28 ก.ย. 2023 เวลา 02:00 • ไลฟ์สไตล์

เรื่องที่คุณต้องระวัง!! ผู้สูงอายุ กับอันตรายในบ้าน

ช่วงนี้มีวันหยุดยาวอยู่บ่อย ๆ ทำให้หลายคนคงได้กลับบ้านไปใช้เวลากับครอบครัว ดูแลคนที่บ้านเป็นอย่างดี แต่เมื่อหมดฤดูกาลของวันหยุด ทุกคนก็ต้องกลับเข้าสู่รูปแบบชีวิตเดิม ไปทำงาน เดินทางเข้าเมือง จนบางครั้งก็ทำให้ผู้สูงอายุที่บ้านต้องอยู่กันตามลำพัง ...ซึ่งด้วยเหตุนี้เองก็อาจจะทำให้เกิดอันตรายต่าง ๆ ตามมาโดยที่เราไม่คาดคิด 👵👴
ดังนั้นวันนี้เราจะมาเรียนรู้ไปด้วยกันว่าอันตรายในบ้านสำหรับผู้สูงอายุที่มีอัตราการเกิดขึ้นบ่อยครั้งมีอะไรบ้าง และจะมีแนวทางป้องกันอย่างไร ?
1) อุบัติเหตุหกล้มหรือพลัดตก
นี่คือภัยอันตรายที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งที่สุดจากหลากหลายสาเหตุ ซึ่งมีผลไปสู่เรื่องสุขภาพตั้งแต่ระดับเล็กอย่างการฟกช้ำ บาดเจ็บ กระดูกแตกหัก หรือใหญ่โตถึงระดับเสียชีวิต เนื่องจากไม่มีผู้พบเห็นได้
การป้องกัน : เรื่องของอุบัติเหตุหกล้มหรือพลัดตกสามารถป้องกันได้ตั้งแต่เบื้องต้น คือ การออกแบบพื้นที่ที่ทำให้สะดวกต่อการใช้ชีวิตสำหรับผู้สูงวัย เช่น การติดราวจับ ปรับพื้นให้ไม่ลื่น หรือแม้กระทั่งจัดระเบียบพื้นที่ในบ้านให้มีความโล่ง ไม่วางของเกะกะทางเดินที่จะทำให้เกิดการสะดุดล้มได้
นอกเหนือจากนั้นเพื่อป้องกันการล้มแบบไม่มีผู้พบเห็น ควรมีการสอดส่องจากช่องทางอื่นเพิ่มเติม เช่น การติดกล้องวงจรปิด หรือใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยอย่างนาฬิกาอัจฉริยะที่สามารถช่วยจับและแจ้งเตือนเมื่อเกิดการหกล้มได้
2) อาการวิงเวียนศีรษะหรือหน้ามืด
อากาศและสภาพแวดล้อมของประเทศไทยทำให้ผู้สูงอายุเกิดอาการวิงเวียนศีรษะหรือหน้ามืดได้ง่าย สาเหตุมาจากอายุและการควบคุมการทรงตัวที่ลดลง ซึ่งอาจเกิดจากโรคประจำตัวหรือโรคแทรกซ้อนอื่น ๆ
การป้องกัน : สิ่งสำคัญคือการพยายามทำให้สภาพแวดล้อมในบ้านมีการถ่ายเทอากาศมากที่สุด โดยทำได้ตั้งแต่ลงทุนติดเครื่องปรับอากาศ ปรับอุณหภูมิให้คงที่ หรือการทำให้บ้านโปร่ง มีหน้าต่าง ทำให้เกิดการหมุนเวียนของลม มากกว่านั้นคือพยายามหลีกเลี่ยงให้พื้นที่สำคัญออกห่างจากโซนที่อันตราย เช่น ไม่ควรนำที่นอนติดบันได หรือพื้นที่นั่งเล่นติดกำแพงหนา (ป้องกันการหน้ามืดและล้มฟาด)
3) ภัยจากแสงสว่างและการมองเห็น
แสงสว่างในบ้านที่ไม่เพียงพอ ทำให้เกิดซอกหลืบและมุมอับ ทำให้อาจจะเกิดการชนหรือกระแทกได้ง่าย ยิ่งไปกว่านั้นภัยอาจจะมาในรูปแบบของสัตว์ร้ายที่แอบซ่อนตัวตามมุมมืดได้
การป้องกัน : หมั่นเช็กดวงไฟอยู่เสมอว่ายังใช้งานได้และความสว่างเพียงพอหรือไม่ เพื่อให้ผู้สูงอายุที่บ้านได้รับความปลอดภัย และควรเพิ่มจุดสว่างในพื้นที่อับแสง เพื่อไม่ให้เกิดอันตราย
4) เก็บของมีคมหรือสิ่งอันตรายให้มิดชิด
หนึ่งในอันตรายที่มักเกิดกับผู้สูงอายุเกิดในบ้านคือ การโดนบาดหรือได้รับอันตรายจากของมีคม อันเกิดจากการเก็บที่ไม่มิดชิดหรือไม่ดีพอ ซึ่งถึงแม้จะดูเป็นเรื่องไม่ร้ายแรง แต่อย่าลืมว่าอาการบาดเจ็บจากสิ่งเหล่านี้มีผลถึงขั้นเสียชีวิตได้เลย
การป้องกัน : ปรับพื้นที่เก็บของมีคมหรือสิ่งอันตรายให้เป็นระเบียบ เช่น อยู่ในตู้หรือในกล่อง และควรทำให้อยู่ในระดับที่พอดี ไม่สูงเกิน ไม่ต้องเขย่ง หยิบใช้งานง่าย เพียงเท่านี้ภัยอันตรายในบ้านที่มีต่อผู้สูงอายุก็จะสามารถลดลงได้
ท้ายที่สุดและเป็นเรื่องที่ควรเตรียมตัวและมีการป้องกัน คือ การให้ข้อมูลแก่ผู้สูงอายุในช่วงเวลาที่เกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น การตั้งเบอร์โทรด่วน การแปะเบอร์โรงพยาบาล เบอร์ฉุกเฉินต่าง ๆ ไว้ในที่ที่สามารถมองเห็นได้ง่าย
แน่นอนว่าภัยอันตรายในบ้านของผู้สูงอายุที่เราควรจะรู้มีมากกว่า 4 ข้อที่เรากล่าวไป และมีอีกหลายเรื่องที่ต้องระวัง เช่น ไฟฟ้า การเดินทางรอบบ้าน การหลงลืม ซึ่งลูกหลานทุกคนควรให้ความสำคัญอย่างมาก ศึกษาข้อมูล และหมั่นดูแลคนรอบตัวบ่อย ๆ ด้วยความปรารถนาดีจากเอไอเอครับ
ขอบคุณข้อมูล กรมสุขภาพจิต
ติดตาม Community AIA Thailand ได้ที่ https://www.blockdit.com/aiathailand
โฆษณา