4 ต.ค. 2023 เวลา 05:21 • ข่าวรอบโลก

📌หวั่นทะเลจีนใต้เดือด หลังฟิลิปปินส์ท้าชนจีน ลั่นจะไม่ยอมถูกบูลลีอีกต่อไป

🔹ความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ที่กว้างใหญ่ไพศาลได้ปะทุขึ้นอีกครั้งเมื่อไม่นานมานี้ ขณะที่จีนซึ่งมีความอหังการมากขึ้นนั้นกำลังสร้างเสริมกำลังทหารในบรรดาหมู่เกาะที่เป็นข้อพิพาท และได้ออกมาเผชิญหน้ากับประเทศในภูมิภาคเกี่ยวกับการอ้างสิทธิ์ในน่านน้ำทะเลจีนใต้ซึ่งมีความสำคัญทางยุทธศาสตร์และอุดมไปด้วยทรัพยากร
🔹สถานการณ์ตึงเครียดล่าสุดเกิดขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่ยามฝั่งของฟิลิปปินส์ได้ทำการรื้อถอนสิ่งกีดขวางที่เป็นทุ่นลอยน้ำของจีนออกจากบริเวณเส้นทางเข้าสู่แนวสันดอนสการ์โบโรห์ (Scarborough Shoal) ในทะเลจีนใต้เมื่อวันที่ 25 ก.ย.ที่ผ่านมา
🔹โดยหน่วยยามฝั่งของรัฐบาลจีนเป็นผู้ติดตั้งทุ่นกั้นเหล่านั้น ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวของฟิลิปปินส์สร้างความไม่พอใจอย่างมากให้กับจีน ขณะที่สำนักงานยามฝั่งของฟิลิปปินส์ได้ออกแถลงการณ์สำทับว่า ฟิลิปปินส์พร้อมที่จะรื้อถอนสิ่งกีดขวางใด ๆ หากมีผู้นำมาติดตั้งไว้ในบริเวณแนวสันดอนสการ์โบโรห์ในทะเลจีนใต้อีก
🔹นายหวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศจีนรีบออกมาตอบโต้ว่า หมู่เกาะปะการังสการ์โบโรห์หรือเกาะหวงเหยียนในทะเลจีนใต้เป็นดินแดนที่อยู่ภายใต้อธิปไตยของจีน ดังนั้นจีนจึงขอแนะนำฟิลิปปินส์ว่า "ไม่ควรกวนน้ำให้ขุ่น" ซึ่งต่อมาประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ผู้นำฟิลิปปินส์กล่าวว่า รัฐบาลฟิลิปปินส์ไม่ได้ต้องการสร้างปัญหา แต่สิ่งที่ดำเนินการไปนั้นจำเป็นต่อการปกป้องอธิปไตยของประเทศและสิทธิของชาวประมงฟิลิปปินส์ ซึ่งเข้าไปหาปลาในบริเวณนี้อย่างอิสระมาเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว
🔹เกาะหวงเหยียนเป็นชื่อที่จีนใช้เรียกแนวสันดอนสการ์โบโรห์ซึ่งตั้งอยู่ใกล้กับหมู่เกาะสแปรตลีย์ในทะเลจีนใต้ และปัจจุบันเป็นพื้นที่ตึงเครียดระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ โดยรัฐบาลของหลายประเทศต่างอ้างสิทธิ์ในพื้นที่บางส่วนของทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นเส้นทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ขณะที่จีนยืนยันกรรมสิทธิ์เหนือน่านน้ำเกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้ โดยไม่สนใจคำตัดสินของศาลระหว่างประเทศ
1
🔹ในช่วงกว่า 20 ปีที่ผ่านมา จีนได้ครอบครองเกาะและแนวปะการังจำนวนหนึ่งในทะเลจีนใต้ซึ่งอยู่ห่างไกลจากแนวชายฝั่งของจีน โดยได้สร้างฐานปฏิบัติการทางทหารขึ้น ซึ่งรวมถึงรันเวย์และท่าเรือ ขณะที่หลายประเทศที่อ้างสิทธิครอบครองพื้นที่ดังกล่าว เช่น ฟิลิปปินส์ ระบุว่า การกระทำดังกล่าวของจีนเป็นการละเมิดอธิปไตยและละเมิดกฎหมายทางทะเล
🔹ด้านสหรัฐก็เห็นด้วยกับหลายประเทศเหล่านั้น และได้ส่งเรือพิฆาตของกองทัพเรือสหรัฐเข้าไปปฏิบัติการเพื่อแสดงถึงเสรีภาพในการเดินเรือใกล้กับเกาะต่าง ๆ ที่เป็นข้อพิพาทอยู่เป็นประจำ ซึ่งก็ทำให้เกิดความวิตกว่า ทะเลจีนใต้อาจจะกลายเป็นพื้นที่ตึงเครียดที่จุดชนวนความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนซึ่งเป็นสองมหาอำนาจของโลก
🔷ทะเลจีนใต้สำคัญอย่างไร ทำไมหลายประเทศต่างอ้างสิทธิครอบครอง
🔹น่านน้ำขนาด 1.3 ล้านตารางไมล์ (3.3 ล้านตารางกิโลเมตร) มีความสำคัญต่อการค้าระหว่างประเทศ โดยการขนส่งสินค้าประมาณ 1 ใน 3 ของโลกซึ่งมีมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์นั้นใช้เส้นทางสัญจรในทะเลจีนใต้เพื่อขนส่งสินค้าในแต่ละปี
🔹นอกจากนี้ ทะเลจีนใต้ยังเป็นแหล่งที่ตั้งของการทำประมงอันอุดมสมบูรณ์ซึ่งจำเป็นต่อการดำรงชีวิตของผู้คนจำนวนมาก
🔹อย่างไรก็ตาม มูลค่าทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ในทะเลจีนใต้ยังคงไม่ได้ถูกนำไปใช้ โดยจากข้อมูลของสำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงาน (EIA) ของสหรัฐระบุว่า ทะเลจีนใต้กักเก็บก๊าซธรรมชาติไว้อย่างน้อย 190 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต และมีปริมาณน้ำมันถึง 1.1 หมื่นล้านบาร์เรล
🔹การจะเข้าควบคุมและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรเหล่านั้นอาจจะส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสิ่งแวดล้อมในทะเลจีนใต้ซึ่งเป็นที่ตั้งของเกาะและแนวปะการังขนาดใหญ่จำนวนมาก และสัตว์ป่านานาชนิดอาจจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและมลภาวะทางทะเล
🔷จีนเมินคำตัดสินของศาลโลก อ้างอธิปไตยเหนือน่านน้ำเกือบทั้งหมดในทะเลจีนใต้
🔹จีนอ้าง "อธิปไตยที่ไม่อาจโต้แย้งได้" เหนือพื้นที่ในทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด รวมถึงเกาะและสันดอนส่วนใหญ่ รวมถึงสถานที่หลายแห่งที่อยู่ห่างจากจีนแผ่นดินใหญ่หลายร้อยไมล์ ขณะที่ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม บรูไน และไต้หวัน ต่างก็อ้างสิทธิครอบครองพื้นที่ในทะเลจีนใต้ด้วยเช่นกัน
🔹เมื่อปี 2559 ศาลระหว่างประเทศในกรุงเฮกได้ตัดสินเข้าข้างฟิลิปปินส์ในข้อพิพาททางทะเลครั้งสำคัญ ซึ่งสรุปว่า จีนไม่มีพื้นฐานทางกฎหมายที่จะอ้างสิทธิ์ทางประวัติศาสตร์เหนือพื้นที่ส่วนใหญ่ในทะเลจีนใต้
🔹แต่จีนกลับเพิกเฉยต่อคำตัดสินดังกล่าว ขณะที่ฟิลิปปินส์ระบุว่า จีนยังคงส่งกองกำลังติดอาวุธทางทะเลไปยังแนวปะการังมิสชีฟ (Mischief Reef) และสันดอนสการ์โบโรห์ (Scarborough Shoal) ในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของฟิลิปปินส์
🔹พื้นที่ทางตอนใต้ของทะเลจีนใต้ได้แก่หมู่เกาะสแปรตลีย์ (Spratly Island) ซึ่งจีนเรียกว่าหมู่เกาะหนานซา (Nansha) โดยหมู่เกาะนี้ประกอบด้วยเกาะเล็กเกาะน้อยและแนวปะการังราว 100 เกาะ ซึ่งในจำนวนนั้นราว 45 เกาะได้ถูกครอบครองโดยจีน ไต้หวัน มาเลเซีย เวียดนาม หรือฟิลิปปินส์
🔹ส่วนพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของทะเลจีนใต้เป็นที่ตั้งของหมู่เกาะพาราเซล (Paracels) หรือที่จีนเรียกว่าหมู่เกาะซีซา (Xisha) นั้น ได้ถูกจีนเข้าควบคุมมาตั้งแต่ปี 2517 แม้ว่าเวียดนามและไต้หวันต่างก็อ้างสิทธิ์เหนือพื้นที่ดังกล่าวด้วยก็ตาม
อ่านเพิ่มเติม
โฆษณา