12 ต.ค. 2023 เวลา 02:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ

พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน กับภารกิจป้องกันและปราบปรามปัญหาภัยการเงินออนไลน์

จากรายงาน Global Risks 2023 ของ World Economic Forum ระบุให้ภัยการเงินในโลกออนไลน์เป็นความเสี่ยงที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรง ติด 1 ใน 5 ความเสี่ยงสำคัญระดับโลก สำหรับประเทศไทยนับเป็นเวลาเพียง 3 ปี ในการก่อตั้งกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี
แต่ด้วยภารกิจและเป้าหมายสำคัญในการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่มีมากขึ้นทั่วราชอาณาจักรไทย ส่งผลให้ประชาชนได้เห็นการจับกุม กวาดล้าง และช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมไซเบอร์รูปแบบต่าง ๆ เป็นระยะ พร้อมด้วยการสื่อสารประชาสัมพันธ์ข้อมูลความรู้ให้ประชาชนตระหนักและรู้เท่าทันผ่านโครงการวัคซีนไซเบอร์
วารสารพระสยาม BOT MAGAZINE มีโอกาสได้พูดคุยกับ พล.ต.ต.นิเวศน์ อาภาวศิน รองผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (บช.สอท.) ผู้ทำหน้าที่กำกับดูแลภารกิจข้างต้นอย่างใกล้ชิด เพื่อรับทราบความคืบหน้าและแนวทางปฏิบัติในการป้องปรามภัยทางการเงินบนโลกออนไลน์
จับคนร้ายผ่านเส้นทางการเงิน
ข่าวคราวเกี่ยวกับสถานการณ์อาชญากรรมทางเทคโนโลยีมีให้เราเห็นไม่เว้นแต่ละวัน แต่ในระหว่างนั้นก็มีข่าวการเข้าจับกุมปราบปรามเหล่ามิจฉาชีพ และให้ความช่วยเหลือผู้ตกเป็นเหยื่อควบคู่กันไปไม่ขาดช่วง อย่างเช่นข่าวสะเทือนใจเมื่อต้นปีที่ผ่านมาที่นักเรียนชั้น ม.3 ถูกหลอกให้ลงทุนสูญเงินกว่าหมื่นบาทและตัดสินใจจบชีวิตตัวเอง ซึ่งต่อมาตำรวจได้นำกำลังเข้าจับกุมรวบยกแก๊งสำเร็จ
“ในเคสนี้เราเข้าจับกุมมิจฉาชีพได้ยกแก๊ง ทั้งคนถือบัญชีม้า และคนที่ดำเนินการได้ทั้งกระบวนการ ขณะเดียวกันก็ไม่ได้ละเลยคดีอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นคดีใหญ่หรือคดีเล็ก เราก็พยายามดำเนินการปราบปราม” รอง ผบช.สอท. เล่าถึงผลการปฏิบัติงานที่ผ่านมา “อย่างล่าสุดกรณีหลอกขายรถมือสองที่เหยื่อโอนเงินไปให้เป็นจำนวนมาก แต่คนโอนไม่ได้รถ เสียเงินฟรี เราก็ได้มีการกวาดล้างจับกุมดำเนินคดี ซึ่งผู้ต้องหารายนี้ก็รับสารภาพว่าเอาเงินทั้งหมดที่ได้มาจากการหลอกลวงประชาชนไปเล่นการพนัน ทำให้ไม่มีเงินคืนประชาชนที่โดนหลอกลวง
“อีกคดีหนึ่งที่เรากวาดล้างไปได้ถึงระดับที่เรียกว่าตัวการใหญ่สุดตั้งแต่จับกุมมา เป็น 2 สามีภรรยาชาวจีน โดยเราสืบสวนจากคดีหลอกลวงที่เรียกว่า hybrid scam ก็คือจะมีการใช้โพรไฟล์ของคนที่หน้าตาดีหลอกให้ผู้เสียหายรัก สร้างความสนิทชิดเชื้อ จนในที่สุดก็หลอกให้ไปลงทุนผ่านแพลตฟอร์มปลอม เมื่อผู้เสียหายเข้าไปใช้แพลตฟอร์มดังกล่าวในการลงทุน ระยะแรก ๆ จะสามารถเอาเงินเข้าเอาเงินออกได้ปกติ
