พระพุทธศาสนานับว่าเป็นอีกหนึ่งศาสนาเก่าแก่ของโลก โดยมีจุดรุ่งเรืองของศาสนาอยู่ในช่วงราวพุทธศตวรรษที่ 3 ในอินเดียผ่านการอุปถัมป์ของพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งราชวงศ์เมารยะ
โดยในรัชสมัยของพระองค์ได้มีการสร้างศาสนสถานและเผยแพร่พระพุทธศาสนาไปทั่วตั้งแต่ในอนุทวีปอินเดียไปจนถึงสุวรรณภูมิ โดยตัวอย่างโบราณสถานและโบราณวัตถุที่สำคัญก็เช่น เสาพระเจ้าอโศก และกลุ่มศาสนสถานสาญจี
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มหาสถูปแห่งสาญจีซึ่งกล่าวกันว่าเป็นสถูปในศาสนาพุทธที่เก่าแก่ที่สุด ซึ่งรูปลักษณ์ของสถูปสาญจีนี้เอง ไม่ได้มีแค่ในอินเดียเท่านั้น หากแต่ปรากฏในดินแดนไทยด้วย ซึ่งในปัจจุบันเราเรียกสถูปนั้นว่า “พระปฐมเจดีย์”
ถ้าเรามองภาพของพระปฐมเจดีย์ในปัจจุบันเราอาจจะคิดไปว่า “ไม่เหมือน” กับสถูปสาญจีสักนิด แต่ว่าจริง ๆ แล้วพระปฐมเจดีย์องค์ปัจจุบันที่เราเห็นกันอยู่นี้เป็นเจดีย์ทรงระฆังที่ถูกสร้างขึ้นในสมัยหลังและ “ครอบ” อยู่บนสถูปเดิม
ซึ่งเป็นสถูปทรงปรางค์แบบขอม ซึ่งสถูปทรงขอมนี้ก็ครอบสถูปทรงทวารวดีเดิม และสถูปทวารวดีเดิมนี้ก็ครอบสถูปทรงสาญจีอีกทีหนึ่ง ทำให้พระปฐมเจดีย์กลายเป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในไทย
พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้มีพระราชวินิจฉัยว่าพระปฐมเจดีย์อาจจะเป็นเจดีย์ที่สร้างขึ้นโดยพระสมณฑูตของพระเจ้าอโศกมหาราชที่มาเผยแพร่ศาสนาในสุวรรณภูมิสร้างไว้
ก่อนที่จะมีการบูรณะเป็นทรงปรางค์แบบขอมในภายหลังโดยเจ้านายพระองค์หนึ่ง ซึ่งมีหลักฐานในจารึกวัดศรีชุมวัดพระมหาเถรศรีศรัทธาได้แวะมาบูรณะหลังจากกลับมาจากศรีลังกา และพระบามสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ก็ได้บูรณะอีกครั้งหนึ่งโดยสร้างเจดีย์ครอบปรางค์ขอมเดิม
ซึ่งมาแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 5 และมีการสร้างต่อเติมเรื่อยมา เช่นการเขียนจิตรกรรมพระวิหารหลวงในสมัยรัชกาลที่ 6 และการสร้างพระอุโบสถใหม่ในสมัยรัชกาลที่ 7
แต่อย่างไรก็ดี ยังมีมุมมองบางส่วนที่สันนิษฐานว่าพระปฐมเจดีย์อาจจะไม่ใช่สถูปแห่งแรก โดยสุจิตต์ วงเทศมองว่าชื่อพระปฐมเจดีย์นั้นเพี้ยนมาจากชื่อเดิมคือพระธม ซึ่งธมในภาษาเขมรแปลว่าใหญ่
พระธมเจดีย์จึงน่าจะหมายถึงเจดีย์ใหญ่ แต่ในภายหลังพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าได้ตั้งชื่อว่าปฐมเจดีย์เพราะเป็นเจดีย์เก่าที่คนนับถือกันมานาน ผู้คนเลยเชื่อว่าเป็นเจดีย์แห่งแรกไป
.
#ที่โปรด #ประวัติศาสตร์ #นครปฐม
แสดงความคิดเห็นของคุณ...
  • 2
    โฆษณา