27 ก.ย. 2023 เวลา 14:43 • กีฬา

#MainStand : “เต้นคุง” ธิษณา ธนคลัง แฟนพันธุ์แท้เอเชี่ยนเกมส์

คุณชื่นชอบการดูกีฬามากแค่ไหน ? เมื่อดูจบแล้วคุณได้อะไร ? อ้อ ขออีกสักคำถาม แล้วคุณเคยบ้าดูกีฬาจนถึงขั้นที่พ่อแม่ต้องพาไปหาจิตแพทย์ไหม ?
1
ถ้าคุณตอบว่าเคย ชื่อของคุณคงจะเป็น ‘เต้นคุง ธิษณา ธนคลัง’ แฟนพันธุ์แท้เอเชียนเกมส์สินะ !??
“ผมก็ไม่รู้เหมือนกัน คือผมเกิดมาก็ชอบดูฟุตบอลเลย จากนั้นก็ขยับมาดูมหกรรมกีฬา ซีเกมส์ , เอเชียน เกมส์ , โอลิมปิก ก่อนจะขยับมากีฬาอื่นๆเช่น F1”
ธิษณา ธนคลัง หรือชายที่แทนตัวเองว่า เต้นคุง แฟนพันธุ์แท้เอเชียนเกมส์2018 นั่งจับไมค์เล่าชีวิตวัยเด็กของเขาให้คนแปลกหน้าฟังในห้องอบรมเล็กๆห้องหนึ่ง ในงาน Find The Young Content Creator ของ Main Stand
เขาได้รับเชิญมาเป็นวิทยาให้ความรู้เกี่ยวกับหาข้อมูลทำคอนเทนต์กีฬา และบอกว่ามันเป็นครั้งแรกที่เปิดปากพูดเรื่องตัวเองมากขนาดนี้ และก็คงจะมีหลายคนที่ฟังแล้วอาจจะคิดว่าเขา ‘บ้า’ เหมือนที่ครอบครัวเขาเคยคิดก็ได้
“ผมไล่จดสถิตินักเตะและนักกีฬาไทยทุกเกมทุกกีฬา จนมีอยู่วันหนึ่งแม่ผมเข้ามาเก็บห้องแล้วเขาเข้าใจผิดว่ามันคือโพยบอล เขาร้องไห้หนักมาก เพราะคิดว่าผมติดพนัน”
“แต่พอเขารู้ว่ามันคืออะไร แทนที่เขาจะดีใจนะ แต่เหมือนเขาจะเครียดหนักกว่าเดิม เพราะเราดูกีฬาแบบหนักมาก แล้วสิ่งที่เราจดก็เยอะมาก”
“จนวันหนึ่งแม่กับญาติ ตัดสินใจโทรนัดจิตแพทย์เพื่อพาเราไปตรวจ เขาคิดว่าเราคงเป็นอะไรสักอย่างนึงแหละ เพราะเด็กรุ่นเดียวกันไม่มีใครดูกีฬาแบบนี้” ทันทีที่พูดจบประโยคคนในห้องสัมมนาก็ขำไหล่โยก
“จริง! ผมวาดแม้กระทั่งตาข่ายโกล , ป้ายสปอนเซอร์ข้างสนาม , หญ้าที่ใช้แข่งขันในแมตช์นั้นเป็นหญ้าใบเล็กหรือใบใหญ่ผมก็ดูแล้ววาดมันลงกระดาษ แล้วก็จดว่ามันคือแมตช์ไหนวันไหน”
บ้า! มันฟังดูบ้าจริงไหมล่ะ แต่ผลทางการแพทย์ก็ยืนยันแล้วว่าเขาไม่ได้บ้า ทุกอย่างปกติ
แล้วอะไรมันคือสิ่งที่ดึงดูดให้เด็กผู้ชายคนหนึ่ง ที่ควรจะไปเตะบอล , วิ่งเล่นกองทราย หรือ ดีดลูกแก้วกับเพื่อนแถวบ้าน มานั่งอ่านหนังสือพิมพ์ , ฟังวิทยุ เปิดจอรอดูกีฬาแล้วก็ชื่อ , อายุ , จำนวนนัดที่นักกีฬาลงสนาม , ผลงาน , จำนวนประตู ฯลฯ แทนที่จะดูเพื่อเอาผลการแข่งขันสนุกๆไปวันๆกันนะ?
“ผมก็ตอบไม่ได้ว่าเพราะอะไร แต่เราเป็นแบบนี้ตั้งแต่เด็กจริงๆ คือพอเริ่มดูกีฬาแล้วมันสนุก พอได้จินตนาการ ได้สังเกต แล้ววาดหรือไม่ก็จดเกี่ยวกับทุกสิ่งทุกอย่างที่เราดูมาลงในสมุดมันก็ยิ่งอินมากขึ้นไปอีก”
จากเด็กที่ชอบจดข้อมูลสถิติ วาดรูปร่างหน้าตาทุกสรรพสิ่งเกี่ยวกับกีฬาลงในสมุดแล้วเก็บยัดไว้ในตู้หนังสือ เด็กชายเต้นคุง เติบโตขึ้นมาเป็นSoftware Development Trainer ซึ่งมันก็ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับกีฬาโดยตรง
แต่อาชีพของเขามันนำมาเชื่อมโยงกับการจดบันทึกข้อมูลและสถิติกีฬาได้อย่างเป็นระบบระเบียบมากขึ้น ด้วยการใช้เทคโนโลยีเก็บบันทึก แบ่งเป็นcategory ที่สามารถดึงเอาข้อมูลเหล่านั้นมาใช้งานได้แบบรวดเร็ว ถูกต้อง และ แม่นยำ
แล้วเขาเอาข้อมูลพวกนั้นไปทำอะไร ? เก็บไว้แล้วเอามันไปขายให้กับสื่อหรือสมาคมไหนหรือเปล่า ?
เปล่าเลย
เขาเอาข้อมูลพวกนั้น มาสร้างประโยชน์ให้กับวงการกีฬาไทย โดยที่แทบจะไม่ได้รับอะไรที่เป็นเงินเป็นทองตอบแทนกลับไปด้วยซ้ำ
เพจ The Sportory คือเพจที่คุณเต้นคุงสร้างขึ้นมา เพื่อแชร์ข้อมูล และ คอนเทนต์ที่น่าสนใจเกี่ยวกับนักกีฬาไทยทุกคนและทุกประเภท แม้แต่กีฬาที่สปอร์ตไลท์จากสื่อมวลชนส่งไปไม่ถึง
หรือแม้แต่เรื่องราวกีฬาที่มันอาจจะถูกเก็บเข้ากรุไปแล้วก็ยังถูกหยิบมาปัดฝุ่น
เช่นเรื่องราวของ อาณัติ รัตนพล ตำนานลมกรดไทย เจ้าของ 6 เหรียญทอง เอเชียนเกมส์ ใครบ้างจะเกิดทันอาณัติลงแข่งขัน ถ้าไม่ใช่รุ่นปู่ย่าตายาย
แต่ชายคนนี้เดินทางไปเสาะแสวงหาข้อมูลตัวเลข และ สัมภาษณ์คนที่เกิดทันได้เห็น อาณัติ รัตนพล ลงแข่งขันแล้วนำมาเขียนเป็นเรื่องราวถ่ายทอดออกมา ซึ่งต้องอยู่ภายใต้คำว่า สถิติและข้อมูลที่ถูกต้องเท่านั้น
1
หรือเรื่องที่เขาส่งอีเมลไปหาสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟ่า เพราะ ฟีฟ่า บันทึกสถิติทีมชาติไทยผิด ว่าแพ้ ไต้หวัน 0-4 ทั้งที่จริงเราชนะไต้หวัน 1-0 เขาจำได้ดีและขึ้นใจ เพราะเป็นคนดูมันด้วยตา และ จดมันกับมือ
ฟีฟ่า แก้สถิติการแข่งขัน ทีมชาติไทยได้ผลประโยชน์จากการท้วงของชายคนหนึ่งที่เป็นใครมาจากไหนก็ไม่รู้
แล้วเขาได้อะไรล่ะ ?
‘ความสนุก’ ใช่ ก็ได้ความสนุก ในแบบฉบับเต้นคุงไงล่ะ
“ผมว่าการดูกีฬาด้วยความคาดหวัง สำหรับผมมันไม่ได้สนุกเท่าดูกีฬาด้วยสถิติ อีกอย่างถ้าเราปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดู เราจะวิจารณ์กันอย่างมีหลักการและเหตุผลมากกว่าการด่า เราจะรู้ว่ามีโอกาสมากน้อยแค่ไหนที่ทีมชาติไทยจะชนะ และ เพราะอะไรเราถึงไม่ชนะ”
1
ทุกวันนี้ ธิษณา ธนคลัง มีอาชีพหลักด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์เหมือนเดิม แต่คุณเชื่อไหม? ทุกครั้งที่มีมหกรรมกีฬาเขาลางานเพื่อมาเกาะติดเก็บและจดข้อมูลของนักกีฬาไทย เช่นเดียวกับเอเชียนเกมส์ครั้งนี้ที่เขาดูการแข่งขันของนักกีฬาไทยตั้งแต่ก่อนพิธีเปิด เก็บรวบรวมข้อมูลใหม่ ใส่เข้าไปเติมเต็มข้อมูลชุดเก่า เพื่อวิเคราะห์ต่อว่านักกีฬาคนไหนจะได้ไปลุ้นตั๋วไปโอลิมปิกเกมส์ต่อ , หรือใครที่จะมีสิทธิ์ไปลุ้นแชมป์แรกในฐานะนักกีฬาทีมชาติไทยในทัวร์นาเมนต์ต่อๆไป
ดังนั้นไอ้ที่บอกว่าเขาเป็นแฟนพันธุ์แท้เอเชียนเกมส์ 2018 เพราะไปแข่งแล้วชนะได้ถ้วยรางวัลมาน่ะ เรามองว่ามันเป็นแค่เครื่องหมายที่เอาไว้บอกว่าเขาเป็นใครและแจ้งเกิดจากไหนเท่านั้น
1
แต่สิ่งที่ชายคนนี้ทำแล้ว ทำอยู่ ทำต่อ ตลอดทั้งชีวิตของเขามันควรใช้คำว่าแฟนพันธุ์แท้กีฬาไทยทุกชนิดตลอดกาลมากกว่า
โฆษณา