เมื่อได้ผลตอบแทนก็ทำให้เกิดความโลภคิดว่าน่าจะได้มากขึ้นอีก ก็เลยโอนเงินเพิ่มเข้าไป จากนั้นก็ไม่สามารถเอาเงินตรงนี้ออกไปได้ แม้เคสแบบนี้จะมีผู้เสียหายไม่เยอะแต่มีมูลค่าความเสียหายสูงที่สุด คือเคสเดียวอาจมีความเสียหายถึงหลายร้อยล้านบาท
“การทำแต่ละคดีใช้เวลาค่อนข้างยาวนานประมาณ 5-6 เดือน เนื่องจากว่าคดีเหล่านี้เส้นทางการเงินไม่ได้ตรงไปตรงมา โดยเราต้องสืบจากเส้นทางการเงินผ่านคริปโทเคอร์เรนซีที่คนร้ายใช้ ต้องไปไล่ตามบล็อกเชน ก่อนไปเจออีกว่าบัญชีที่คนร้ายใช้ก็ไม่ใช่ชื่อเขาเอง เป็นบัญชีม้า เป็นความแยบยลที่คนร้ายใช้ในการอำพรางทุกขั้นตอน
แต่พยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องทำให้พบว่า คนพวกนี้เอาเงินที่ได้จากการกระทำความผิดโอนออกนอกประเทศก่อนโอนกลับมาในประเทศไทยผ่านการใช้คริปโทเคอร์เรนซี แล้วนำไปฟอกเงินผ่านการลงทุนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นซื้อบ้านหรือที่ดิน เป็นมูลค่ากว่าหมื่นล้านบาท
เราจึงได้ส่งทีมเจ้าหน้าที่สืบสวนไปหาข่าว ไล่หาข้อมูลจนในที่สุดได้หลักฐานชัดเจนว่าผู้กระทำความผิดอยู่ในประเทศไทย นำมาสู่การจับกุมที่เรียกว่าล่าข้ามโลก เป็นปฏิบัติการหนึ่งที่เราคิดว่าสร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงการมิจฉาชีพได้พอสมควร”
ภารกิจกวาดล้างซิมผีบัญชีม้า
ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ยังมีปัญหาเรื่องซิมผีบัญชีม้าที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการหลอกลวงประชาชน หลังจากพระราชกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งมีบทลงโทษผู้ซื้อขายซิมผีบัญชีม้าต้องจำคุกไม่เกิน 3 ปี ทำให้สามารถกวาดล้างจับกุมกระบวนการเหล่านี้ได้มากขึ้น
รวมไปถึงกลุ่มคนร้ายที่ใช้สารพัดเครื่องมือในการหลอกลวงประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการเดินสายสัญญาณอินเทอร์เน็ตจากประเทศไทยไปยังประเทศเพื่อนบ้าน การใช้อุปกรณ์พิเศษที่เรียกว่าซิมบ็อกซ์ คืออุปกรณ์ที่สามารถนำซิมโทรศัพท์จำนวนมากมาใส่รวมกันเพื่อให้โทรหรือส่งข้อความไปหลอกลวงประชาชนได้ทีละมาก ๆ นอกจากนี้ ยังมีการจับกุมคนร้ายที่ใช้สัญญาณเสาโทรศัพท์ปลอมในการส่ง SMS ที่ใช้ชื่อเดียวกับธนาคารไปหาผู้เสียหาย ทำให้ประชาชนหลงเชื่อจนเกิดความสูญเสียเป็นจำนวนมาก
อัปเดตสถานการณ์อาชญากรรมไซเบอร์
สำหรับสถานการณ์อาชญากรรมทางเทคโนโลยีในประเทศไทย พล.ต.ต.นิเวศน์ได้แจกแจงตัวเลขน่าสนใจในช่วงระยะหนึ่งปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2565-30 มิถุนายน 2566) จำนวนคดีที่มีผู้เสียหายเกี่ยวกับภัยออนไลน์เข้าแจ้งความ 287,122 เรื่อง มาจาก 14 ประเภทคดี มูลค่าความเสียหายรวมอยู่ที่ 39,847,206,321 ล้านบาท
