20 ก.ย. 2023 เวลา 10:12 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ราคาของความสุข อยู่ไทยต้องมีเงินเท่าไหร่ถึงมีความสุข?

📌เงินซื้อความสุขได้ไหม? คำถามนี้อาจมีคำตอบแตกต่างกันไปสำหรับแต่ละคน เพราะสำหรับคนที่ยังมีเงินไม่พอใช้ซื้อของใช้ในชีวิตประจำวัน คำตอบนี้อาจจะเป็นใช่ แต่สำหรับคนที่มีทรัพย์สินรวยล้นฟ้าอยู่แล้วยังไม่สามารถหาความสุขได้ คำตอบนี้ก็อาจจะเป็นไม่
ดังนั้น ความสุขกับเงินจึงมีความเกี่ยวข้องกันในระดับหนึ่ง เพราะถึงจะไม่สามารถซื้อได้ทุกอย่าง มันก็สามารถซื้อสิ่งที่บันดาลความสุขให้กับเราได้ ไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ อาหาร บ้าน รถ หรือแม้แต่ความสบายใจที่มีเงิน
.
แน่นอนว่าในแต่ละที่ ระดับเงินที่ทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขนี้ ก็แตกต่างกันไปอีก เพราะค่าครองชีพและความมั่นคงในการใช้ชีวิตในแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน นิยามชีวิตที่เรียกว่า “ดี” ของแต่ละคนในแต่ละวัฒนธรรมก็ไม่เหมือนกันไปอีก
แถมรายได้สูงก็ไม่ได้แปลว่า ชีวิตจะดีเสมอไป เพราะจากผลการสำรวจของมหาวิทยาลัย Purdue และ Gallup World Poll ที่สำรวจความเห็นจากคน 1.7 ล้านคนจาก 164 ประเทศ พบว่า ระดับ ‘รายได้ที่ทำให้ประชาชนของแต่ละประเทศมีความพึงพอใจสูงสุดในการใช้ชีวิต (satiation point)’ เฉลี่ยอยู่ที่ 60,000- 75,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 2,141,190 - 2,676,487 บาทต่อปีเท่านั้น และถ้าหากน้อยหรือมากกว่านี้ก็จะไม่มีความสุขเท่า
ทั้งนี้ ตัวเลขนี้ก็เป็นเพียงตัวเลขเฉลี่ยเท่านั้น ไม่ได้หมายความว่าคนทั้งโลกจะรู้สึกว่าเงินในระดับนี้สามารถซื้อความสุขสูงสุดในสังคมที่ตัวเองอยู่ได้ทั้งหมด
ดังนั้น เพื่อหาระดับรายได้ที่เฉพาะเจาะจง เหมาะสมกับวิถีชีวิตของคนแต่ละประเทศขึ้นมา S Money บริษัทให้บริการแลกเปลี่ยนเงินจากออสเตรเลีย จึงนำ satiation point ในแต่ละประเทศมาจาก Gallup World Poll ซึ่งอยู่ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เปลี่ยนกลับมาเป็นค่าเงินท้องถิ่นผ่าน Purchasing Power Parity ของแต่ละประเทศจาก IMF และนำมาคำนวณค่าครองชีพและระดับเงินเฟ้อในแต่ละประเทศและเมือง
จากข้อมูลนี้ ผลลัพธ์ที่ออกมา ก็คือสิ่งที่ S Money นิยามว่า Price of Happiness หรือ ‘ราคาของความสุข’ ในแต่ละประเทศ ประเทศไหนมีราคาของความสุขเท่าไหร่กันบ้าง? อะไรคือปัจจัยที่ทำให้เงินซื้อความสุขได้ไม่เท่ากันในแต่ละที่? ทีม SPOTLIGHT ชวนไปหาคำตอบกัน
📌ความสุขราคาสูงในอิหร่าน-นอร์เวย์ แต่ด้วยคนละเหตุผล
.
