22 ก.ย. 2023 เวลา 05:30 • ความคิดเห็น

คุมเกมสัปดาห์แรกให้อยู่หมัด! วิธีปรับตัวเข้าสังคมทำงาน ฉบับเด็กจบใหม่

การเปลี่ยนผ่านแต่ละช่วงวัยย่อมนำมาซึ่งความกังวลที่แตกต่างกันออกไป แต่การเปลี่ยนผ่านครั้งใหญ่ครั้งแรกในชีวิตที่ทุกคนต้องเจอคงหนีไม่พ้นการเดินทางจากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่เต็มตัว แม้ในอดีตจะไม่ได้มีเส้นแบ่งระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ที่ชัดเจนนัก แต่ปัจจุบันกลับมีเส้นแบ่งช่วงวัยให้เห็นอย่างเด่นชัด นั่นคือ “การเรียนจบ” นั่นเอง
เพราะการเรียนจบเปรียบเสมือนกับจุดสิ้นสุดของวัยเรียน ที่เด็กจบใหม่ทุกคนจะต้องก้าวผ่านเพื่อมุ่งสู่การ “เป็นผู้ใหญ่” ในโลกแห่งการทำงาน ความคาดหวังมากมายไม่ว่าจะเป็นการคาดหวังให้มีงานทำ มีรายได้เพียงพอต่อการชุบชูตนเอง มีเวลามากพอที่จะคงสมดุลทั้งสุขภาพกายใจและเพื่อนฝูง
นอกจากนี้ เด็กจบใหม่ยังถูกคาดหวังให้วางตัวอย่างถูกต้องท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ต่างไปจากเดิม กล่าวคือ “คนเป็นพิษ” ได้เปลี่ยนรูปแบบจากเพื่อนหรือคนรู้จักกลายมาเป็นหัวหน้างานหรือเพื่อนร่วมงาน การทะเลาะกันแบบเด็กๆ ก็เปลี่ยนมาเป็นการเมืองในที่ทำงาน ที่จะให้แก้ไขด้วยวิธีเดียวกันกับสมัยเรียนก็ทำไม่ได้ จะให้ออกมาจากสังคมนั้นก็ไม่ง่ายอย่างใจคิด
ทั้งหมดนี้นำมาซึ่งความกังวลและความกดดันให้เด็กจบใหม่ที่อยู่ในรั้วการศึกษามาตลอด 10 กว่าปี ว่าจะต้องวางตัวอย่างไรดีให้สามารถอยู่ในสังคมการทำงานได้อย่างราบรื่นสงบสุข ต้องระมัดระวังเรื่องอะไรบ้างและต้องแก้ปัญหาอย่างไรหากต้องเผชิญหน้า ด้วยหวังเพียงว่าอยากใช้ชีวิตสงบสุข เจริญก้าวหน้าและประสบความสำเร็จดังที่หวัง
แม้การใช้ชีวิตบนโลกแห่งความเป็นจริงอาจไม่มีสูตรตายตัว แต่คงจะดีไม่น้อยหากมีคู่มือช่วยให้เราเริ่มต้นชีวิตการทำงานได้อย่างสวยงาม บทความนี้จึงจะพาทุกคนไปทำความรู้จัก “คู่มือเด็กจบใหม่ ใช้ชีวิตอย่างไรในโลกการทำงาน?” กัน
เตรียมใจให้พร้อมกับความท้าทายช่วงสัปดาห์แรก
ช่วงเริ่มต้นงานใหม่สัปดาห์แรกจะเป็นช่วงที่ต้องปรับตัวอย่างมาก โดยเฉพาะเด็กจบใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่สังคมการทำงานครั้งแรกอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่าจะต้องเจออะไรบ้าง การเตรียมตัวเตรียมใจ เตรียมพร้อมกับเหตุการณ์ที่ต้องเกิดขึ้นแน่ๆ ย่อมทำให้เราสามารถปรับตัวได้ง่ายขึ้น
แล้วสัปดาห์แรกจะต้องเจอกับความท้าทายอะไรบ้าง?
