26 ก.ย. 2023 เวลา 11:20 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ทฤษฎี Dow คือ อะไร

ทฤษฎี Dow หรือ Dow Theory คือ หนึ่งในทฤษฎีทางการเงินที่สำคัญที่สุดซึ่งถูกคิดค้นมานานกว่า 100 ปีที่แล้วโดยนักข่าวชาวอเมริกันที่มีชื่อว่า Charles H. Dow ซึ่งเขาคือหนึ่งในผู้ก่อตั้ง Dow Jones Industrial Average (DJIA) และหนังสือพิมพ์ The Wall Street Journal
Charles H. Dow ไม่ได้บันทึกแนวคิดของเขาเป็นทฤษฎี แต่หลังจากที่เขาเสียชีวิต นักเขียนคนอื่นๆ ได้รวบรวมความคิดของเขาและปรับปรุงมุมมองของเขาในทฤษฎีดาว ปัจจุบันทฤษฎีดาว เป็นหนึ่งในแนวคิดพื้นฐานของการวิเคราะห์ทางเทคนิค (Techical Analysis) ที่ยังคงถูกใช้ในตลาดการเงินอย่างแพร่หลาย รวมไปถึงการวิเคราะห์ในตลาดสกุลเงินดิจิทัลสมัยใหม่อย่าง Cryptocurrency
ทฤษฎี Dow ประกอบด้วยกฎหลัก 6 กฎดังนี้
1) กราฟหรือราคาสินทรัพย์ได้สะท้อนทุกอย่างแล้ว
หลักการทฤษฎีดาวข้อแรกใช้สมมติฐาน Efficient Market Hypothesis ซึ่งกล่าวว่าราคาสินทรัพย์ปัจจุบันได้สะท้อนข้อมูลที่มีอยู่ทั้งหมดในตลาดแล้วไม่ว่าจะเป็นข่าวดีหรือข่าวร้าย ดังนั้นเทรดเดอร์สามารถเฝ้าสังเกตการเคลื่อนไหวของราคาของสินทรัพย์เพื่อทำความเข้าใจว่าตลาดมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวไปในทิศทางใด
ยกตัวอย่างหุ้น IBM ในภาพ
ตามภาพจะเห็นได้ว่า ราคาสินทรัพย์ของหุ้น IBM ได้มีการถูกเทขายลงมาตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2565 แม้จะมีการปรับตัวขึ้นแต่ก็ไม่สามารถทำ New High ได้ เมื่อมีการประกาศผลประกอบการในวันที่ 25 มกราคม 2566 ปรากฎว่าผลกำไรต่อไตรมาศนั้นลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาศที่ 4 ในปีที่แล้ว และผลกำไรต่อปีก็ลดลงเช่นกัน
จากทฤษฎีดาว จึงกล่าวได้ว่า ราคาที่แสดงก่อนที่จะประกาศงบนั้นได้สะท้อนข่าวทุกอย่างแล้ว เพียงแต่ว่าข่าวนั้นยังไม่ถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะนั่นเอง
2) แนวโน้มของตลาด (Market Trends) แบ่งออกเป็น 3 ประเภท
Dow จัดประเภทแนวโน้มตลาดอย่างกว้างๆ ออกเป็น 3 ประเภท ขึ้นอยู่กับระยะเวลาดังนี้
- แนวโน้มหลัก (Primary Trend)
แนวโนมหลักคือแนวโน้มที่กินเวลาหนึ่งปีขึ้นไป
- แนวโน้มรอง (Secondary Trend)
แนวโน้มรองเป็นส่วนหนึ่งของแนวโน้มหลัก แต่เคลื่อนไหวในทิศทางตรงกันข้าม แนวโน้มนี้กินเวลาตั้งแต่ 3 สัปดาห์ถึง 3 เดือน
- แนวโน้มย่อย (Minor Trend)
แนวโน้มย่อยคือการเคลื่อนไหวของราคาที่กินเวลาน้อยกว่า 3 สัปดาห์
3) การเคลื่อนไหวของตลาดแบ่งออกเป็น 3 ระยะ
การเคลื่อนไหวแบบขาขึ้น หรือ ตลาดกระทิง (Bull Market)
ช่วงสะสม (Accumulation // Phase-1)
ช่วงสะสมรู้จักกันอีกชื่อนึงคือ “ช่วงเจ้าเก็บของ” ในช่วงเก็บของนี้ มูลค่าของสินทรัพย์จะยังคงต่ำ ดังนั้นนักลงทุนที่เชื่อมั่นในสินทรัพย์ดังกล่าวจะค่อยๆทยอยซื้อสินทรัพย์เพราะเห็นว่าเป็นจุดที่ราคาต่ำกว่าราคาที่เหมาะสมเพื่อหวังทำกำไรในขาขึ้น
- 3.1 ช่วงปรับตัวขึ้น (Public participation // Phase-2)
ช่วงปรับตัวขึ้นนี้ จะเป็นระยะเวลาที่นักลงทุนรายหรือเทรดเดอร์รายย่อยเริ่มเข้ามาซื้อสินทรัพย์เนื่องจากราคาได้ขึ้นมาและข่าวสารเริ่มแพร่กระจายออกไปถึงสาธารณะแล้ว
- 3.2 ช่วงทำกำไร: (Excess // Phase-3)
หลังจากที่ราคาขึ้นมาได้ซักพักแล้ว ช่วงนี้จะเป็นช่วงที่นักลงทุนรายใหญ่หรือสถาบันเริ่มทยอยขายสินทรัพย์เพื่อทำกำไร ในขณะที่นักลงทุนรายย่อยยังเข้าซื้ออยู่
การเคลื่อไหวในแบบขาลง หรือ ตลาดหมี (Bear Market)
ช่วงปล่อยของ (Distribution // Phase-1)
ในช่วงปล่อยของนี้ เจ้ามือหรือนักลงทุนรายใหญ่จะทยอยขายสินทรัพย์เพื่อทำกำไรจากขาขึ้นที่สินทรัพย์ได้ปรับตัวขึ้นมา ข่าวไม่ดีเกี่ยวกับสินทรัพย์นั้นจะเริ่มถูกปล่อยออกมาแล้ว
ช่วงปรับตัวลง (Public participation // Phase-2)
ตรงกันข้ามกับช่วงปรับตัวขึ้นในตลาดกระทิง — ในช่วงนี้หลังจากเริ่มได้รับข่าวสารที่ไม่ดีนัก นักลงทุนทั่วไปและนักลงทุนรายย่อยจะขายหุ้นออกเพื่อลดการขาดทุนจากสินทรัพย์ที่ได้ปรับตัวลงมา
- 3.3 ช่วงตลาดทิ้ง (Panic Phase// Phase-3)
นักลงทุนหมดความหวังในการปรับฐานหรือการกลับตัวขึ้น จึงส่งผลให้ตลาดมีการเทขายต่อเนื่องจนราคาสินทรัพย์ปรับตัวลงมาอย่างมาก
4) ค่าดัชนีตลาดหรือค่าเฉลี่ยตลาดจะสอดคล้องกัน
ในการคอนเฟิร์มทิศทางของราคาสินทรัพย์นั้น สามารถอ้างอิงค่าดัชนีหรือค่าเฉลี่ยของอุตสหกรรมได้ เช่น หุ้น AAPL มีการปรับตัวขึ้นอย่างตัวเนื่อง เมื่อไปดูค่าเฉลี่ยของกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีทั่วโลก พบว่ามีการปรับตัวขึ้น นอกจากนั้น ดัชนี Dow Jones (US30) ก็ยังปรับขึ้นเช่นกัน ดังนั้นจึงในทางทิศฎีดาวจึงกล่าวได้ว่า ทุกอย่างสอดคล้องกัน
5) Volume เป็นตัวยืนยันทิศทางราคา
การคอนเฟิร์มทิศทางราคาของสินทรัพย์ต้องสอดคล้องกับ Volume หรือปริมาณการซื้อ/ขาย กล่าวคือ หากสินทรัพย์จะเป็นขาขึ้น ต้องมี Volume การซื้อที่มากพอเข้ามายืนยันเทรนด์ขาขึ้น ปริมาณการซื้อที่ต่ำนั้นหมายถึงความอ่อนแอในเทรนด์ขาขึ้น อาจเป็นการเด้งขึ้นเพื่อลงต่อ
ในทางกลับกัน หากมีปริมาณการเทขายอย่างมากผิดปกติและทิศทางราคาก็ปรับลงอย่างต่อเนื่อง เมื่อทิศทางราคาและปริมาณสอดคล้องกัน นั่นแปลว่ามีโอกาสที่สินทรัพย์นั้นจะคอนเฟิร์มเทรนด์ขาลงแล้วจริงๆ ไม่ใช่เป็นการ ลงเพื่อขึ้นต่อ
ยกตัวอย่างกราฟ BNBUSD ด้านล่าง จะเห็นได้กว่า ก่อนที่ราคาจะวิ่งขึ้นไปทำจุดสูงสุด (All Time High) พบว่ามีปริมาณการ (Volume) เข้าซื้อที่เยอะผิดปกติเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า ด้วยเหตุนี้ การคอนเฟิร์ม Volume ขาขึ้น จึงถูกเรียกกันในคำว่า “เจ้าเข้า”
กราฟ BNBUSD Timeframe Day จาก TradingView
6) เทรนด์ของราคาสินทรัพย์จะดำเนินต่อไปเรื่อยๆจนกว่าจะมีการกลับตัว
ทฤษฎีดาวข้อสุดท้ายได้กล่าวไว้ว่า เทรนด์จะดำเนินต่อไปเรื่อยๆจนกว่าจะมีการกลับตัว เช่น หากเป็นขาขึ้นก็จะเป็นขาขึ้นต่อไปเรื่อยๆจนกว่าจะมีสัญญาณการกลับตัว ดังนั้นเงื่อนไขของเทรนด์นั้นมีดังนี้
เงื่อนไขของเทรนด์ขาขึ้น: ราคามีการทำ จุดต่ำสุด (Low) และ จุดสูงสุด (High) ที่สูงขึ้น
เงื่อนไขของเทรนด์ขาลง: ราคามีการทำ จุดต่ำสุด (Low) และ จุดสูงสุด (High) ที่ต่ำลง
กล่าวคือ ในเทรนด์ขาขึ้น ราคาก็จะปรับตัวขึ้นเรื่อยๆ แต่หากเมื่อใดก็ตาม ที่ราคาไม่ทำ จุดสูงสุด(High)ใหม่ และมีทำจุดต่ำสุด (Low) ที่ต่ำลงกว่าเดิม นั่นเป็นการคอนเฟิร์มจุดสิ้นสุดของเทรนด์ขาขึ้นแล้ว และหากกราฟมีการทำ Lower Higher และ Lower Low นั่นคือสัญญาณว่าราคาสินทรัพย์ได้กลับตัวเป็นขาลงแล้วนั่นเอง
เป้าหมายของการศึกษาทฤษฎีดาว
เป้าหมายโดยรวมของการศึกษาทฤษฎีดาวคือการที่ผู้ศึกษาสามารถระบุแนวโน้มหลัก (Primary Trend) พร้อมกับการใช้สัญญาณต่างๆ เช่น Volume หรือ สัญญาณการกลับตัว เข้าร่วมประกอบการตัดสินใจในการเข้าเทรดหรือเข้าซื้อสินทรัพย์ดังกล่าวได้ เช่น หากเรามองว่าสินทรัพย์นั้นได้ปรับราคาลงมามากแล้วและเริ่มมีสัญญาณกลับตัว มีปริมาณการซื้อขายที่มากผิดปกติ สอดคล้องกับราคาที่ได้ปรับตัวขึ้นมาแล้วบ้าง เราสามารถนำทฤษฎีนี้มาประกอบการตัดสินใจในการหาจุดเข้าซื้อที่เห็นว่าเหมาะสมได้
ทฤษฎีดาว นั้นมีความคล้ายคลึงกันกับ ทฤษฎี Wyckoff Logic ด้วยการสอนวิธีวิเคราะห์ภาพรวมของการเคลื่อนไหวในตลาดได้เป็นอย่างดี
โฆษณา