20 ก.ย. 2023 เวลา 10:34 • ความคิดเห็น

นภัสนันท์ – อัญชลิน พรรณนิภา

พี่จิ๋ม สุวภา เจริญยิ่ง อดีตเจ้านายและพี่สาวที่น่ารักของผมเคยตอบคำถามทำนองว่าทำไมคนพอรวยแล้วหลายคนถึงนิสัยไม่ดี พี่จิ๋มบอกว่าที่นิสัยไม่ดีนั้นเป็นมาตั้งนานแล้ว แต่ความรวยทำให้นิสัยนั้นชัดออกมามากกว่า
พี่จิ๋ม ผู้เป็นที่ปรึกษาการเงินก็เลยสรุปให้ฟังว่า ดังนั้นเราควรจะช่วยให้คนดีนั้นรวยขึ้นเพราะถ้าเขามีสตางค์แล้ว เขาก็จะเป็นคนที่มีประโยชน์ต่อสังคมและคนรอบข้างได้ดีกว่าคนอื่น
พอฟังเรื่องนี้แล้วผมนึกถึงพี่อู๊ด อัญชลิน และตุ๊ก นภัสนันท์ พรรณนิภาแห่งบริษัทโบรกเกอร์ประกัน TQM ขึ้นมาเป็นชื่อแรกเลยทันที
ผมรู้จักพี่อู๊ดกับตุ๊กมาประมาณสิบปี โดยทั้งคู่เป็นนักเรียนหลักสูตรเอบีซีรุ่นหนึ่งและรุ่นสอง พี่อู๊ดมาเรียนในตอนนั้นเพราะรู้จักพี่ตุ้ม หนุ่มเมืองจันท์ที่ทำหลักสูตรด้วยกันกับผม หลังจากนั้นตุ๊กก็มาขอคำปรึกษาเรื่องธุรกิจอยู่เนืองๆ ด้วยอัธยาศัยที่น่ารักและอ่อนน้อม ผมก็ช่วยเท่าที่จะช่วยได้เสมอ
และวันหนึ่งก็เลยให้ไอเดียว่าบริษัท TQM น่าจะเข้าตลาดหลักทรัพย์และก็ชวนพี่จิ๋ม สุวภามาช่วย พี่จิ๋มพอเจอทั้งคู่ก็คงน่าจะประทับใจในความอ่อนน้อม ให้เกียรติและน่ารักน่าช่วยเหมือนผม ก็เลยช่วยกันผลักดัน TQM เข้าตลาดหลักทรัพย์ หลังจากนั้น TQM ก็เติบโตอย่างก้าวกระโดด กลายเป็นบริษัทหลายหมื่นล้าน แต่ทั้งคู่ก็ยังเป็นพี่อู๊ดกับตุ๊กคนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ยังมีน้ำใจกับคนรอบข้างและกับครอบครัวผม ไม่ใช่เหมือนเดิมแต่มากขึ้นเรื่อยๆด้วยซ้ำ
2
เมื่อวานมีงานครบรอบ TQM 70 ปี ด้วยความเป็นตัวตนของทั้งคู่ แทนที่จะประกาศศักดาความยิ่งใหญ่ของ TQM แต่กลับเลือกที่จะจัดงาน “ขอบคุณที่รักกัน” เดินสายขอบคุณคู่ค้า เพื่อนบ้านแถบลาดปลาเค้าทีละหลัง พนักงานในบริษัท และ ผู้ที่มีบุญคุณกันมาในอดีต
ในงานนั้นผมได้มีโอกาสสัมภาษณ์ทั้งคู่พร้อมกับได้อ่านหนังสือที่พี่อู๊ดเขียนขึ้นล่าสุดที่ชื่อว่า “ความหวังครั้งที่สอง “ ซึ่งนอกจากเป็นหนังสือที่อ่านเพลินมากเพราะพี่อู๊ดเป็นคนที่ใช้ภาษาได้สละสลวยและมีเรื่องเล่าสนุกๆแล้ว ก็ยังมีเคล็ดลับที่ทำให้พี่อู๊ดที่เริ่มต้นจากติดลบ หนี้สินรุงรัง กลายเป็นมหาเศรษฐีหลายหมื่นล้านในปัจจุบันอีกด้วย
