31 ต.ค. 2023 เวลา 05:15 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

Ep. 16 | Conscientiousness: บุคลิกภาพของคนขยัน

👉
ในบทความนี้ ...
- องค์ประกอบของ conscientiousness
- การประเมิน conscientiousness
- Conscientiousness vs ความฉลาดและ grit
ในบรรดา 5 บุคลิกภาพมิติใหญ่ของมนุษย์ conscientiousness เป็นลักษณะที่ได้รับความสนใจมากที่สุดเป็นอันดับ ๆ ต้น (Turiano, 2017)
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะ conscientiousness เป็นบุคลิกภาพที่มีความสัมพันธ์กับตัวแปรเชิงบวกในการใช้ชีวิต
ยกตัวอย่างเช่น คนที่มี conscientiousness สูงมักจะ
- มีผลการเรียนดี
- ได้เงินเดือนสูง
- มีโอกาสได้เลื่อนระดับตำแหน่งงานสูง
- มีความสุขกับงานที่ทำ
- มีปัญหาสุขภาพน้อย และ
- มีอายุยืน (Mike et al., 2015)
🙋‍♂️ 1. อะไรคือ Conscientiousness?
Conscientiousness เป็นบุคลิกภาพมิติใหญ่ของมนุษย์ที่ประกอบด้วย 4 ลักษณะย่อยซึ่งสามารถจับได้เป็น 2 กลุ่ม (Mike et al., 2015) ตามรูป
โครงสร้างของ conscientiousness (Mike et al., 2015)
🚗 1.1. กลุ่มที่ 1: Proactive Components
จากรูป จะเห็นได้ว่า กลุ่มแรกเรียกว่า proactive component ซึ่งประกอบด้วย 2 ลักษณะย่อย ได้แก่
(1) Industriousness หรือความขยัน ความมุ่งมั่น และความไม่ย่อท้อ
คนที่มีคะแนนในลักษณะย่อยนี้สูงมักทำงานหนัก มีเป้าหมาย และมีแรงจูงใจที่จะทำสิ่งต่าง ๆ ให้สำเร็จ
(2) Orderliness หรือความเป็นระเบียบ ความเตรียมพร้อม และความพิถีพิถัน
คนที่มีคะแนนสูงในลักษณะย่อยนี้อาจะเรียกได้เป็น perfectionist เพราะมักใส่ใจรายละเอียด มีระเบียบ รักสะอาด และมักมีแผนในการทำงาน
⏹ 1.2. กลุ่มที่ 2: Inhibitory Components
กลุ่มที่ 2 คือ inhibitory component ซึ่งประกอบด้วย 2 ลักษณะย่อย ได้แก่
(1) Self-control หรือการควบคุมตัวเอง
คนที่มีคะแนนสูงในลักษณะย่อยนี้มักควบคุมความอยากของตัวเองได้ดี มักคิดก่อนพูดหรือทำ และมีวินัยในตัวเอง
(4) Responsibility หรือความรับผิดชอบ
คนที่มีคะแนนสูงในลักษณะย่อยนี้มักรักษาสัญญา มีความรับผิดชอบ และทำตามกฎระเบียบ
เนื่องจาก responsibility มักเกี่ยวข้องกับพฤติกรรมในบริบททางสังคม (เช่น การทำตามกฎระเบียบ) responsibility มักมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับ agreeableness ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบุคลิกภาพมิติใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่น (Mike et al., 2015)
🙄 1.3. ลักษณะย่อยอื่น ๆ
บางงานวิจัยค้นพบว่า conscientiousness อาจประกอบด้วยลักษณะย่อยอื่น ๆ นอกเหลือจาก 4 ลักษณะย่อยข้างต้น เช่น
