10 ต.ค. 2023 เวลา 06:00 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

Ep. 14 | Extraversion: บุคลิกภาพการเข้าสังคม

👉
เมื่อพูดถึงบุคลิกภาพ ลักษณะที่คนมักพูดถึงเป็นอันดับแรก ๆ คือ introversion-extroversion หรือที่เรียกรวมกันว่า extraversion
Extraversion มีประวัติย้อนกลับไปถึงสมัยกรีกโบราณ (รูป: Image by Freepik)
⌛ 1. ประวัติ Extraversion
Extraversion เป็นบุคลิกภาพที่มีประวัติยาวนาน สามารถย้อนกลับไปได้ในสมัยกรีกโบราณที่มีการพูดถึงความแตกต่างระหว่างบุคคล ซึ่งหลายลักษณะมีความสอดคล้องกับ extraversion ในปัจจุบัน ในช่วงปี ค.ศ. 1920 Carl Jung นักจิตวิทยาชาวสวิตเซอร์แลนด์และเจ้าของทฤษฎีต้นแบบ MBTI ให้กำเนิดคำว่า "extraversion" และ "introversion" ทึ่ใช้กันในปัจจุบัน และในช่วงปี ค.ศ. 1940-1950 Hans Eysenck นักจิตวิทยาชาวอังกฤษทำการศึกษาซึ่งแสดงให้เห็นว่า extraversion เป็นหนึ่งในบุคลิกภาพพื้นฐานของมนุษย์ (Wilt & Revelle, 2009)
ในปัจจุบัน extraversion ถือเป็น 1 ใน 5 มิติหลักของบุคลิกภาพ ภายใต้กรอบแนวคิด Five Factor Model (FFM; McCrae & Costa, 2003) และเป็นลักษณะที่พบได้ในผู้คนจากหลายวัฒนธรรมทั่วโลก (De Raad et al., 2010)
➕ 2. Extraversion คืออะไร?
แม้ว่านักจิตวิทยาจะให้การยอมรับ extraversion ในฐานะบุคลิกภาพขั้นพื้นฐาน แต่ก็ลักษณะย่อยที่ประกอบขึ้นเป็น extraversion ยังคงเป็นที่ถกเถียงกัน (Watson & Clark, 1997; Wilt & Revelle, 2016)
อย่างไรก็ตาม งานวิจัยในช่วงหลายปีที่ผ่านมาชี้ให้เห็นว่า extraversion เป็นบุคลิกภาพที่สะท้อนถึงพฤติกรรมการเข้าหาสังคม (Smillie et al., 2019) ซึ่งประกอบด้วยอย่างน้อย 4 ลักษณะย่อย (DeYoung et al., 2007; Quilty et al., 2014; Soto & John, 2017; Watson & Clark, 1997; Watson et al., 2015; Wilmot et al., 2019) ได้แก่
(1) Assertiveness หรือการเข้าหาผู้อื่นแบบผู้นำ เช่น กล้าแสดงออก (+), มีความเป็นผู้นำ (+), หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า (-), ชอบเป็นผู้ตาม (-)
(2) Sociability หรือการเข้าหาคนอื่นแบบเพื่อน เช่น ชอบทำความรู้จักคนอื่น (+), ชอบงานเลี้ยง (+), ขี้อาย (-), ชอบอยู่คนเดียว (-)
(3) Positive emotionality หรืออารมณ์เชิงบวก เช่น ร่าเริง (+), มองโลกในแง่บวก (+)
(4) Excitement seeking หรือการเข้าหาความตื่นเต้นเร้าใจ เช่น ชอบเสียงดนตรีดัง ๆ (+), ชอบกิจกรรมหวาดเสียว (เช่น เล่นโรลเลอร์โคสเตอร์) (+), หลีกเลี่ยงความเสี่ยง (-)
การที่ extraversion สามารถแยกได้เป็น 4 องค์ประกอบ หมายความว่า คนที่มีคะแนน extraverson สูงอาจมีคะแนนองค์ประกอบสูงทั้งหมดหรือเพียงบางตัว
เช่น กล้าแสดงออก (assertiveness สูง) ร่าเริง (positive emotionality สูง) และชอบความตื่นเต้น (sensation seeking สูง) แต่ชอบอยู่คนเดียว (sociability น้อย) ก็ได้
ดังนั้น ถ้าใครบอกว่าเป็น introvert (คะแนน extraversion น้อย) เพราะชอบอยู่คนเดียว อาจต้องถามต่อว่า กล้าแสดงออก อารมณ์ดี และชอบความตื่นเต้นมากขนาดไหนด้วย ถึงจะสามารถบอกได้ว่าเป็น introvert หรือ extrovert ที่แท้จริง
จะรู้ได้ยังไงว่าใครเป็น introvert หรือ extrovert (รูป: Image by Freepik)
📐 3. เราเป็น Introvert หรือ Extrovert?