ที่ว่าเริ่มจากลบนั้น พี่อู๊ดผู้ซึ่งมีเตี่ยเป็นนายหน้าประกันเล็กๆแต่ดื้อดึงอยากเป็นศิลปิน อยากทำธุรกิจที่ไม่ใช่ประกันที่ดูจะต้องไปตื๊อคนในสมัยนั้น แต่ก็ล้มเหลวจากการพยายามเข้าคณะจิตรกรรม ต้องไปเรียนราม ลองขายตั้งแต่สมาชิกนิตยสารต่างประเทศ และไปค้าเหล็กจนเจอวิกฤตปี 40 มีหนี้ท่วมหัว รถก็โดนยึด
จนต้องหันมาลองทำธุรกิจของเตี่ยที่ตัวเองไม่ชอบเลยแต่ตอนนั้นไม่มีทางเลือกอื่นเหลืออยู่ ชวนตุ๊กภรรยาเดินขายประกันในกรุงเทพ เดินสายต่างจังหวัด ไปจังหวัดไหนก็จอดรถแล้วสามีภรรยาก็แยกกันเดินคนละถนนเพื่อขายประกันมอเตอร์ไซด์ เก็บเล็กผสมน้อย จนค่อยๆมาลองใช้วิธีโทรขายเลยพอลืมตาอ้าปากได้
หัวใจสำคัญประการแรกของความสำเร็จก็น่าจะมาจากบททดสอบในชีวิตตอนที่ตัวเองมีหนี้สินล้นพ้นตัว อยู่ในสภาพทั้งเป็นเจ้าหนี้เพราะขายของแล้วเก็บเงินไม่ได้ และเป็นลูกหนี้เพราะไปเอาเหล็กของเจ้าอื่นมาขาย ในสมัยปี 40 ที่ทุกคนไม่มี ไม่หนี ไม่จ่ายหมดนั้น
ทั้งคู่ตัดสินใจที่จะยึดความซื่อสัตย์ตามที่เตี่ยของพี่อู๊ดสอนแล้วสอนอีก พี่อู๊ดเล่าถึงคำพูดตุ๊กในตอนนั้นว่า “ เราเดือดร้อนเพราะคนอื่นเบี้ยวหนี้เรา อย่าส่งต่อความเดือดร้อนให้คนอื่นอีกเลย เรายอมลำบากใช้หนี้แต่ได้ภูมิใจในความซื่อตรงของเราดีกว่า” ในตอนนั้นทั้งคู่ก็ขายทรัพย์สินทั้งหมดที่มี หันหน้ามาขายประกันตามต่างจังหวัดทีละบ้านสองบ้านอย่างช้าๆ เริ่มพยายามขายผ่านโทรศัพท์จนปลดหนี้ได้หมด
ในความคิดแบบนั้นก็น่าจะเป็นจุดสำคัญที่ทำให้มีแต่ผู้ใหญ่ คู่ค้าอยากช่วยอยากสนับสนุน ตัวตนในวันที่ยากลำบากที่สุดมักจะชัดเจนเสมอ
2
แต่หัวใจที่สำคัญที่สุดของจุดเปลี่ยน TQM จากบริษัทสิบคนกลายเป็นบริษัทหลายหมื่นล้านคืออะไร ผมถามพี่อู๊ดบนเวที TQM 70 ปี พี่อู๊ดตอบโดยไม่ลังเลเลยว่า จุดเปลี่ยนของชีวิตพี่อู๊ดและ TQM คือคืนวันหนึ่งบนรถทัวร์โชคอนันต์จากชุมพร จุดเปลี่ยนนั้นก็คือ ผู้หญิงหัวกระเซิงยังอายุไม่มากคนหนึ่งมานั่งข้างๆแล้วปรับเบาะเก้าอี้ ปรับแอร์ก็ไม่เป็น
จนพี่อู๊ดต้องทำให้ แล้วก็มาขอยืมขายหัวเราะพี่อู๊ดอ่าน หลังจากนั้นก็คุยกันจนเวลาผ่านไปไม่รู้ตัวหลายชั่วโมง ถึงรู้จักกันว่าเป็นคนชุมพรมาทำงานที่กรุงเทพ ก่อนแยกจากกันก็แลกนามบัตรกันไว้ หลังจากนั้นก็ได้มีโอกาสพบกัน กลายเป็นคู่ชีวิต คู่ทรหดในวันที่ตกต่ำที่สุด คู่หูเดินขายประกันตามถนนคนละเส้น และกลายเป็นคู่รักที่ใครเจอก็จะประทับใจถึงความเป็นคู่ปาท่องโก๋ของทั้งคู่ แม้เวลาจะผ่านมาเกือบสามสิบปีแล้วก็ตาม