1. ต้องรับข้อมูลมหาศาล
ช่วงสัปดาห์แรกคือช่วงเวลาของการเรียนรู้งาน ข้อมูลเกี่ยวกับการทำงานทั้งหมดจะไหลเข้ามาพร้อมกันภายในไม่กี่วัน อาจทำให้สมองเราเกิดไฟฟ้าลัดวงจรจนจำอะไรผิดๆ ถูกๆ หรือสลับกันมั่วไปหมดก็เป็นได้ ทางที่ดีควรเตรียมสมุดจดหรือโน้ตออนไลน์ไว้เรียบเรียงข้อมูลอีกครั้ง และที่สำคัญอย่าอายที่จะถามเช็กเพื่อความแน่ใจ เพราะอย่างไรก็ดีกว่าเข้าใจผิดแล้วทำงานพลาดนั่นเอง
2. ได้งานเยอะไปหรือไม่ก็ไม่มีให้ทำเลย
การได้รับงานมากไปในช่วงสัปดาห์สามารถเกิดขึ้นได้ หากเมื่อไรที่เราเริ่มรู้สึกว่ามันเยอะเกินกว่าจะจัดการได้ภายในเวลา อย่าลังเลที่จะแจ้งทีมและผู้เกี่ยวข้องให้เตรียมหาทางแก้ปัญหาเหล่านี้ กลับกันหากมันน้อยเกินไปจนเรานั่งว่างเพราะไม่รู้จะทำอะไร อาจทำให้เราเริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับคุณค่าของตนเองขึ้นมาก็ได้ เพราะฉะนั้นจงอย่ากังวลที่จะของานทำ กลับกันอาจทำให้ทีมมองเห็นศักยภาพของเรามากขึ้น
3. การหาตรงกลางระหว่างความมั่นใจกับความอวดดี
หลายครั้งเด็กจบใหม่ที่มีไฟกับการทำงานครั้งแรกมักจะบุ่มบ่ามเชื่อมั่นในความคิดของตนเองจนลืมไปว่าตนเองนั้นยังไม่เข้าใจแนวคิด วิธีการทำงาน และวัฒนธรรมองค์กรดีมากพอก็เป็นได้ อย่างไรก็ตาม ก็ใช่ว่าจะต้องนั่งหลบอยู่ในมุมมืดแล้วรอให้คนอื่นผลักดันเพียงอย่างเดียว เราสามารถฟังเรื่องราวของบริษัทไปพร้อมๆ กับเสนอไอเดียด้วยความนอบน้อมได้
4. เรียนรู้สไตล์การทำงานของทีม
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า การที่เราสุ่มสี่สุ่มห้าเดินเข้าไปกลางวงแล้วพยายามให้ทุกคนปรับตัวเข้าหาเราอาจไม่ใช่เรื่องที่น่าภิรมย์สำหรับคนรอบข้างนัก ในช่วงสัปดาห์แรกเราจึงต้องสังเกตการณ์ว่าบรรยากาศในทีมเป็นอย่างไร สไตล์การทำงานเป็นอย่างไร เล่นเมื่อไร จริงจังตอนไหน ให้ความสำคัญกับเรื่องอะไร ด้วยข้อมูลเหล่านี้จะทำให้เราสามารถใช้ชีวิตทำงานกับเพื่อนร่วมทีมได้อย่างราบรื่นนั่นเอง
5. การปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กร
แต่ละองค์กรมีวันธรรมแตกต่างกัน ซึ่งวัฒนธรรมนั้นก็เปรียบเสมือนความคาดหวังที่องค์กรมีต่อเรา ในช่วงสัปดาห์แรกเราจึงต้องทำความเข้าใจถึงวัฒนธรรมองค์กรและความคาดหวังนั้นให้ถี่ถ้วน ไม่ใช่แค่เพียงเพื่อปรับตัวให้เข้ากับเขา แต่เพื่อถามตนเองด้วยเช่นกันว่าเราจะมีความสุขในวัฒนธรรมและความคาดหวังนี้หรือไม่
6. รักษาสมดุลชีวิตทำงานและชีวิตส่วนตัว
การปรับตัวจากอิสระวัยเรียนเข้าสู่โหมด “เข้า 9 ออก 6” อาจทำให้เด็กจบใหม่บางคนรู้สึกอึดอัดกับกรอบเวลานี้ หรือบางครั้งไฟที่ลุกโชนอาจทำให้เราเผลอทำงานจนลืมคิดไปว่าชีวิตจะต้องทำอย่างอื่นบ้าง โดยเฉพาะเรื่องของการดูแลตัวเอง การตั้งกฎกับตัวเองว่าเมื่อไรควรทำงานและเมื่อไรควรพักผ่อนจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องพยายามหาตรงกลางให้เจอในสัปดาห์แรก
สิ่งที่ควรทำ VS สิ่งที่ไม่ควรทำ
หลังจากทำความรู้จักกับความท้าทายและวิธีรับมือกับความท้าทายแล้ว เด็กจบใหม่หลายคนยังคงกังวลว่าตัวเองจะทำได้ไม่ดีในส่วนของการเข้าสังคมทั่วไป เพราะฉะนั้นเพื่อเป็นแนวทางคร่าวๆ สำหรับคนที่อยากใช้ชีวิตราบรื่นในสังคม บทความนี้จึงมี 10 วิธีปรับตัวเข้าสังคมวัยทำงานฉบับเด็กจบใหม่ ที่แบ่งเป็น 5 สิ่งควรทำและ 5 สิ่งไม่ควรทำมาฝากกัน
5 สิ่งที่ควรทำ
1. กำหนดขอบเขตการทำงาน
ชีวิตเราแม้จะใช้เวลาส่วนมากไปกับการทำงาน แต่ก็อย่าลืมว่ายังมีมิติอื่นในชีวิตที่เราละทิ้งไปไม่ได้ การกำหนดขอบเขตว่าเมื่อไรทำงาน เมื่อไรคือเวลาส่วนตัวจึงสำคัญ เพื่อป้องกันอาการหมดไฟ
2. ช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานเมื่อมีโอกาส
เพราะเราไม่ได้ใช้ชีวิตอยู่ในสังคมคนเดียวแต่ยังต้องการการพึ่งพาคนอื่นอยู่เสมอ บางครั้งเมื่อมีโอกาสเราจึงควรเป็นที่พึ่งให้คนอื่นบ้างเพื่อสร้างเครือข่ายสังคมที่จะช่วยเหลือเราในยามยาก
3. ใช้คำพูดให้ถูกกาลเทศะ
คำพูดคือหัวใจของการสื่อสาร การเลือกใช้คำผิดในบางสถานการณ์ เช่น เลือกคำพูดที่ไม่เหมาะสมในการขอร้องเพื่อนร่วมงาน อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในทีมได้ การอ่านบรรยากาศและเลือกใช้คำที่เหมาะสมจึงสำคัญ
4. ตื่นตัวอยู่ตลอดเวลา
เตรียมพร้อมสำหรับงานตลอดเวลาแม้ว่าบางวันจะแทบไม่มีงานเลยก็ตาม กรณีนั้นก็อาจจะใช้เวลาที่มีอยู่เสนอตัวไปช่วยเหลือคนอื่น เพื่อแสดงให้เห็นว่าเราพร้อมและยินดีที่จะทำงานในตำแหน่งที่ได้มามากขนาดไหน
5. สื่อสารกับคนในทีมอย่างสม่ำเสมอ
การทำงานที่บ้านอาจทำให้เราได้สื่อสารกับเพื่อนร่วมงานน้อยลง ผลที่ตามมาคืออาจเกิดความเข้าใจผิด ความผิดพลาด หรือบางครั้งอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ เช่น รู้สึกเข้ากับเพื่อนร่วมงานไม่ได้ การพยายามติดต่อถามไถ่เรื่องงานบ้าง เรื่องความเป็นไปบ้างก็สามารถช่วยลดเหตุการณ์ข้างต้นได้
5 สิ่งที่ไม่ควรทำ
1. อย่า “แกล้งทำเป็นรู้”
ในสังคมการทำงาน ความคาดหวังจะผันแปรตามความสามารถที่เราแสดงออกมา หากเมื่อไรที่เจอกำแพงความสามารถให้ยอมรับตามตรงและเปิดใจเรียนรู้จะเป็นผลดีต่อตัวเองและทีมมากกว่า
2. อย่าผ่านมื้ออาหารคนเดียว
