3 ต.ค. 2023 เวลา 06:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

Ep. 13 | Big Five: ประวัติการค้นพบโครงสร้างบุคลิกภาพของมนุษย์

👉
ทั้งหมดเริ่มจากคำถามที่ว่า บุคลิกภาพ (personality) ของมนุษย์มีทั้งหมดกี่แบบ?
ซึ่งคำตอบที่นักจิตวิทยาให้การยอมรับในวงกว้าง (และเป็นที่ถกเถียงกัน) คือ 5 ลักษณะใหญ่ ซึ่งเรียกรวมกันว่า Big Five
.
🧑‍🦰 1. Big Five: บุคลิกภาพ 5 ด้านของมนุษย์
กรอบแนวคิดบุคลิกภาพ Big Five (Digman, 1990; John et al., 2008) เกิดจากความพยายามในการจัดหมวดหมู่บุคลิกภาพ เทียบได้กับการจัดกลุ่มสิ่งมีชีวิตบนโลกโดยแบ่งเป็น kingdom (เช่น อาณาจักรสัตว์ อาณาจักรพืช) เพื่อช่วยในการศึกษาและทำความเข้าใจอย่างเป็นระบบ (Eysenck, 1991)
.
🌟 1.1. จุดเด่นของ Big Five
จุดสำคัญที่ทำให้ Big Five แตกต่างจากกรอบแนวคิดบุคลิกภาพอื่น ๆ (เช่น MBTI) คือ ความครอบคลุม (comprehensiveness) หรือความสามารถในการอธิบายบุคลิกภาพของมนุษย์ได้อย่างครบถ้วน
นั่นคือ แทนที่เราจะใช้มากกว่า 1 กรอบแนวคิด (เช่น MBTI ผสมกับ emotional intelligence เพราะ MBTI ไม่ได้พูดถึงบุคลิกภาพที่เกี่ยวกับอารมณ์; Furnham, 1996) เราสามารถใช้ Big Five เพียงกรอบแนวคิดเดียว เพื่ออธิบายบุคลิกภาพของมนุษย์ให้ครบทุกด้าน (เช่น บุคลิกภาพด้านอารมณ์ การเข้าสังคม การทำงาน เป็นต้น)
.
🐣 2. กำเนิด Big Five
.
Big Five เกิดจากการศึกษาตามหลัก lexical approach (Image by fabrikasimf on Freepik)
🅰️ 2.1. Lexical Approach
แม้ว่าการจัดกลุ่มบุคลิกภาพจะเหมือนกับการจัดกลุ่มสิ่งมีชีวิตบนโลก แต่ก็มีความท้าทายเฉพาะตัว นั่นคือ บุคลิกภาพเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ ซึ่งทำให้ยากต่อการศึกษา
วิธีหนึ่งที่นักจิตวิทยาจัดการกับปัญหานี้ ก็คือ ศึกษาบุคลิกภาพผ่านภาษา
Lexical approach เป็นการศึกษาบุคลิกภาพผ่านภาษา โดยเชื่อว่า บุคลิกภาพถูกสะท้อนอยู่ในภาษาที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ดังนั้น การศึกษาภาษาจะช่วยให้เราค้นพบหมวดหมู่ของบุคลิกภาพได้ (Ashton & Lee, 2005)
.
🌄 2.2. การศึกษาในช่วงต้น: การรวบรวมคำบรรยายบุคลิกภาพ
การศึกษาบุคลิกภาพบนหลักของ lexical approach แรก ๆ ที่มักถูกยกขึ้นมา คือ งานของ Allport และ Odbert (1936) ซึ่งรวบรวมและจัดหมวดหมู่คำที่อธิบายลักษณะของมนุษย์จากพจนานุกรม จำนวน 18,000 คำ เป็น 4 หมวด
(1) คำบรรยายบุคลิกภาพ (เช่น ชอบเข้าสังคม, ก้าวร้าว)
(2) คำบรรยายภาวะ (เช่น ชื่นชมยินดี, ร่าเริง)
(3) คำบรรยายการตัดสินทางสังคม (เช่น น่าเชื่อถือ, น่ารำคาญ)
(4) คำบรรยายลักษณะทางกาย ความสามารถ พรสรรค และอื่น ๆ ที่ไม่เข้าพวกใด ๆ ก่อนหน้านี้
แม้ว่า งานของ Allport และ Odbert จะไม่ได้บอกว่า บุคลิกภาพของมนุษย์มีกี่ประเภท แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ชี้ให้เห็นว่า ภาษาเป็นแหล่งข้อมูลในการศึกษาบุคลิกภาพของมนุษย์ได้
.
