14 ก.ย. 2023 เวลา 03:30 • ข่าว

ส่องข้อดี-ข้อเสียจ่ายเงินเดือนข้าราชการเดือนละ 2 รอบ ทำแบบภาคเอกชน

ครม.เศรษฐา ประชุมนัดแรกในทันที หลังเสร็จสิ้นการแถลงนโยบายรัฐบาล โดยที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบแบบจัดเต็ม และสร้างเซอร์ไพรส์ในเรื่องที่ไม่เคยพูดถึงมาก่อน ในการจะจ่ายเงินเดือนข้าราชการจากเดือนละ 1 รอบ มาเป็นเดือนละ 2 รอบ เริ่ม 1 ม.ค. 2567 นอกจากนั้นยังเห็นชอบในการพักหนี้เกษตรกรนาน 3 ปี, ลดค่าไฟ ค่าน้ำมัน, ฟรีวีซ่า 5 เดือน ทั้งจีน และคาซัคสถาน, ตั้งคณะกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ และตั้งกรรมการศึกษาแก้รัฐธรรมนูญ
การปรับแผนจ่ายเงินเดือนข้าราชการเป็นเดือนละ 2 รอบ ทาง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับไม่ได้มีการแย้มถึงเรื่องนี้ แต่ตระหนักดีว่าเรื่องกระแสเงินสดของทุกคนในกระเป๋าเป็นเรื่องสำคัญ
จึงดำริให้เปลี่ยนการจ่ายเงินข้าราชการจากเดือนละ 1 รอบ เป็นเดือนละ 2 รอบ ส่วนรายละเอียดจะแจ้งให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง คาดว่าจะมีผลบังคับใช้วันที่ 1 ม.ค. 2567 ซึ่งต้องแก้ไขระบบหลายๆ อย่าง จึงทำเลยไม่ได้ เชื่อว่าจะเป็นการบรรเทาทุกข์ให้กับข้าราชการชั้นผู้น้อยได้มากพอสมควร จะได้ไม่ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน ไม่ต้องรอคอยสิ้นเดือน ก็จะมีเงินแบ่งจ่ายออกมา
ข้าราชการชั้นผู้น้อย อาจชอบ ช่วยแก้ปัญหาสภาพคล่อง
ก่อนการจ่ายเงินเดือนข้าราชการเป็นเดือนละ 2 รอบ จะมีผลบังคับใช้ และจะส่งผลต่อข้าราชการในระบบ รวมถึงลูกจ้าง ทหาร ตำรวจ และครู รวมกว่า 2 ล้านราย หากมองในแง่ของข้อดีข้อเสีย "ดร.สันติ ชัยศรีสวัสดิ์สุข" ผอ.หลักสูตรปริญญาเอก คณะพัฒนาเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า
การจ่ายเงินเดือนถี่ขึ้นในลักษณะนี้เป็นส่ิงที่ภาคเอกชนทำกันมานาน และไม่มีนัยต่อการก่อหนี้สิน แต่ขึ้นอยู่กับเงินหมุนเวียนทางการคลัง จะต้องปรับระบบใหม่ไม่ให้เกิดผลกระทบ จะต้องวางแผนเงินสดในการจ่ายเงินเดือนให้กับข้าราชการเดือนละ 2 รอบ
“คิดแบบเอกชนก็ดี ในการจ่ายเงินเดือน 2 รอบ เมื่อทำงานมาแล้ว 2 สัปดาห์ ก็ต้องได้เงินเดือน เมื่อได้เงินเร็วก็ช่วยแก้ปัญหาเรื่องชักหน้าไม่ถึงหลัง โดยเฉพาะคนจนจริงๆ ควรได้รับค่าตอบแทน เร็วๆ จะรอจนถึงสิ้นเดือนคงไม่ได้ เพราะต้องแบกภาระไปถึงสิ้นเดือนกว่าจะได้เงิน เช่นเดียวกับข้าราชการโดยเฉพาะชั้นผู้น้อย ต้องรอให้ครบเดือนกว่าเงินจะออก หากหมุนเงินไม่ทัน ก็ต้องไปกู้ยืม ก็จะมีภาระเรื่องดอกเบี้ย เป็นการลดความเสี่ยงจะก่อหนี้ ถ้าทำได้ก็ไม่เป็นปัญหา”
