24 ก.ย. 2023 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์

Joachim Grassi: เอกชนฝรั่งผู้พลิกโฉมสถาปัตยกรรมเมืองไทย

ถ้าพูดถึงสถาปนิกฝรั่งที่สร้างผลงานมากมายให้กับสถาปัตยกรรมในเมืองไทยช่วงปฏิรูปประเทศเข้าสู่สมัยใหม่ในช่วงรัชกาลที่ 5 ชื่อของมาริโอ ตามาญโญ อาจเป็นที่รู้จักกันมาในฐานะของ “ข้าราชการ” ชาวฝรั่ง แต่ในขณะเดียวกัน ก็มีสถาปนิกมากฝีมือจากฝั่ง “เอกชน” ที่ฝากฝังผลงานสถาปัตยกรรมในไทยมากพอ ๆ กันกับตามาญโญ อย่าง
โยอาคิม กรัสซี่ (Joachim Grassi) เป็นหนึ่งในสามพี่น้องตระกูลกรัสซี่
ผู้ย้ายมาเปิดบริษัทก่อสร้างเอกชนของชาวฝรั่งแห่งแรก ๆ ในไทย
และฝากฝังผลงานสถาปัตยกรรมมากมายให้ทั้งรัฐและเอกชน อันเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญของการสร้างสยามใหม่ ในสมัยรัชกาลที่ 5
📌 นักแสวงโชคจากออสเตรีย
โยอาคิม กรัสซี่ เกิดในปี 1837 ในเมืองคาโปดิสเตรียภายใต้การปกครองของจักรวรรดิออสโตร-ฮังกาเรียน ปัจจุบันอยู่ในประเทศสโลวีเนีย โดยเป็นบุตรชายคนที่สองของครอบครัวที่สืบเชื้อสายมาจากอิตาลี
ประวัติชีวิตในวัยเด็กของกรัสซี่นั้นไม่ปรากฏ เขาเป็นเหมือนกันกับชาวต่างชาติคนอื่น ๆ ที่หวังจะเดินทางมายังซีกโลกตะวันออกเพื่อแสวงโชคต่างแดนเฉกเช่นเดียวกันกับคนในชนบทที่เดินทางมาแสวงโชคในเมืองหลวง
ทั้งนี้ไม่มีหลักฐานระบุว่าเขาออกจากยุโรปมาเมื่อไหร่ และไปอยู่ที่ไหนเป็นที่แรกหลังจากออกมา แต่จากหลักฐานของทางฝั่งไทยระบุเอาไว้ว่ากรัสซี่เคยทำงานอยู่ในเมืองเซี่ยงไฮ้เป็นเวลานาน โดยทำงานให้กับรัฐบาลฝรั่งเศสอยู่ช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งหลังจากหมดสัญญาจ้างกับทางฝรั่งเศส เขาก็ไม่ได้กลับไปยังยุโรป หากแต่เดินทางแสวงโชคเรื่อยมา
จนกระทั่งนาวาแห่งชีวิตของเขามาเทียบท่าที่กรุงเทพมหานครในเดือนมิถุนายน ปี 1870 โดยกรัสซี่มองเห็นลู่ทางในการทำธุรกิจกับสยามประเทศที่เปิดรับเอาชาวต่างชาติแบบกว้างขวางได้ไม่นานตั้งแต่เมื่อครั้งแผ่นดินของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอันเป็นผลมาจากสนธิสัญญาเบาว์ริง
สยามจึงเปรียบเสมือนกับประเทศใหม่ที่พร้อมจะรับเอาความเป็นตะวันตกเข้าไป
📌 ชายผู้บุกเบิกสยามด้วยสถาปัตยกรรมตะวันตก
เมื่อกรัสซี่เดินทางมาถึงสยาม เขาก็ยังคงตัดขาดกับฝรั่งเศสไม่ขาด โดยเขาได้งานแรกในสยามกับบริษัทค้าไม้สัญชาติฝรั่งเศสนาม บอนเนอวิลล์ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเพิ่งขึ้นครองราชย์ได้เพียง 2 ปี
แต่อย่างไรก็ดี งานในบริษัทค้าไม้ของเขาก็ไม่ได้เป็นที่รุ่งเรืองมากนัก จนกระทั่งเขาได้รับงานออกแบบแรกในฐานะสถาปนิกในสยาม คือ งานออกแบบคองคอร์เดียคลับ ซึ่งเป็นสโมสรของชาวตะวันตกในกรุงเทพฯ ซึ่งผลงานนี้เองก็เปรียบเสมือนกับใบเบิกทางให้กรัสซี่ได้เริ่มงานในฐานะสถาปนิกและฝากผลงานสถาปัตยกรรมมากมายให้กับสยาม
โดยมีพี่ชายและน้องชายตามมาช่วยและก่อตั้งบริษัท พี่น้องกรัสซี่ (Grassi Brother & Co.) ซึ่งรับงานออกแบบ ก่อสร้าง และค้าวัสดุก่อสร้าง สำหรับสายตาของชาวสยามแล้ว พวกเขามองว่าช่างฝีมือที่ดีนั้นย่อมเป็นช่างจากอิตาลี ซึ่งผลงานของกรัสซี่เองก็เป็นผลงานที่ดี ทำให้เขาถูกเหมารวมว่าเป็นชาวอิตาเลียนด้วย
1
ซึ่งในความเป็นจริงนั้นเขาเป็นชาวออสเตรีย-ฮังการีโดยกำเนิด เป็นชาวอิตาเลียนโดยเชื้อสาย และเป็นชาวฝรั่งเศสโดยสัญชาติ ซึ่งด้วยเหตุนี้เองทำให้เขาได้รับว่าจ้างบ่อยขึ้น โดยเฉพาะจากภาครัฐ จึงอาจกล่าวได้ว่ากรัสซี่เป็นสถาปนิกฝรั่งคนแรกที่ทำงานให้กับรัฐบาลสยามเลยก็ว่าได้
📌 สยามใหม่ในสถาปัตยกรรม
ผลงานมากมายของกรัสซี่จะมีลักษณะเป็นรูปแบบงานนีโอคลาสสิคเสียส่วนใหญ่ โดยผลงานหลังจากการออกแบบคองคอเดียคลับก็ได้แก่ พระที่นั่งวโรภาษพิมานในพระราชวังบางปะอิน, วัดนิเวศน์ธรรมประวัติ, บ้านขุนนางต่าง ๆ ในบางกอกใหญ่และคลองสาน,
1
บ้านทูตโปรตุเกส, วังบูรพาภิรมย์, ศาลสถิตยุติธรรม, วังท่าพระ, อนุสาวรีย์พระนางเรือล่มสวนสราญรมย์, โรงเรียนราชินี, วังวินเซอร์, กระทรวงกลาโหม, วัดคอนเซ็ปชัญ, ศุลกสถาน, ป้อมพระจุลจอมเกล้า, คุกมหันตโทษ เป็นต้น
2
ซึ่งในปัจจุบันนี้ หลายแห่งก็ถูกเปลี่ยนสภาพและหลายแห่งก็ยังคงตั้งตระหง่านอยู่จนถึงปัจจุบัน
ผลงานของกรัสซี่นับว่ามีรูปแบบที่ค่อนข้างตายตัว โดยเป็นการนำเอาสถาปัตยกรรมแบบเก่ามาใช้ในงาน นิยมใช้สถาปัตยกรรมปัลลาเดียน, นีโอคลาสสิค, และฟื้นฟูเรอเนซองส์ในการสร้างที่ทำการของรัฐ ซึ่งมีลักษณะที่เรียบหรู ตกแต่งน้อยดังที่ปรากฏในศุลกสถานและกระทรวงกลาโหม
1
ส่วนรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบฟื้นฟูกอธิค และฟื้นฟูโรมาเนสก์นั้นจะถูกใช้ในการสร้างศาสนสถานมากกว่าเช่น วัดนิเวศธรรมประวัติและวัดนักบุญยอแซฟ
📌 วิกฤตการณ์ รศ.112 กับจุดตกอับของบริษัท
กิจการของกรัสซี่ยังคงดำเนินการเรื่อยมา โดยนอกจากอาคารต่าง ๆ ซึ่งเป็นผลงานของบริษัทพี่น้องกรัสซี่แล้ว ยังรับเหมาก่อสร้างอื่น ๆ ในนามของหุ้นส่วนบริษัทขุดคลองและคูนาสยามจำกัดร่วมกับพระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์, พระนานาพิธภาษี, และเจ้าสัวยมด้วย โดยมีผลงานเช่นการขุดคลองรังสิต เป็นต้น
แต่อย่างไรก็ดี เคราะห์กรรมก็กระหน่ำเข้าหาเพราะกรัสซี่นั้นถือสัญชาติฝรั่งเศสและเป็นคนในบังคับของฝรั่งเศส ท่ามกลางสถานการณ์ความสัมพันธ์สยาม-ฝรั่งเศสที่ไม่สู้ดีนัก จนกระทั่งการรุกล้ำสยามของฝรั่งเศสในดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงครั้งแรก ทำให้กรัสซี่ต้องตกที่นั่งลำบาก
