"ศิลป์ พีระศรี" ประติมากรฟลอเรนซ์สู่ประติมากรรมสยาม ในสมัยพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

คอรร์ราโด เฟโรจี (Prof. Corrado Feroci) หรือ ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี หรือที่หลาย ๆ คนเรียกว่า “อาจารย์ศิลป์” หรือ “อาจารย์ฝรั่ง” เข้ารับราชการในสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งในช่วงนั้นรัฐบาลไทยประสงค์จะหาช่างปั้นมาปฏิบัติงานราชการ เพื่อฝึกคนไทยให้สามารถปั้นรูปได้อย่างตะวันตกและให้เรียนรู้ถึงเทคนิคต่าง ๆ ในประติมากรรมด้วย
รัฐบาลไทยจึงติดต่อกับรัฐบาลอิตาลีขอให้คัดเลือกช่างปั้นให้ ซึ่งศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจี ได้สมัครเข้ารับการคัดเลือกและได้รับคัดเลือกให้มารับราชการในสยาม โดยเดินทางมาถึงสยามเมื่อ พ.ศ. 2466 และได้ทำสัญญาเข้ารับราชการเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2466 ในตำแหน่งช่างปั้นสังกัดกรมศิลปากร กระทรวงวัง
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี กับ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (พระอิสริยยศในขณะนั้น) และพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ถ่ายเมื่อราวเดือนมีนาคม พ.ศ. 2469 (ภาพจาก: สมเด็จครู https://www.facebook.com/HRHPrinceNaris)
ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำริเกี่ยวกับการฉลองพระนคร 150 ปี ที่มีมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2469 ว่าในวาระครบ 150 ปีแห่งการสถาปนาพระนครและพระบรมราชจักรีวงศ์ใน พ.ศ. 2475 นั้นควรที่จะสร้าง “ราชานุสาวรีย์ถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก”
โดยมีพระราชวินิจฉัยตามความเหมาะสมว่าควรสร้างสะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา และมีพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชใกล้ ๆ สะพาน โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เสนาบดีกระทรวงพาณิชย์และคมนาคม เป็นเจ้าหน้าที่ดำเนินการสร้างสะพาน ซึ่งสะพานนี้มีชื่อว่า “สะพานพระพุทธยอดฟ้า” และเมื่อรวมถึงพระบรมรูปด้วยออกนามว่า “ปฐมบรมราชานุสาวรีย์”
ภาพวาดสะพานพระพุทธยอดฟ้า (ภาพจาก: THE SINGHA STORY http://singhamagazine.com/2020/02/the-singha-story-ep2)
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ อุปนายกราชบัณฑิตตยสภา ผู้อำนวยการแผนกศิลปากรในเวลานั้น ทรงออกแบบและอำนวยการสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ โดยในเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2472 ทรงนำแบบร่างพระบรมรูปแบบประทับนั่งขึ้นทูลเกล้าฯ ถวาย เมื่อได้รับพระบรมราชานุญาตแล้วจึงโปรดเกล้าฯ ให้ ศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจี ประติมากรชาวอิตาลี ซึ่งรับราชการอยู่ที่ศิลปากรสถาน เป็นผู้ปั้นและควบคุมการหล่อพระบรมรูปฯ
ในระยะแรกศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจี เริ่มการปั้นพระบรมรูปปฐมบรมราชานุสรณ์ด้วยปูนปลาสเตอร์เพื่อเป็นพระรูปจำลอง โดยมีนายสุข อยู่มั่น ช่างปั้นช่างหล่อผู้ร่วมงานและคอยช่วยงานในการปั้นรูปจำลองพระบรมรูปฯ ได้ให้สัมภาษณ์ว่าก่อนหน้านี้ศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจีเคยจำลองพระบรมรูปฯ ขนาดพระองค์จริงด้วยปูนปลาสเตอร์ไว้รูปหนึ่งโดยอาศัยการถอดพิมพ์พระพักตร์พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ จากหอพระบิดร ส่วนด้านพระวรกายก็คัดเลือกจากผู้ที่มีร่างกายใหญ่โต ถอดแบบบุคลิกลักษณะของชายไทยที่แข็งแรงมีรูปลักษณ์เป็นนักรบ