ในเรื่องของรายละเอียดในการจัดระบบจ่ายเงินเดือนข้าราชการแบบใหม่ ต้องดูโครงสร้างจัดเก็บรายได้ว่าสมดุลกันหรือไม่ ทางภาครัฐต้องไปบริหารการจัดเก็บภาษี ซึ่งช่วงแรกอาจมีการกู้ในระยะสั้น ขึ้นอยู่กับกรมบัญชีกลางจะบริหาร หากบริหารได้ก็จะมีประสิทธิภาพทางการคลัง และด้วยเทคโนโลยีสามารถทำได้ในการตั้งกำหนดวันจ่ายเงิน ก็อาจมีประสิทธิภาพมากขึ้น ส่วนจะมีนัยจะช่วยลดหนี้ได้หรือไม่ คิดว่าคงไม่ถึงขนาดนั้น แต่จะช่วยคนจนจริงๆ ได้
ส่วนข้อกังวลสำหรับผู้มีภาระหนี้ในแต่ละเดือน เช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ หรือหนี้บัตรเครดิต หากสมมติว่ามีภาระหนี้ต่อเดือน 3 พันบาท บางคนมองว่าได้เงินเต็มเดือนทีเดียวก็จะพอจ่าย หากได้ 1 รอบในกลางเดือน อาจไม่พอจ่าย หากไม่มีวินัย หรือสมมติได้เงินเดือน 1.2 หมื่นบาท หากสิ้นเดือนต้องจ่ายหนี้ 3 พันบาท และหากมีการแบ่งจ่ายเงินเดือน 2 รอบ ก็เท่ากับได้รอบละ 6 พันบาท
หากรอบ 2 ได้อีก 6 พันบาท ก็นำไปจ่ายหนี้ 3 พันบาท ก็เท่ากับว่าเหลือเงินใช้เพียง 3 พันบาท ซึ่งขึ้นอยู่กับวินัยทางการเงินของแต่ละคน จะต้องกักเก็บเงินไว้จ่ายหนี้ และมองว่าการจ่ายเงินเดือนข้าราชการเดือนละ 2 รอบ เป็นเพียงเครื่องมือในการบริหารสภาพคล่อง ไม่ใช่การแก้ปัญหาหนี้สิน เป็นการซื้อเวลาเท่านั้น เพราะไม่ได้สร้างรายได้ และไม่ได้ผ่อนปรนภาระหนี้
การปรับระบบจ่ายเงินเดือนข้าราชการเป็นเดือนละ 2 รอบ มีข้อดีในส่วนของข้าราชการบรรจุใหม่ที่ต้องใช้จ่ายทุกวัน บางคนอาจจะชอบก็ได้ แต่รัฐต้องบริหารสภาพคล่องให้ได้ ขณะที่ภาคเศรษฐกิจ ต้องยอมรับว่าจริงๆ แล้วมันแย่จริงๆ จากที่ประเมินปัญหาความบอบช้ำมีการประเมินน้อยไป เพราะปัจจุบันความบอบช้ำมันลึกลงไปพอสมควร ไม่ใช่เรื่องที่จะแก้ได้ง่าย และเศรษฐกิจอาจโตไม่ถึง 2-3% หากนโยบายไม่ดีพอ
หรืออาจเหมือนญี่ปุ่นอยู่ในภาวะ Lost Decade หรือทศวรรษที่สูญหายของญี่ปุ่น จากดาวรุ่งเศรษฐกิจโลกตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งจีดีพีแทบไม่เติบโตมานานกว่า 30 ปี และปัญหาของไทยลึกมากกว่านั้น ทำให้คนต้องตั้งความหวังกับรัฐบาลชุดนี้ คาด 2 เดือนข้างหน้าน่าจะเห็นการขับเคลื่อนนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้มีการจ่ายเงินดิจิทัล 1 หมื่นบาท แต่ก็ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะเศรษฐกิจไทยบอบช้ำมานานแล้ว.
โฆษณา