27 ต.ค. 2023 เวลา 12:00 • ประวัติศาสตร์

บรรพบุรุษต้นราชวงศ์จักรี: เรื่องราวที่น่าสนใจ แต่เต็มไปด้วยความคลุมเครือ

ตั้งแต่โบราณมา เมืองไทยมีเรื่องราวต่าง ๆ ที่น่าสนใจ ควรค่าแก่ศึกษาเยอะแยะมากมาย รวมถึงธรรมเนียมที่ถือว่า พระราชประวัติของพระมหากษัตริย์ก่อนเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติในแต่ละพระองค์นั้น เป็นสิ่งที่ไม่นิยมกล่าวถึง มักปกปิดไว้เป็นความลับ…
แม้จะเป็นเช่นนั้นจริง แต่ความลับย่อมไม่มีในโลก ต้องมีบ้างที่เกิดเป็นเสียงลือเสียงเล่าอ้าง อาจเป็นการบอกแบบ “รู้กัน” เฉพาะวงใน จึงไม่แปลกใจว่า ทำไมพระราชประวัติของพระมหากษัตริย์บางพระองค์ถึงมีความคลาดเคลื่อนและคลุมเครือ ซึ่งมีผลอย่างมากต่อการศึกษาทางประวัติศาสตร์ในปัจจุบัน
อาจด้วยเพราะเป็นเรื่อง “ส่วนตัว” จึงไม่กล้าเปิดเผยให้ใครได้รู้ เพราะเกรงว่าจะถูกนำไปเล่าลือกันต่าง ๆ นานา ในทางเสีย ๆ หาย ๆ เช่นเดียวกับเรื่องของวันเกิด ซึ่งเป็นสิ่งหนึ่งที่คนไทยไม่พึงปรารถนาที่จะบอกให้ใครได้ทราบ ดังที่กล่าวไว้เกี่ยวการเฉลิมพระชนมพรรษา ในพระราชนิพนธ์เรื่อง พระราชพิธีสิบสองเดือน ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ความว่า
…วิสัยคนแต่ก่อนย่อมปิดบังวันเดือนปีที่เกิด ด้วยเชื่อว่าผู้ใดรู้วันเดือนปีแล้ว อาจจะไปประกอบการเวทมนตร์ ทำอันตรายได้ต่าง ๆ จึงมิได้ให้ปรากฏเป็นการเฉลิมพระชนมพรรษา…
จนเมื่อเซอร์จอห์น เบาว์ริง ราชทูตผู้ได้รับการแต่งตั้งจากสมเด็จพระราชินีนาถวิกตอเรีย แห่งราชวงศ์แฮโนเวอร์ (House of Hanover) ของสหราชอาณาจักร เดินทางเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรี และเจราจาทำสนธิสัญญา ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่า “สนธิสัญญาเบาว์ริง” ในสยามประเทศ เมื่อปี พ.ศ. 2398 นั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ได้มีพระราชหัตถเลขา (จดหมาย) ถึงเซอร์จอห์น เบาว์ริง เกี่ยวกับความเป็นมาของบรรพบุรุษต้นราชวงศ์จักรี ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่มีการเปิดเผยให้คนนอกได้รับรู้
1
ภาพวาดพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เสด็จออกรับเซอร์จอห์น เบาว์ริง พร้อมด้วยคณะเข้าเฝ้า เพื่อเจริญทางพระราชไมตรี และเจราจาทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีประเทศอังกฤษแลประเทศสยาม หรือสนธิสัญญาเบาว์ริง เมื่อปี พ.ศ. 2398 (ภาพ: มติชนออนไลน์)
ภายหลังก็ได้มีการนำพระราชหัตถเลขาดังกล่าว ไปตีพิมพ์เป็นหนังสือที่มีชื่อว่า “ราชอาณาจักรและราษฎรสยาม” (The Kingdoms and People of Siam) บรรยายถึงความเป็นมาของราชวงศ์จักรี ตลอดจนพระบรมอรรคราชบรรพบุรุษ หรือบรรพบุรุษของพระมหากษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรีไว้ โดยใจความว่า
1
หน้าปกหนังสือราชอาณาจักรและราษฎรชาวสยาม ของเซอร์จอห์น เบาริ่ง ตีพิมพ์เมื่อปี ค.ศ. 1855 (พ.ศ. 2398) ณ กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ สหราชอาณาจักร (ภาพ: Wikipedia)