(1) Conventionality หรือการยึดมั่นในกฎระเบียบและมารยาททางสังคม
(2) Decisiveness หรือความเสมอต้นเสมอปลายในการทำงาน
(3) Formalness หรือการปฏิบัติตามมารยาททางสังคม
(4) Punctuality หรือการตรงต่อเวลา
อย่างไรก็ตาม ลักษณะย่อยเหล่านี้ปรากฏใน 1-2 งานวิจัยเท่านั้น (Roberts et al., 2014) ซึ่งทำให้เกิดความเป็นไปได้ว่า ลักษณะย่อยเหล่านี้อาจไม่ใช่องค์ประกอบหลักของ conscientiousness
🤓 1.4. สรุปนิยามของ Conscientiousness
จากองค์ประกอบทั้ง 4 ลักษณะย่อย อาจสรุปได้ว่า conscientiousness คือ บุคลิกภาพของความขยันหมั่นเพียร (industriousness) ความเป็นระบบระเบียบ พิถีพีถัน (orderliness) รู้จักไตร่ตรอง ยับยั่งชั่งใจ (self-control) และมีความรับผิดชอบ เป็นที่พึ่งได้ (responsibility)
📐 2. การประเมิน Conscientiousness
เราสามารถประเมิน conscientiousness ได้ด้วยหลายวิธี แต่วิธีที่มักใช้กันแพร่หลาย คือ แบบทดสอบบุคลิกภาพแบบประเมินตัวเอง (self-report personality test) ซึ่งแต่ละแบบทดสอบมีรูปแบบข้อคำถาม (item) ในการประเมิน conscientiousness ที่แตกต่างกันออกไป
ยกตัวอย่างเช่น NEO-PI (McCrae & Costa, 2010) ประเมิน 6 องค์ประกอบของ conscientiousness โดยให้ผู้ประเมินให้คะแนนความ “เห็นด้วย” ต่อข้อความ
เช่น
- “ฉันเป็นคนค่อนข้าง ‘บ้างาน’ (I'm something of a ‘workaholic’)”
- “ฉันมีวินัยในตัวเองสูง (I have a lot of self-discipline)”
- “ฉันเก็บของเป็นระเบียบและสะอาด (I keep my belongings neat and clean)”
แบบประเมินตัวเองอื่นขอให้ผู้ประเมินให้คะแนนตัวเองตามคำอธิบายบุคลิกภาพที่สะท้อนถึง conscientiousness เช่น ข้อคำถามของ Abridged Big Five Circumplex (Hofstee et al., 1992)
เช่น
- “ทะเยอทะยาน (ambitious)”
- “ระมัดระวัง (cautious)”
- “มีความรับผิดชอบ (responsible)”
นอกจากนี้ ยังมีแบบประเมินตัวเองที่ให้ผู้ประเมินให้คะแนนตัวเองตามพฤติกรรมที่บ่งบอกถึง conscientiousness เช่น ข้อคำถามของ Behavioral Indicators of Conscientiousness Scale (Jackson et al., 2010)
เช่น
- “วางแผนเดินทาง (make an itinerary)”
- “ทำงานให้เสร็จจนหมดก่อนจะไปพัก (finish a set amount of work before relaxing)”
- “ไปทำงานตรงเวลา (get to work on time)”
😁 3. Conscientiousness และลักษณะทางจิตวิทยาอื่น ๆ
.
ถ้าต้องเลือก จะเลือกความขยันหรือความฉลาด? (รูป: Image by dooder on Freepik)
🧠 3.1. ความฉลาด (Intelligence): ขยัน vs ฉลาด
ความฉลาดและความขยันเป็นลักษณะอันพึงประสงค์ทั้งในการเรียนและการทำงาน แต่ถ้าต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง อะไรสำคัญกว่ากัน?