โดยเขาตัดสินใจถอนหุ้นออกจากบริษัทและขายหุ้นให้กับเพื่อนชาวออสเตรีย ประกอบกับสถานการณ์ความขัดแย้งทำให้เขาถูกบีบจนอยู่ในเมืองไทยต่อไม่ได้ อีกทั้งรัฐบาลสยามเองก็ได้ก่อตั้งกรมโยธาธิการเพื่อดูแลการก่อสร้างต่าง ๆ ในประเทศแล้ว
ทำให้บริษัทเอกชนของกรัสซี่ไม่ได้เป็นเสาหลักของการสถาปัตยกรรมของสยามอีกแล้ว โยอาคิม กรัสซี่จึงตัดสินใจที่จะเดินทางกลับยุโรปไปด้วยความขื่นขม ในเดือนเดียวกันกับที่เกิดวิกฤตการณ์ รศ.112 ขึ้น บริษัทพี่น้องกรัสซี่ก็ถูกขายต่อโดยบริษัทค้าไม้บอนเนอวิลล์ ได้ซื้อกิจการไปดูแลต่อ
1
📌 ฝรั่งผู้รักสยาม
โยอาคิม กรัสซี่ ยังคงประกอบธุรกิจเกี่ยวกับการรับเหมาก่อสร้างอยู่หลังจากลาสยามไปแล้ว กรัสซี่มองว่าสยามนั้นเปรียบเสมือนกับบ้านเกิดเมืองนอนที่สองของเขา เขาหลงใหลในสยามเป็นอย่างมากถึงขั้นที่สร้างสุสานของพี่ชายตัวเองให้เป็นมณฑปทรงไทย ซึ่งเป็นมรดกความเป็นไทยเดียวที่ไปปรากฏในสโลวีเนีย
ผลงานต่าง ๆ ที่เขาทำให้กับรัฐบาลสยามมีมากมาย โดยในตอนท้ายก่อนออกจากสยามเขาได้ขอเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากรัฐบาลเพื่อเก็บไว้เป็นที่ระลึกถึงบ้านเมืองที่เขามองว่าเป็นบ้านเกิดหลังที่สองของเขา
ทว่าในท้ายที่สุดเขาก็ได้คืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์นั้นไปเพราะรู้สึกน้อยใจว่าได้เครื่องราชฯที่ไม่เหมาะสมกับความตั้งใจและผลงานของตน ทำให้เขาถูกระงับเครื่องราชอิสริยาภรณ์และเป็นฝรั่งผู้มากไปด้วยผลงานอีกคนหนึ่งที่ต้องจากสยามไปโดยปราศจากการยกย่องเชิดชูจากรัฐบาลสยาม
📌 สถาปนิกผู้เป็นทุกอย่างให้สยาม
โยอาคิม กรัสซี่ เสียชีวิตลงในวัย 68 ปี เมื่อปี 1904 ที่บ้านเกิดของเขาในคาโปดิสเตรีย ผลงานการออกแบบของเขาและบริษัทพี่น้องกรัสซี่ นับว่าเป็นเครื่องยืนยันสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงสายสัมพันธ์ของสถาปัตยกรรมตะวันตกกับสังคมสยาม
กรัสซี่มีความรักในเมืองสยามเป็นอย่างมากทั้งช่วยเหลือในการเจรจาต่าง ๆ เป็นล่ามให้กับเจ้านายสยามในยามเสด็จเยือนประเทศในอาณานิคมฝรั่งเศส ตลอดจนช่วยแก้ข่าวที่ฝรั่งเศสเขียนให้ร้ายสยาม ตลอดเวลานับ 23 ปีที่กรัสซี่อยู่ในสยาม เขาได้สร้างผลงานอันเป็นที่ประจักษ์มากมาย
เป็นอีกหนึ่งมรดกยุโรปที่เขาทิ้งเอาไว้ในดินแดนที่เขารักเสมือนกับเป็นบ้านเกิดของเขาเอง
โดยมีความหวังเป็นอย่างยิ่งว่าเขานั้นจะสามารถนำพาให้ประเทศนี้ก้าวไปทัดเทียมกับอารยประเทศในสากลได้ดังที่ปรากฏเป็นปณิธานของเขาที่มาเป็นสถาปนิกในสยามอันจารึกบนจดหมายขอคืนเครื่องราชอิสริยาภรณ์ความว่า
ผู้เขียน: ณัฐรุจา งาตา Content Creator, Bnomics
ภาพประกอบ: บริษัท ก่อการดี จำกัด
References :
โฆษณา