ในปัจจุบัน extraversion ถูกมองว่าเป็นมิติ (dimension) มากกว่าประเภท (type) ของบุคลิกภาพ นั่นคือ ตามมุมมองนี้ ทุกคนมีระดับ extraversion ที่แตกต่างกัน และไม่มีน้อยคนที่จะเป็น “introvert” หรือ “extrovert” (มีระดับ extraversion ที่ต่ำสุดและสูงสุด)
การทดสอบระดับ extraversion สามารถทำได้ด้วยการตอบแบบทดสอบบุคลิกภาพ (personality test) ต่าง ๆ ซึ่งแต่ละแบบทดสอบมีการกำหนดลักษณะย่อยของ extraversion ที่แตกต่างกันไป ทั้งนี้ เราสามารถเลือกทดสอบ extraversion โดยพิจารณาจากลักษณะย่อยที่เราสนใจได้
ในบทความนี้ จะพูดถึง 4 แบบทดสอบ extraversion ที่ใช้ในการศึกษาทางจิตวิทยา
.
📝 3.1. NEO-PI
NEO-PI (McCrae & Costa, 2010) เป็นแบบทดสอบบุคลิกภาพตามกรอบแนวคิด FFM ประเมิน 6 ลักษณะย่อยของ extraversion ได้แก่
(1) Warmth ซึ่งประเมินด้วยข้อคำถาม (item) เช่น “ฉันชอบคนส่วนใหญ่ที่ฉันเจอ (I really like most people I meet)”
(2) Gregariousness เช่น “ฉันชอบให้มีคนอยู่รอบข้างเยอะ ๆ (I like to have a lot of people around me)”
(3) Assertiveness เช่น “ในการสนทนา ฉันมักเป็นคนพูดเป็นส่วนใหญ่ (In conversations, I tend to do most of the talking)”
(4) Activity เช่น “ฉันเป็นคนที่แอ็กทิฟมาก (I am very active person)”
(5) Excitement Seeking เช่น “ฉันชอบความเร้าใจของโรเลอร์โคสเทอร์ (I love the excitement of roller coasters)”
(6) Cheerfulness เช่น “ฉันเป็นคนร่าเริงและสดใส (I am a cheerful, high-spirited person)”
.
📝 3.2 HEXACO-PI
HEXACO-PI (Ashton & Lee, 2009) เป็นแบบทดสอบบุคลิกภาพตามกรอบแนวคิด HEXACO (Ashton et al., 2004) ซึ่งประเมิน 4 ลักษณะย่อยของ extraversion ได้แก่
(1) Liveliness เช่น “ส่วนใหญ่ ฉันรู้สึกร่าเริงและมองโลกในแง่บวก (On most days, I feel cheerful and optimistic)”
(2) Sociability เช่น “สิ่งแรกที่ฉันทำเป็นประจำเวลาไปที่ใหม่ ๆ คือ ทำความรู้จักกับคนอื่น (The first thing that I always do in a new place is to make friends)”
(3) Social Boldness เช่น “ในสถานการณ์ทางสังคม ฉันมักเป็นคนที่เข้าหาคนอื่นก่อน (In social situations, I’m usually the one who makes the first move)”
(4) Social Self-Esteem เช่น “โดยรวม ฉันรู้สึกพอใจกับตัวเอง (I feel reasonably satisfied with myself overall)”
.
