้อยู่ในวัยเจ็ดสิบสี่ปี ยังเฉียบคม สมาร์ทและแข็งแรงมากๆ เมื่อสองปีก่อนผมได้มีโอกาสไปพักบ้านคุณไพบูลย์ที่หัวหิน ก่อนรับประทานอาหารเย็นกัน
คุณไพบูลย์ก็ชวนวิ่งก่อนห้ากิโลเมตร ในเพซที่ระดับผมวิ่งอยู่เลยด้วยซ้ำ พอวิ่งเสร็จคุณไพบูลย์ก็ว่ายน้ำต่อแบบจริงจังอีกเกือบชั่วโมง ผมนี่วิ่งเสร็จไปว่ายน้ำได้สิบนาทีก็หมดแรง พ่อบ้านคุณไพบูลย์บอกผมว่าปกติเล่นเวทต่ออีกนะ แต่คงเกรงใจแขกเลยพอแค่นี้ก่อน ตื่นเช้ามาคุณไพบูลย์ก็นั่งสมาธิต่ออีกชั่วโมง
1
คุณไพบูลย์ดูแลสุขภาพแบบนี้ ออกกำลังแบบนี้ทุกวัน ร่างกายและจิตใจจึงแจ่มใสและแข็งแรงกว่าคนในวัยเดียวกันมากและไม่มีโรคภัยหรืออาการเจ็บไข้ได้ป่วยใดๆเลย คุณไพบูลย์เคยพูดเรื่องนี้กับผมว่า คนเราไม่จำเป็นต้องเรียงตามลำดับก็ได้นะว่าต้อง เกิด แก่ เจ็บแล้วก็ตาย ถ้าเราดูแลร่างกายดีๆ เกิด แก่แล้วก็ตายได้เลย ไม่ต้องทรมาน หรืออย่างมากก็เจ็บนิดหน่อยก็ได้
ดร. ศุภวุฒิ สายเชื้อ นักเศรษฐศาสตร์และนักการเงินชื่อดังแห่งเกียรตินาคินภัทร ผู้ที่ระยะหลังหันมาศึกษาเรื่องสุขภาพจากงานวิจัยอย่างจริงจังและเปลี่ยนตัวเองจนร่างกายแข็งแรงมากในวัยหกสิบ
เล่าถึงงานวิจัยในหนังสือชื่อ exercised ของโปรเฟสเซอร์แดเนียล ไว้ถึงความสำคัญของการออกกำลังกาย ว่าทุกคนประสงค์ที่จะมีอายุยืนยาวโดยอยากมีทั้ง life span คืออายุที่ยาว และ health span คือช่วงที่มีสุขภาพดีไปควบคู่กัน และทำอย่างไรก็ได้ให้ช่วงที่สุขภาพไม่ดี หรือ “เจ็บ” ในเกิดแก่เจ็บตาย ที่ฝรั่งเรียกว่า morbidity นั้นสั้นที่สุด
โดยโปรเฟสเซอร์ แดเนียล ลีเบอร์แมน ศึกษาพฤติกรรมมนุษย์ตั้งแต่ดึกดำบรรพ์และกลุ่มชนเผ่าที่ยังใช้ชีวิตแบบโบราณ ถ้าหักพวกการเสียชีวิตของทารกไปแล้ว ประชากรในวัยผู้ใหญ่ของชนเผ่าจะมีอายุยืนเหมือนคนในประเทศพัฒนา แต่จะมี morbidity rate ที่สั้นมาก คือตายเลย ไม่ค่อยมีช่วงเจ็บช่วงทรมาน ไม่เหมือนเมื่อเทียบกับคนอเมริกันที่อาจจะอายุใกล้เคียงกันแต่มีช่วงเจ็บช่วงทรมานมากกว่ามาก
ดร ลีเบอร์แมนบอกว่า ร่างกายมนุษย์ถูกออกแบบมาให้วิ่งเยอะและวิ่งยาวมานานมากเพราะต้องหาอาหาร แต่ยีนส์มนุษย์มักจะทำให้เราไม่อยากทำ อยากขี้เกียจ อยากสะสมพลังงานจากพวกแคลอรี่สูงมากกว่า แล้วการที่มนุษย์นั้นมีอายุยืนแม้หลังจากพ้นระยะเวลาสืบพันธุ์ไม่เหมือนลิงที่จะเสียชีวิตเมื่อไม่สามารถสืบพันธุ์ได้แล้วนั้น เพราะมนุษย์สูงวัยนั้นมีหน้าที่ที่ต้องเลี้ยงหลานและทำกิจกรรมเยอะมากมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เป็นแสนๆปีมาแล้ว
ดังนั้นมนุษย์ถูกออกแบบไว้ว่ายิ่งแก่ยิ่งต้องทำงาน มีกิจกรรม ใช้แรงมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ได้หยุดเหมือนกับระบบการทำงานและความเชื่อปัจจุบันที่เกษียณแล้วก็จะพยายามไม่ทำอะไร ซึ่งก็จะทำให้คนที่เกษียณแล้วมักจะพบกับความเจ็บ ความซึมเศร้าและหลายคนก็เสียชีวิตเร็วอยู่ไม่น้อย
ดร. ศุภวุฒิ สรุปจากหนังสือ exercised ไว้ว่า ยิ่งอายุมาก ยิ่งต้องออกกำลังเพราะจะช่วยเรื่องการฟื้นฟูร่างกาย หลังออกกำลังกายนั้น กลไกในร่างกายมนุษย์จะมาซ่อมแซมทุกอย่าง และจะซ่อมแซมเกินความเสียหายที่เกิดจากการออกกำลัง และจะนำพาซึ่งร่างกายที่ดีขึ้น ระบบร่างกายก็เลยเป็นเช่นนั้น ยิ่งเอากำลังออกยิ่งได้กำลังกลับนั่นเอง แถมจากงานวิจัยนั้น การมาเริ่มตอนออกกำลังกายตอนอายุมากก็ไม่สายเกินไป ร่างกายของมนุษย์ก็ยังทำงานแบบซ่อมเกินเช่นเดิม
มาสร้างโอกาสที่เราจะเกิด แก่ เจ็บแต่น้อย แล้วตายเลย มีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้ง life span และ health span ด้วยการออกกำลังกันสม่ำเสมอ โดยเฉพาะใครที่เริ่มเข้าวัยเกษียณ ยิ่งต้องออกกำลัง เกษียณแค่งาน อย่าเกษียณร่างกายโดยเด็ดขาดเลยนะครับ
โฆษณา