3 ต.ค. 2023 เวลา 04:09 • วิทยาศาสตร์ & เทคโนโลยี

CHIP WAR จากการคัดลอกสู่การเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของญี่ปุ่น

ถ้าย้อนกลับไปมองประเทศญี่ปุ่นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองเรียกได้ว่าญี่ปุ่นได้กลายเป็นประเทศที่แทบจะแตกสลาย ญี่ปุ่นเองโดนระเบิดนิวเคลียร์ไปถึงสองลูกที่เมืองนางาซากิและฮิโรชิมาอย่างที่เราได้รับรู้กัน
1
แต่พวกเขาสามารถที่จะพลิกประเทศกลับมารวดเร็วได้อย่างน่าเหลือเชื่อมากๆ ซึ่งก็ต้องบอกว่าอุตสาหกรรมชิปเองก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นพลิกประเทศให้กลายมาเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วสามารถต่อสู้กับสหรัฐอเมริกาและกลายเป็นศัตรูที่สำคัญทางด้านเศรษฐกิจของอเมริกาได้
1
ในช่วงแรกแม้ญี่ปุ่นจะไม่มีผู้เชี่ยวชาญมีวิศวกรระดับสูงเหมือนที่ซิลิคอนวัลเลย์ในอเมริกามี แต่พวกเขาอาศัยรูปแบบของการก๊อปปี้หรือคัดลอกเทคโนโลยีของสหรัฐอเมริกาเป็นหลักก่อน
มันเป็นเรื่องปรกติมากในยุคนั้นที่หลาย ๆ ประเทศก็ใช้วิธีการแบบนี้ คือการคัดลอกเทคโนโลยีจากสหรัฐอเมริกา เพื่อนำมาเรียนรู้และพัฒนาด้วยตัวเองด้วยต้นทุนด้านต่าง ๆ ที่ต่ำกว่า
1
สหรัฐอเมริกาอาจจะเป็นผู้คิดค้นนวัตกรรมที่สุดล้ำมากมาย แต่ก็นำไปใช้ในวงการทหารเป็นหลัก แต่ญี่ปุ่นมีวิสัยทัศน์อีกแบบนึง พวกเขาแทบจะไม่มีกองทัพเป็นของตนเองหลังจากสงครามโลก การที่จะสร้างอุตสาหกรรมใหม่และทำให้พวกเขาสามารถที่จะจำหน่ายไปทั่วโลกได้ก็ต้องเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อการอุปโภคบริโภคโดยคนทั่วไป
1
ความน่าสนใจก็คือหลังจากที่โตเกียวถูกทิ้งระเบิดราบเป็นหน้ากอง พวกเขาสามารถที่จะเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ ๆ จากนักฟิสิกส์ชั้นนำของอเมริกา เพราะว่าสำนักงานใหญ่ขององค์กรต่าง ๆ ของสหรัฐอยู่ในโตเกียวแทบจะทั้งหมด และได้อนุญาตให้นักวิทยาศาสตร์ญี่ปุ่นเข้าถึง know-how ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องงานวิจัยที่เกี่ยวกับแอพพลายฟิสิกส์ รวมถึงเทคโนโลยีอื่น ๆ
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดนั่นก็คือ อากิโอะ โมริตะ ที่ได้ก้าวเข้ามาในธุรกิจนี้แม้ตอนแรก โมริตะ จะทำธุรกิจโรงกลั่นสาเกซึ่งถือว่าเป็นโรงกลั่นที่โดดเด่นที่สุดแห่งหนึ่งของญี่ปุ่น
แต่โมริตะชื่นชอบในการซ่อมอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เขาเรียนจบปริญญาด้านฟิสิกส์ ซึ่งความเชี่ยวชาญด้านฟิสิกส์นี่เองที่ช่วยชีวิตเขา โดยโมริตะร่วมมือกับอดีตผู้ร่วมงานชื่อ มาซารุ อิบุกะ สร้างธุรกิจทางด้านอิเล็กทรอนิกส์ขึ้นมา
ต่อมาพวกเขาก็ตั้งชื่อบริษัทว่า Sony มาจากภาษาละติน Sonus ที่แปลว่าเสียง และยังใช้ชื่อเล่นแบบอเมริกันว่า Sunny อุปกรณ์ชิ้นแรกของพวกเขาคือหม้อหุงข้าวไฟฟ้าที่ตอนนั้นต้องบอกว่ามันเป็นสินค้าที่ดูไร้เสน่ห์เป็นอย่างมาก
1
โมริตะร่วมมือกับอดีตผู้ร่วมงานชื่อ มาซารุ อิบุกะ สร้างบริษัท Sony ขึ้นมา (CR:GettyImage)
แต่โมริตะเห็นถึงศักยภาพของอุปกรณ์อิเล็กทรอนนิกส์ว่ามันคืออนาคตของเศรษฐกิจโลก Sony เองได้ประโยชน์จากการมีค่าแรงที่ถูกกว่าในญี่ปุ่น รวมถึงโมริตะมีความเชี่ยวชาญในการออกแบบผลิตภัณฑ์และการตลาด
บริษัทญี่ปุ่นหลายแห่งมีชื่อเสียงในการผลิตเป็นเลิศ โดยสามารถสร้างตลาดใหม่ ด้วยวงจรเทคโนโลยีใหม่ ๆ ของซิลิคอนวัลเลย์ แผนของโมริตะก็คือการชี้นำประชาชนด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ แทนที่จะถามพวกเขาว่าต้องการผลิตภัณฑ์ประเภทใด
มันเป็นสิ่งที่ที่ไม่น่าแปลกใจที่ สตีฟ จ็อบส์ อดีตซีอีโอผู้ล่วงลับของ Apple นั้นก็ได้รับแรงบันดาลใจที่สำคัญจากโมริตะ จนถึงขึ้นที่จ็อบส์เองต้องการสร้าง Apple ให้เหมือน Sony ซึ่งจ็อบส์มักจะนึกถึงการเปลี่ยนแปลงโลกมากกว่าการทำกำไรให้กับบริษัท และมีวิสัยทัศน์แบบเดียวกับโมริตะในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่ลูกค้าต่างหลงรัก
ความสำเร็จแรกของ Sony ในการเข้าสู่ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ก็คือวิทยุทรานซิสเตอร์ แต่ตอนนั้นพวกเขาก็ไม่มีปัญญาที่จะสร้างชิปขึ้นมาเองต้องพึ่งพาบริษัทในสหรัฐอเมริกาโดยเฉพาะจากซิลิคอนวัลเลย์
ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่ก็มีการป้อนชิปเหล่านี้ให้กับญี่ปุ่น ดังนั้นถ้าอเมริกาเองก็ไม่คิดว่าญี่ปุ่นจะสามารถสร้างเทคโนโลยีสุดล้ำอะไรได้มากมาย พวกเขาจึงไม่ได้มีการระแวดระวังมากนักในการป้องกันทรัพย์สินทางปัญญาของพวกเขา
ในช่วงแรกทั้งสองประเทศก็มีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างเกื้อหนุนกัน เพราะว่าในสหรัฐอเมริกาสามารถสร้างคอมพิวเตอร์ได้ดีที่สุด แต่ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในญี่ปุ่นอย่าง Sony ก็จะผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคที่ขับเคลื่อนการบริโภคชิปที่ผลิตโดยสหรัฐอเมริกา
ซึ่งจะเห็นได้ว่าเมื่ออเมริกามาลงทุนเปิดโรงงานผลิตชิปที่ประเทศใดก็จะมีการถ่ายทอดเรื่องของเทคโนโลยีให้กับวิศวกรในประเทศนั้น ๆ ซึ่งจะได้เรียนรู้วิธีการผลิตหรือถึงขั้นอาจจะสามารถคัดลอกนวัตกรรมบางอย่างมาได้เลย
