16 ก.ย. 2023 เวลา 06:00 • ประวัติศาสตร์

รู้หรือไม่ว่า? ‘ปรัชญากรีกโบราณ’ อยู่รอดถึงวันนี้ได้เพราะ ‘อาหรับ’

โสเครตีส เพลโต อริสโตเติ้ล และปรัชญากรีกโบราณ ได้ส่งผลและมีอิทธิพลต่ออัลฟาราบี อะเวอรออิส อวิสเซนน่าและโลกอิสลามยุคกลางอันเป็น “ต้นทางแห่งคลังปัญญาของมนุษยชาติ” อย่างไร วันนี้ ฤา จะมาเล่าให้ฟังครับ
เมื่อกล่าวถึงปรัชญากรีกโบราณ เช่น แนวคิดของโสเครตีส เพลโต และอริสโตเติ้ล หลายคนมักจะเห็นว่าเป็นเรื่องไกลตัวเป็นอย่างมากรวมถึงดูเหมือนจะไม่มีความเกี่ยวพันอันใดกับโลกตะวันออกเช่นเอเชียเรา ทว่า สำหรับชาวอิสลามแล้ว ข้อเท็จจริงที่สำคัญคือ ปรัชญากรีกโบราณนั้นดูจะมีความเกี่ยวพันอันมีนัยยะกับชาวอิสลาม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาว่า นี่คือต้นทางของของโลกอิสลามในยุคกลาง ที่อาจกล่าวได้ว่า คือ “คลังปัญญาของมนุษยชาติ” เลยก็ว่าได้
โดยมีหอสมุดแห่งปัญญากรุงแบกแดก (ประเทศอิรักในปัจจุบัน) เป็นศูนย์กลางที่โลกอาหรับใช้ในการรวบรวมองค์ความรู้ของกรีกโบราณและถ่ายทอดหรือผสมเข้ากับปรัชญาของศาสนาอิสลามที่กำลังรุ่งเรืองเป็นอันมากในยุคนั้น ในขณะที่ยุโรปอยู่ภายใต้การปกครองของศาสนจักร ที่มองว่าปรัชญาและคำสอนใด ๆ ที่ขัดแย้งกับพระคัมภีร์ไบเบิ้ล ล้วนเป็นพวกนอกรีต จนนำไปสู่การเผาทำลายคำสอนและตำราของกรีกโบราณหลายชิ้นจนเกือบหมดสิ้น ก่อนที่จะได้รับการรื้อฟื้นในภายหลังในช่วงคริสตวรรษที่ 12
ความน่าสนใจคือ อิทธิพลของปรัชญากรีกโบราณได้ส่งผลต่อแนวคิดทางปรัชญาและเทววิทยาของนักคิดอิสลามคนสำคัญหลายคนเช่น อัลฟาราบี อะเวอรออิส และอวิสเซนน่า จนได้รับการแปลเป็นภาษาอาหรับมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งปรัชญาว่าด้วยธรรมชาติ ตรรกะศาสตร์ อภิปรัชญา ดาราศาสตร์ รวมถึงแนวคิดด้านการเมืองการปกครอง
โดยเริ่มจากอัลฟาราบี (ค.ศ. 870-950 ) ซึ่งเป็นผู้ที่รับอิทธิพลปรัชญากรีกโบราณผ่านงานเขียนของเพลโตและอริสโตเติ้ลมาอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะแนวคิด “สังคมมีความจำเป็นต่อมนุษย์” และการที่มนุษย์จะบรรลุถึงความสุขได้ก็ต้องมีสถานะดำรงอยู่ในสังคมเท่านั้น รวมไปถึงหลักที่ว่ามนุษย์จะเป็นมนุษย์ที่ใช้ตรรกะเหตุผลได้อย่างสมบูรณ์นั้นเขาจะต้องอาศัยอยู่ในสังคมร่วมกับเพื่อนมนุษย์คนอื่น ๆ เพราะการพูดคุยถกเถียงจะทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ปัญญา”
นอกจากนี้ อัลฟาราบียังได้ผสมผสานแนวคิดกรีกเข้ากับปรัชญาอิสลามได้อย่างกลมกลืน ดังจะเห็นได้จากแนวคิดกษัตริย์นักปราชญ์ หรือการนำเอาคัมภีร์อัลกุรอานมาผสมกับแนวคิดของเพลโต จนออกมาเป็นแนวคิดว่าด้วยบัญญัติศักดิ์สิทธิ์ตามปรัชญาอิสลาม คงไม่เกินจริงนัก หากจะบอกว่า อัลฟาราบีผู้นี้เองที่เป็นต้นธารที่ทำให้ปรัชญากรีกโบราณแพร่ขยายมาจนถึงโลกอิสลาม
ต่อมาคือ อะเวอรออิส (ค.ศ.1126-1198) ที่มีผลงานอันโดดเด่นซึ่งได้รับแนวคิดมาจากปรัชญากรีกโบราณอย่างงานเขียนว่าด้วยความเห็นต่อ ‘อุตมรัฐ’ (Republic) ของเพลโต ซึ่งอะเวอรออิสได้ประยุกต์หลักการอธิบายความสัมพันธ์ระหว่างจิตของมนุษย์กับลักษณะการปกครองของรัฐด้วยทฤษฎีสี ที่ทำให้ผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงแนวคิดดังกล่าวได้อย่างง่ายดาย
คงไม่เกินจริงนัก หากจะสื่อสารว่า โลกอิสลามนั่นเองที่เป็นเสมือนคลังความรู้ในตลอดเวลาที่ยุโรปกำลังดำดิ่งสู่ยุคมืดทางปัญญาก่อนจะมีส่วนช่วยในการนำยุโรปเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ในเวลาต่อมา
สนใจศึกษาและตามรอยปรัชญากรีกเพิ่มเติมได้ในบทความนี้ https://www.luehistory.com/?p=21272
เลือกติดตามช่องทางอื่น ๆ ของ Lue History ได้ที่นี่
#LueHistory
#อิสลาม #ปรัชญา #ประวัติศาสตร์
โฆษณา