29 ก.ย. 2023 เวลา 02:54 • ประวัติศาสตร์

ตักบาตรน้ำผึ้ง บุญโอสถอุดมโชคลาภ ประเพณีชาวไทยรามัญ

ตักบาตรน้ำผึ้ง บุญโอสถอุดมโชคลาภ ประเพณีชาวไทยรามัญ
ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง เป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวไทยเชื้อสายมอญ (รามัญ) จัดขึ้นทุกวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี ด้วยชาวมอญมีความเชื่อมาจากพุทธศาสนาว่า การทำบุญตักบาตรน้ำผึ้งถวายแด่พระสงฆ์ จะมีอานิสงส์มาก อุดมไปด้วยโชคลาภ ทั้งชาตินี้และชาติหน้า
ที่มาของความเชื่อ ตักบาตรน้ำผึ้ง
ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง เป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวไทยเชื้อสายมอญ (รามัญ) สืบทอดกันมาช้านาน โดยเชื่อว่ามีต้นกำเนิดมาจากความเชื่อของชาวมอญที่เชื่อว่า น้ำผึ้งเป็นยารักษาโรคได้ โดยในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าเคยทรงอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์รับน้ำผึ้งและน้ำอ้อยมาบริโภคเป็นยาได้ เนื่องจากเป็นอาหารที่มีรสหวาน ย่อยง่าย และมีประโยชน์ต่อสุขภาพ
ชาวมอญจึงเชื่อว่า การถวายน้ำผึ้งแด่พระภิกษุสงฆ์ เปรียบเสมือนการถวายสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ผู้ที่มีพระคุณ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความกตัญญูต่อสิ่งที่ตนเคารพศรัทธา
หลังพุทธศตวรรษที่ 16 ที่ชนชาติพม่าได้ขยายอิทธิพลลงมาทำให้ชาวมอญต้องอพยพมาสู่ดินแดนภาคกลางของไทย พร้อมกับได้นำศิลปวัฒนธรรม ความเชื่อ จารีตประเพณี และวิถีชีวิตของตนเองตามมาด้วย รวมถึงประเพณีความเชื่อเรื่องการตักบาตรน้ำผึ้งอันเป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวมอญนี้สืบทอดมากันมาช้านาน โดยกำหนดจัดขึ้นช่วงวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือน 10 ของทุกปี
ชาวมอญมีความเชื่อว่า การทำบุญตักบาตรน้ำผึ้งถวายแด่พระสงฆ์ จะมีอานิสงส์มาก อุดมไปด้วยโชคลาภ ทั้งชาตินี้และชาติหน้า น้ำผึ้งถือเป็นยาที่พระสงฆ์นำไปใช้ในยามจำเป็น ทำให้สุขภาพแข็งแรง ดังหลายตำนานสืบต่อกันมา
น้ำผึ้ง พระโอสถพระพุทธเจ้า
น้ำผึ้งปรากฏในพุทธประวัติสมัยที่เจ้าชายสิทธัตถะทรงเลิกบำเพ็ญทุกขกิริยาแล้ว พระพลานามัยยังไม่ฟื้นคืนดังเดิม วันหนึ่ง นางสุชาดานำข้าวมธุปายาส (ข้าวที่หุงด้วยน้ำนมเจือน้ำผึ้ง) มาถวาย ก็ปรากฏว่าพระวรกายฟื้นฟูกลับมาอย่างรวดเร็ว มีพระปรีชาญาณจนตรัสรู้ได้ในที่สุด