ยักษ์ใหญ่ด้านเซมิคอนดักเตอร์อย่างเท็กซัส อินสตรูเมนต์ ที่พยายามจะเข้ามาเปิดโรงงานในญี่ปุ่น แต่พวกเขาก็ต้องเผชิญกับอุปสรรคด้านกฎหมายมากมาย แต่โมริตะสามารถไปช่วยเคลียร์กับหน่วยงานรัฐต่าง ๆ ให้ทางเท็กซัส อินสตรูเมนต์มาสร้างโรงงานได้สำเร็จ
นั่นเองที่เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญในการคิดที่จะสร้างชิปด้วยตัวเองของประเทศญี่ปุ่น และเมื่อเวลาผ่านไป บริษัทอเมริกันอย่างอินเทลหรือเท็กซัส อินสตรูเมนต์ รวมถึงบริษัทญี่ปุ่นอย่างโตชิบาหรือเอ็นอีซีก็สามารถที่จะสร้างชิปหน่วยความจำดีแรมของตัวเองขึ้นมาได้สำเร็จ
ตอนนั้นอเมริกาก็มองญี่ปุ่นแบบตลก ๆ ว่าคงเป็นนวัตกรรมที่ไม่ได้เลิศหรูอะไรแต่อย่างใด แต่ว่าเมื่อผลิตไปจริงๆ แล้ว กลับพบว่าชิปที่ผลิตจากญี่ปุ่นกลับมีคุณภาพที่ดีกว่าบริษัทคู่แข่งในสหรัฐอเมริกา
ชิปที่ผลิตในสหรัฐฯ ทำงานผิดพลาดถึง 4 เท่าครึ่ง เมื่อเทียบกับการทำงานของชิปที่ผลิตโดยประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นตัวเลขที่ต่างกันมาก นั่นทำให้ผู้ผลิตสินค้าอิเล็กทรอนิกส์แม้กระทั่งในอเมริกาเองก็ตาม เริ่มที่จะหันมามองชิปจากบริษัทในประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น
ชิปที่ผลิตโดยประเทศญี่ปุ่นได้รับการยอมรับมากขึ้นในตลาดโลก (CR:Escape Authority)
แล้วที่สำคัญก็คือพวกเขาสามารถทำราคาได้ถูกมากๆ ด้วยต้นทุนด้านแรงงานรวมถึงต้นทุนในการจัดหาเงินกู้ ด้วยการอุดหนุนจากรัฐบาลที่มีนโยบายช่วยเหลือเกื้อกูลบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น เพราะทางรัฐบาลต้องการผลักดันให้ประเทศเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์
ความเข้าใจในยุคก่อนหน้าของผลิตภัณฑ์จากญี่ปุ่นที่เป็นสินค้าราคาถูก ไร้คุณภาพ แต่แบรนด์อย่าง Sony ได้ทำให้ชื่อเสียงด้านแย่ ๆ เหล่านี้หมดไป ด้วยการสร้างผลิตภัณฑ์ราคาไม่แพง คุณภาพสูงเทียบเท่ากับคู่แข่งในอเมริกา
นั่นเองที่ทำให้ชาวญี่ปุ่นกล้าที่จะตั้งเป้าหมายที่สูงขึ้นไปอีก ในการท้าทายอุตสาหกรรมของอเมริกาตั้งแต่รถยนต์ไปจนถึงเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งต้องบอกว่าทำให้อเมริกาเองต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงจากญี่ปุ่น
ในช่วงปี 1980 อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภคได้กลายเป็นสินค้าเฉพาะของญี่ปุ่น ซึ่งพวกเขาได้กลายเป็นผู้นำในการเปิดตัวสินค้าอุปโภคบริโภคใหม่ ๆ และสามารถคว้าส่วนแบ่งการตลาดจากคู่แข่งในอเมริกา
แม้ในช่วงแรกบริษัทญี่ปุ่นจะประสบความสำเร็จด้วยการเลียนแบบผลิตภัณฑ์ของคู่แข่งในสหรัฐฯ โดยผลิตให้มีคุณภาพสูงขึ้นและราคาที่ถูกลง ชาวญี่ปุ่นบางคนมองว่าพวกเขาเก่งในการนำทฤษฎีไปปฏิบัติในขณะที่อเมริกาเก่งกว่าพวกเขาในด้านการคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ
ในปี 1979 Sony ได้เปิดตัวอุปกรณ์อย่าง Walkman ซึ่งเป็นเครื่องเล่นเพลงแบบพกพาที่ปฏิวัติวงการเพลงโดยสิ้นเชิงโดยการสร้างวงจรชิปที่ทันสมัยของบริษัท
อุปกรณ์อย่าง Walkman นี่เองที่วัยรุ่นทั่วโลกสามารถพกพาเพลงโปรดใส่ในกระเป๋าและใช้พลังงานจากชิปที่บุกเบิกจากซิลิคอนวัลเลย์แต่พัฒนาในญี่ปุ่น ทำให้ Sony ขายไปได้กว่า 385 ล้านเครื่องทั่วโลก ทำให้ Walkman กลายเป็นหนึ่งในอุปกรณ์สำหรับผู้บริโภคที่ได้รับความนิยมสูงสุดในประวัติศาสตร์และเป็นนวัตกรรมที่บริสุทธิ์ที่สุดที่ผลิตในญี่ปุ่น
Walkman ซึ่งเป็นเครื่องเล่นเพลงแบบพกพาที่ปฏิวัติวงการเพลงโดยสิ้นเชิง (CR:The Verge)
ต้องบอกว่ามันมีหลายปัจจัยที่ทำให้ญี่ปุ่นสามารถก้าวเข้ามาเป็นผู้นำในอุปกรณ์เซมิคอนดักเตอร์สำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคอิเล็กทรอนิกส์อย่างที่เราได้เห็นกันในทุกวันนี้ได้
ปัจจัยแรกก็คือเรื่องของรัฐบาลที่ช่วยอุดหนุนอุตสาหกรรมนี้อย่างเต็มที่ให้กับบริษัทยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่น รวมถึงอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากๆ ในการเข้าถึงเงินทุนเพราะว่าชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะมีอัตราการออมที่สูงมาก ทำให้ธนาคารมีเงินสดเหลือเยอะมากๆ มาปล่อยกู้ในดอกเบี้ยที่แสนถูก
รวมถึงการที่พวกเขามีต้นทุนทางด้านแรงงานที่ต่ำกว่าอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับอเมริกา และนั่นเองที่ทำให้ในท้ายที่สุดพวกเขาก็สามารถเอาชนะอเมริกาในการแข่งขันด้านชิปในช่วงทศวรรษที่ 1980 ไปได้สำเร็จนั่นเองครับผม
References :
เรียบเรียงจากหนังสือ Chip War: The Fight for the World’s Most Critical Technology โดย Chris Miller
◤━━━━━━━━━━━━━━━◥
หากคุณชอบคอนเทนต์นี้อย่าลืม 'กดไลก์'
หากคอนเทนต์นี้โดนใจอย่าลืม 'กดแชร์'
คิดเห็นอย่างไรคอมเม้นต์กันได้เลยครับผม
◣━━━━━━━━━━━━━━━◢
The original article appeared here https://www.tharadhol.com/chip-war-japan/
ติดตามสาระดี ๆ อัพเดททุกวันผ่าน Line OA ด.ดล Blog
คลิกเลย --> https://lin.ee/aMEkyNA
รวม Blog Post ที่มีผู้อ่านมากที่สุด
——————————————–
ติดตาม ด.ดล Blog เพิ่มเติมได้ที่
=========================
โฆษณา