มีหลายงานวิจัยที่พบว่า conscientiousness มีความสัมพันธ์เชิงลบกับความฉลาด (เช่น Moutafi et al., 2003; Furnham et al., 2007) ซึ่งความว่า คนที่ขยันมักฉลาดกว่าคนที่ขี้เกียจ หรือพูดอีกอย่างได้ว่า คนที่ฉลาดมากกว่ามักขยันน้อยกว่าคนที่ฉลาดน้อยกว่า
จากการค้นพบนี้ Moutafi และคณะ (2004) ตั้งสมมุติฐานว่า conscientiousness และความฉลาดทำหน้าที่ทดแทนกันและกัน นั่นคือ คนที่ฉลาดมักสามารถหาทางที่จะประความสำเร็จได้ง่าย ทำให้คนเหล่านี้ไม่มีความจำเป็นที่จะทำงานหนัก (ขยัน) ในทางกลับกัน คนที่ฉลาดน้อยกว่าจำเป็นต้องทำงานหนักเพื่อให้ตัวเองประสบความสำเร็จ ทำให้มีระดับความขยันสูงกว่า
แม้ว่าสมมุติฐานนี้จะฟังดูน่าสนใจ แต่งานวิจัยที่ทดสอบสมมุติฐานนี้ให้ผลที่แตกต่างกันออกไป โดยบางงานวิจัยพบว่า conscientiousness มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับความฉลาด (เช่น Baker & Bichsel, 2006) หรือไม่พบความสัมพันธ์เลย (เช่น Chamorro-Premuzic et al., 2005)
ล่าสุด Anglim และคณะ (2022) วิเคราะห์ข้อมูลจาก 272 งานวิจัย (จำนวนกลุ่มตัวอย่างรวม 162,636 ชุดข้อมูล) และพบว่าความสัมพันธ์ระหว่าง conscientiousness และความฉลาดเป็นเชิงลบ แต่ค่าความสัมพันธ์ดังกล่าวมีค่าน้อยมาก (r = −.02) แสดงให้เห็นว่า conscientiousness และความฉลาดอาจมีความเป็นเอกเทศน์จากกัน และไม่ได้ทำหน้าที่ทดแทนกันและกัน
แล้วทำไมบางงานวิจัยถึงพบความสัมพันธ์เชิงลบระหว่าง conscientiousness และความฉลาด?
Murray และคณะ (2014) ให้เหตุผลว่า การค้นพบความสัมพันธ์เชิงลบเกิดจากการคัดดเลือกกลุ่มตัวอย่าง ซึ่งมักเป็นผู้สมัครงานในตำแหน่งงานที่ความสำเร็จอาจต้องใช้ทั้ง conscientiousness และความฉลาด แต่การทำงานหนัก (conscientiousness) สามารถช่วยทดแทนระดับความฉลาดที่ขาดหายไปได้ เช่น ตำแหน่งผู้จัดการที่หากขาดความรู้ไป อาจทดแทนได้ด้วยการใช้ชั่วโมงทำงานที่นานขึ้นได้
ตามหลักเหตุผลนี้ ถ้าเราใช้กลุ่มตัวอย่างอื่นแล้ว อาจไม่พบความสัมพันธ์ระหว่าง conscientiousness และความฉลาด เพราะในบริบทอื่น ๆ conscientiousness อาจไม่สามารถทดแทนความฉลาดได้
Murray และคณะได้วิเคราะห์ข้อมูลจากการศึกษาพี่น้องและฝาแฝด ซึ่งให้ผลสนับสนุนความคิดดังกล่าว
ดังนั้น โดยทั่วไปแล้ว conscientiousness และความฉลาด มีความสัมพันธ์ที่แยกออกจากกัน แต่ในบางบริบทของชีวิต (เช่น การทำงานบางอาชีพ) conscientiousness อาจทำหน้าที่ทดแทนความฉลาดเพื่อทำให้เราประสบความสำเร็จได้
Grit และ conscientiousness ส่งผลต่อความสำเร็จในชีวิต แต่ทั้งสองอย่างเป็นบุคลิกภาพที่ต่างหรือเหมือนกัน? (รูป: Image by vectorjuice on Freepik)
💎 3.2. Grit: ขยัน vs เพียร
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา grit หรือ perseverance (ความเพียร) และ passion for long-term goals (ความสนใจในเป้าหมายระยะยาว) (Duckworth et al., 2007) ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก จากทั้งนักวิชาการและคนทั่วไป
ทั้งนี้ สาเหตุหลักมาจากความเชื่อและงานวิจัยสนับสนุนที่ว่า grit มีส่วนช่วยในการประสบความสำเร็จในชีวิต (เช่น Duckworth et al., 2007; Duckworth & Quinn, 2009)
ในงานต้นฉบับ Duckworth และคณะ (2007) ชี้ว่า grit มีความคล้ายคลึง แต่ก็เป็นบุคลิกภาพที่แตกต่างจาก conscientiousness
ทั้ง grit และ conscientiousness ต่างมีความสัมพันธ์กับความสำเร็จในบริบทต่าง ๆ ของชีวิต แต่ grit แตกต่างจาก conscientiousness ตรงที่ grit เน้นการไปถึงเป้าหมายในระยะยาว (ช่วยให้เราอดทนอยู่กับเป้าหมายได้เป็นเวลานาน ๆ) ในขณะที่ conscientiousness เน้นการไปถึงเป้าหมายในระยะสั้น (เช่น self-control ที่ช่วยในการหักห้ามใจในปัจจุบันขณะได้)