🌤️ 2.3. การศึกษาในเวลาต่อมา: การค้นพบ 5 ลักษณะ
ในเวลาต่อมา Cattell (1943) ต่อยอดจากงานของ Allport และ Odbert (1936) โดยคัดเลือกคำบรรยายบุคลิกภาพจำนวน 4,500 คำ จากงานของ Allport และ Odbert มาวิเคราะห์ทางทฤษฎีและสถิติ และพบว่า คำเหล่านี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 12 กลุ่ม ซึ่ง Cattell ได้รวมเข้าในกรอบแนวคิด 16 Personality Factors (Cattell et al., 1970) ของตัวเอง
แม้ว่างานของ Cattell ได้สร้างความคืบหน้าในการจัดหมวดหมู่ของบุคลิกภาพมากขึ้น แต่ความพยายามที่จะทำซ้ำ (replicate) ไม่พบหลักฐานสนับสนุนข้อสรุป 12 หรือ 16 กลุ่มของ Cattell
ในทางตรงกันข้าม นักวิจัยกลุ่มต่าง ๆ (เช่น Fiske, 1949; Norman, 1963; Tupes & Christal, 1992) พบว่า เมื่อวิเคราะห์คำบรรยายบุคลิกภาพในทางสถิติแล้ว คำเหล่านี้มักจับกลุ่มกันเป็น 5 กลุ่ม ซึ่งเป็นรากฐานของ Big Five ในปัจจุบัน ซึ่งได้แก่
(1) Extraversion/surgency ซึ่งสะท้อนถึงบุคลิกภาพในการเข้าสังคม (เช่น กล้าแสดงออก, ชอบคุย)
(2) Agreeableness ซึ่งสะท้อนถึงบุคลิกภาพในการปฏิบัติกับคนอื่น (เช่น ไว้เนื้อเชื่อใจ, ใจดี)
(3) Conscientiousness ซึ่งสะท้อนบุคลิกภาพในการทำงาน (เช่น เป็นระเบียบ, มีความรับผิดชอบ)
(4) Neuroticism (-) หรือ emotional stability (+) ซึ่งสะท้อนถึงบุคลิกภาพเกี่ยวกับอารมณ์ด้านลบ (เช่น ใจร้อน, อารมณ์แปรปรวน)
(5) Openness to experience/intellect ซึ่งสะท้อนถึงบุคลิกภาพในการเข้าหาสิ่งใหม่ ๆ (เช่น รอบรู้, ช่างฝัน)
Goldberg (1981) นักจิตวิทยาชาวอเมริกัน ให้ชื่อเรียกทั้ง 5 ลักษณะว่า “Big Five” ไม่ใช่เพื่อแสดงถึงความยิ่งใหญ่ของกรอบแนวคิด แต่เพื่อชี้ให้เห็นว่า ทั้ง 5 กลุ่มเป็นลักษณะบุคลิกภาพที่มีขนาดใหญ่ซึ่งใช้ในการทำความเข้าใจบุคลิกภาพของมนุษย์ได้ในระดับเบื้องต้น เปรียบได้กับ kingdom ในทางชีววิทยาซึ่งเป็นกรอบในการทำความเข้าใจสิ่งมีชีวิตบนโลกแบบคร่าว ๆ ก่อนจะลงลึกไปจนถึง species
.
