23 ก.ย. 2023 เวลา 13:00 • กีฬา

ทีมชาติไทย : ทำไมเยือนยุโรปรอบนี้ถึงมีปัญหา...ทั้งที่เป็น ฟีฟ่า เดย์

ร้อยวันพันปี ทีมชาติไทย จะได้มีโอกาสดีๆ เดินทางไปอุ่นเครื่องนอกทวีปของตัวเองบ้าง แต่ดันเจอปัญหาที่อาจทำให้ไม่ได้ผู้เล่นที่ดีที่สุดไปแข่งขัน
วันที่ 12 ต.ค.66 เยือน จอร์เจีย อันดับ 78 ของโลก และวันที่ 17 ต.ค. เยือน เอสโตเนีย อันดับ 111 ของโลก
ทั้ง 2 เกม แข่งขันในช่วง ฟีฟ่า เดย์ ซึ่งทุกอย่างควรเป็นไปอย่างราบรื่นและทุกชาติทั่วโลกก็ไม่มีปัญหาใด ๆ กับการลงเตะในช่วงเวลานี้ ยกเว้นเสียแต่ทีมชาติไทย
เพราะอะไรเกมอุ่นเครื่องครั้งนี้ของ ไทย จึงไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ ไปติดตามที่มาที่ไปพร้อมกันกับ Main Stand
ไทยส่งหนังสือหา “จอร์เจีย-เอสโตเนีย” เต็มใจตอบรับ
ฝ่ายต่างประเทศไทยของสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ มีภารกิจที่ต้องรับผิดชอบอย่างนึง คือ การติดต่อกับต่างประเทศเพื่อหาทีมอุ่นเครื่องให้ ทีมชาติไทย ในช่วง ฟีฟ่า เดย์ ที่ทาง ฟีฟ่า กำหนดเอาไว้ล่วงหน้าเป็นปีๆ ว่ามีช่วงเวลาไหนบ้าง (มี.ค., มิ.ย., ก.ย., ต.ค.,พ.ย.)
วิธีการหาคู่แข่งมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น เขาเชิญเรา, เราเชิญเขา หรือแม้แต่ผ่าน “เอเยนต์” ซึ่งมีค่าใช้จ่ายเสมือนการซื้อขายนักฟุตบอล
แต่สำหรับ จอร์เจีย และ เอสโตเนีย เกิดขึ้นจากการที่ฝ่ายต่างประเทศของสมาคมฯ ส่งหนังสือไปหาชาติต่างๆ ทั่วโลกตั้งแต่ปีที่แล้ว (ประมาณเดือน พ.ย.65) ก่อนที่ จอร์เจีย กับ เอสโตเนีย จะเป็น 2 ชาติที่ “ตอบรับ” ด้วยความเต็มใจ
หนำซ้ำยังมีเงื่อนไขที่ดี ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายที่ดูแลอย่างดี, ลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสด และความสัมพันธ์ด้านฟุตบอล
ที่สำคัญทั้ง 2 ทีม มีอันดับโลกที่ดีกว่า ทีมชาติไทย (ขณะนั้น จอร์เจีย 78, เอสโตเนีย 109) และ มาโน โพลกิง ดูจะแฮปปี้กับการได้ต่อกรกับทีมลักษณะนี้เป็นอย่างมาก
นั่นเลยทำให้บรรลุข้อตกลงในการเซ็นสัญญาร่วมกันทำให้เกิดเกมอุ่นเครื่อง 2 นัดดังกล่าว ก่อนที่จะมีการประกาศอย่างเป็นทางการในเดือน ก.พ.66