ต้นตระกูลทางฝ่ายพระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นขุนนางมอญในเมืองหันสวัตตี หรือหงสาวดี ซึ่งรับราชการเป็นทหารของพระเจ้าบุเรนอง เมื่อพระเจ้าบุเรนองสวรรคต เป็นเวลาที่สมเด็จพระนเรศวร ทรงอาศัยสถานการณ์ที่ยุ่งยากในการเลือกผู้สืบราชสมบัติแห่งหงสาวดีที่ใช้เวลานานถึงครึ่งเดือน กวาดต้อนชาวไทยและมอญกลับคืนสู่กรุงศรีอยุธยา พร้อมกับประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นตรงต่อกรุงหงสาวดีอีกต่อไป ซึ่งคนในตระกูลนี้ก็ได้ติดตามสมเด็จพระนเรศวรมาด้วย แล้วได้มาลงหลักปักฐานอาศัยอยู่ในกรุงศรีอยุธยา
7
หลังจากสมัยสมเด็จพระนเรศวร แห่งราชวงศ์สุโขทัย ซึ่งสืบเชื้อสายจากราชวงศ์พระร่วง เป็นต้นไปแล้ว เรื่องราวของตระกูลนี้ก็ได้ขาดหายไป ถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์ แห่งราชวงศ์ปราสาททอง ก็ได้มาปรากฏเป็นสองพี่น้องที่สืบเชื้อสายมาจากตระกูลนี้ ในฐานะผู้ที่พระองค์โปรดปรานที่สุด ถึงกับมีการแต่งตั้งให้ผู้พี่ที่ชื่อว่า “เหล็ก” เป็น “เจ้าพระยาพระคลัง” (ภายหลังเป็น “เจ้าพระยาโกษาธิบดี”) ดูแลเรื่องการต่างประเทศ
3
ภาพวาดเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) (ภาพ: Wikipedia)
ส่วนผู้น้องที่ชื่อว่า “ปาน” หรือ ปาล ได้รับการแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะราชทูตสยามไปฝรั่งเศส เพื่อสานพระราชไมตรี พอกลับมาถึงสยามก็ประจวบกับช่วงที่พี่ชายของเขาได้สิ้นชีวิต สมเด็จพระนารายณ์จึงโปรดให้แต่งตั้งเป็น “เจ้าพระยาพระคลัง” แทน ว่ากันว่า ราชวงศ์จักรีได้สืบสายโลหิตมาจากเจ้าพระยาพระคลัง ผู้เป็นหัวหน้าคณะราชทูตสยามไปฝรั่งเศส ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์ ที่ต่อมาเป็น “เจ้าพระยาโกษาธิบดี”
ภาพวาดเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน / ตรงกลาง) ขณะเดินทางไปถวายพระราชสาส์นเจริญพระราชไมตรีแด่สมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 แห่งฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. 2229 (ภาพ: Missions Etrangeres)
หากไล่เรียงจากชั้นพระราชบิดาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นไปก็จะพบว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก รัชกาลที่ 1 ซึ่งพระองค์ทรงเป็นพระโอรสในสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก หรือพระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี) เจ้ากรมเสมียนตราในกรมมหาดไทย สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง ซึ่งได้สมรสกับบุตรสาวของคหบดีจีนนามว่า “ดาวเรือง” (หรือ หยก)
1
ส่วนสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ก็เป็นบุตรของพระยาราชนิกูล (ทองคำ) ปลัดทูลฉลองกรมมหาดไทย สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง แล้วพระยาราชนิกูล เป็นบุตรของเจ้าพระยาวรวงษาธิราช (ขุนทอง) เสนาบดีกรมคลัง สมัยสมเด็จพระเจ้าเสือ แห่งราชวงศ์บ้านพลูหลวง และเจ้าพระยาวรวงษาธิราช ก็เป็นหนึ่งในบุตรชายของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน)
3
พระราชานุสาวรีย์ สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก บนยอดเขาสะแกกรัง ตำบลอุทัยใหม่ อำเภอเมืองอุทัยธานี จังหวัดอุทัยธานี (ภาพ: Nairobroo)
เท่ากับว่า ราชวงศ์จักรีไม่มีผู้ใดที่มี “เชื้อเจ้า” เลยสักคน เป็นเพียงแค่ “ขุนนาง” ที่มีบรรดาศักดิ์สูง ขณะเดียวกัน ผู้เป็นบรรพบุรุษต้นราชวงศ์จักรีที่กล่าวว่า เป็นขุนนางมอญนั้น เมื่อได้มีการมาสืบและเทียบดูตามประวัติศาสตร์แล้ว พอสันนิษฐานได้ว่า คงจะเป็น “พระยาเกียรติ” หรือไม่ก็ “พระยาราม” สองขุนนางผู้สวามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระนเรศวร เมื่อครั้งประกาศอิสรภาพจากหงสาวดี และเป็นศิษย์ของพระมหาเถรคันฉ่อง
แต่ก็มีบางแหล่งข้อมูลระบุว่า บรรพบุรุษคนแรกของราชวงศ์จักรี คือ พระยาเกียรติ ซึ่งหนึ่งในลูกหลานของพระยาผู้นั้นก็ได้มาแต่งงานกับ “เจ้าแม่วัดดุสิต” ผู้เป็นพระนม (แม่นม) เอกของสมเด็จพระนารายณ์ ที่ถวายการดูแลพระองค์มาแต่ครั้งพระชนมพรรษาได้เพียง 7 เดือน และเป็นมารดาของเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) และเจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน)
ศาลเจ้าแม่วัดุสิต อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (ภาพ: หาอะไรก็เจอ | Chill Search)
สำหรับเจ้าแม่วัดดุสิต ที่อ้างว่าเป็นบรรพบุรุษต้นราชวงศ์จักรีคนสำคัญนั้น เป็นอีกบุคคลหนึ่งที่มีประวัติความเป็นมาค่อนข้างคลุมเครือ เพราะบางแหล่งข้อมูลกล่าวว่า อาจจะเป็น “หม่อมเจ้าบัว” แห่งราชวงศ์สุโขทัย หรือไม่ก็เป็น “หม่อมเจ้าอำไพ” พระราชธิดาในสมเด็จพระนเรศวร หรือสมเด็จพระเอกาทศรถ แห่งราชวงศ์สุโขทัย ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่า เป็นใครกันแน่!?
ประกอบกับหากเจ้าแม่วัดดุสิตมีพระชาติกำเนิดที่สูงจริง จะเป็นไปได้หรือ...ที่พระสวามีเป็นเพียงขุนนางชาวมอญ ในขณะเดียวกันหากพระสวามีเป็นเชื้อพระวงศ์ จำเป็นจะต้องมีศักดิ์เสมอด้วยพระองค์จึงจะมีพระบรมราชานุญาตให้อภิเษกสมรสได้
และหากได้มีการนำกรณีนี้มาเทียบเคียงกับพระราชธรรมเนียมสมัยรัตนโกสินทร์เกี่ยวกับการสมรสของพระราชวงศ์แล้วย่อมไม่แตกต่างกัน เนื่องจากได้มีการระบุไว้อย่างชัดเจนว่า หากเจ้าหญิงองค์ใดจะทำการสมรสกับผู้ที่ไม่ใช่เจ้าในพระราชวงศ์ ต้องกราบถวายบังคมลาออกจากฐานันดรศักดิ์แห่งพระราชวงศ์เสียก่อน ตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการเศกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์ (พ.ศ. 2461) และกฎมนเทียรบาลว่าด้วยการสมรสพระราชวงศ์แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช 2475
