23 ก.ย. 2023 เวลา 12:27 • หนังสือ

สิ ท ธ า ร ถ ะ

"สิทธารถะมีอยู่ในตัวเราทุกคน"
สิทธารถะเป็นหนังสืออีกเล่มที่นักอ่านควรต้องอ่านสักครั้งหนึ่งในชีวิต ยิ่งอ่านมากก็จะค่อย ๆ ซึมซับสาระต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น ที่สำคัญเมื่ออ่านแต่ละช่วงชีวิต ผู้อ่านก็จะได้มุมมองที่กว้างขึ้นลึกซึ้งขึ้นตามวัย พร้อมสาระให้เก็บไปใคร่ครวญต่อได้มากยิ่งขึ้นเช่นที่มีคนกล่าวว่า "สิทธารถะมีอยู่ในตัวเราทุกคน" ตั้งแต่วัยเด็ก วัยหนุ่มหรือวัยแห่งการค้นหา มีสับสนและหลงทางไปบ้าง จนเข้าสู่วัยชราที่เราอาจจะตระหนักรู้ความจริงของชีวิตได้ในที่สุด
.
เรื่องนี้มีการแปลเป็นภาษาไทยหลายสำนวนคือของ ฉุน ประภาวิวัฒน์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๐ / สดใส ๒๕๒๖ / สีมน ๒๕๔๐ ปกล่าสุดนี้เป็นฉบับพิมพ์ครั้งที่ ๑๔ เมื่อปี ๒๕๖๒ โดย สนพ.เคล็ดไทย ล่าสุดมีการพิมพ์ใหม่โดยสำนักพิมพ์ ๑๐๑
.
สิทธารถะ พราหมณ์หนุ่มรูปงาม ชาติตระกูลดี ต้องการรู้ว่าหนทางแห่งการพ้นทุกข์คืออะไร แม้จะมีความรู้ระดับหนึ่งก็คิดว่ายังไม่พอ จึงตัดสินใจออกจากลาพ่อแม่บ้านไปแสวงหาสัจธรรมที่ต้องการกับเพื่อนสนิทคือ โควินทะ
.
ทั้งคู่ใช้ชีวิตเป็นนักพรต ฝึกและปฏิบัติกิจต่าง ๆ เพื่อจะหลุดพ้น วันหนึ่งสิทธารถะและโควินทะมีโอกาสได้พบพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และได้ฟังคำสอนของพระองค์ที่เมืองสาวัตถี
.
ภายหลังโควินทะเลือกที่จะเดินตามรอยท่าน แต่สิทธารถะกลับปฏิเสธเพราะรู้ตัวดีว่าแม้เขาจะปฏิญาณตนเป็นพุทธสาวก ก็เกรงว่าจะเป็นได้แต่เพียงเปลือกนอก เพราะเขายังมีอัตตาอยู่ เขาเดินทางต่อไปเพียงลำพัง
.
สิทธารถะต้องการค้นหาอะไรอีกในชีวิต ทำไมเขาปฏิเสธที่จะบวชเมื่อเจอพระพุทธเจ้า สิทธารถะและโควินทะต่างมีเป้าหมายเดียวกันคือ การแสวงหาสัจธรรมในชีวิต แต่แตกต่างกันที่แนวทาง คนหนึ่งสนใจในเป้าหมาย อีกคนหนึ่งสนใจว่าจะไปถึงเป้าหมายอย่างไร
.
ในเล่มนี้ สดใส (ผศ. สดใส ขันติวรพงศ์)​ ผู้แปลเลือกใช้คำบรรยายความคิดของสิทธารถะอย่างแยบยลว่า “พระพุทธองค์ทรงปล้นเรา ... ทรงช่วงชิงบางสิ่งไปจากเรา” ขณะที่อ่านถึงตรงนี้เราจะรู้สึกว่าผู้พูดไม่ได้โกรธหรือขุ่นเคืองแต่อย่างใด หากแต่รู้สึกซาบซึ้งที่ได้เรียนรู้ และตระหนักรู้ว่า พระพุทธองค์ได้สอนให้เขาเข้าใจความหมายของชีวิตที่เขาแสวงหามากกว่าเดิม
.
สิทธารถะยังรู้สึกด้วยว่า "...พระองค์ก็ได้ประทานบางอย่างที่ล้ำค่ากว่าให้เรา ... พระองค์ได้ประทานสิทธารถะ ตัวเราเองให้กับเรา” เดิมทีเขาคิดว่ารู้เรื่องคำสอนมากพอสมควรแล้ว แต่ไม่ใช่เลย สิ่งที่เรียนรู้ใหม่จากคำสอนของพระพุทธเจ้าทำให้เขากลายเป็นสิทธารถะคนใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม
.
--- ภาคสอง -​--
.
สิทธารถะเดินทางเข้าเมือง เขาพบสตรีงามเมืองนางหนึ่งชื่อ กมลา ผู้ช่วยสอนศิลปะแห่งรักแก่เขา และได้แนะนำให้เขาไปพบพ่อค้าใหญ่คนหนึ่ง ผ่านไปไม่กี่ปีสิทธารถะก็กลายเป็นพ่อค้าชั้นนำ
.
เขาสนุกกับธุรกิจ ผู้คนรอบตัว แต่จิตใจและธรรมชาติแท้จริงของเขากลับไม่ได้อยู่ตรงนั้น รู้สึกว่าตัวตนเขาอยู่ห่างไกล...
.
วันเวลาล่วงผ่านไป...สิทธารถะเข้าสู่วัยกลางคน มีฐานะร่ำรวย เขาใช้ชีวิตทางโลกีย์มั่วสุมการพนัน เสพสุรา เป็นนักเลงสกา ความมุ่งมั่นที่จะหลุดพ้น สิ่งต่าง ๆ ที่เคยเรียน การบำเพ็ญภาวนา ความทรงจำกับโควินทะค่อย ๆ ลางเลือนหายไป
.
ค่ำวันหนึ่งขณะเขานั่งในสวนกับกมลา เขาหวนคิดถึงบิดา โควินทะ และพระพุทธเจ้า ผู้ที่เขาไม่เคยลืมเลือน... เขาเริ่มเบื่อหน่ายชีวิต เกรงกลัวความชรา และสัมผัสได้ถึงความไร้สาระของชีวิต เขาตั้งคำถามว่าทำไมเขาจึงละทิ้งครอบครัว โควินทะ และพระพุทธเจ้ามาเพื่อสิ่งเหล่านี้
.
แล้วความรู้สึกสิ้นหวังอย่างสุดขีดนี่เองกระตุ้นให้เขาตัดสินใจละทิ้งทุกอย่าง และเดินทางอีกครั้ง ไม่มีใครรู้ว่าเขาหายไปไหน
 
.
กว่าสิทธารถะจะเอาชนะกิเลสและอุปสรรคต่าง ๆ กาลเวลาก็ล่วงเลยไปนานถึงยี่สิบปี... เขาต้องเจอทั้งการจากเป็นและจากตาย ตระหนักถึงความไม่จีรังทั้งหลายที่ผ่านเข้ามาในช่วงชีวิต
.
เฮอร์มานน์ เฮสเส นักเขียนรางวัลโนเบลชาวเยอรมันเขียนภาคแรกของเรื่อง "สิทธารถะ" (ตั้งแต่ต้นจนถึงตอนที่สิทธารถะแยกจากพระสมณโคดมและโควินทะ)​ ไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๒ (ค.ศ.๑๙๑๙)​ และภาคสองจนจบในฤดูหนาวปีเดียวกันจนถึงปี ๒๔๖๓ (ค.ศ. ๑๙๒๐) เขากล่าวว่า เมื่อเขียนเรื่องนี้จบก็ไม่อาจเขียนหนังสือต่อไปได้สักพัก เพราะได้ถ่ายทอดประสบการณ์และทุ่มเทพลังเขียนออกมาจนหมด
.
แอดมินจำได้ว่าเคยอยากอ่าน "สิทธารถะ" เมื่อยังอยู่ในวัยเริ่มทำงานไม่นานเพราะใคร ๆ ก็เอ่ยถึงหนังสือเล่มนี้ แต่แล้วก็อ่านไม่จบสักที คิดว่าคงจะยังเข้าไม่ถึงและไม่สนใจปรัชญาแนวพุทธศาสนา จนมีโอกาสอ่านครั้งแรก เรื่องนี้เป็นเล่มแรกของเฮสเสที่แอดได้อ่านและก็ประทับใจมากจึงไปหาซื้อฉบับภาษาอังกฤษมาลองอ่านดู ผู้แปลจากภาษาเยอรมันเป็นภาษาอังกฤษก็ถ่ายทอดความหมายได้ดี อ่านเข้าใจง่าย ไม่มีศัพท์ปรัชญายากอย่างที่เคยคิดไว้ก่อนอ่าน
.
"สิทธารถะ" สำนวนแปลของอาจารย์สดใสเป็นงานเขียนที่ถ่ายทอดความคิดและความหมายที่เฮสเสต้องการสื่อสารด้วยภาษาที่งดงามอ่อนโยนเข้าใจง่าย ไม่ใช่ว่าใครจะสามารถแปลได้ทุกคน แม้ใครที่อาจจะไม่ได้ศึกษาหรือรู้เรื่องปรัชญาพุทธศาสนามาก่อนเช่นคนอินเดียหรือคนไทยก็ยังจะอ่านเรื่องสิทธารถะได้ด้วยความเข้าใจอย่างดี
.
.
หมายเหตุ
- บทความวิจารณ์หนังสือเล่มนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของทีมแอดมินเพจ
- หนังสือนี้มิได้รับแจกเป็นบรรณาการจากสำนักพิมพ์ และเพจมิได้รับค่าตอบแทนในบทวิจารณ์แต่อย่างใด
#อ่านอีกครั้งก็ยังชอบ #siddhartha
#สิทธารถะ #HermannHesse #เฮอร์มานน์เฮสเศ​ #สดใสขันติวรพงศ์ #วรรณกรรมแปล #ปรัชญาตะวันออก #เคล็ดไทย
โฆษณา