จากการคำนวณของ S Money 5 ประเทศที่ต้องมีรายได้สูงถึงจะใช้ชีวิตในระดับที่มีความสุขสูงสุดได้ คือ อิหร่าน เยเมน ออสเตรเลีย ซิมบับเว และนอร์เวย์ โดยระดับ ‘รายได้ที่ทำให้ประชาชนของแต่ละประเทศมีความพึงพอใจสูงสุดในการใช้ชีวิต (satiation point)’ ของแต่ละประเทศมีดังนี้
➡ อิหร่าน 8,553,095 บาท ต่อปี หรือ 712,758 บาท ต่อเดือน
➡ เยเมน 6,142,385 บาท ต่อปี หรือ 511,865 บาท ต่อเดือน
➡ ออสเตรเลีย 4,324,398 บาท ต่อปี หรือ 360,366 บาท ต่อเดือน
➡ ซิมบับเว 4,220,075 บาท ต่อปี หรือ 351,673 บาท ต่อเดือน
➡ นอร์เวย์ 4,198,038 บาท ต่อปี หรือ 349,836 บาท ต่อเดือน
สิ่งที่น่าสนใจจากผลลัพธ์นี้ คือ แทนที่จะเป็นประเทศรายได้สูงที่ขึ้นมาอยู่ในอันดับต้นๆ ประเทศที่ได้อันดับหนึ่งอย่าง ‘อิหร่าน’ กลับเป็นประเทศที่คนมีรายได้ไม่สูงนัก
.
โดยจากข้อมูลของ World Bank ระบุว่า คนอิหร่านมีรายได้ต่อหัวหรือ GDP per capita เพียง 4,091.21 ดอลลาร์สหรัฐต่อปีต่อคน หรือราว 145,919 บาท ซึ่งห่างไกลมากจากระดับรายได้ของ S Money ที่อยู่ที่ 239,700 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี หรือราว 8,553,095 บาท
ขณะที่ ประเทศอันดับ 3 หรือ 5 ซึ่งเป็นประเทศที่ประชากรมีรายได้สูงและมีชื่อเสียงในด้านสวัสดิการรัฐและสิทธิมนุษยนชนอย่าง ‘ออสเตรเลีย’ และ ‘นอร์เวย์’ นั้น
ความแตกต่างระหว่าง satiation point และ GDP per capita กลับไม่ได้แตกต่างนัก คือ satiation point ต่อ GDP per capita ที่ 121,191 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 60,443 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับออสเตรเลีย และ 117,724 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อ 89,154 ดอลลาร์สหรัฐ สำหรับนอร์เวย์
ตัวเลขนี้สะท้อนอะไร? สิ่งหนึ่งที่ S Money ระบุไว้ในผลการศึกษา คือ บ่งบอกว่าแต่ละประเทศนี้มี satiation point ที่สูงด้วยสาเหตุแตกต่างกัน
.
โดย ออสเตรเลีย กับ นอร์เวย์มี satiation point สูงเพราะค่าครองชีพในประเทศเหล่านี้สูง และประชาชนมีคุณภาพชีวิตพื้นฐานที่ดีอยู่แล้วด้วยระบบประกันสังคม และสวัสดิการรัฐต่างๆ ประชาชนในประเทศ อย่าง อิหร่านและเยเมนต้องการระดับรายได้ที่สูงเพื่อมีชีวิตที่มีความสุขเพราะระบบสวัสดิการของรัฐไม่ดี ทำให้ประชาชนต้องการรายได้จำนวนมากเพื่อสิ่งจำเป็นพื้นฐานในชีวิต
ดังนั้น ระดับ satiation point จึงสัมพันธ์กับทั้งระดับค่าครองชีพในประเทศ สภาพสังคมและประสิทธิภาพของระบบสวัสดิการสังคม และวัฒนธรรมและค่านิยมของคนในประเทศ
.
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมในเว็บไซต์ที่ https://www.amarintv.com/spotlight/personal-finance/detail/52017
.
#ค่าครองชีพ #รายได้ #ความสุข
โฆษณา