อย่างไรก็ตาม มีนักวิชาการหลายคนที่เห็นว่า grit และ conscientiousness มีความคล้ายคลึงกันมากเกินกว่าจะเป็นคนละบุคลิกภาพได้
ยกตัวอย่างเช่น perseverance ซึ่งเป็นองค์ประกอบของ grit มีความคล้ายคลึงกับ industriousness ที่เป็นองค์ประกอบของ conscientiousness (Schmidt et al., 2020) โดยเฉพาะเมื่อพิจารณาข้อคำถามแบบประเมินตัวเอง
เช่น
- Grit: “ฉันเป็นคนทำงานหนัก (I am a hard worker)” (Duckworth et al., 2007)
- Conscientiousness: “ฉันทำงานหนักเพื่อไปให้ถึงเป้าหมาย (I work hard to accomplish my goals)*” (McCrae & Costa, 2010)
นอกจากความคล้ายคลึงเชิงนิยามแล้ว ยังมีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า grit มีความสัมพันธ์เชิงบวกกับ conscientiousness ในระดับสูง (Credé et al., 2017) ซึ่งชี้ให้เห็นว่า grit มีความซ้ำซ้อนกับ conscientiousness
ด้วยเหตุนี้ นักวิชาการหลายคนจึงสรุปว่า grit ไม่เป็นบุคลิกภาพใหม่ แต่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของ conscientiousness (Roberts et al., 2014) หรือเป็นเพียง conscientiousness ที่ถูกเปลี่ยนชื่อและนำเสนอใหม่เท่านั้น (Credé, 2018; Credé et al., 2017)
⚡ หมายเหตุ
* ตัวอย่างเป็นข้อคำถามจาก Achievement Striving ของ NEO-PI ซึ่งจัดได้ว่าเป็นองค์ประกอบ industriousness ของ conscientiousness (DeYoung et al., 2007)
#psychology #individualdifferences #personality #bigfive #fivefactormodel #ffm #conscientiousness #industriousness #orderliness #selfcontrol #responsibility #intelligence #gma #grit #peseverance #passionforlongtermgoals #จิตวิทยา #บุคลิกภาพ #ความขขัยน #ความฉลาด #ความเพียร
📃 อ้างอิง
Anglim, J., Dunlop, P. D., Wee, S., Horwood, S., Wood, J. K., & Marty, A. (2022). Personality and intelligence: A meta-analysis. Psychological Bulletin, 148(5-6), 301–336. https://doi.org/10.1037/bul0000373
Baker, T. J., & Bichsel, J. (2006). Personality predictors of intelligence: Differences between young and cognitively healthy older adults. Personality and Individual Differences, 41(5), 861–871. https://doi.org/10.1016/j.paid.2006.02.017
Chamorro-Premuzic, T., Moutafi, J., & Furnham, A. (2005). The relationship between personality traits, subjectively-assessed and fluid intelligence. Personality and Individual Differences, 38(7), 1517–1528. https://doi.org/10.1016/j.paid.2004.09.018
Credé, M. (2018). What shall we do about grit? A critical review of what we know and what we don't know. Educational Researcher, 47(9), 606–611. https://doi.org/10.3102/0013189X18801322
Credé, M., Tynan, M. C., & Harms, P. D. (2017). Much ado about grit: A meta-analytic synthesis of the grit literature. Journal of Personality and Social Psychology, 113(3), 492–511. https://doi.org/10.1037/pspp0000102
DeYoung, C. G., Quilty, L. C., & Peterson, J. B. (2007). Between facets and domains: 10 aspects of the Big Five. Journal of Personality and Social Psychology, 93(5), 880–896. https://doi.org/10.1037/0022-3514.93.5.880
Duckworth, A. L., & Quinn, P. D. (2009). Development and validation of the Short Grit Scale (GRIT–S). Journal of Personality Assessment, 91(2), 166–174. https://doi.org/10.1080/00223890802634290