แบบร่างของพระบรมรูปปฐมบรมราชานุสรณ์ ฝีมือศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี (ภาพจาก: ไทยโพสต์ https://www.thaipost.net/news-update/316313)
นายสุขเล่าต่อไปว่า วันหนึ่งในปลายปี พ.ศ. 2473 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จฯ เป็นการส่วนพระองค์ยังห้องปั้นพระบรมรูปฯ โดยมีสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ กราบบังทูลถวายคำชี้แจ้งอย่างละเอียดครบถ้วน หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินเข้ามาใกล้ชิดพระบรมรูปฯ และมีพระราชดำรัสว่า
ดีมาก เหมือนมาก ช่างเหมือนรัชกาลที่ 1 เสียจริง ๆ
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับแล้ว นายสุขจำได้ว่าศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจีถึงกับอ้าปากด้วยความประหลาดใจว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเคยพบพระพักตร์และพระองค์ที่แท้จริงของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ได้อย่างไร แต่ท่านก็ตระหนักดีว่า พระราชดำรัสนั้นคือ
พระราชประสงค์ของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งพระทัยชมเชยและพระราชทานกำลังใจแก่ศิลปินนั่นเอง
ต้นแบบพระบรมรูปปฐมบรมราชานุสรณ์ จัดแสดงในหอประติมากรรมต้นแบบ (โรงหล่อเดิม) กรมศิลปากร (ภาพจาก: นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 462 กันยายน 2566)
ต้นเดือนมกราคม พ.ศ. 2473 ศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจี ได้เดินทางไปยังยุโรปเพื่อนำรูปปั้นต้นแบบพระบรมรูปฯ และควบคุมการดำเนินงานการหล่อพระบรมรูปฯ ด้วยสำริดที่โรงหล่อในประเทศอิตาลี ใช้ระยะเวลา 9 เดือนในการหล่อพระบรมรูปฯ ขนาด 3 เท่าของคนจริงจนสำเร็จ และถูกส่งกลับสยามเพื่อดำเนินการเชื่อมต่อชิ้นส่วนให้สมบูรณ์ ณ กรมอู่ทหารเรือ จังหวัดธนบุรี โดยงานติดตั้งพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ณ ปฐมบรมราชานุสาวรีย์ เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า นั้นแล้วเสร็จในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2474
พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ในระหว่างขั้นตอนการทำงาน (ภาพจาก: นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 462 กันยายน 2566)
หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปยังโรงพระราชพิธีที่เชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้าฝั่งพระนครทรงเปิดผ้าคลุมพระบรมรูป เมื่อวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475 มงคลฤกษ์เวลา 8.15 นาฬิกา พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าพระเจ้าอยู่หัวประทับ ณ พระแท่นชุมสาย ทรงกดไกไฟฟ้าด้วยค้อนเงินสำหรับตัดกระดาษ ซึ่งบริษัทดอร์แมน ลอง ทูลเกล้าฯ ถวาย ทรงเปิดผ้าคลุมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ และทรงเปิดป้ายชื่อสะพานพระพุทธยอดฟ้าพร้อมกับเปิดวิถีสะพาน
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเปิดผ้าคลุมพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ ในงานฉลองพระนครครบ 150 ปี (ภาพจาก: นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 462 กันยายน 2566)
โดยลักษณะทางศิลปกรรมของพระบรมรูปฯ นั้นหล่อด้วยทองสำริดทรงเครื่องบรมขัตติยาภรณ์ภูษิตาภรณ์ประทับเหนือพระราชบัลลังก์ ขนาดสูงจากพื้นถึงยอด 4.60 เมตร ฐานกว้าง 2.30 เมตร พระหัตถ์ทรงแตะพระแสงดาบที่วางทอดเหนือพระเพลา มีแท่นฐานหินอ่อนสี่เหลี่ยมย่อมุมเป็นฐานรองรับอีกชั้นหนึ่งกึ่งกลางแผ่นหินอ่อน สลักรูปพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกฯ หันข้างประทับเหนือแท่นซึ่งเป็นตราปฐมบรมวงศ์จักรี