ทั้งยังมีคราวหนึ่ง ในช่วงเดือน 10 พระภิกษุร่างกายชุ่มด้วยน้ำฝน ต้องเหยียบย่ำโคลนตม เกิดอาพาธอาเจียนหลายรูป กายซูบเศร้าหมอง พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาตให้พระภิกษุฉันน้ำผึ้ง น้ำอ้อย เนยข้น เนยใส และน้ำมันพืชได้ในยามวิกาล โดยถือเป็นยารักษาโรคและบำรุงร่างกาย การตักบาตรน้ำผึ้งจึงเป็นการถวายเภสัชทาน บำรุงสุขภาพภิกษุสงฆ์ เป็นการสืบต่อพุทธศาสนาได้ทางหนึ่ง จึงยึดถือปฏิบัติเป็นประเพณีเรื่อยมา
ตักบาตรน้ำผึ้ง มีอานิสงส์มาก
ในสมัยพระทีปังกรพุทธเจ้ามีพระปัจเจกโพธิรูปหนึ่งอาพาธ ประสงค์ที่จะได้น้ำผึ้งมาผสมโอสถ เพื่อบำบัดอาการอาพาธ วันหนึ่งได้ไปบิณฑบาตในชนบทใกล้ชายป่า ขณะที่พระปัจเจกโพธิกำลังโปรดสัตว์ อยู่นั้นได้พบชายชาวบ้านป่าเกิดกุศลจิตขึ้น ชายผู้นั้นหวังที่จะถวายทานแด่พระปัจเจกโพธิ แต่ด้วยตนเองยากจนไม่มีอาหารอื่นใดจะถวายพระนอกจากน้ำผึ้งจำนวนหนึ่ง
ด้วยจิตศรัทธาอย่างเปี่ยมล้นและสูงส่งของชายผู้นั้น เมื่อรินน้ำผึ้งลงในบาตรของพระปัจเจกโพธิ เกิดปรากฏการณ์อัศจรรย์คือ น้ำผึ้งเกิดเพิ่มพูนขึ้นจนเต็มบาตรและล้นบาตรในที่สุด ขณะนั้นมีหญิงชาวบ้านคนหนึ่งกำลังทอผ้าเห็นน้ำผึ้งล้นบาตร ด้วยจิตศรัทธาในพระปัจเจกโพธิ เกรงว่าน้ำผึ้งจะเปื้อนมือพระ จึงรีบนำผ้าที่ทอแล้วถวายแด่พระปัจเจกโพธิเพื่อซับน้ำผึ้งที่ล้น
ชายผู้นั้นอธิษฐานด้วยอานิสงส์แห่งการถวายน้ำผึ้งเป็นทานขอเป็นพลังปัจจัยให้ได้เกิด เป็นผู้มั่งคั่งเป็นผู้มีอำนาจ ส่วนหญิงที่ถวายผ้าได้อธิษฐานขอให้ได้เกิดเป็นผู้ที่มีความงามและมีโภคยทรัพย์
ต่อมาเมื่อทั้งสองมรณะแล้วได้อุบัติใหม่ในโลกมนุษย์ชายผู้ถวายน้ำผึ้งได้บังเกิดเป็นพระราชาผู้มีความเข้มแข็ง และมั่งคั่ง ส่วนหญิงผู้ถวายผ้าได้บังเกิดเป็นธิดาของพระราชาอีกเมืองหนึ่ง มีความงามและความมั่งคั่งเช่นกัน
น้ำผึ้ง ในพุทธประวัติ "พระสีวลี”
นอกจากนี้การถวายทานด้วยน้ำผึ้งยังมีตำนานปรากฏในพุทธประวัติ "พระสีวลี” พุทธสาวกของพระพุทธเจ้าที่ทรงยกย่องให้เป็นภิกษุที่เป็นเลิศด้านลาภบารมี
ในอดีตชาติหนึ่งนั้นพระสีวลีเกิดเป็นชาวบ้านธรรมดา ในตำบลใกล้เมืองพันธุมวตี แต่เป็นผู้ขยันขันแข็งด้านการถวายทาน อันเป็นช่วงเวลาเดียวกับที่ชาวเมืองสมัยนั้นนิยมถวายทานแข่งกับพระราชา โดยชาวเมืองเห็นว่าน้ำผึ้งกับเนยแข็งเป็นสิ่งที่ไม่เคยมีอยู่ในทานของพวกเขา จำเป็นต้องจัดหามาถวายทานให้ได้เพื่อจะได้ไม่น้อยหน้าพระราชา ดังนั้นจึงแต่งตั้งคนดูต้นทาง ให้สอดส่องสังเกตหน้าประตูเมืองว่ามีใครมีของสองสิ่งนี้ติดตัวมาบ้าง
ขณะเดียวกัน สีวลีหนุ่มก็กำลังเดินทางเข้าเมืองพร้อมด้วยเนยแข็งเพื่อนำไปแลกกับสิ่งของเครื่องใช้ ซึ่งระหว่างทางเขาได้พบรวงผึ้งขนาดเท่างอนไถที่ไม่มีผึ้งอาศัยอยู่ จึงนำติดตัวไปด้วย เมื่อผ่านประตูเมืองคนดูต้นทางไม่รอช้าเข้าเจรจาขอซื้อเนยแข็งกับรวงผึ้งทันทีในราคา 1 กหาปณะ (4 บาท) แต่สีวลีหนุ่มคิดว่านี่เป็นราคาที่สูงเกินไป จึงต้องการจะสืบต้นสายปลายเหตุให้รู้แน่
เขาจึงโก่งราคาไปเรื่อยๆ จนสูงถึง 1,000 กหาปณะ จึงได้สอบถามจนได้ความตามต้น สีวลีหนุ่มจึงตัดสินใจไม่ขาย แต่จะขอใช้น้ำผึ้งกับเนยแข็งนี้ร่วมทำบุญกับชาวเมืองด้วย ทั้งยังตั้งจิตอธิษฐานให้ผลบุญนี้ทำให้ตนเป็นเลิศด้านลาภยศในอนาคตด้วย
บทสวดบูชา คาถาขอบารมีพระสีวลี เถระผู้มีลาภมาก
คาถาขอลาภเรียกทรัพย์ "พระสิวลี" โดย หลวงพ่อเกษม เขมโก
ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10
จากตำนานและความเชื่อนี้ ทำให้ชาวมอญได้ถวายน้ำผึ้งแด่พระภิกษุสงฆ์ตามแบบอย่างที่พระสีวลีเคยทำในชาติก่อนที่จะเป็นพระอรหันต์ในปัจฉิมชาติ ที่ได้เป็นเอตทัคคะทางด้านการมีลาภมากนั้น ก็เป็นเพราะว่า ชาวมอญเชื่อว่าการถวายน้ำผึ้งนั้นจะเป็นทางที่จะทำให้ผู้ที่ถวายจะมีโชคมีลาภ เหมือนกับพระสีวลี หากไม่สมหวังในชาตินี้ ในชาติหน้านั้นก็คงจะได้อย่างแน่นอน
เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 โดยก่อนวันพิธีตักบาตรน้ำผึ้ง ชาวบ้านจะเตรียมทำข้าวต้มเพื่อไปทำบุญ แต่ละบ้านจะทำข้าวต้มไม่เหมือนกัน เช่น ข้าวต้มลูกโยน ข้าวต้มคลุก ข้าวต้มมัด ข้าวต้มลูกโยนมีลักษณะลูกกลมห่อด้วยยอดจาก จะทิ้งหางยาว ข้าวต้มคลุกมีลักษณะลูกใหญ่และยาวห่อด้วยยอดจากเวลาทานต้องหั่นเป็นชิ้นคลุกด้วยน้ำตาลทราย เกลือ และมะพร้าวขูด ข้าวต้มมัด
หรือข้าวต้มผัดมีลักษณะเป็นยาวข้างในใส่ถั่วดำและกล้วยห่อด้วยใบตองหรือใบจากก็ได้ประกบคู่แล้วมัดด้วยยอดจากฉีกครึ่ง เมื่อถึงช่วงเย็นของวันที่ทำข้าวต้มมัดหรือข้าวต้ม ชาวบ้านจะให้ลูกหลานนำข้าวต้มนั้นไปส่งตามบ้านผู้หลักผู้ใหญ่ที่นับถือ
ปัจจุบันประเพณีตักบาตรน้ำผึ้งในปัจจุบันยังคงมีให้เห็นในวัดของชุมชนชาวมอญหลายแห่งในประเทศไทย เช่น วัดบางน้ำผึ้งใน จังหวัดสมุทรปราการ วัดสโมสร จังหวัดนนทบุรี และวัดศรัทธาธรรม จังหวัดสมุทรสงคราม
นอกจากพุทธศาสนิกชน จะนำอาหารและข้าวต้มมัดหรือข้าวต้มลูกโยนไปทำบุญที่วัดกันตามปกติแล้ว ตามประเพณีดั้งเดิมจะนำน้ำผึ้งบริสุทธิ์ พร้อมด้วยน้ำตาลทรายกับผ้าแดงผืนเล็กติดตัวไปด้วย โดยจะตักหรือรินน้ำผึ้งใส่ในบาตรจำนวน 32 ใบ ที่เป็นสัญลักษณ์แทนอาการของมนุษย์ปกติ โดยต้องเป็นน้ำผึ้ง เดือนห้าแท้ ไม่ควรเป็นน้ำผึ้งผสม เพราะจะทำให้น้ำผึ้งบริสุทธิ์เสื่อมคุณภาพ ขณะที่น้ำตาลจะใส่ในฝาบาตร และผ้าแดงจะวางไว้หลังบาตร...
ผ้าแดงนี้ก็มีที่มาจากหญิงทอผ้าผู้ใช้ผ้าช่วยซับน้ำผึ้งจนเกิดเป็นอัครมเหสีในชาติต่อมาตามตำนานนั่นเอง
โฆษณา