ช่วงมื้ออาหารนับเป็นช่วงเวลาสำคัญที่จะได้ละลายพฤติกรรมและทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมงานในด้านต่างๆ มากขึ้น จะช่วยให้เราสร้างเครือข่ายสังคมที่แข็งแรงและเป็นแรงสนับสนุนได้ในอนาคต
3. อย่าคิดทึกทักไปเองแล้วจมอยู่กับความไม่แน่ใจ
ไม่ว่าจะเริ่มงานมานานแค่ไหนมนุษย์ก็ยังมีสิ่งที่ไม่รู้อีกมากมาย หากเก็บความไม่รู้ไม่แน่ใจนั้นไว้แล้วทึกทักเอาคำตอบไปต่อยอดโดยไม่ทำให้แน่ใจเสียก่อนอาจทำให้เกิดผลกระทบบานปลายกว่าที่คิด
4. อย่าอายที่จะถามหรือขอความช่วยเหลือ
หลายครั้งที่เด็กจบใหม่มักจะกลัวว่าจะดูไม่มืออาชีพหรือเปล่าหากเอ่ยปากถามหรือขอความช่วยเหลือไป กลับกันการพูดตรงๆ จะทำให้ทีมเกิดความเชื่อใจว่าเราจะไม่เก็บไว้คนเดียวจนทุกอย่างสายเกินแก้นั่นเอง
5. อย่าร่วมวงซุบซิบนินทา
ทุกที่ย่อมมีวงสนทนาไม่ชอบมาพากล แม้บางครั้งเราไม่อาจเลี่ยงที่จะต้องรับฟังแต่ก็ไม่ควรเข้าไปร่วมซุบซิบนินทาแบบที่คนอื่นทำ และที่สำคัญการฟังหูไว้หูและพิจารณาตามวิจารณญาณของตนเองเป็นสิ่งที่ดีที่สุด
ถึงอย่างนั้นการเข้าสังคมก็ไม่ได้มีกฎตายตัวว่าจะต้องทำหรือห้ามทำอะไรอย่างจริงจังขนาดนั้น ยกตัวอย่างเช่น หากเราอยากรักษ์โลกด้วยการทำข้าวกล่องมาทานที่ออฟฟิศแต่เพื่อนร่วมทีมทุกคนกลับอยากออกไปทานข้างนอก ก็ไม่จำเป็นจะต้องทิ้งข้าวกล่องที่เราเตรียมมาเพื่อเข้าสังคมกับเพื่อนร่วมทีมเสมอไป
หรือบางครั้งการตื่นตัวตลอดเวลาอาจนำมาซึ่งความเครียดทั้งร่างกายและจิตใจมากไป หากหาเวลาพักผ่อนหลบสายตาคนเพียงเล็กน้อยก็ไม่ใช่สิ่งที่ทำไม่ได้ ทางที่ดีแล้วเราควรหมั่นสังเกตความเป็นไปของออฟฟิศและเพื่อนร่วมงาน เข้าหาพวกเขาอย่างจริงใจและเป็นตัวของตัวเอง แม้บางครั้งจะเกิดปัญหาแต่ก็ไม่มีอะไรสายไปเกินกว่าจะเรียนรู้
แม้การปรับตัวอาจไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การค่อยๆ ปรับไปทีละน้อยอย่างไม่กดดันและกังวลมากไป สุดท้ายแล้วเมื่อมองย้อนกลับมาเราอาจจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึงมาก่อนก็เป็นได้
ที่มา
- Five Tips for Your First Job : John Coleman, Harvard Business Review - https://bit.ly/3L9LYJF
- New Job? How to Survive 8 First-Week Challenges : Nicole Fallon, Business News Daily - https://bit.ly/4630I4U
- Workplace Etiquette: Dos and Don’ts in the Workplace : Kinsley Sarn - https://bit.ly/460meY9
#worklife
#inspiration
#firstjobber
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
โฆษณา