20 ก.ย. 2023 เวลา 12:00 • ท่องเที่ยว

“พนมรุ้ง”: ขุนเขาอันไพศาล อีกหนึ่ง “ว่าที่” มรดกโลกที่กำลังรอคิว

สำหรับคิวของโบราณสถานจากไทยที่ได้ไปอยู่ในลิสต์เตรียมรับประกาศเป็นมรดกโลกนั้น นอกเหนือจาก “ศรีเทพ” ที่เป็นที่พูดถึงมากและเพิ่งเป็นมรดกโลกไปนั้น ยังมีอีกสถานที่หนึ่งที่คนไทยรู้จักมานานนม และ “รอคิว” เป็นมรดกโลกไม่ต่างกัน
ก็คือที่ “ปราสาทหินพนมรุ้ง” แลนด์มาร์กและแหล่งท่องเที่ยวชื่อดังของจังหวัดบุรีรัมย์ที่คิวมานานพร้อม ๆ กับศรีเทพ และหวังว่าจะได้รับเลือกให้เป็นมรดกโลกจริง ๆ ในเร็ววัน
ชื่อของปราสาทหินพนมรุ้งนี้ได้มาจากการเรียกในศิลาจารึกซึ่งเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า “วนํรุ้ง” ว่ากันว่าถูกสร้างขึ้นมาราวช่วงพุทธศตวรรษที่ 15 จนถึงพุทธศตวรรษที่ 18 โดยมีการต่อเติมเรื่อยมาตั้งแต่แรกสร้าง โดยสันนิษฐานว่าจุดพีคสุดของเขาพนมรุ้งอยู่ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 17
โดยปรากฏจารึกอายุพุทธศตวรรษที่ 17 ที่มีชื่อของ “นเรนทราทิตย์” แห่งราชวงศ์มหิธรปุระซึ่งระบุว่าเป็นผู้สร้างเขาพนมรุ้งขึ้นมา ซึ่งชื่อของนเรนทราทิตย์นี้ไม่เคยปรากฏในจารึกหลักใดเลยทั้งในฝั่งกัมพูชาและฝั่งไทย ปรากฏในศิลาจารึกเขาพนมรุ้งเป็นครั้งแรก
เขาพนมรุ้งเป็นเทวาลัยเนื่องในศาสนาฮินดูไศวนิกาย ที่มีลักษณะทางประติมานวิทยาในการสถาปนาให้เขาพนมรุ้งเปรียบเสมือนกับเขาไกรลาศของพระศิวะ ซึ่งภายในก็จะมีโบราณวัตถุต่าง ๆ เนื่องในไศวนิกาย
ทั้งศิวลึงค์ในบริเวณห้องครรภคฤหะ, ท่อโสมสูตรที่ต่อยาวออกมานอกอาคาร, และรูปปั้นโคนนทิ โดยไฮไลท์สำคัญของปราสาทหินพนมรุ้งได้แก่สะพานนาคราช ซึ่งเป็นเปรียบเสมือนกับทางเชื่อมระหว่างโลกของมนุษย์กับพระเจ้า,
ทับหลังซึ่งมีความวิจิตรสวยงามโดยหนึ่งในทับหลังที่มีชื่อเสียงคือทับหลังนารายณ์บรรทมสินธุ์ที่ถูกขโมยไปก่อนที่จะได้รับกลับมาในภายหลัง นอกจากนี้ยังมีทับหลังอื่น ๆ ที่น่าสนใจทั้งทับหลังกฤษณะปราบนาคกาลิยะ, ทับหลังพระราชพิธีราชาภิเษกกษัตริย์นเรนทราทิตย์ เป็นต้น
ปราสาทหินพนมรุ้งที่เห็นในปัจจุบันนี้นับว่าเป็นปราสาทที่ถูกบูรณะขึ้นมาใหม่ โดยใช้วิธีการบูรณะแบบรื้อแล้วก่อใหม่ โดยใช้วิธีทำรหัสกับตัวศิลาแลงเก่า เพื่อที่จะได้บูรณะฐานให้แข็งแรงก่อนที่จะก่อใหม่ขึ้นมาอีกครั้งตามรหัสที่ได้ทำไว้ โดยบูรณะแล้วเสร็จในปี 2531 และเปิดให้เข้าชมอย่างเป็นทางการ
โดยในปัจจุบันนี้ปราสาทหินพนมรุ้งก็เป็นสถานที่ที่ยวที่มีอีเวนต์สำคัญอย่างประเพณีขึ้นเขาพนมรุ้ง และปรากฏการณ์พระอาทิตย์ลอดประตู 15 ช่องเป็นประจำในทุกปี และรอคอยให้นักท่องเที่ยวได้ไปสัมผัส
.
#ที่โปรด #บุรีรัมย์ #มรดกโลก #พนมรุ้ง
.
อ้างอิง
สุรีรัตน์ ทองภู. “นเรนทราทิตย์ผู้เนรมิตเขาพนมรุ้งดุจดั่งเขาไกรลาศ”. ในเพจอุทยานประวัติศาสตร์พนมรุ้ง บุรีรัมย์ Phanom Rung Historical Park. เข้าถึงได้จาก https://www.facebook.com/997818163581921/posts/3078032958893754/
โฆษณา