30 ก.ย. 2023 เวลา 14:51 • หุ้น & เศรษฐกิจ

จีนจะซ้ำรอย ทศวรรษที่สูญหาย ของญี่ปุ่น หรือไม่

Blockdit Originals โดย ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร
ญี่ปุ่นในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ขณะที่กำลังพุ่งทะยานจนเศรษฐกิจขึ้นมามีขนาดเป็นร้อยละ 70 ของสหรัฐฯ ก็ดันประสบปัญหาฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก พร้อมกับเกิดสงครามการค้ากับสหรัฐฯ ในสมัยประธานาธิบดีเรแกน จนนำไปสู่สองทศวรรษที่สูญหายที่ทำให้ญี่ปุ่นซึมยาวชนิดอัตราการเติบโตต่ำเตี้ยเพลียดิน
3
วันนี้ เศรษฐกิจญี่ปุ่นคิดเป็นเพียงร้อยละ 25 ของเศรษฐกิจสหรัฐฯ เท่านั้นเอง
มีหลายคนถามว่าจีนกำลังประสบชะตากรรมเดียวกับญี่ปุ่นหรือไม่ เมื่อจีนทะยานขึ้นมาจนตอนนี้มีขนาดเศรษฐกิจแตะที่ร้อยละ 70 ของสหรัฐฯ จีนก็ประสบปัญหาวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ ฟองสบู่แตกดังโพละ พร้อมๆ กับการเผชิญสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีกับสหรัฐฯ และฝั่งตะวันตก หนังม้วนเดียวกัน
1
แล้วเศรษฐกิจจีนจะซึมยาวลากนานเหมือนญี่ปุ่น ดังที่สื่อตะวันตกเริ่มรายงานว่าขนาดเศรษฐกิจจีนอาจไม่มีวันแซงหน้าสหรัฐฯ แล้วหรือไม่
1
นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ทั่วโลกที่สนใจคำถามนี้ เสียงแตกเป็นสองฝ่าย มีฝ่ายที่มองว่าจีนในปัจจุบันอาจแย่ยิ่งกว่าญี่ปุ่นในอดีตเสียอีก กับฝั่งที่มองว่าสถานการณ์ของจีนยังดีกว่าญี่ปุ่นในเวลานั้นอีกมาก
มาดูเหตุผลของทั้งสองฝ่ายกัน
ฝ่ายที่มองว่าเผลอๆ จีนจะหนักหนาสาหัสกว่าขาลงของญี่ปุ่น ชี้ว่า เมื่อปลายทศวรรษ 1980 นั้น ญี่ปุ่นเผชิญสองปัญหา คือ วิกฤตภาคอสังหาฯ กับสงครามการค้ากับสหรัฐฯ
3
ทั้งสองปัญหาในจีนหนักกว่าญี่ปุ่นอีก ภาคอสังหาฯ คิดเป็นสัดส่วนที่สูงต่อ GDP จีนยิ่งกว่าในญี่ปุ่น และยังเป็นแหล่งรายได้สำคัญของรัฐบาลท้องถิ่นจีน ซึ่งเคยมีเงินมาใช้จ่ายจากการนำที่ดินของรัฐไปให้สิทธิเอกชนมาพัฒนาอสังหาฯ ดังนั้น ปัญหาอสังหาฯ ของจีนจะส่งผลกระทบหนักต่อการลงทุน และต่อความสามารถด้านการคลังของรัฐบาลท้องถิ่นของจีน
4
ส่วนสงครามการค้ากับสหรัฐฯ กรณีของจีนก็หนักกว่าญี่ปุ่น เพราะญี่ปุ่นเป็นเศรษฐกิจที่ค่อนข้างปิด ไม่ได้พึ่งพาสหรัฐฯ มาก สหรัฐฯ เพียงแต่กดดันญี่ปุ่นเรื่องค่าเงิน และต้องการให้ญี่ปุ่นซื้อของจากสหรัฐฯ ให้มากขึ้น แต่จีนเป็นเศรษฐกิจที่เปิดและพึ่งพาทั้งการส่งออกไปยังสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดผู้บริโภคขนาดใหญ่ การนำเข้าเทคโนโลยีจากสหรัฐฯ และการลงทุนของทุนสหรัฐฯ ในเมืองจีน
5
นอกจากนั้น ปัญหาของจีนเกิดขึ้นพร้อมกับภาวะประชากรหดในจีน ขณะที่ในญี่ปุ่น กว่าจะเกิดภาวะประชากรหดก็ในปี ค.ศ. 2009 เกือบ 20 ปี หลังเริ่มเกิดปัญหาเศรษฐกิจญี่ปุ่นติดหล่ม แต่จีนเริ่มเข้าสู่ภาวะประชากรหดตั้งแต่ปี ค.ศ. 2021 พร้อมกับที่ปัญหาเศรษฐกิจมากมายของจีนทับถมพร้อมกันพอดี
2
อย่างไรก็ตาม ยังมีนักเศรษฐศาสตร์ของจีนหลายคนที่มองโลกในแง่ดี โดยมองว่าสถานการณ์ของจีนแตกต่างจากญี่ปุ่นอย่างน้อย 3 ข้อ
1
หนึ่ง จีนเป็นเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ และมีประชากรมหาศาล จำนวนประชากรของจีนคิดเป็น 10 เท่า ของญี่ปุ่น และ 4 เท่า ของสหรัฐฯ ตลาดและสเกลขนาดมหึมานี้นับเป็นศักยภาพพื้นฐานของเศรษฐกิจจีน
6
สอง จีนยังคงเป็นประเทศรายได้ปานกลาง ในขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นตอนเริ่มไม่ดีนั้นได้เข้าสู่การเป็นประเทศรายได้สูงเรียบร้อยแล้ว ข้อนี้บางคนบอกว่าจีนยิ่งแย่กว่าญี่ปุ่น แต่นักเศรษฐศาสตร์ในจีนบางคนมองบวกว่าจีนยังมีช่องว่างสำหรับการเติบโต (Room for growth) ไม่ได้อิ่มตัวแล้วเหมือนญี่ปุ่นในตอนนั้น
6
หากการเติบโตทางเศรษฐกิจคือการเอาเทคโนโลยีจับกับประชากร เพื่อเพิ่มผลิตภาพให้สูงขึ้น จีนปัจจุบันยังคงมีชนชั้นกลางเพียง 400 ล้านคน จากประชากร 1,400 ล้านคน หากสามารถยกระดับและเพิ่มผลิตภาพแรงงานของประชากรส่วนที่เหลือของประเทศ ก็ยังมีศักยภาพที่จะปลดปล่อยพลังการเติบโตและพลังการบริโภคอีกระลอก
7
จึงมาถึงข้อสามที่จีนต่างกับญี่ปุ่น คือ ศักยภาพเรื่องเทคโนโลยี เพราะบริบทของจีนเป็นการสะดุดในยุคเทคโนโลยีใหม่อย่างปัญญาประดิษฐ์ ซึ่งอาจสามารถตอบโจทย์ปัญหาประชากรหด ที่แต่เดิมอาจนำไปสู่การขาดแคลนแรงงาน และยังมีศักยภาพในการเพิ่มผลิตภาพให้กับภาคเศรษฐกิจต่างๆ นอกจากนี้ จีนยังมีความแข็งแกร่งในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด รถยนต์อีวี สิ่งเหล่านี้อาจกลายเป็นจุดเติบโตใหม่ของเศรษฐกิจจีนแทนการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์
5
พูดอีกอย่างหนึ่งคือ จีนหวังว่าเทคโนโลยีจะเป็นตัวเปลี่ยนเกม ขณะเดียวกัน ก็ต้องยอมรับว่าความท้าทายคือจีนต้องเผชิญแรงกดดันจากสงครามเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ที่จำกัดการส่งเทคโนโลยีไปให้จีน ผลคือการพัฒนาเทคโนโลยีของจีนย่อมจะช้าและชะลอลงจากเดิม แต่จีนก็ยังคงเพิ่มเงินลงทุนในการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่องเพื่อทลายกำแพงและแรงกดดันของสหรัฐฯ
1
สุดท้ายแล้ว จีนจะซ้ำร้อยญี่ปุ่นหรือไม่ ย่อมอยู่ที่จีนสามารถจำกัดความเสี่ยงที่อาจส่งผลให้จีนหนักหนาสาหัสกว่าญี่ปุ่น และใช้ประโยชน์จากจุดแข็งและทุนเดิมของจีนที่อาจช่วยให้จีนรอดพ้นกับดักทศวรรษที่สูญหายให้ได้เพียงใด
6
โฆษณา