📝 3.3. Big Five Aspect Scale
Big Five Aspect Scale (DeYoung et al., 2007) เป็นแบบทดสอบบุคลิกภาพที่แบ่งบุคลิกภาพ 5 ลักษณะตามกรอบแนวคิด FFM เป็น 10 ลักษณะ ประเมิน 2 ลักษณะย่อยของ extraversion ได้แก่
(1) Assertiveness เช่น “มองว่าตัวเองเป็นผู้นำที่ดี (See myself as a good leader)”
(2) Enthusiasm เช่น “ตีสนิทกับคนอื่นได้ง่าย (Make friends easily)”
.
📝 3.4. Big Five Inventory-2
และ Big Five Inventory-2 (Soto & John, 2016) ซึ่งเป็นแบบทดสอบบุคลิกภาพตามกรอบแนวคิด FFM แบ่ง extraversion ออกเป็น 3 ลักษณะย่อย ได้แก่
(1) Assertiveness เช่น “... เป็นผู้นำ ทำตัวเป็นผู้นำ (... is dominant, acts as a leader)”
(2) Sociability เช่น “คุยเก่ง (... is talkative)”
(3) Energy Level เช่น “แสดงความกระตือรือร้นเยอะ (... shows a lot of enthusiasm)”
🤔 4. Extraversion และการใช้ชีวิต
.
Extraversion สามารถทำนายพฤติกรรมทางสังคมได้ (รูป: Image by Freepik)
🧑‍🤝‍🧑 4.1. ความสัมพันธ์
เนื่องจาก extraversion เป็นบุคลิกภาพที่เกี่ยวข้องกับการเข้าหาสังคม extraversion จึงสามารถทำนายพฤติกรรมทางสังคมต่าง ๆ ได้
เช่น เมื่อเทียบกับคนที่มี extraversion น้อยแล้ว, คนที่มีคะแนน extraversion สูงมักจะ
- มีจำนวนเพื่อนใน Facebook มากกว่า (Shen et al., 2015)
- รู้สึกเชื่อมโยงและเป็นส่วนหนึ่งกับคนรอบข้างมากกว่า (Bratko et al., 2022; Lee et al., 2008) และ
- มีจำนวนคู่รักโดยเฉลี่ยเยอะกว่า (Nettle, 2005)
.
คนที่มี extraversion มักมีระดับความสุขสูง (รูป: Image by wayhomestudio on Freepik)
⛑️ 4.2. สุขภาวะ
Extraversion ได้ชื่อว่า เป็น “บุคลิกภาพแห่งความสุข” (“happy personality”) เพราะเป็นหนึ่งในบุคลิกภาพที่สามารถทำนายสุขภาวะได้ โดยคนที่มีคะแนน extraversion สูงมักมีความสุขมากกว่าคนที่มี extraversion น้อย (DeNeve & Cooper, 1998)
ทำไม extraversion ถึงทำให้คนมีความสุข? คำถามนี้มีอย่างน้อย 2 คำตอบ
(1) เนื่องจากคนที่มี extraversion มักมีพฤติกรรมที่ช่วยในการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมกับคนอื่น คนเหล่านี้จึงอาจมีความสุขมากกว่าคนที่มี extraversion น้อยจากการทำความรู้จักและความใกล้ชิดกับคนอื่น
(2) นอกจากพฤติกรรมการเข้าสังคมแล้ว คนที่มี extraversion สูงยังมักมีอารมณ์เชิงบวก (เช่น ดีใจ ภูมิใจ) สูง จึงไม่น่าแปลกใจที่คนเหล่านี้มักรู้สึกมีความสุขมากกว่าคนที่มี extraversion น้อย (DeNeve, 1999)
.
Extraversion เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมในการทำงานหลายอย่าง เช่น ความพึงพอใจในงาน (รูป: Image by tirachardz on Freepik)
💼 4.3. การทำงาน
งานวิจัยชี้ให้เห็นว่า extraversion มีผลเชิงบวกกับพฤติกรรมในที่ทำงาน
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเทียบกับคนที่มี extraversion น้อยแล้ว, คนที่มีคะแนน extraversion สูงมักจะ
- ถูกมองว่าเป็นผู้นำและ/หรือขึ้นมาเป็นผู้นำในสถานการณ์ที่ไม่มีผู้นำ (Judge et al., 2002)
- มีลักษณะภาวะผู้นำแบบ transformational leadership หรือภาวะผู้นำที่ใส่ใจและเคารพคนอื่น (Bono & Judge, 2004)
- พึงพอใจกับงานสูง (job satisfaction; Wilmot et al., 2019)
- มีความผูกพันกับงานและองค์กรสูง (organisational commitment; Wilmot et al., 2019)
😎 5. ข้อสรุป Extraversion
Extraversion เป็นบุคลิกภาพขั้นพื้นฐานของมนุษย์ที่มีประวัติยาวนาน โดยในปัจจุบัน นักจิตวิทยาให้นิยาม extraversion ด้วย 4 องค์ประกอบหลัก ได้แก่
(1) Assertiveness หรือการเข้าหาผู้อื่นแบบผู้นำ
(2) Sociability หรือการเข้าหาคนอื่นแบบเพื่อน
(3) Positive emotionality หรืออารมณ์เชิงบวก
(4) Excitement seeking หรือการเข้าหาความตื่นเต้นเร้าใจ
การประเมิน extraversion สามารถทำได้ผ่านแบบทดสอบบุคลิกภาพต่าง ๆ (เช่น NEO-PI และ HEXACO-PI) อย่างไรก็ตาม แต่ละแบบทดสอบให้นิยาม extraversion ที่แตกต่างกันไป และการเลือกใช้งานควรพิจารณาจากองค์ประกอบของ extraversion ที่เราต้องการประเมิน
Extraversion มีความเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทั้งในเชิงความสัมพันธ์ (เช่น จำนวนเพื่อนใน Facebook) สุขภาวะ (ระดับความสุข) และการทำงาน (เช่น ภาวะผู้นำ)
.
#psychology #individualdifferences #personality #bigfive #fivefactormodel #ffm #introversion #extroversion #extraversion #introvert #extrovert #จิตวิทยา #บุคลิกภาพ
.
📃 อ้างอิง
Ashton, M. C., & Lee, K. (2009). The HEXACO-60: A short measure of the major dimensions of personality. Journal of Personality Assessment, 91(4), 340–345. https://doi.org/10.1080/00223890902935878
Ashton, M. C., Perugini, M., de Vries, R. E., Boies, K., Lee, K., Szarota, P., di Blas, L., & de Raad, B. (2004). A six-factor structure of personality-descriptive adjectives: Solutions from psycholexical studies in seven languages. Journal of Personality and Social Psychology, 86(2), 356–366. https://doi.org/10.1037/0022-3514.86.2.356
Bono, J. E., & Judge, T. A. (2004). Personality and Transformational and Transactional Leadership: A Meta-Analysis. Journal of Applied Psychology, 89(5), 901–910. https://doi.org/10.1037/0021-9010.89.5.901
Bratko, D., Butkovic, A., Vukasovic Hlupic, T., & Pocrnic, M. (2022). Etiology of basic psychological needs and their association with personality: A twin study. Journal of Research in Personality, 97, 104201. https://doi.org/10.1016/J.JRP.2022.104201
De Raad, B., Barelds, D. P. H., Levert, E., Ostendorf, F., Mlačić, B., Blas, L. D., Hřebíčková, M., Szirmák, Z., Szarota, P., Perugini, M., Church, A. T., & Katigbak, M. S. (2010). Only three factors of personality description are fully replicable across languages: A comparison of 14 trait taxonomies. Journal of Personality and Social Psychology, 98(1), 160–173. https://doi.org/10.1037/a0017184
DeNeve, K. M. (1999). Happy as an extraverted clam? The role of personality for subjective well-being. Current Directions in Psychological Science, 8(5), 141–144. https://doi.org/10.1111/1467-8721.00033
DeNeve, K. M., & Cooper, H. (1998). The happy personality: A meta-analysis of 137 personality traits and subjective well-being. Psychological Bulletin, 124(2), 197–229. https://doi.org/10.1037/0033-2909.124.2.197
