Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
กรุงเทพธุรกิจ
ยืนยันแล้ว
•
ติดตาม
5 ต.ค. 2023 เวลา 04:00
ความรุนแรงแบบ Femicide มักเกิดกับเหยื่อผู้หญิง
การก่อเหตุ “กราดยิง (Active Shooter)” ที่มีเหยื่อเป็นผู้หญิง อาจไม่ใช่ “Femicide” เสมอไป เพราะมีรูปแบบและลักษณะที่แตกต่างกัน
จากกรณีเหตุ #กราดยิงพารากอน หลายคนสงสัยว่าผู้ก่อเหตุเจาะจงเลือกเหยื่อที่เป็น “ผู้หญิง” หรือไม่? เรื่องนี้ยังไม่มีข้อสรุปอย่างเป็นทางการจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงไม่สามารถฟันธงได้ว่า นี่เป็นอาชญากรรมรูปแบบ Femicide หรือความรุนแรงที่เลือกเฉพาะเหยื่อผู้หญิง
อีกทั้งการก่อเหตุแบบ Femicide มีนิยามของรูปแบบและลักษณะที่แตกต่างไปจาก Active Shooter
ข้อมูลจาก
USAfacts.org
ระบุถึงคำว่า “กราดยิง” หรือ Active Shooter หรือ Mass Shooting ตามนิยามจากหน่วยงาน FBI ไว้ว่า Active Shooter คือ บุคคลที่มีส่วนร่วมในการสังหารหรือพยายามสังหารผู้คนในพื้นที่ที่มีประชากรหนาแน่น (ไม่ได้เจาะจงเลือกเหยื่อเป็นหญิงหรือชายหรือเด็กหรือผู้ใหญ่)
เมื่อมีรายงานผู้ก่อเหตุกราดยิง แสดงว่าเหตุการณ์นั้นมีลักษณะที่มือปืนกำลังดำเนินการก่อเหตุต่อเนื่องอยู่สักระยะ ก่อนที่เจ้าหน้าที่เข้าไปควบคุมเหตุได้ (อาจใช้เวลานานในการควบคุมเหตุ) และสถานการณ์ของเหยื่อกราดยิงไม่ได้จบลงด้วยการเสียชีวิตเสมอไป
ส่วนคำว่า Mass Shooting ก็มีความหมายในทำนองเดียวกัน คือ เป็นเหตุอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับอาวุธปืนซึ่งให้ผลลัพธ์ที่หลากหลาย (มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก, มีผู้บาดเจ็บแต่ไม่มีผู้เสียชีวิต, มีทั้งผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ)
ในขณะที่การก่อเหตุในรูปแบบที่เรียกว่า “Femicide” นั้น หมายถึง การทำร้ายร่างกายเหยื่อที่เป็นผู้หญิงจนถึงแก่ความตาย โดยผู้ก่อเหตุมักเป็นผู้ชายในครอบครัวหรือคนรัก ซึ่งมีสาเหตุมาจากปัญหาความรุนแรงในครอบครัวหรือความรุนแรงในความสัมพันธ์
นอกจากนี้หากมองในบริบททางจิตวิทยา คำว่า Femicide ยังหมายถึง การมีพฤติกรรมตอบสนองต่อความรู้สึกเกลียด ดูถูก ดูแคลน หรือเหยียดหยามเพศหญิง โดยผู้ก่อเหตุมักเป็นเพศชายที่มีความเชื่อว่าผู้หญิงเป็นทรัพย์สินที่สามารถครอบครองได้ เมื่อตนสามารถทำให้ผู้หญิงอยู่ใต้บังคับบัญชาหรือสามารถควบคุมได้ ก็จะรู้สึกภูมิใจ มีเกียรติ
ที่ผ่านมาพบว่ามีอาชญากรรมในรูปแบบ Femicide เกิดขึ้นทั่วโลกและมีจำนวนมากขึ้น จากรายงานการฆาตกรรมผู้หญิงของ สำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) และ องค์การเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UN Women) พบว่า ในปี 2021 มีผู้หญิงและเด็กทั่วโลกมากถึง 81,100 คน ถูกฆ่าโดยเจตนา โดยเด็กและผู้หญิงจำนวน 4.5 หมื่นคน (ประมาณ 56%) เสียชีวิตด้วยฝีมือของคนรัก คนสนิท หรือสมาชิกในครอบครัว โดยเฉลี่ยในทุก 1 ชั่วโมง จะมีเด็กหรือผู้หญิงมากกว่า 5 คน ถูกฆ่าโดยคนใกล้ชิด
ทั้งนี้ แรงจูงใจของ Femicide ต้องมีความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่เชื่อมโยงกับเพศ หากเป็นการฆ่าตัวตายหรือถูกฆ่าโดยคนเพศเดียวกันจะไม่นับว่าเป็น Femicide
ยกตัวอย่างกรณี Femicide ที่เกิดกับเหยื่อผู้หญิงในประเทศอินเดีย แม้ว่าผู้หญิงอินเดียยุคใหม่จะมีอำนาจทางการเงิน มีอาชีพก้าวหน้ามั่นคง หรือมีหน้ามีตาทางสังคมมากขึ้น แต่ปัญหาการถูกทำร้ายจากผู้ชายในครอบครัวยังไม่ลดลง แถมยังพบว่ามีผู้หญิงที่ถูกทำร้ายโดยคนรักหรือคนในครอบครัวเพิ่มมากขึ้นอีกต่างหาก
1
โดยจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ที่เปิดเผยกับสำนักข่าว Deutsche Welle (DW) พบว่า ความรุนแรงทางเพศที่เกิดขึ้นจากผู้ชายนั้น เป็นการกระทำที่แสดงออกถึงความเป็น “ปิตาธิปไตย” ในสังคมนั้นๆ
อ่านเรื่อง Femicide เพิ่มเติมได้ที่:
https://www.bangkokbiznews.com/health/social/1064431
ท้ายที่สุดแล้ว การก่อเหตุกราดยิงไม่ว่าจะมีความจงใจในการเลือกเหยื่อที่เป็นผู้หญิงหรือไม่ก็ตาม แต่ประเด็นสำคัญคือเหตุการณ์ดังกล่าวได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนและผู้ประกอบการในวงกว้าง และยิ่งนับวันก็ยิ่งจะพบการก่อเหตุลักษณะนี้บ่อยขึ้น
ดังนั้น ภาครัฐจึงควรเร่งหาวิธีป้องกันเหตุ รวมถึงวิธีแจ้งเตือนเหตุลักษณะนี้แก่ประชาชนได้อย่างทันท่วงที ส่วนประชาชนเองก็ควรเรียนรู้และฝึกฝนวิธีการรับมือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันเหล่านี้ให้มากขึ้น
อ้างอิง :
USAfacts.org
https://bit.ly/46h83hK
The New York Times
https://bit.ly/3ZGSei0
UNODC.org
https://bit.ly/46fRtPw
1 บันทึก
9
2
5
1
9
2
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย