21 ก.ย. 2023 เวลา 07:30 • ประวัติศาสตร์

ศรีเทพ ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ มรดกโลก ไร้จารึก รุ่งเรืองสู่เมืองร้าง

คุยสนุกกับนักโบราณคดี แกะรอย เมืองศรีเทพ มรดกโลก ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ รุ่งเรือง สู่เมืองร้าง ที่ไร้จารึกถึงที่มาที่ไป...
ตอนนี้ชื่อ “อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ” กำลังเป็นที่พูดถึง เนื่องจาก คณะกรรมการมรดกโลก หรือ ยูเนสโก ได้ประกาศให้เป็น “มรดกโลกทางวัฒนธรรม” ซึ่งถือเป็นแห่งที่ 4 ของไทย ต่อจากเมืองประวัติศาสตร์สุโขทัย นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง และเป็นมรดกโลก แหล่งที่ 7 ของสยามประเทศ
ประวัติพอสังเขปของเมืองศรีเทพ จากข้อมูลของกรมศิลปากร ระบุไว้ว่า ถือเป็นเมืองโบราณ ใน ต.ศรีเทพ อ.ศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์ จัดอยู่ในเขตที่สูง ถูกเชื่อมโยงเป็นแหล่งแลกเปลี่ยนสินค้า วัฒนธรรมระหว่างพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีความสำคัญตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ รวมไปถึงวัฒนธรรมเขมรโบราณ (พุทธศตวรรษที่ 8-18) โดยมีพื้นที่ โดยรวมประมาณ 1.87 ตารางกิโลเมตร หรือราว 1,300 ไร่ มีโบราณสถานกระจายตัวอยู่ในพื้นที่ 48 แห่ง อาทิ เขาคลังใน ปรางค์ศรีเทพ และปรางค์สองพี่น้อง
ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญา พุทธศาสนา ภาษาศาสตร์ (เขมร) เลกเชอร์ถึง “เมืองศรีเทพ” นั้น มาก่อนประวัติศาสตร์ ซึ่งเดิมที ที่ตรงนี้ก็มีคนอาศัยอยู่ก่อนประมาณ 1,700-1,800 ปีก่อน แต่ปัญหาของเมืองศรีเทพนั้น ไม่ค่อยมีการเขียนจารึกไว้ เท่าที่ดูซากโบราณสถาน โบราณวัตถุ ก็เชื่อว่าผู้คนที่อาศัยมีอารยธรรม และเทคโนโลยีอยู่พอสมควร เช่น การขนหินจากที่อื่นที่ไม่ใช่ประเทศไทย การสร้างเครื่องประดับต่างๆ ฯลฯ
สิ่งที่น่าสนใจ คือ “ที่ตั้ง” ของเมืองศรีเทพ นั้น แตกต่างจากเมืองอื่นๆ ซึ่งปกติแล้ว เมืองที่มีความเจริญจะตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำ หรือไม่ไกลทะเล แต่เมืองศรีเทพ กลับอยู่ลึกเข้าไปในแผ่นดิน แล้วเหตุใดถึงเจริญรุ่งเรืองได้ และในช่วงสมัยเดียวกัน ก็เป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองที่สุดด้วย เมื่อประมาณพันปีที่ผ่านมา
อัตลักษณ์ของศรีเทพ และความแปลก ไร้จารึกถึงที่มาที่ไป
อัตลักษณ์ของเมืองศรีเทพ คือ องค์สุริยเทพ องค์ใหญ่ (แตกต่างจากเขมรที่เล็กกว่า) มีหลายองค์ ซึ่งที่น่าแปลก คือ ที่ผ่านมาไม่เคยค้นเจอในแถบบ้านเราเลย ที่สำคัญคือ อารยธรรมที่ปรากฏมีลักษณะแบบ “เอเชียกลาง” สิ่งที่เห็นได้ คือชุดที่ใส่ โดยมีอารยธรรมโบราณ และมีการผสมผสาน
ผศ.ดร.กังวล กล่าวว่า ด้วยที่ว่า เมืองศรีเทพ มีศาสนาและอารยธรรมที่หลากหลาย แต่ก็มีหลายอย่างที่เด่นชัด เช่น พระศิวะ พระวิษณุ องค์ใหญ่ ซึ่งคาดว่าอาจจะเป็นศาสนาหลัก ณ ตอนนั้น แต่...ก็พบว่า มีศาสนาพุทธ ผสมผสานอยู่ด้วย เช่น การพบธรรมจักรขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ปราสาทคลังใน นอกจากนี้ ยังมี “จารึก” ที่เป็นหัวข้อหลักธรรมต่างๆ
“ที่แปลกที่สุด ที่มีปรากฏเฉพาะในเมืองศรีเทพ คือ พระพิมพ์ดินเผา ชุดหนึ่ง ที่มีชื่อของ 'หลวงจีน' รูปหนึ่งสลักไว้ด้านหลังองค์พระ ที่สร้างขึ้น หลังจากทางเข้ามาในเมืองศรีเทพ ซึ่งคาดว่า น่าจะสร้างช่วงพุทธศตวรรษที่ 13-14 หรือประมาณ 1,200 กว่าปีก่อน นี่คือ 'ความชัดเจน' ที่เห็นได้ว่า มีคนต่างชาติเดินทางเข้ามาในเมืองศรีเทพ ซึ่งนอกจากจะมีอารยธรรมทางอินเดียมาแล้ว ยังมีคนจีนเข้ามาด้วย นี่คือ หลักฐานสำคัญที่ไม่เคยปรากฏที่อื่น...”