DeYoung, C. G., Quilty, L. C., & Peterson, J. B. (2007). Between facets and domains: 10 aspects of the Big Five. Journal of Personality and Social Psychology, 93(5), 880–896. https://doi.org/10.1037/0022-3514.93.5.880
Judge, T. A., Bono, J. E., Ilies, R., & Gerhardt, M. W. (2002). Personality and leadership: A qualitative and quantitative review. Journal of Applied Psychology, 87(4), 765–780. https://doi.org/10.1037/0021-9010.87.4.765
Lee, R. M., Dean, B. L., & Jung, K.-R. (2008). Social connectedness, extraversion, and subjective well-being: Testing a mediation model. Personality and Individual Differences, 45(5), 414–419. https://doi.org/10.1016/j.paid.2008.05.017
McCrae, R. R., & Costa, P. T. (2003). Personality in adulthood: A five-factor theory perspective (2nd ed.). Guilford Press. https://doi.org/10.4324/9780203428412
McCrae, R. R., & Costa, P. T. (2010). NEO Inventories: Professional manual. Psychological Assessment Resources.
Nettle, D. (2005). An evolutionary approach to the extraversion continuum. Evolution and Human Behavior, 26(4), 363–373. https://doi.org/10.1016/j.evolhumbehav.2004.12.004
Quilty, L. C., DeYoung, C. G., Oakman, J. M., & Bagby, R. M. (2014). Extraversion and behavioral activation: Integrating the components of approach. Journal of Personality Assessment, 96(1), 87–94. https://doi.org/10.1080/00223891.2013.834440
Shen, J., Brdiczka, O., & Liu, J. (2015). A study of Facebook behavior: What does it tell about your Neuroticism and Extraversion? Computers in Human Behavior, 45, 32–38. https://doi.org/10.1016/j.chb.2014.11.067
Smillie, L. D., Kern, M. L., & Uljarevic, M. (2019). Extraversion: Description, development, and mechanisms. In D. P. McAdams, R. L. Shiner, & J. L. Tackett (Eds.), Handbook of personality development (pp. 118–136). The Guilford Press.
Soto, C. J., & John, O. P. (2017). The next Big Five Inventory (BFI-2): Developing and assessing a hierarchical model with 15 facets to enhance bandwidth, fidelity, and predictive power. Journal of Personality and Social Psychology, 113(1), 117–143. https://doi.org/10.1037/pspp0000096
Watson, D., & Clark, L. A. (1997). Extraversion and its positive emotional core. In R. Hogan, J. A. Johnson, & S. R. Briggs (Eds.), Handbook of personality psychology (pp. 767–793). Academic Press. https://doi.org/10.1016/B978-012134645-4/50030-5
Watson, D., Stasik, S. M., Ellickson-Larew, S., & Stanton, K. (2015). Extraversion and psychopathology: A facet-level analysis. Journal of Abnormal Psychology, 124(2), 432–446. https://doi.org/10.1037/abn0000051
Wilmot, M. P., Wanberg, C. R., Kammeyer-Mueller, J. D., & Ones, D. S. (2019). Extraversion advantages at work: A quantitative review and synthesis of the meta-analytic evidence. Journal of Applied Psychology, 104(12), 1447–1470. https://doi.org/10.1037/apl0000415
Wilt, J., & Revelle, W. R. (2009). Extraversion. In M. R. Leary & R. H. Hoyle (Eds.), Handbook of individual differences in social behavior (pp. 27–45). The Guilford Press.
Wilt, J., & Revelle, W. R. (2016). Extraversion. In T. A. Widiger (Ed.), The Oxford Handbook of the Five Factor Model. Oxford University Press. https://doi.org/10.1093/oxfordhb/9780199352487.013.15
.
ภาพปก: Image by Racool_studio on Freepik

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา