19 ก.ย. 2023 เวลา 18:09 • ข่าว

3 ประสานรัฐประหารผุดไอเดีย ก่อตั้ง NATO แห่ง แอฟริกา

ผนึกกำลังต้านทัพพันธมิตรชาติตะวันตก
"รวมกันเราอยู่ แยกหมู่เราตาย" น่าจะเป็นสุภาษิตที่ใช้ได้ทุกยุค ทุกสมัย ทุกสถานการณ์ และ ทุกประเทศจริงๆ เพราะมนุษย์เราไม่สามารถทำทุกอย่างคนเดียวได้ แม้แต่ชาติมหาอำนาจที่สุดของโลก ก็ยังต้องพึ่งพาประเทศอื่นๆ เพื่อเสริมพลังให้แก่ตน ไม่ทางใด ก็ทางหนึ่ง
3
เช่นเดียวกับประเทศที่กำลังมีปัญหาทางการเมืองอย่าง ไนเจอร์ ที่ตอนนี้ทั่วโลกกำลังจับตาถึงความมั่นคงของรัฐบาลทหาร ที่เพิ่งผ่านการยึดอำนาจมาหมาดๆ และกำลังถูกกดดันจากกองกำลังของ Economic Community of West African States (ECOWAS) พันธมิตรประเทศแอฟริกาอื่นๆที่ได้รับการสนับสนุนจากชาติตะวันตก ขู่ว่าจะยกกองกำลังเข้า (รุกราน) แทรกแซงการเมืองในไนเจอร์
1
ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวด้วยโมเดล "โลกล้อมไนเจอร์" ผ่านการใช้กองกำลังจากพันธมิตรหลายชาติในกาฬทวีป คู่ขนานไปกับการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก ที่ดูยังไง ไนเจอร์หัวเดียวกระเทียมลีบ ไม่มีทางเอาชนะได้เลย
1
แต่ทว่าวันนี้ เราก็ได้เห็นการตอบโต้ที่น่าสนใจของกลุ่มประเทศในแถบซาเฮล ซึ่งตอนนี้กลายเป็น "แถบรัฐประหาร" เนื่องจากมีการยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนหลายครั้งจนเป็นโดมิโนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ที่เพิ่งจะฟอร์มพันธมิตร 3 ชาติ ไนเจอร์ - มาลี - บูร์กินา ฟาโซ ก่อตั้งเป็น Alliance of Sahel States พันธมิตรแห่งสหรัฐซาเฮล
3
เป็นการรวมตัวกันของรัฐบาลทหาร 3 ชาติ ที่ล้วนแต่ก่อตั้งผ่านกระบวนการรัฐประหารมาเหมือนกัน ในช่วงเวลาไล่เรี่ยกัน อันประกอบด้วย
- พลเอกอับดุลราห์มาน ทะเชียนิ ผู้นำคณะทหารรัฐบาลไนเจอร์
- พันเอก อัสซิมี โกยตา หัวหน้าคณะรัฐประหารมาลี
- ร้อยเอก อิบราฮิม ทราโอเร หัวหน้าคณะรัฐประหาร และผู้นำเฉพาะกาลของ บูร์กีนา ฟาโซ
6
โดยผู้นำทหารของทั้ง 3 ประเทศ ก็เห็นชอบที่จะจับมือกัน เพราะไหนๆ พวกเราก็เป็นพวกที่ใครๆมองว่า "ฝนตกขี้หมูไหล" แล้ว ก็ไม่มีอะไรต้องเสีย ซึ่งความเก๋ของพันธมิตร 3 ประสานแห่งซาเฮลนี้ มีการร่างข้อตกลงทางทหารร่วมกัน โดยการยกเอาโมเดลสนธิสัญญาของ NATO มาแทบทั้งดุ้น
โดยเฉพาะข้อความในมาตรา 5 ของสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ ที่ระบุว่า หากมีการโจมตีชาติสมาชิก ชาติใดก็ตาม ถือเป็นการโจมตีประเทศสมาชิกทั้งหมด ก็ปรากฏในมาตรา 6 ของข้อตกลงพันธมิตรสหรัฐซาเฮลเช่นกัน
3