การมีหลวงจีน ปรากฏในเมืองศรีเทพฯ สำคัญอย่างไร...อาจารย์กังวล อธิบายว่า ที่ผ่านมา เราอาจจะทราบว่ามี “พระถังซัมจั๋ง” ไปทางอินเดีย หลวงจีนอี้จิง หลวงจีนฟาเหียน เดินทางไปทะเล ไปอินโดฯ ก่อนไปอินเดีย
แต่ทำไมหลวงจีนองค์นี้ ต้องตะเกียกตะกาย เดินทางมาที่ศรีเทพ แปลว่า ที่ตรงนี้ต้องเป็นแหล่งศักดิ์สิทธิ์ หรือมีความสำคัญมากในภูมิภาค หรือเปล่า และจากการสำรวจเขาคลังนอก มีการระบุว่า มีความคล้ายกับ “นาลันทา” ซึ่งเป็นวิทยาลัยสงฆ์แห่งแรกในอินเดียเลย หรือนี่อาจจะเป็นเหตุผลคล้ายกับของพระถังซัมจั๋ง ก็เดินทางไปอินเดีย นี่เป็นข้อสันนิษฐาน...
ศรีเทพ ดินแดนศักดิ์สิทธิ์ ที่ไม่มีจารึกถึงสถานที่
แปลว่า “ศรีเทพ” ก็ไม่ใช่เมืองแห่งการค้าขาย และก็ไม่แน่ใจว่าเป็นเมืองศักดิ์สิทธิ์ สำคัญในทางพุทธศาสนาหรือไม่ กับประเด็นนี้ อาจารย์กังวล บอกว่า สาเหตุที่ เมืองศรีเทพ ไม่มีความชัดเจนทางใดทางหนึ่ง เพราะไม่มี “จารึก” บ่งบอก
ที่ตั้งของเมือง รูปลักษณ์ สิ่งแวดล้อม ส่วนประกอบต่างๆ อย่างเขาถมอรัตน์ ก็อาจจะหมายถึง “ดินแดนศักดิ์สิทธิ์” นี่แหละ เพียงแต่ว่า สิ่งที่ขาดคือ “จารึก” ที่เขียนบอกอย่างชัดเจน...มันไม่พบ ด้วยเหตุนี้ จึงทำได้แค่ “ตีความ” และเมื่อไหร่ที่พบ “จารึก” ที่บ่งบอกชัดเจนถึงจะบอกได้
แบบนี้ถือว่า “แปลก” หรือไม่ เพราะอย่างโบราณสถานเก่าแก่ในเขมร ก็มีการเขียนจารึกบอกมากมาย ใครสร้าง สร้างทำไม มีวัตถุประสงค์อย่างไร แต่นี่กลับไม่มี อาจารย์กังวล บอกว่า พื้นที่ภาคกลางของเรา มีความแตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ เช่น ในพม่า โบราณ ก็ยังเขียนถึงอดีต บอกเล่าเรื่องราว ประวัติศาสตร์เป็นอย่างไร ใครครองราชย์ สร้างขึ้นมาเพื่ออะไร หรือแม้แต่ในเขมร หรือเวียดนามก็เขียนบอกชัดเจน
แต่...ภาคกลาง อย่าง “นครปฐม” พบธรรมจักร เป็นสิบ เป็นร้อย หรือแม้แต่ในอู่ทอง เป็นเมืองใหญ่ ชัดเจน หรือ “ศรีเทพ” เองก็เป็นเมืองใหญ่ชัดเจน แต่ก็กลับไม่เขียนจารึกเกี่ยวกับในพื้นที่
การไม่พบ แปลว่าไม่มี หรือว่าหายไป อาจารย์คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร สันนิษฐานว่าอาจจะเคยมี แล้วยังไม่พบ หรือ มันอาจจะหายไป ทั้งที่จารึกที่พบมีจำนวนมากมาย แต่ส่วนมากกลับจารึก แต่หัวข้อหลักธรรม เท่านั้น
“ศาสนาพุทธส่วนใหญ่ มักไม่ค่อยพูดถึงตัวเอง เพราะกลัวศาสนาจะสูญหาย เพราะเคยมีคำทำนายว่า อีก 2,500 ปี ศาสนาพุทธจะเริ่มเลือน หรือ 3,000 ปี ศาสนาจะหายไป ฉะนั้น สิ่งที่จารึก จึงมักเขียน เรื่องธรรมมะ โดยเฉพาะในเจดีย์ หรือสถูป เพื่อให้รู้ว่าในแผ่นดินนี้เคยมีพุทธศาสนาตั้งอยู่ โดยที่ไม่ได้คิดถึงตัวเอง”
แบบแปลน เมืองศรีเทพ กับแรงศรัทธา
การออกแบบพื้นที่ต่างๆ ทั้งเมืองศรีเทพ เขาถมอรัตน์ หรือเขาคลังนอก มีความหมายอย่างไรในการออกแบบ อาจารย์กังวล อธิบายว่า ปกติแล้ว ใน 1 เมือง จะต้องมีศาสนสถานกลางเมือง หรือประจำเมือง ส่วนสิ่งศักดิ์สิทธิ์อีก 1 ที่ที่เป็นหลัก ก็คือ เขาถมอรัตน์ หรือในเขมร ก็มี “เขาพนมบาเค็ง” กลางเมือง
การมีสิ่งเหล่านี้ หมายถึง “มุดหมาย” ของคนโบราณ ที่แสดงให้เห็นแต่ไกล เพราะเวลาเดินทางในสมัยก่อน มันไม่มีอะไรบ่งบอก ฉะนั้น การสร้างก็อาจจะมองไปที่จุดที่สูงที่สุด เพื่อให้เห็นชัดเจนที่สุด
“พอสร้างเมือง ก็ต้องสร้างสิ่งที่เป็นประจำเมือง เช่น เทวลัย ที่สามารถมองเห็นได้ ซึ่งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ อาจจะไม่ได้อยู่ด้วยกันก็ได้ ทุกอย่างจึงต้องมีความสัมพันธ์กัน ดังนั้น สำหรับ ศรีเทพ เขาถมอรัตน์ ถือเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ พอจะสร้างเมือง จึงออกแบบ “เขาคลังนอก” เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของเมือง โดยให้มีการเกี่ยวพันกันกับของเก่า และเขาถมอรัตน์เอง ภูมิศาสตร์อาจไม่เหมาะกับการสร้างเมือง เพราะอยู่ไกลน้ำ
รุ่งเรือง สู่เมืองร้าง
ทราบว่า “ศรีเทพ” เจริญรุ่งเรืองถึง 700 ปี แล้วเพราะอะไร ถึงร้างได้ นักโบราณคดีชื่อดัง อธิบายว่า ทุกเมืองที่ร้างไป ย่อมมีสาเหตุ บางเมืองถูกพัฒนาจนถึงสูงสุด จนไม่สามารถพัฒนาได้แล้ว ก็เป็นได้ เช่น มีคนมากเกินไป
หรือ...การต้องเผชิญหน้ากับโรคระบาด และเมื่อมีคนเจ็บตายมาก ก็อาจต้องย้ายเมือง
หรือ...อาจเกิดศึกสงคราม และการกวาดต้อนผู้คน แต่โดยปกติแล้ว เวลาเกิดสงคราม ก็มักจะทำลายเมืองไปด้วย เพื่อไม่ให้คนกลับมาอยู่
แต่กับศรีเทพ มีความเจริญเป็นอย่างมาก ทั้งที่อยู่ในสมัยทวารวดี แต่พอพุทธศตวรรษที่ 16-18 ก็เริ่มมีศิลปะแบบเขมรเข้ามา จากนั้นหลังพุทธศตวรรษ ที่ 18 อาณาจักรฝั่งเขมรเสื่อมอำนาจลง ทำให้ปกครองอาณาจักรต่างๆ ที่เคยอยู่ในอาณัติไม่ได้ ดังนั้น จึงมีการตั้งตัวเองเป็นใหญ่ และวิธีการสร้างบ้านแปงเมือง คือ การ “กวาดต้อน” ผู้คน และจากข้อสังเกต คือ ช่วงเวลานั้น เมืองสุโขทัย หรืออยุธยา ที่กำลังเริ่มใหญ่ อาจจะกวาดต้อนผู้คนจากศรีเทพ เข้ามารวมก็เป็นได้ จึงทำให้เมืองเก่าที่เคยอยู่บริเวณนั้น ร้างลาผู้คน
นี่คือข้อสันนิษฐานที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด เพราะจากการศึกษา เรื่อง พระเจ้าชัยวรมันที่ 7 หลังสวรรคต เมืองก็ถูกทิ้งร้างเช่นเดียวกัน
พบอักขระโบราณ เชื่อมโยงอักษรไทย
อาจารย์กังวล เน้นย้ำว่า อารยธรรมที่หลงเหลือ จากเมืองศรีเทพ คือ ความรุ่งเรืองในอดีต โดยเฉพาะกลุ่มเทวรูปต่างๆ มีขนาดใหญ่มาก สิ่งเหล่านี้ สามารถสะท้อนเห็นถึงความเจริญ การสร้างเทวรูป โบราณสถานใหญ่โต จำเป็นต้องใช้แรงงาน และเทคโนโลยี รวมถึงช่างผู้เชี่ยวชาญด้วย ระบบเหล่านี้มันต้องสอดคล้องและยิ่งใหญ่มาก
“ส่วนตัวผมสอนเกี่ยวกับ 'ศิลาจารึก' และจากดูอักขระ ที่ถูกเขียนไว้ที่ ศรีเทพ คือ ต้นแบบตัวอักษรในลำดับแรกๆ ที่ใช้เขียน และจารึกที่เขียน จะมีเกี่ยวกับศาสนาพราหมณ์ ฮินดู พุทธ”
เมื่อถามว่า เพราะอะไร จึงคิดมองว่าอาจจะเป็นจุดเริ่มต้นแรกๆ ของอักษรไทย อาจารย์กังวล บอกว่า อักษรที่เขียนนั้น มันเก่าแทบจะที่สุด ในตัวหนังสือทั้งหมดที่พบในประเทศ โดยเรารับตัวหนังสือเหล่านี้มาจากอินเดีย ตัวอักษรเหล่านี้คล้ายกับอักษรโบราณของอินเดีย ซึ่งกว่า 1,500 ปี ช่วงเขมรรุ่งเรือง ก็ประมาณ 1,400 ปี
วิเคราะห์ “ศรีเทพ” เป็นมรดกโลก แนะเที่ยวอย่างรู้คุณค่า
อาจารย์กังวล กล่าวสรุปว่า ถึงศรีเทพ ได้รับการยกย่องเป็นมรดกโลกว่า พื้นที่นี้เห็นถึงวิวัฒนาการอย่างชัดเจน เป็นเมืองที่เริ่มเติบโตในพื้นที่ และรับอารยธรรมภายนอกมาพัฒนาเมือง และที่สำคัญ คือ ยังได้เห็นร่องรอย ความรุ่งเรือง มาถึงปัจจุบัน ให้เราได้ศึกษาค้นคว้า
เมื่อถามว่า โบราณวัตถุหายไปมากน้อยขนาดไหน ผู้เชี่ยวชาญทางโบราณคดี ยอมรับว่ามาก หายไปกว่า 80% โดยเฉพาะ “แผ่นทอง” และสิ่งของมีค่า หลายอย่างที่ไม่ถูกเปิดเผย จึงไม่รู้ว่าหายไปเมื่อไหร่ และที่เปิดเผย บางครั้งก็ไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์ต่างชาติ โดยเฉพาะสิ่งของที่ไม่เปิดเผย มีเยอะมาก
“สิ่งที่เหลืออยู่ก็เห็นถึงความยิ่งใหญ่แล้ว ฉะนั้น จึงคาดการณ์ว่า ของเดิมที่มีอยู่ น่าจะมีเยอะมาก ซึ่งเราเองมีกฎหมาย แต่ถ้าอะไรหายไปก่อนกฎหมายจะมี ก็ยากจะได้คืน สำคัญคือ ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่ามันอยู่ในพื้นที่ตรงนี้ก่อน...แม้แต่พระที่อยู่บนเขาถมอรัตน์ ที่ใหญ่และหนักมาก ยังมีคนตัดเศียรเอาลงมา กระทั่งมีการกดดันเอานำกลับมามอบคืนให้ ซึ่งปัจจุบันเศียรอยู่ในพิพิธภัณฑ์พระนคร”
สิ่งที่บรรพชนได้สร้างไว้ อย่างเขาคลังนอก เขาคลังใน เขาไม่ได้ทำไว้เพื่อการท่องเที่ยว แต่เพื่อให้เป็นจิตวิญญาณ สืบทอดศาสนา ทุกอย่างถูกสร้างด้วยแรงกาย และความศรัทธา แม้ปัจจุบันจะเหลือแค่ซาก แต่หากเราจะไปเที่ยว ก็ควรคิดถึงจิตใจของผู้สร้างด้วย หากเรารู้เจตนารมณ์ เราก็จะเคารพต่อสถานที่ที่เราจะไปเที่ยว ซึ่งเชื่อว่ากำลังฮือฮา และอยากไปเที่ยว...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
โฆษณา