บ้างก็ว่า เจ้าแม่วัดดุสิตเป็นบุคคลที่มีความเป็นเจ้า โดยอ้างอิงจากคำตรัสเรียกของสมเด็จพระนารายณ์ เป็นพระนามตามตำแหน่งที่ถือตามธรรมเนียมคนรุ่นก่อน ๆ ซึ่งจะไม่เรียกชื่อกันตรง ๆ กล่าวคือ คำเรียก “เจ้าแม่” หมายถึง เจ้าที่เป็นแม่ ส่วน “วัดดุสิต” หรือ ดุสิต ก็คือที่ประทับของเจ้าแม่ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับวัดดุสิต (ตำบลไผ่ลิง อำเภอพระนครศรีอยุธยา จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในปัจจุบัน)
ซากบางส่วนของเจดีย์วัดดุสิตข้างศาลเจ้าแม่ดุสิต (ภาพ: ศิลปวัฒนธรรม)
ทั้งนี้ทั้งนั้น ในแต่ละหลักฐานที่พอสืบค้นได้ก็ให้การไม่ตรงกัน จึงทำให้ยากที่จะสันนิษฐานประการใด ๆ ได้
แต่ก็ยังสามารถสรุปภาพรวมต่าง ๆ ได้ในระดับหนึ่งว่า ราชวงศ์จักรีอาจจะมีที่มาจากขุนนางชาวมอญผู้หนึ่ง ซึ่งไม่แน่ชัดว่าเป็นพระยาเกียรติ หรือพระยาราม (แต่บางแหล่งอ้างว่าเป็น พระยาเกียรติ) แต่หนึ่งในลูกหลานของพระยาหนึ่งในนั้นได้มาแต่งงานกับเจ้าแม่วัดดุสิต (ที่ไม่ทราบว่ามีตัวตนที่แท้จริงเป็นเช่นไร แต่ก็เป็นบุคคลที่สมเด็จพระนารายณ์ให้ความเคารพนับถือเสมอด้วยพระราชมารดา เพราะเป็นพระนมเอกมาแต่ครั้งทรงพระเยาว์) แล้วได้ให้กำเนิดบุตรที่เป็นเจ้าพระยาโกษาธิบดี ทั้งเหล็กและปาน
เมื่อเจ้าพระยาโกษาธิบดี (เหล็ก) สิ้นชีวิตไป ก็เหลือแต่เจ้าพระยาโกษาธิบดี (ปาน) ต่อมาก็ได้แต่งงานแล้วมีบุตร หนึ่งในนั้นเป็นเจ้าพระยาวรวงษาธิราช (ขุนทอง) หลังจากนั้นเจ้าพระยาวรวงษาธิราชก็ได้แต่งงานแล้วมีบุตร หนึ่งในนั้นเป็นพระยาราชนิกูล (ทองคำ) แล้วเมื่อพระยาราชนิกูลได้แต่งงานแล้วมีบุตร หนึ่งในนั้นก็เป็นพระอักษรสุนทรศาสตร์ (ทองดี) หรือสมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก
แล้วพระอักษรสุนทรศาสตร์ก็ได้มาแต่งงานกับดาวเรือง หรือหยก บุตรสาวของคหบดีจีน แล้วให้กำเนิดบุตร หนึ่งในนั้นเป็น “สมเด็จพระเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก" (ทองด้วง) ซึ่งต่อมาได้ปราบดาภิเษกเป็น “พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก”
ขณะที่ยังเป็นขุนนางก็ได้แต่งงานกับบุตรีตระกูล ณ บางช้าง นามว่า “นาค” (ภายหลังเป็น “สมเด็จพระอมรินทราบรมราชินี”) แล้วได้ให้กำเนิดบุตร หนึ่งในนั้นก็เป็น “ฉิม” หรือ “พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย” ในชั้นต่อมา
หลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เมื่อครั้งเป็น “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร” ได้อภิเษกสมรสกับ “สมเด็จพระเจ้าหลานเธอ เจ้าฟ้าบุญรอด” (ภายหลังเป็น “สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี”) แล้วให้กำเนิดพระโอรส หนึ่งในนั้นเป็น “สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามกุฎสมมติเทววงศ์”
พระวิมานประดิษฐานพระบรมอัฐิและพระอัฐิของสมเด็จพระบรมราชบุพการีชั้นสมเด็จพระบรมอรรคราชบรรพบุรุษแห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ ภายในหอพระธาตุมณเฑียร พระบรมมหาราชวัง มีพระบรมอัฐิ สมเด็จพระปฐมบรมมหาชนก ประดิษฐานอยู่บนพระวิมานกลาง เป็นอาทิ (ภาพ: หนังสือ สถาปัตยกรรม พระบรมมหาราชวัง ๑)
ซึ่งได้เถลิงถวัลยราชสมบัติต่อจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ผู้เป็นพระราชโอรสร่วมพระชนกเดียวกัน แต่ประสูติกับเจ้าจอมมารดาเรียม (“สมเด็จพระศรีสุลาไลย” ในลำดับต่อมา) เป็น “พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว” พระเจ้ากรุงสยาม
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 (ภาพ: Wikipedia)
อนึ่ง คำว่า “จักรี” นามแห่งราชวงศ์ที่สถาปนาโดย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และปกครองกรุงเทพมหานคร อมรรัตรโกสินทร์ มหินทรายุธยา มหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ อุดมราชนิเวศน์มหาสถาน อมรพิมานอวตารสถิต สักกะทัตติยวิษณุกรรมประสิทธิ์ อันเป็นราชธานีนั้น มีที่มาที่ไปในการพิจารณาได้เป็น 2 แนวทางด้วยกัน ประกอบด้วย
  • 1.
    เป็นนามที่สืบเนื่องมาจากราชทินนามและบรรดาศักดิ์ของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เมื่อครั้งดำรงเป็น “เจ้าพระยาจักรี”
  • 2.
    เป็นนามที่สื่อถึงอาวุธหรือเทพศาสตราวุธของพระวิษณุหรือพระนารายณ์ ตามคติศาสนาพราหมณ์-ฮินดูที่ทรงมีจักรและตรีศูล เป็นศาสตราวุธประจำพระหัตถ์ควบกัน เลยมีการนำคำว่า จักร กับ ตรี มารวมกันจนกลายเป็นคำว่า “จักรี”
จากคำว่า “จักรี” นี่เอง ที่ทำให้ตราสัญลักษณ์ประจำราชวงศ์มีลักษณะเป็นรูปตรีศูลสอดอยู่ระหว่างกลางวงจักร
(ภาพ: หนังสือ สถาปัตยกรรม พระบรมมหาราชวัง ๑)
อ้างอิง:
  • กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการเสกสมรสแห่งเจ้านายในพระราชวงศ์ โดย ราชกิจจานุเบกษา (https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/1054628.pdf)
  • กฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสมรสพระราชวงศ์แก้ไขเพิ่มเติม พุทธศักราช ๒๔๗๕ โดย สํานักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (https://www.krisdika.go.th/data/qa/attach/Q12720190312175738.pdf)
  • ปริศนาเจ้าแม่วัดดุสิต ต้นราชวงศ์จักรี “เจ้า” หรือ “สามัญชน”??? โดย ศิลปวัฒนธรรม (https://www.silpa-mag.com/history/article_8207)
  • สืบหาบรรพบุรุษต้นราชวงศ์จักรี ฤๅสืบเชื้อสายมอญ หรือ ราชวงศ์พระร่วง? โดย ศิลปวัฒนธรรม (https://www.silpa-mag.com/history/article_40706)
  • หนังสือ ที่มาของคำว่าจักรี พระราชประวัติ และ พระราชกรณียกิจสังเขป ของ พระมหากษัตริย์ในราชวงศ์จักรี และ เรื่องรัตนโกสินทร์ พิมพ์เป็นอนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ นางมณี พุกกะพันธ์ ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม วันที่ ๑๘ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๒๕
  • หนังสือ พระราชพิธีสิบสองเดือน พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดย สำนักพิมพ์แสงดาว ฉบับพิมพ์ พ.ศ. ๒๕๔๖
#AdminField #ชอบเล่าชอบแชร์แต่ไม่ชอบเป็นคนดีย์
#ราชวงศ์จักรี #โกษาปาน #เจ้าแม่วัดดุสิต
โฆษณา