และรูปแบบการป้องกันแบบองค์รวม การจัดตั้งกองกำลังทางทหารร่วมกัน ก็คล้ายกับกองกำลัง NATO ที่ชาติสมาชิก สามารถยกกองทัพมาช่วยกันรบ หากมีการโจมตีดินแดนของชาติสมาชิก จะแตกต่างกันก็แค่ตอนนี้ NATO แห่ง แอฟริกา ยังมีแค่ 3 ประเทศ ในตอนนี้
5
การเคลื่อนไหวของทีมรัฐบาลทหาร 3 ชาติของภูมิภาคซาเฮล เป็นเรื่องที่น่าจับตาห่างๆ อย่างห่วงๆ เพราะจากปรากฏการณ์การเมืองโลกในยุคสมัยใหม่ หากประเทศใดมีการล้มล้างรัฐบาลพลเรือนด้วยการรัฐประหาร ประเทศนั้นมักถูกโดดเดี่ยวจากเวทีโลกจนกว่าจะเปลี่ยนผ่านสู่กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลประชาธิปไตยอีกครั้ง
1
แต่สำหรับการฟอร์มพันธมิตรทีมรัฐประหารซาเฮลครั้งนี้ จะเรียกได้ว่าเป็นการเปิดหน้ารัฐบาลทหารแบบไม่ต้องกระมิด กระเมี้ยน กันอีกแล้ว ที่ทำให้สถานภาพของรัฐบาลรักษาการณ์มีความมั่นคงขึ้น โดยเฉพาะศักยภาพในการต่อกรกับกองกำลังต่างชาติ ที่ต้องการเข้าแทรกแซงการเมืองในประเทศ
2
และหากโมเดล NATO แห่งแอฟริกา สามารถรักษาเสถียรภาพของรัฐบาลทหารของ 3 พันธมิตรได้จริง และอาจลากเอาชาติอื่นๆใน "แถบรัฐประหาร" ทั้งหมดมารวมกลุ่มได้อีก กลายเป็นกองกำลังที่เป็นปึกแผ่น แข็งแกร่งที่สุดกลุ่มหนึ่งในภูมิภาคนี้ก็เป็นไปได้
และเท่ากับดับฝันฝรั่งเศสที่อาจต้องสูญเสียอิทธิพลในดินแดนแถบนี้ไปตลอดกาลด้วย
แต่จุดที่น่าเป็นห่วงคือ การตั้งอยู่ได้ของ NATO แอฟริกา อาจเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการรัฐประหารในทวีปนี้ให้ขยายวงกว้างออกไปได้เรื่อยๆ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของประเทศในแอฟริกาทั้งหมด
3
อีกทั้งยังเป็นอุปสรรคต่อการฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยในประเทศที่สูญเสียรัฐบาลพลเรือนจากการยึดอำนาจได้ สิ่งที่จะตามมาคือ กลุ่มประชาชนที่ไม่เห็นชอบกับรัฐบาลทหารจะถูกกวาดล้าง บีบให้พวกเขาต้องลงใต้ดิน และกลายเป็นกลุ่มต่อต้านรัฐบาลด้วยความรุนแรงเช่นกัน และมีแนวโน้มจะยกระดับเป็นกลุ่มก่อการร้าย ที่เป็นปัญหาใหญ่ในภูมิภาคแถบนี้ ให้เลวร้ายลงไปอีกนั่นเอง
ถึงจะดูเป็นการมองโลกในแง่ร้ายไปหน่อย ก็ต้องยอมรับว่า สถานการณ์ในซาเฮล ยังน่าเป็นห่วง และคาดเดาอนาคตได้ยาก กับดินแดนคืบก็ทะเลทราย ศอกก็ทะเลทราย พอลองได้หลงแล้ว หาทางออกลำบากจริงๆ
2
****************
ติดตามบทความของ "หรรสาระ" เพิ่มเติมได้ที่
Facebook - หรรสาระ By Jeans Aroonrat
Twitter - @HunsaraByJeans
Blockdit - หรรสาระ By Jeans Aroonrat
แพลทฟอร์มคุณภาพ ไม่ปิดกั้นการมองเห็นเนื้อหา
****************
1
แหล่งข้อมูล
โฆษณา