3 ต.ค. 2023 เวลา 08:09 • หุ้น & เศรษฐกิจ

MD&A คืออะไร?

MD&A เป็นตัวย่อของ “Management Discussion & Analysis หรือ “คำอธิบายและการวิเคราะห์ของฝ่ายจัดการ” เป็นการอธิบายเชิงวิเคราะห์ในมุมมองของฝ่ายจัดการต่อฐานะการเงิน และผลการดำเนินงานของบริษัทที่มีนัยสำคัญในงบการเงินงวดที่ผ่านมา
รวมถึงปัจจัยและ/หรือเหตุการณ์ต่างๆ หรือแนวโน้มที่จะมีผลกระทบต่อการเงินดำเนินธุรกิจของบริษัท เพื่อให้ ผู้ถือหุ้นและผู้ลงทุนได้ใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์นั้นๆ
Image Credit: Pixabay
แต่ในปัจจุบันนิยมจัดทำ MD&A ออกมาในทุกไตรมาส (Interim MD&A) เพื่ออัพเดทข้อมูลทางการเงิน และความเปลี่ยนแปลงหรือสถานการณ์ต่างๆ ที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัทให้แก่นักลงทุน/ผู้ถือหุ้นรับทราบกันอย่างทันท่วงที
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ “รายได้หรือกำไรสุทธิ” แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญจากงวดไตรมาสเดียวกันของปีก่อนไม่ว่าจะ “เพิ่มขึ้น” หรือ “ลดลง” มากกว่าร้อยละ 20
ทั้งนี้ ก็สามารถเข้าไปอ่านข้อมูลของบริษัทนั้นๆ ได้ง่ายและสะดวกสบายมากผ่านทางเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย www.set.or.th หรือเว็บไซต์อย่างเป็นทางการของบริษัทนั้นๆ
ซึ่งข้อมูล MD&A นั้นจะถูกนำส่งหลังจากที่บริษัทนำส่ง “งบการเงิน” และ “F-45” (แบบสรุปผลการดำเนินงาน) เรียบร้อยก่อนแล้วตามลำดับ
นอกจากนี้ยังสามารถอ่าน MD&A ได้จาก 56-1 One Report ซึ่งแต่ละบริษัทมีหน้าที่เปิดเผยข้อมูลนี้อยู่แล้ว โดยจะอยู่ในส่วนที่ 1 การประกอบธุรกิจและผลการดำเนินงาน (4) การวิเคราะห์คำอธิบายของฝ่ายจัดการ (MD&A)
Image Credit: Pixabay
## MD&A ที่ดีเป็นอย่างไร? ##
อย่างแรกต้องเป็น “การวิเคราะห์ผ่านมุมมองของฝ่ายจัดการ” ถึงภาพรวม (Key Driver) ของการดำเนินธุรกิจพร้อมทั้งอธิบายถึงปัจจัยที่มีผลกระทบต่อการดำเนินงาน รวมถึงการวิเคราะห์ปัจจัยภายใน ได้แก่ นโยบาย กลยุทธ์ และการบริหารจัดการ รวมถึงปัจจัยภายนอก อย่างเช่นภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมด้วย
ต่อมาต้องมี “การวิเคราะห์เทียบตัวชี้วัดที่เหมาะสม” ไม่ว่าจะเป็นการอ้างอิง Benchmark กับข้อมูลเก่าในอดีต คู่แข่ง หรือ KPI เทียบกับอุตสาหกรรม โดยมีการใช้ Ratio ประกอบการอธิบายให้เห็นถึงอัตราส่วนทางการเงินที่สำคัญ (แตกต่างกันไปตามแต่ละธุรกิจ ซึ่งหากมีวิธีคำนวณเฉพาะควรเปิดเผยวิธีการและข้อมูลที่นำมาใช้ด้วย)
“การอธิบายด้วยรูปแบบการนำเสนอที่เข้าใจง่าย” เช่น เน้นการใช้ตัวเลข ตาราง กราฟ และงดใช้ศัพท์เฉพาะ/ศัพท์เทคนิคทางบัญชี โดยอาจจะมีการวิเคราะห์แยกเป็นหัวข้อย่อยๆ ก่อน เช่น ภาพรวม ตามสายผลิตภัณฑ์ หรือประเภทรายได้ เป็นต้น อีกทั้งควรอธิบายประเด็นสำคัญ เช่น ความสามารถในการทำกำไร/การชำระหนี้ สภาพคล่อง เป็นต้น
Image Credit: Pixabay
นอกจากนี้ ด้าน “การอธิบายประเด็นที่มีนัยสำคัญทั้งด้านบวก และด้านลบ” ควรชี้แจงให้ทราบทั้งหมด เช่น หากเป็นปัจจัยบวก กรณีที่ไม่ได้เกิดขึ้นเป็นประจำ (Non-Recurring Items) ก็ควรต้องอธิบายถึงสาเหตุ
ส่วนกรณีเป็นปัจจัยลบ ก็ไม่ควรปิดบัง ควรอธิบายสาเหตุ แนวทางแก้ไข รวมทั้งการบริการจัดการความเสี่ยง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นอีกในอนาคต
อีกข้อมูลสำคัญที่ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนสนใจ และมีผลกระทบต่อการตีมูลค่าของหุ้นหรือบริษัทนั้นๆ ได้แก่ “การอธิบายปัจจัยสำคัญที่อาจมีผลกระทบต่อการดำเนินงานในอนาคต” (Forward Looking หรือ Outlook)
เช่น แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม นโยบายหรือกลยุทธ์องค์กร ผลกระทบด้าน ESG ที่มีผลต่อการดำเนินงานของบริษัท หรือแม้แต่การลงทุนและการดำเนินโครงการใหม่ๆ เป็นต้น
Image Credit: Pixabay
นอกจากนี้ ยังมีข้อควรระวัง ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญอีกอย่างของ MD&A คือข้อมูลที่เปิดเผยนั้น “ต้องถูกต้องเป็นจริง ไม่อวดอ้างหรือโฆษณาที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ด้วยข้อเท็จจริง
โดยการเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง/เป็นเท็จที่ก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียนี้ ก็ถือเป็นความรับผิดชอบต่อคณะกรรมการบริษัทโดยตรงด้วย
MD&A จึงนับเป็นอีกหนึ่งช่องทางสื่อสารที่สามารถสะท้อนมุมมองในปัจจุบันของบริษัทได้อย่างดีเยี่ยม พร้อมด้วยการวิเคราะห์ถึงที่มาที่ไป และเหตุผลของผลการดำเนินงานในงวดนั้นๆ ด้วยข้อมูลที่ย่อยง่าย
มันจึงกลายเป็นแหล่งข้อมูลชั้นดีสำหรับนักลงทุน/ผู้ถือหุ้นที่สนใจข้อมูลของบริษัทนั้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนำมาอ่านประกอบคู่กันกับงบการเงินแล้ว จะยิ่งช่วยให้รู้จักและเข้าใจในตัวของบริษัทได้มากยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน.
Source:
- ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
- ข้อแนะนำในการเปิดเผยข้อมูล MD&A สำนักงาน ก.ล.ต.
## ติดตาม "ทีทีดับบลิว" ได้แล้ววันนี้ทาง ##
Website: www.ttwplc.com
Facebook: ttwplc
Instagram: ttwplc
Youtube: TTW Plc Channel
Linkedin: TTW Public Company Limited
Blockdit: TTW Public Company Limited
โฆษณา