พี่อู๊ดตอบคำถามผมว่าจุดเปลี่ยนที่ทำให้ TQM และพี่อู๊ดมีวันนี้ก็คือ คู่ชีวิตของพี่อู๊ดหรือตุ๊กนั่นเอง
ปัจจุบันพี่อู๊ดกับตุ๊กก็ยังทำงานด้วยกัน พี่อู๊ดเป็นประธานดูภาพรวม ตุ๊กเป็นซีอีโอบุกตะลุย ประสานกันเป็นหยินหยาง ใครที่ได้เจอก็จะประทับใจความเป็นหุ้นส่วนชีวิตของทั้งคู่ พี่อู๊ดสรุปไว้ถึงเรื่องนี้ว่า “ ชีวิตคู่ไม่มีเหตุผล เพราะถ้าคุณมีเหตุผลเมื่อไหร่ก็จะมีคนถูกกับคนผิด จะมีคนแพ้กับคนชนะ แต่ถ้าชีวิตคู่ไม่มีเหตุผล เราก็จะมีความรักที่มอบให้กันและกัน “ ซึ่งการแสดงออกของสองคนนี้ก็เป็นแบบนั้นจริงๆ
2
นอกจากหลักการในการทำงานเรื่องความซื่อสัตย์ จุดยืนที่ชัดเจน ประสบการณ์ที่โชกโชนและพลังแพคคู่ที่สอดประสานกันของทั้งสองที่เป็นหัวใจของความสำเร็จในปัจจุบันแล้ว ผมเองอยากจะสรุปข้อสามจากประสบการณ์ของผมเองที่ได้รู้จักทั้งสองคนว่า ความ “นิสัยดี” ความใจกว้าง อ่อนน้อมถ่อมตน ความปรารถนาดีกับคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็น TQM บริษัทกลางๆแถวลาดปลาเค้าที่ผมเจอในตอนนั้น จนกลายเป็นบริษัทหลายหมื่นล้าน ทั้งคู่ก็ยังเหมือนเดิม
1
แถมรวยขึ้นก็ดูเหมือนน้ำใจจะมากขึ้นอีกด้วย นิสัยที่รู้สึกว่าที่มีวันนี้ได้เพราะมีคนช่วยเหลือจำนวนมาก ความรู้สึกขอบคุณที่ทั้งคู่แสดงในงานใหญ่ของตัวเองนั้น ทั้งหมดทั้งปวงเหล่านี้ทำให้ทั้งคู่มี “กัลยาณมิตร” ที่อยากจะช่วยเหลือมาตลอดทาง ไม่ใช่เฉพาะในตอนนี้ที่ยิ่งใหญ่แล้ว แต่ตั้งแต่ตอนติดลบ ตอนลำบาก ตอนค่อยๆ ก่อสร้างสร้างตัว ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่รู้สึกแบบนั้นเช่นกัน
“เมื่อชีวิตไม่ได้สมหวังตั้งแต่ครั้งแรก ความหวังครั้งที่สองจึงเปี่ยมด้วยความหมาย”
เป็นบทสรุปหลังปกของหนังสือความหวังครั้งที่สองที่พี่อู๊ดเขียนรวบรวมการเดินทางตั้งแต่ความผิดหวัง ความล้มเหลว จุดเปลี่ยน หลักการและความสำเร็จ ที่อ่านแล้วทั้งสนุกและอยากจะเชียร์หนังสือเหมือนกับอยากจะเชียร์คนดีๆที่ผ่านเข้ามาในชีวิตผมแบบทั้งคู่ให้ยิ่งประสบความสำเร็จ เช่นเดียวที่พี่จิ๋ม สุวภาตอบคำถามเรื่องคนรวยไว้ในตอนต้นของบทความครับ
โฆษณา