บรรลุข้อตกลงก่อนปฏิทินบอลไทย 2023/24 คลอด
ก.พ.66 เป็นช่วงกลางค่อนปลายของ ไทยลีก 2022/23 นั่นหมายความว่าปฏิทินฟุตบอลไทย 2023/24 ยังไม่คลอดออกมา
กระทั่งฤดูกาลแข่งขันปิดฉากลงไป สมาคมกีฬาฟุตบอลฯ และ บ.ไทยลีก จำกัด ได้ประชุมเพื่อออกปฏิทินการแข่งขันฟุตบอลไทย 2023/24 ซึ่งแน่นอนว่าเกมอุ่นเครื่อง 2 นัดนี้ ถูกใส่เข้าไปในปฏิทินด้วย
ทุกสโมสรรับทราบเป็นอย่างดีและไม่มีการคัดค้าน ขณะเดียวกันก็ไม่อาจคัดค้านได้ด้วย เพราะสมาคมฯ บรรจุ 2 เกมนี้ไว้ในช่วง ฟีฟ่า เดย์ อยู่แล้ว
บางทีอาจเป็นเพราะในปฏิทินมีทัวร์นาเมนท์ที่สำคัญมากกว่า 2 เกมนี้ จึงเบนความสนใจไป คือ เอเชียนคัพ 2023 รอบสุดท้าย ที่เดิมทีต้องจัดที่ประเทศจีน ในเดือน มิ.ย.66 (ช่วงปิดฤดูกาล) แต่ จีน ขอถอนตัว และ กาตาร์ มารับช่วงต่อ โดยจัดการแข่งขันในเดือน ม.ค.67 ทำให้ทุกฝ่ายมองว่า ไทยลีก ควรจบเลกแรกให้เร็วที่สุด เพื่อให้ ทีมชาติไทย มีเวลาเตรียมทีมก่อนเอเชียนคัพ
นอกจากนั้นยังมีฟุตบอลชิงถ้วยพระราชทานคิงส์คัพ ครั้งที่ 49 เมื่อเดือน ก.ย.ที่ผ่านมา ถือเป็นรายการสำคัญเพราะมีถ้วยพระราชทานเป็นเดิมพัน ทำให้มีการเอาโปรแกรม ไทยลีก นัดที่ 4 ไปให้ ทีมชาติไทย ได้ฝึกซ้อมกัน
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้โปรแกรมไทยลีก เลกแรก อัดแน่นจนไม่มีช่องให้หายใจหรือได้รับอนุญาตให้เลื่อนโปรแกรมได้อีกแล้ว เว้นเสียแต่ว่าเลื่อนการแข่งขันในบางคู่ เหมือนที่ สุโขทัย กับ ชลบุรี เลื่อนเตะเพื่อให้นักเตะไปรับใช้ชาติในเอเชียเกมส์
แต่สำหรับ 3 ทีม คือ บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด, ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด และบีจี ปทุม ยูไนเต็ด เจอสถานการณ์ที่ยากลำบากกว่าทุกทีม เพราะมีโปรแกรม เอเอฟซี แชมเปียนส์ ลีก รอบแบ่งกลุ่ม เป็นกว้างขวางคอ
เดินทางไกลและเตะวันสุดท้าย ฟีฟ่า เดย์
ด้วยเหตุนี้ ทำให้เกมอุ่นเครื่อง ฟีฟ่า เดย์ เดือน ต.ค.66 กับ จอร์เจีย และ เอสโตเนีย มีปัญหา!
เพราะ ฟีฟ่า เดย์ ถูกกำหนดไว้ คือ ระหว่างวันที่ 9-17 ต.ค.66 ซึ่ง ไทยลีก จะเตะนัดที่ 7 วันที่ 8 ต.ค.66 เท่ากับว่านักเตะจะมีเวลาฝึกซ้อม 3 วันก่อนเจอ จอร์เจีย วันที่ 12 ต.ค.
3 วันนี้ ต้องแบ่งให้กับการเดินทางด้วย ซึ่งแน่นอนว่าใช้เวลามากกว่า 10 ชม. ในการอยู่บนท้องฟ้า ยังไม่รวมภาคพื้นที่ต้องใช้เวลาอีกหลายชั่วโมง เท่ากับว่าหมดไป 1 วัน กับการเดินทาง
หลังจบแมตช์กับ จอร์เจีย ก็ต้องบินต่อไป เอสโตเนีย แม้จะใช้เวลาไม่นานมาก แต่ที่นานกว่าคือการรอเตะกับ เอสโตเนีย
เพราะจะมีเวลาถึง 4 วัน ในการรอให้ถึงวันที่ 17 ต.ค.66 เนื่องจาก เอสโตเนีย มีเตะฟุตบอลยูโร รอบคัดเลือก วันที่ 13 ต.ค.66 เปิดบ้านพบ อาเซอร์ไบจาน และดันเลือกพักถึง 3 วัน ซึ่งคนกำหนดวัน/เวลาแข่งขัน คือ ยูฟ่า เนื่องจากถือลิขสิทธิ์ของทุกชาติในยุโรป
แน่นอนว่าวันที่ 17 ต.ค.66 ยังอยู่ในช่วงเวลาของ ฟีฟ่า เดย์ (วันสุดท้าย) จึงไม่ใช่เรื่องผิดแต่อย่างใด ทว่าหลังจากจบแมตช์กับ เอสโตเนีย นักเตะไทยต้องบินกลับมารับใช้ต้นสังกัดใน ไทยลีก ที่มีโปรแกรมเตะนัดที่ 8 ในวันที่ 20 ต.ค.66
สโมสรไม่เห็นด้วย - “มาโน” ขานรับ
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้นายใหญ่สโมสรหนึ่งแสดงความเห็นในที่ประชุมคณะทำงาน ไทยลีก เมื่อวันที่ 29 ส.ค.66 ว่าเกมอุ่นเครื่องครั้งนี้ไม่น่าเกิดประโยชน์เท่าไหร่
เพราะนอกจากนักเตะจะต้องเหนื่อยล้ากับการเดินทางแล้ว ยังต้องกรำศึกหนักอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะ 3 สโมสรที่ต้องเล่น ACL ที่จะมีแมตช์ในกลางสัปดาห์ถัดไป
นอกจากนั้นในเดือน พ.ย.66 ทีมชาติไทย มีโปรแกรมที่สำคัญที่สุดของปี คือ ฟุตบอลโลก 2026 รอบคัดเลือก โซนเอเชีย รอบ 2 นัดแรก เปิดสนามราชมังคลากีฬาสถาน พบ จีน ซึ่งสภาพร่างกายของนักเตะควรจะพร้อมมากที่สุด
"ที่ผ่านมาผมทำงานหนักร่วมกับนักเตะและเคารพทุกสโมสร เรามีความเข้าใจที่ดีต่อกัน ผมต้องการเรียกนักเตะที่ฟอร์มดีต่อเนื่องและมีความพร้อมในการเล่นทีมชาติ” มาโน โพลกิง เปิดเผยเมื่อวันที่ 21 ก.ย.66
“เราให้ความสำคัญต่อฟอร์มการเล่น และสภาพร่างกายของนักกีฬา หากเขามีโปรแกรมที่หนักเกินไป แน่นอนเขาอาจไม่พร้อมซึ่งตรงนี้เราต้องพูดคุยและทำงานร่วมกันก่อนที่จะถึงฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก"
"ผมเข้าใจและพร้อมสนับสนุนทุกสโมสรที่กำลังทำหน้าที่ในฐานะตัวแทนของประเทศไทยในภารกิจ ACL ซึ่งโปรแกรมอาจจะคาบเกี่ยวกับ ฟีฟ่า เดย์ ในเดือน ต.ค. แต่ผมมีรายชื่อนักกีฬาในลิสต์ 50 คน ทุกคนล้วนมีศักยภาพในการยกระดับทีมชาติไทย และเราจะพิจารณาผู้เล่นที่มีความพร้อมที่สุดไปอุ่นเครื่องในช่วง ฟีฟ่า เดย์"
หวังดีทุกฝ่ายแต่ทีมชาติไทยได้รับผลกระทบ
ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ที่ ทีมชาติไทย จะมีโอกาสได้ไปเตะกับทีมนอกทวีป เพราะหากนั่งนับนิ้วดูแล้วพบว่าเป็นเวลา 13 ปี ที่ ไทย ได้ออกดวลกับทีมนอกเอเชีย คือ วันที่ 16 พ.ค.2553 (2010) เยือน แอฟริกาใต้ ที่เอ็มบอมเบลา สเตเดี้ยม เมืองเนลสปรุต ซึ่งเกมนั้น ไทย แพ้ 0-4
ครั้งนั้นเป็นโปรแกรมที่ฉุกละหุที่เกิดขึ้นกระทันหัน และไม่ได้จัดในช่วง ฟีฟ่า เดย์ ด้วย ทำให้ไม่ได้ผู้เล่นที่ดีที่สุดไปแข่งขัน แต่ได้ผู้เล่นที่พร้อมที่สุดเพียงแค่ 17 คนไปแทน
แต่ความแตกต่างกันระหว่างเกมนั้นกับเกมที่จะเกิดขึ้นในเดือน ต.ค.นี้ คือ เป็นโปรแกรมที่วางล่วงหน้าไว้เป็นปี แถมจัดในวันและเวลาของ ฟีฟ่า เดย์
ทว่าสิ่งที่กำลังจะเหมือนกัน คือ ทีมชาติไทย จะไม่ได้ผู้เล่นที่ดีที่สุด แต่จะเป็นผู้เล่นที่พร้อมที่สุด
หากดูจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ทุกฝ่ายต่างมีเหตุผลที่เข้าใจได้
สมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ ทำงานล่วงหน้าเป็นปี และด้วยความหวังดีจึงอยากให้ ทีมชาติไทย ได้เตะกับทีมที่มีแรงกิงสูงกว่า แถมเป็นทีมจากนอกทวีปด้วย ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึนได้ง่ายๆ
นอกจากนั้นยังทำทุกอย่างตามกรอบเวลาของ ฟีฟ่า เดย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ฟุตบอลไทย (เคย) ต้องการอยู่แล้ว
ส่วนสโมสรก็มีภารกิจที่สำคัญเช่นกัน และไม่อยากให้ “สภาพร่างกาย” ของนักฟุตบอลอ่อนล้าจนเกินไป เพราะจะมีผลต่อ ทีมชาติไทย ในเดือน พ.ย.
รับความจริง...อยู่ในที่ที่เหมาะสม
แม้ว่าเกมกับ จอร์เจีย และ เอสโตเนีย ยังไม่ได้ข้อสรุป (บางทีอาจหาทางออกได้) แต่อย่างน้อยก็มีประเด็นให้ได้คิดว่าเหตุใดฟุตบอลไทยถึงเตะไปแก้ปัญหากันไป ทั้งที่ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะเป็นช่วง ฟีฟ่า เดย์ แท้ๆ
ต้องยอมรับว่า ไทย ทีมที่มีแรงกิ้งอันดับเกินกว่า 100 จะไปลับแข้งกับทีมที่มีแรงกิ้งสูงกว่าก็คงยาก
ครั้นจะไปขอเตะกับพรรคพวกในเอเชียด้วยกันอย่าง ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, ซาอุดิอาระเบีย, ออสเตรเลีย ฯลฯ เขาก็ไม่มอง หรือจะออกนอกทวีปก็เดินทางไกลอีก
บางทีอยู่ในที่ที่เหมาะสมน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด
เตะแค่ในบ้าน หรือ ไปใกล้ๆ จะได้ไม่ต้องเหนื่อยเดินทาง หรือ เจอทีมแรงกิ้งใกล้ๆ กันก็พอ
แต่สุดท้ายเราก็จะอยู่แค่นี้จริงๆ...
บทความโดย ธรรมวัตร เอกฉัตร
แหล่งอ้างอิง
โฆษณา