FFM เกิดจากการศึกษาแบบทดสอบบุคลิกภาพ (รูป: Image by Freepik)
📏 2.4. Five Factor Model (FFM): การค้นพบผ่านแบบทดสอบบุคลิกภาพ
บางครั้ง FFM เป็นคำที่ใช้เรียกแทน Big Five (Pace & Brannick, 2010)
ในขณะที่นักจิตวิทยาส่วนหนึ่งกำลังศึกษาบุคลิกภาพผ่านภาษา ยังมีนักจิตวิทยาอีกกลุ่มที่พยายามจัดตั้งกรอบแนวคิดเพื่อใช้ในการทดสอบบุคลิกภาพ
ในสมัย ช่วง ค.ศ. 1930 ถึง 1960 แบบทดสอบบุคลิกภาพ (personality test) ต่าง ๆ ประเมินบุคลิกภาพที่มีความแตกต่างกัน และดูเหมือนจะไม่มีใครซ้ำกับใคร ซึ่งทำให้ยากต่อการรวบรวมองค์ความรู้ทางบุคลิกภาพให้เป็นหนึ่งเดียวกัน (McCrae & John, 1992)
ผลจากความพยายามในการวิเคราะห์แบบทดสอบบุคลิกภาพต่าง ๆ ชี้ให้เห็นว่า มี 2 ลักษณะที่หลาย ๆ แบบทดสอบวัดเหมือนกัน คือ extraversion และ neuroticism ซึ่งถูกเรียกรวมกันว่า “Big Two” (Wiggins, 1968)
ในช่วง ค.ศ. 1980, McCrae และ Costa (เช่น 1989) พัฒนาแบบทดสอบ NEO-PI ซึ่งวัด Big Two และ openness to experience ซึ่งเป็นลักษณะที่ Costa และ McCrae (1976) เห็นว่าควรเพิ่มเข้ามา เพื่อประเมินบุคลิกภาพได้อย่างครบถ้วน
ต่อมา McCrae และ Costa (Costa et al., 1991) เห็นว่า สิ่งที่ NEO-PI วัดมีความคล้ายกับ Big Five แต่ขาด agreeableness และ conscientiousness ไป จึงได้ปรับปรุง NEO-PI เพื่อให้วัดบุคลิกภาพได้ครบทั้ง 5 ลักษณะตาม Big Five และกลายมาเป็นต้นกำเนิดของ FFM และเป็นจุดที่ Big Five ซึ่งมีต้นกำเนิดจากการศึกษาภาษาและ FFM ซึ่งเกิดจากการศึกษาแบบทดสอบบุคลิกภาพมาบรรจบกัน (McCrae & John, 1992)
ดังนั้น ในปัจจุบัน Big Five และ FFM จึงมักถูกเรียกแทนกัน
.
🤔 2.5. ความแตกต่างระหว่าง Big Five และ FFM
แม้ว่า Big Five และ FFM จะถูกเรียกแทนกัน แต่ทั้ง 2 กรอบแนวคิดก็มีความแตกต่างกัน คือ Big Five ไม่ใช่กรอบแนวคิดเชิงทฤษฎี (atheoretical) เพราะเป็นการค้นพบโดยไม่มีทฤษฎีชี้นำ (John & Robins, 1993) ในขณะที่ FFM เป็นกรอบแนวคิดเชิงทฤษฎี (theoretical) ซึ่งกำหนดสมมุติฐานเกี่ยวกับบุคลิกภาพของมนุษย์ไว้ดังนี้
(1) บุคลิกภาพแบ่งออกเป็น 5 ลักษณะใหญ่ ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็นลัษณะย่อย ๆ ได้ (เช่น extraversion แบ่งออกเป็น assertiveness, friendliness)
(2) บุคลิกภาพมีความเสถียรทางเวลา (stable) นั่นคือ มีการเปลี่ยนแปลงตามเวลาน้อยมาก
(3) บุคลิกภาพมีฐานมาจากพันธุกรรม
(4) บุคลิกภาพเกิดจากการทำงานบางอย่าง (เช่น ระบบสมอง) ซึ่งยังไม่ทราบแน่ชัด
(5) เราสามารถอธิบายมนุษย์ได้ด้วยคะแนนจากแบบทดสอบบุคลิกภาพ ทั้งคะแนนในระดับใหญ่ทั้ง 5 ลักษณะ และลักษณะย่อย (McCrae & Costa, 2003)
.
Big Five สามารถใช้เป็นแนวทางในการรวบรวมและทำความเข้าใจงานวิจัยที่มีอยู่ได้ (รูป: Image by tonodiaz on Freepik)
💪 3. ประโยชน์ของ Big Five
คุณค่าหลักของ Big Five หรือ FFM ที่เห็นได้ชัด คือ การรวบรวมองค์ความรู้ที่มีอยู่กระจัดกระจายเข้าด้วยกัน ซึ่งช่วยสร้างความเข้าใจใหม่ ๆ เกี่ยวกับบุคลิกภาพ
ยกตัวอย่างเช่น งานวิจัยภาวะผู้นำ (leadership) ซึ่งในสมัยก่อน ไม่พบความสัมพันธ์ระหว่างบุคลิกภาพและภาวะผู้นำ จนนำไปสู่ข้อสรุปว่า บุคลิกภาพไม่มีผลต่อการเป็นผู้นำ (Mann, 1959; Stogdill, 1948)
อย่างไรก็ตาม หลังการค้นพบ Big Five, Judge และคณะ (2002) ทำการวิเคราะห์ข้อมูลจากงานวิจัยที่มีอีกครั้ง โดยในครั้งนี้ นักวิจัยใช้กรอบแนวคิด Big Five ในการจัดกลุ่มบุคลิกภาพก่อนนำไปวิเคราะห์ ซึ่งแตกต่างจากงานวิจัยก่อนหน้าซึ่งวิเคราะห์บุคลิกภาพเป็นรายตัวตามชื่อที่ผู้เก็บข้อมูลเป็นคนกำหนด ซึ่งมีโอกาสที่บุคลิกภาพเดียวกันจะถูกตั้งชื่อต่างกันและถูกวิเคราะห์แยกกัน และทำให้การวิเคราะห์ขาดประสิทธิภาพได้
Judge และคณะค้นพบว่า บุคลิกภาพกับภาวะผู้นำมีความสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญ แสดงให้เห็นว่าบุคลิกภาพมีความสำคัญต่อการเป็นผู้นำ
งานวิจัยนี้เป็นตัวอย่างที่ทำให้เห็นถึงความสำคัญของ Big Five ในการรวบรวมความรู้และเป็นกรอบในการต่อยอดความเข้าใจทางจิตวิทยา
.
ข้อถกเถียงหลักเกี่ยวกับ Big Five คือ ใช้กับคนทั่วโลกไหม? (รูป: Image by jcomp on Freepik)
🤨 4. ข้อถกเถียงเกี่ยวกับ Big Five: Big Five ใช้กับคนทั้งโลกได้ไหม?
แม้ว่า Big Five จะเป็นก้าวสำคัญในการศึกษาบุคลิกภาพและเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง แต่กรอบแนวคิดนี้ก็มีข้อจำกัดและได้รับการวิพากษ์วิจารณ์เช่นกัน
หนึ่งในประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงมากที่สุดเกี่ยวกับ Big Five คือ 5 ลักษณะเพียงพอต่อการอธิบายบุคลิกภาพของมนุษย์ทั้งหมดบนโลกหรือไม่
ข้อถกเถียงนี้เกิดมาจากการที่ต้นกำเนิด Big Five เป็นการศึกษาภาษาอังกฤษภาษาเดียว ซึ่งทำให้เกิดข้อสงสัยว่า ทั้ง 5 ลักษณะจะใช้กับวัฒนธรรมอื่นไหม
.
👍 4.1. ข้อมูลสนับสนุน
ทั้งนี้ มีงานวิจัยที่สนับสนุนความครอบคลุมของ Big Five โดยการวิเคราะห์คะแนนของ NEO-PI จากกลุ่มตัวอย่างในประเทศอื่น ๆ นอกจากอเมริกา (เช่น เยอรมัน โปรตุเกส เกาหลี ญี่ปุ่น) ซึ่งพบว่า คะแนน NEO-PI ยังแยกได้เป็น 5 กลุ่มเหมือนเดิม (McCrae & Costa, 1997) แสดงให้เห็นว่า Big Five สามารถอธิบายบุคลิกภาพได้ ไม่ใช่กับแค่ผู้ใช้ภาษาอังกฤษ แต่คนในส่วนอื่น ๆ ของโลกด้วย
.
👎 4.2. ข้อมูลโต้แย้ง
อย่างไรก็ตาม มีงานวิจัยอีกส่วนหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่า Big Five อาจไม่ใช่กรอบแนวคิดที่จะสามารถใช้กับคนทั่วโลกได้ เนื่องจาก
(1) การวิเคราะห์คำบรรยายบุคลิกภาพในภาษาอื่น ๆ พบว่า มีเพียง 3 ลักษณะ (extraversion, agreeableness, conscientiousness) ที่ในทุกภาษามีเหมือนกัน ส่วนอีก 2 จาก 5 ลักษณะ (neuroticism, opennness to experience/intellect) มักพบบ้างไม่พบบ้าง (De Raad et al., 2010)
(2) การวิเคราะห์คำบรรยายบุคลิกภาพในภาษาอังกฤษและภาษาอื่น ๆ พบว่า การแบ่งบุคลิกภาพออกเป็น 6 ลักษณะ (กรอบแนวคิด HEXACO) สามารถอธิบายบุคลิกภาพมนุษย์ได้ดีกว่า 5 ลักษณะ (Ashton et al., 2004; Lee & Ashton, 2008)
(3) งานวิจัยตามหลัก lexical approach มักคัดเลือกคำบรรยายที่เป็นการตัดสินทางสังคม (เช่น “อันตราย” “ชั่วร้าย”) ออกจากการวิเคราะห์ ทำให้กรอบแนวคิด Big Five ขาดลักษณะบางอย่างไป (เช่น บุคลิกภาพด้านมืด*) ซึ่งสมมุติฐานนี้ถูกสนับสนุนด้วยงานวิจัยที่ใส่คำเหล่านี้เข้าไปในการวิเคราะห์ ซึ่งพบว่า บุคลิกภาพแบ่งออกได้เป็น 7 แทน 5 ลักษณะ (Waller & Zavala, 1993)
งานวิจัยทั้งหมดชี้ให้เห็นว่า การอธิบายบุคลิกภาพของมุนษย์ด้วย 5 ลักษณะอาจไม่เพียงพอ
.
🤓 5. บทสรุป
Big Five/FFM เป็นกรอบแนวคิดในการอธิบายบุคลิกภาพของมนุษย์อย่างเป็นระบบ ซึ่งเกิดการศึกษาภาษาและแบบทดสอบบุคลิกภาพ และระบุว่า บุคลิกภาพของมนุษย์สามารถแบ่งได้เป็น 5 ลักษณะใหญ่
Big Five/FFM สามารถใช้ในการจัดกลุ่มความรู้เกี่ยวกับบุคลิกาภาพ เพื่อสร้างความเข้าใจทางจิตวิทยาใหม่ ๆ ได้
แม้ว่า Big Five/FFM จะมีประโยชน์ต่อการศึกษาบุคลิกภาพ แต่นักวิจัยก็ยังถกเถียงกันว่า 5 ลักษณะตามที่ระบุในกรอบแนวคิดเพียงพอต่อการอธิบายบุคลิกภาพของมนุษย์ทั่วโลกหรือไม่
.
⚡ หมายเหตุ
* ผู้ที่สนใจอ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับบุคลิกภาพด้านมืด (dark trait) สามารถอ่านได้ใน Eps. 2 ถึง 4
.
#psychology #individualdifferences #personality #bigfive #bigfiveofpersonality #fivefactormodel #fivefactormodelofpersonality #ffm #extraversion #agreeableness #conscientiousness #neuroticism #emotionalstability #openness #opennesstoexperience #opennessintellect #จิตวิทยา #บุคลิกภาพ
.
📃 อ้างอิง
Allport, G. W., & Odbert, H. S. (1936). Trait-names: A psycho-lexical study. Psychological Monographs, 47(1), i–171. https://doi.org/10.1037/h0093360
Ashton, M. C., Perugini, M., de Vries, R. E., Boies, K., Lee, K., Szarota, P., di Blas, L., & De Raad, B. (2004). A six-factor structure of personality-descriptive adjectives: Solutions from psycholexical studies in seven languages. Journal of Personality and Social Psychology, 86(2), 356–366. https://doi.org/10.1037/0022-3514.86.2.356
Ashton, M. C., & Lee, K. (2005). A defence of the lexical approach to the study of personality structure. European Journal of Personality, 19(1), 5–24. https://doi.org/10.1002/per.541
Cattell, R. B. (1943). The description of personality: basic traits resolved into clusters. The Journal of Abnormal and Social Psychology, 38(4), 476–506. https://doi.org/10.1037/h0054116
Cattell, R. B., Eber, H. W., & Tatsuoka, M. M. (1970). Handbook for the Sixteen Personality Factor Questionnaire (16PF). IPAT.
Costa, P. T., & McCrae, R. R. (1976). Age differences in personality structure: A cluster analytic approach. Journal of Gerontology, 31(5), 564–570. https://doi.org/10.1093/geronj/31.5.564
Costa, P. T., & McCrae, R. R. (1989). The NEO-PI/NEO-FFI manual supplement. Psychological Assessment Resources.
Costa, P. T., McCrae, R. R., & Dye, D. A. (1991). Facet scales for agreeableness and conscientiousness: A revision of the NEO Personality Inventory. Personality and Individual Differences, 12(9), 887–898. https://doi.org/10.1016/0191-8869(91)90177-D
De Raad, B., Barelds, D. P. H., Levert, E., Ostendorf, F., Mlačić, B., Blas, L. di, Hřebíčková, M., Szirmák, Z., Szarota, P., Perugini, M., Church, A. T., & Katigbak, M. S. (2010). Only three factors of personality description are fully replicable across languages: A comparison of 14 trait taxonomies. Journal of Personality and Social Psychology, 98(1), 160–173. https://doi.org/10.1037/a0017184
Digman, J. M. (1990). Personality structure: Emergence of the five-factor model. Annual Review of Psychology, 41(1), 417–440. https://doi.org/10.1146/annurev.ps.41.020190.002221
Eysenck, H. J. (1991). Dimensions of personality: 16, 5 or 3? Criteria for a taxonomic paradigm. Personality and Individual Differences, 12(8), 773–790. https://doi.org/10.1016/0191-8869(91)90144-Z
Fiske, D. W. (1949). Consistency of the factorial structures of personality ratings from different sources. The Journal of Abnormal and Social Psychology, 44(3), 329–344. https://doi.org/10.1037/h0057198
Furnham, A. (1996). The big five versus the big four: The relationship between the Myers-Briggs Type Indicator (MBTI) and NEO-PI five factor model of personality. Personality and Individual Differences, 21(2), 303–307. https://doi.org/10.1016/0191-8869(96)00033-5
Goldberg, L. (1981). Language and individual differences: The search for universals in personality lexicons. In L. Wheeler (Ed.), Review of personality and social psychology (pp. 141–165). Sage Publication.
Judge, T. A., Bono, J. E., Ilies, R., & Gerhardt, M. W. (2002). Personality and leadership: A qualitative and quantitative review. Journal of Applied Psychology, 87(4), 765–780. https://doi.org/10.1037//0021-9010.87.4.765
John, O. P., Naumann, L. P., & Soto, C. J. (2008). Paradigm shift to the integrative Big Five trait taxonomy: History, measurement, and conceptual issues. In O. P. John, R. W. Robins, & L. A. Pervin (Eds.), Handbook of personality: Theory and research (pp. 114–158). The Guilford Press.
John, O. P., & Robins, R. W. (1993). Gordon Allport: Father and critic of the Five-Factor Model. In K. H. Craik, R. Hogan, & R. N. Wolfe (Eds.), Fifty years of personality psychology (pp. 215–236). Plenum Press. https://doi.org/10.1007/978-1-4899-2311-0_16
Lee, K., & Ashton, M. C. (2008). The HEXACO personality factors in the indigenous personality lexicons of English and 11 other languages. Journal of Personality, 76(5), 1001–1054. https://doi.org/10.1111/j.1467-6494.2008.00512.x
Mann, D. R. (1959). A review of the relationships between personality and performance in small groups. Psychological Bulletin, 56(4), 241–270. https://doi.org/10.1037/h0044587
McCrae, R. R., & Costa, P. T., (1997). Personality trait structure as a human universal. American Psychologist, 52(5), 509–516. https://doi.org/10.1037/0003-066X.52.5.509
McCrae, R. R., & Costa, P. T., (2003). Personality in adulthood: A five-factor theory perspective (2nd ed.). Guilford Press. https://doi.org/10.4324/9780203428412
McCrae, R. R., & John, O. P. (1992). An introduction to the five-factor model and its applications. Journal of Personality, 60(2), 175–215. https://doi.org/10.1111/j.1467-6494.1992.tb00970.x
Norman, W. T. (1963). Toward an adequate taxonomy of personality attributes: Replicated factor structure in peer nomination personality ratings. The Journal of Abnormal and Social Psychology, 66(6), 574–583. https://doi.org/10.1037/h0040291
Pace, V. L., & Brannick, M. T. (2010). How similar are personality scales of the “same” construct? A meta-analytic investigation. Personality and Individual Differences, 49(7), 669–676. https://doi.org/10.1016/j.paid.2010.06.014
Stogdill, R. M. (1948). Personal factors associated with leadership: A survey of the literature. The Journal of Psychology, 25(1), 35–71. https://doi.org/10.1080/00223980.1948.9917362
Tupes, E. C., & Christal, R. E. (1992). Recurrent personality factors based on trait ratings. Journal of Personality, 60(2), 225–251. https://doi.org/10.1111/j.1467-6494.1992.tb00973.x
Waller, N. G., & Zavala, J. D. (1993). Evaluating the Big Five. Psychological Inquiry, 4(2), 131–135. https://doi.org/10.1207/s15327965pli0402_13
Wiggins J. S. (1968). Personality structure. Annual Review of Psychology, 19, 93–350. https://doi.org/10.1146/annurev.ps.19.020168.001453
.
ภาพปก: Image by rawpixel.com on Freepik

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา