11 ต.ค. 2023 เวลา 03:58 • ไลฟ์สไตล์

‘20 คำไทย’ ที่แทบลืมไปแล้วว่าเป็น ‘ภาษาจีน’

‘เมื่อเช้าฉันไปกินก๋วยเตี๋ยวร้านดังในห้างมา แต่เพราะฉันหิวมากเลยแวะซื้อข้าวไข่เจียว เต้าหู้ทอด ลิ้นจี่ ชาไทยและโจ๊กมากินบนโต๊ะด้วย ตอนนั้นฉันมีความสุขเหมือนถูกหวยรางวัลที่ 1 เลย’ คุณคิดว่าในประโยคนี้มีคำไทยที่เป็นภาษาจีนทั้งหมดกี่คำ?
ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมาภาษาไทยได้รับอิทธิพลจากภาษาจีนท้องถิ่น เช่น แต้จิ๋ว ฮกเกี้ยน และกวางตุ้ง ย้อนกลับไปในช่วงศตวรรษที่ 13 บรรพบุรุษคนไทยเชื้อสายจีนเริ่มมาตั้งถิ่นฐานในไทยซึ่งตรงกับสมัยกรุงศรีอยุธยา ตอนนั้นชาวจีนส่วนใหญ่มักเป็นชาวไต ใช้ภาษาไต และประกอบอาชีพเป็นพ่อค้า
ก่อนที่ในเวลาต่อมาชาวจีนจากดินแดนทางตอนใต้ของประเทศจีน ได้แก่ชาวจีนกวางตุ้ง ชาวจีนแคะ (ฮากกา) ชาวจีนแต้จิ๋ว ชาวจีนฮกเกี้ยน และชาวจีนไหหลำ จะทยอยอพยพเข้ามาในไทยหลายระลอก เกิดเป็นตระกูลคนไทยเชื้อสายจีนหลายต่อหลายรุ่น
การหลอมรวมและแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมทำให้ภาษาจีนท้องถิ่นเหล่านี้เข้ามามีบทบาทในชีวิตของคนไทยสะท้อนให้เห็นจากภาษาไทยที่เต็มไปด้วยคำจีน เชื่อว่าคนไทยจำนวนไม่น้อยใช้ภาษาจีนโดยไม่รู้ว่าแท้จริงแล้วนี่คือภาษาจีน!วันนี้จีนไทยนิวส์จึงขอหยิบ 20 คำไทยที่ยืมมาจากภาษาจีนท้องถิ่นมาแชร์กัน
1. “เก้าอี้” มาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว โดยออกเสียงว่า เก้าอี๋ (交椅)
2. “โต๊ะ” มาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว โดยออกเสียงว่า เตาะ (桌)
3. “ลิ้นจี่” มาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว โดยออกเสียงว่า ลี่กี (荔枝)
4. “กระเจี๊ยว” มาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว โดยออกเสียงว่า เจี้ยว (鳥) ที่มีความหมายว่านกหรืออวัยวะเพศชาย
5. “ถ่าน” มาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว โดยออกเสียงว่า ถั่ว (炭)
6. “เจียว” มาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว โดยออกเสียงว่า เจียว (焦) หมายถึงความกรอบไหม้ของอาหาร จากนั้นคนไทยจึงเริ่มนิยมใช้คำนี้ด้วย เช่น ไข่เจียวหรือกระเทียมเจียว เป็นต้น
7. “ยี่ห้อ” มาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว โดยออกเสียงว่า หยี่ห่อ (字號)
8. “โป๊” จากภาษาจีนแต้จิ๋ว โดยอ่านออกเสียงว่า โป๊ว (補)
9. “ตะหลิว” มาจากภาษาแต้จิ๋ว โดยอ่านออกเสียงว่า เตี๋ยหลิว (鼎鑢)
10. “หวย” มาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว โดยอ่านออกเสียงว่า ฮวยหวย (花會) แปลว่า ชุมนุมดอกไม้ เพราะเริ่มแรกเขียนตัวหวยเป็นรูปดอกไม้ ระยะแรกจะเล่นอยู่ในกลุ่มชาวจีน โดยทำเป็นแผ่นป้ายเล็กๆ 34 ป้าย แล้วเขียนชื่อของผู้มีชื่อเสียงในสมัยโบราณเอาไว้บนป้าย ให้แทงว่าจะออกเป็นชื่อใคร
11. “หุ้น” มาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว โดยอ่านออกเสียงว่า หุ่ง (份)
12. “ปุ๋ย” ยืมมาจากภาษาแต้จิ๋ว โดยอ่านออกเสียงว่า ปุ๊ย (肥)
13. “แฉ” มาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว โดยออกเสียงว่า แช้ (查) ที่มีความหมายว่าค้นหาหรือสืบสวน ก่อนจะเพี้ยนเสียงมาเป็นคำว่า แฉ ในภาษาที่ไทยที่แปลว่าการเปิดเผย
14. “โพย” มาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว โดยอ่านออกเสียงว่า โพยก๊วน (批馆) เป็นการรวมคำว่า "โพย" ที่ภาษาจีนทางใต้ หมายถึง "จดหมาย" กับคำว่า "ก๊วน" แปลว่า "สถานที่" ดังนั้น "โพยก๊วน" จึงแปลว่า "สถานที่ส่งจดหมายหรือโพย"
15. “ห้าง” มาจากภาษาจีนแต้จิ๋วหรือภาษาจีนฮกเกี้ยน โดยอ่านออกเสียงว่า ฮั้ง หรือ ฮ้าง (行) ใช้ในภาษาไทยทั่วไป เช่น นายห้าง ห้างหุ้นส่วน
16. “เจ้าสัว” มาจากภาษาจีนแต้จิ๋ว โดยอ่านออกเสียงว่า จ่อซัว (座山) ที่มีความหมายว่านั่งอยู่บนกองเงินกองทอง หรือ เศรษฐีผู้ร่ำรวย โดยส่วนใหญ่มักใช้กับเศรษฐีเชื้อสายจีน
17. “ก๋วยเตี๋ยว" มาจากภาษาจีนแต้จิ๋วหรือภาษาจีนฮกเกี้ยน โดยแต้จิ๋วอ่านว่า ก๋วยเตี๊ยว (粿条) ฮกเกี้ยนอ่านว่า ก๊วยเตี๋ยว
18. “ฮ่องเต้” มาจากภาษาจีนฮกเกี้ยน โดยอ่านออกเสียงว่า หวงเต่ (皇帝)
19. “ก๊ก” ที่คุ้นเคยจากเรื่อง 3 ก๊ก มาจากภาษาจีนฮกเกี้ยน โดยอ่านออกเสียงว่า ก๊ก (國) ซึ่งคำนี้ในจีนกลางออกเสียงว่า “กว๋อ”
20. “โจ๊ก” มาจากภาษาจีนกวางตุ้ง โดยอ่านออกเสียงว่า จ๊ก (粥)
โฆษณา