ปฐมบรมราชานุสรณ์ (ภาพจาก: นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 462 กันยายน 2566)
ความสำเร็จในการปั้นและการควบคุมงานหล่อปฐมบรมราชานุสรณ์ถือให้ปรากฏชื่อประติมากรชาวอิตาเลียน “ศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจี” รวมอยู่ในรายนามข้าราชการแผนกศิลปากรของราชบัณฑิตยสภาที่ได้รับพระราชทานบำเหน็จเนื่องในการพระราชพิธีฉลองพระนครด้วย โดยได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยภรณ์เบญจมาภรณ์ช้างเผือก
นอกจากผลงานปฐมบรมราชานุสรณ์แล้ว ยังมีผลงานอีกหนึ่งอย่างที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ทรงออกแบบ และมีศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจี เป็นผู้ปั้นแบบ ได้แก่ เหรียญเฉลิมพระนคร 150 ปี
ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อพระราชทานเป็นที่ระลึกโดยใช้ห้อยกับแพรแถบ ประดับในลักษณะเดียวกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ด้านหน้าของเหรียญเป็นพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว มีอักษรที่ริมขอบเหรียญว่า “พระพุทธยอดฟ้า” และ “พระปกเกล้า” ส่วนด้านหลังเป็นลายกลีบบัวล้อมรอบข้อความ “เฉลิมพระนครร้อยห้าสิบปี ๒๓๒๕-๒๔๗๕”
เหรียญเฉลิมพระนคร 150 ปี (ภาพจาก: พิพิธภัณฑ์เหรียญกษาปณานุรักษ์)
ชีวิตสั้น ศิลปะยืนยาว
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี
วลีคุ้นหูที่สร้างแรงบันดาลใจให้เหล่านักศึกษาศิลปะ ศิลปินในวงการศิลปะจนถึงปัจจุบัน ซึ่งวลีดังกล่าวก็เป็นที่ประจักษ์ได้ว่าทุก ๆ ผลงานที่ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีได้สร้างสรรค์ไว้หรือของศิลปินอื่น ๆ นั้นถือเป็นหลักฐานวัตถุทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญ รวมถึงเป็นสิ่งที่บันทึกเรื่องราวในอดีต และช่วยบอกเล่าความเป็นมาและวิวัฒนาการในหลาย ๆ ด้านของช่วงเวลาที่ผ่านมา
และอีกหนึ่งความสำเร็จของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรีที่มีความสำคัญและเป็นการต่อยอดในด้านการศึกษา คือ การจัดตั้งสถาบันการศึกษาด้านศิลปะขึ้นในกรมศิลปากร คือ “โรงเรียนประณีตศิลปกรรม” ซึ่งต่อมาโรงเรียนแห่งนี้ได้รับสถาปนาเมื่อปี พ.ศ. 2486 เป็น “มหาวิทยาลัยศิลปากร”
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี กับคณาจารย์และนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ถ่ายเมื่อราวต้นทศวรรษ 2490 (ภาพจาก: นิตยสารสารคดี ฉบับที่ 462 กันยายน 2566)
ศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ได้สร้างความก้าวหน้าด้านการศึกษาศิลปะแบบตะวันตกในประเทศไทย และการอนุรักษ์ศิลปะแบบไทยประเพณี รวมทั้งเป็นผู้ริเริ่มจัดการแสดงศิลปกรรมแห่งชาติ เมื่อ พ.ศ. 2492 ซึ่งเป็นเวทีแสดงผลงานของศิลปินไทยร่วมสมัยต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน จนได้รับการยกย่องให้เป็น “บิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทย”
เรียบเรียงโดย
ดวงรัตน์ ดีขั้ว บรรณารักษ์ห้องสมุด มสธ.
แหล่งอ้างอิง
กรมศิลปากร. (2525). พระราชพิธีฉลองพระนครครบ 150 ปี. อมรินทร์การพิมพ์.
จิรศักดิ์ แต่งเจนกิจ. (2566). 100 ปี เฟโรจีสู่บางกอก. ศิลปวัฒนธรรม, 44(11), 64-82.
ดำรง วงศ์อุปราช.(2521). ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี = professor Silpa Bhirasri. ปาณยา.
ศรัณย์ ทองปาน. (2566). 100 ปี ศิลป์สู่สยาม “ปริ๊นซ์นริส” กับนายเฟโรจี : ศิลปะข้ามวัฒนธรรม. สารคดี, (426), 24-65.
ศรัณย์ ทองปาน. (2566). อนุสาวรีย์ คือ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์. สารคดี, (426), 96-135.
โฆษณา