Duckworth, A. L., Peterson, C., Matthews, M. D., & Kelly, D. R. (2007). Grit: Perseverance and passion for long-term goals. Journal of Personality and Social Psychology, 92(6), 1087–1101. https://doi.org/10.1037/0022-3514.92.6.1087
Furnham, A., Dissou, G., Sloan, P., & Chamorro-Premuzic, T. (2007). Personality and intelligence in business people: A study of two personality and two intelligence measures. Journal of Business and Psychology, 22(1), 99–109. https://doi.org/10.1007/s10869-007-9051-z
Hofstee, W. K., de Raad, B., & Goldberg, L. R. (1992). Integration of the Big Five and circumplex approaches to trait structure. Journal of Personality and Social Psychology, 63(1), 146–163. https://doi.org/10.1037/0022-3514.63.1.146
Jackson, J. J., Wood, D., Bogg, T., Walton, K. E., Harms, P. D., & Roberts, B. W. (2010). What do conscientious people do? Development and validation of the Behavioral Indicators of Conscientiousness (BIC). Journal of Research in Personality, 44(4), 501–511. https://doi.org/10.1016/j.jrp.2010.06.005
McCrae, R. R., & Costa, P. T. (2010). NEO Inventories: Professional manual. Psychological Assessment Resources.
Mike, A., Harris, K., Roberts, B. W., & Jackson, J. J. (2015). Conscientiousness. In J. D. Wright (Ed.), International encyclopedia of the social & behavioral sciences (2nd ed., Vol. 4, pp. 658–665). Elsevier. https://doi.org/10.1016/B978-0-08-097086-8.25047-2
Moutafi, J., Furnham, A., & Crump, J. (2003). Demographic and personality predictors of intelligence: A study using the Neo personality inventory and the Myers-Briggs type indicator. European Journal of Personality, 17(1), 79–94. https://doi.org/10.1002/per.471
Moutafi, J., Furnham, A., & Paltiel, L. (2004). Why is conscientiousness negatively correlated with intelligence? Personality and Individual Differences, 37(5), 1013–1022. https://doi.org/10.1016/j.paid.2003.11.010
Murray, A. L., Johnson, W., McGue, M., & Iacono, W. G. (2014). How are conscientiousness and cognitive ability related to one another? A re-examination of the intelligence compensation hypothesis. Personality and Individual Differences, 70, 17–22. https://doi.org/10.1016/j.paid.2014.06.014
Roberts, B. W., Lejuez, C., Krueger, R. F., Richards, J. M., & Hill, P. L. (2014). What is conscientiousness and how can it be assessed? Developmental Psychology, 50(5), 1315–1330. https://doi.org/10.1037/a0031109
Schmidt, F. T. C., Lechner, C. M., & Danner, D. (2020). New wine in an old bottle? A facet-level perspective on the added value of Grit over BFI–2 Conscientiousness. PLoS ONE, 15(2), Article e0228969. https://doi.org/10.1371/journal.pone.0228969
Turiano, N. A. (2017). Conscientiousness. In V. Zeigler-Hill & T. K. Shackelford (Eds.), Encyclopedia of personality and individual differences (pp. 848–854). Springer. https://doi.org/10.1007/978-3-319-28099-8_1220-1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา