30 ก.ย. 2023 เวลา 10:27 • ความคิดเห็น

สิ่งที่เราเคยต้องการ เรายังต้องการมันอยู่จริงหรือ

หนึ่งในบทเรียนที่สำคัญที่สุดที่ผมได้จากหนังสือ Think Again ของ Adam Grant ก็คือการตั้งคำถามกับชุดความเชื่อที่เรามี
1
ชุดความเชื่อบางอย่างเข้ามายึดครองพื้นที่ในใจหรือในอุดมการณ์ของเราตั้งแต่เมื่อ 5 ปี 10 ปี หรือแม้กระทั่ง 20 ปีที่แล้ว
1
เรามี “ภาพฝัน” ว่าชีวิตที่ดีควรเป็นแบบนี้ การงานที่ดีควรเป็นแบบนี้ ความรักที่ดีควรเป็นแบบนี้
และภาพฝันที่สลัดยากที่สุด คือตัวตนของเราควรเป็นแบบนี้
1
ผมขอยกตัวอย่างสองเรื่องของตัวเอง
1
ฤดูกาล 1998/99 คือฤดูกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของทีมแมนเชสเตอร์ยูไนเต็ด เพราะทำสิ่งที่ไม่เคยมีใครเชื่อว่าจะทำได้ นั่นคือการกวาดสามแชมป์ ทั้ง Premier League, FA Cup และ Champions League
ผมยังเรียนอยู่ปี 1 ในตอนนั้น และอดตาหลับขับตานอนเชียร์ทุกนัดที่แมนยูลงแข่ง
นัดชิงแชมเปี้ยนส์ลีกที่แมนยูเตะกับบาเยิร์นมิวนิค รู้ทั้งรู้ว่าเช้านั้นมีสอบปลายภาควิชาฟิสิกส์ ผมก็ยังตื่นมาดู กว่าจะได้นอนอีกทีก็เกือบตีห้า และตื่นเจ็ดโมงเช้าเพื่อไปสอบ
จากนั้นมาผมก็ติดตามแมนยูตลอด ต่อให้แมทช์จะดึกแค่ไหนก็จะต้องดูถ่ายทอดสด เวลาทีมแพ้ในนัดสำคัญก็จะซึมไปหลายวัน
2
แต่หลังจากมีครอบครัว มีลูก ผมดูถ่ายทอดสดแมนยูเตะน้อยลงไปเยอะ ฤดูกาลนี้ยังไม่ได้ดูเต็มแมทช์เลยซักนัด ใช้วิธีดูไฮไลท์ในวันรุ่งขึ้นแทน
ถ้าเป็นตัวผมสมัยก่อน คงจะดูแคลนตัวผมในตอนนี้ เพราะถ้าจะเป็น “เด็กผีตัวจริง” มันต้องทุ่มเทกว่านี้ ต้องตื่นมาดูถ่ายทอดสดแม้ว่ามันจะทำให้เราง่วงไปทั้งวัน ต้องเดือดเนื้อร้อนใจเวลาทีมที่ตัวเองแพ้ ต้อง ฯลฯ
1
แต่เมื่อระลึกได้ว่า จริงๆ แล้วเรา “ไม่ต้อง” ทำอะไรทั้งนั้น ความคาดหวังต่างๆ เป็นสิ่งที่เราคิดไปเอง เราสามารถเชียร์ทีมที่ตัวเองรักโดยไม่จำเป็นต้องทุ่มเทเหมือนสมัยก่อน
2
-----
อีกตัวอย่างหนึ่ง
ผมเริ่มเขียนบล็อกแบบจริงจังมาตั้งแต่ปี 2015 โดยตั้งเป้าว่าจะเขียนทุกวัน ซึ่งเอาจริงๆ ก็มีหลุดบ้าง แต่ทุกปีก็จะเขียนได้ประมาณปีละ 350 บทความ
2
เมื่อปี 2017 ตอนที่เขียนได้ครบ 1,000 บทความ ผมก็ประกาศว่าถ้าเขียนได้ (เกือบ) ทุกวันแบบนี้ ผมจะเขียนครบ 10,000 บทความก่อนอายุ 72 ปี ซึ่งเป็นเป้าหมายที่ผมยึดถือมาตลอด
แต่ถ้าใครติดตามบล็อกนี้มานาน อาจจะพบว่าในช่วงเดือนที่ผ่านมา ความถี่ในการเขียนบทความของผมลดลง บางสัปดาห์อาจจะโพสต์แค่ 2-3 ตอนเท่านั้น
เหตุผลก็คือผมอยากทดลองดูว่าถ้าไม่เขียนทุกวันมันจะเป็นยังไง
ซึ่งเป็นสิ่งที่ผมไม่เคยกล้าทำ เพราะกลัวจะเสียชื่อ “คนที่เขียนบล็อกทุกวัน” และกลัวว่าจะไปไม่ถึง 10,000 บทความตามที่เคยประกาศเอาไว้
แต่ผมก็ได้พบว่า การนิยามตัวเองว่า “เป็นคนเขียนบล็อกทุกวัน” และ “ต้องไปให้ถึง 10,000 บทความ” เป็นเป้าหมายของตัวเองเมื่อนานมาแล้ว
1
มาถึงวันนี้ “ส่วนผสม” และ “สัดส่วน” ของสิ่งสำคัญในชีวิตไม่ได้เหมือนแต่ก่อน แล้วเหตุใดผมถึงต้องยึดติด – หรือติดกับ – กับเป้าหมายที่ตัวเองในวัยเด็ก(กว่า) ตั้งเอาไว้
1
สิ่งที่ผมเคยต้องการ ไม่ใช่สิ่งที่ผมต้องการขนาดนั้นอีกต่อไป
ในวันนี้ สิ่งที่ผมต้องการคือการมีเวลาว่างมากขึ้น ใช้เวลากับลูกและภรรยามากขึ้น โดยไม่ต้องคอยพะวงหรือรู้สึกผิดว่าวันนี้ยังไม่ได้เขียนบล็อก และถ้ามันจะไปไม่ถึง 10,000 บทความก็ไม่เป็นไร
1
-----
เขียนมายืดยาว เพียงเพื่อต้องการจะบอกว่าอย่าไปยึดติดกับเป้าหมาย หรือตัวตนของเราในอดีต
5
เราไม่จำเป็นต้องหวงแหนตัวตนที่สร้างเอาไว้ในจินตภาพ ตัวเราในวันนี้ไม่จำเป็นต้องคิดหรือทำเหมือนกับตัวเราเมื่อสิบปีที่แล้ว โดยเฉพาะเมื่อคำนึงว่าตัวเราในวันนี้ฉลาดและมีประสบการณ์มากกว่าตัวเราในวันก่อนตั้งเยอะ
4
แต่คนไม่น้อยก็ยังยืนยัน – หรือดึงดัน – ที่จะทำแบบเดิม ด้วยเหตุผลที่ว่า “เพราะเราเป็นคนแบบนี้”
2
นั่นย่อมทำให้เราสูญเสียโอกาสที่จะ “ได้ลองเป็นคนแบบอื่น” ซึ่งผมว่ามันเป็นเรื่องน่าเสียดาย และปิดกั้นความเป็นไปได้เกินไปหน่อย
1
ถ้าเรากล้าปล่อยมือจากเป้าหมายหรือตัวตนที่เรายึดถือมันมานาน เราอาจพบว่ามันไม่ได้แย่อย่างที่เราคิด
สิ่งที่เราเคยต้องการ เรายังต้องการมันอยู่จริงหรือ
นี่คือคำถามสำคัญ ที่อาจเปลี่ยนทิศทางชีวิตเราได้นะครับ
โฆษณา