“จากเดือนแรก ๆ ที่มีการแจ้งความสูงขึ้นทุกเดือนอย่างต่อเนื่อง ตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 27,000 กว่าคดีในเดือนเดียว โดยสูงที่สุดในช่วงเดือนธันวาคมปี 2565 ที่ผ่านมา จากนั้นตัวเลขก็เริ่มลดลงมาเรื่อย ๆ กระทั่งปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 16,000 กว่าคดีต่อเดือน หรือเฉลี่ย 638 คดีต่อวัน มูลค่าความเสียหายเฉลี่ยตกวันละ 88 ล้านบาท
“นอกจากนี้ ยังมีตัวเลขหนึ่งที่น่าสนใจก็คือผลการอายัดเงินในบัญชี ก่อนที่จะมี พรก.มาตรการป้องกันอาชญากรรมทางเทคโนโลยีฯ ฉบับนี้ออกมา เราพบว่ามีความเสียหายทางการเงินอยู่ที่ 31,959 ล้านบาทเศษ คิดเป็นค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 84 ล้านบาทต่อวัน สามารถอายัดเงินในบัญชีได้ประมาณ 449 ล้านบาท คิดเป็นแค่ 1.4% เท่านั้น
แต่หลังจาก พรก.ฯ มีผลบังคับใช้จนถึงปัจจุบัน มูลค่าความเสียหายในช่วง 3 เดือนนี้ลดลงอยู่ที่ประมาณ 6,585 ล้านบาทเศษ คิดเป็นประมาณ 58 ล้านบาทต่อวัน ถือว่าจำนวนคดีที่เป็นความเสียหายต่อวันลดลง จำนวนเงินที่สามารถอายัดได้ทันอยู่ที่ 229 ล้านบาท คิดเป็น 3.5% ตรงนี้เป็นจุดหนึ่งที่จะชี้ให้เห็นว่าการอายัดเงินได้ทันทีมีประสิทธิภาพกว่าเท่าตัว”
เนื้อหาใน พรก.มาตรการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ศ. 2566 ที่ พล.ต.ต.นิเวศน์เอ่ยถึงนั้น หมายถึงมาตรา 6 และ 7 ซึ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้เสียหายสามารถดำเนินการอายัดบัญชีและร้องเรียนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยสามารถแจ้งความที่สถานีตำรวจท้องที่ใดก็ได้ หรือจะร้องทุกข์ผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ก็ทำได้เช่นกัน
“ส่วนประเภทคดีที่เกิดขึ้นก็ยังเป็นรูปแบบเดิม คดีที่ผู้เสียหายแจ้งความมากที่สุด คือเรื่องของการหลอกซื้อขายสินค้าและบริการ คิดเป็นตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 39% ของคดีทั้งหมด รองลงมาเป็นเรื่องการหลอกให้กู้เงินคิดเป็น 12% ส่วนคดีที่มีมูลค่าความเสียหายมากที่สุดเป็นเรื่องของการหลอกให้รักแล้วไปลงทุนในเว็บปลอม ส่วนแก๊งคอลเซนเตอร์ที่หลอกให้กลัวก็ยังมีคนถูกหลอกบ่อยเป็นรายวันให้เห็นทุกวัน
“คดีที่เราพบมากที่สุดในประเทศไทย คือซื้อสินค้าออนไลน์แล้วไม่ได้รับสินค้า แต่เนื่องจากปริมาณตัวเลขความเสียหายไม่ได้เยอะมากต่อคดี ทำให้ผู้เสียหายส่วนใหญ่ไม่แจ้งความ เพราะฉะนั้น เมื่อเราจับได้รายหนึ่งก็จะพบผู้เสียหายเป็นจำนวนมาก เป็นหลักร้อยคดี ดังนั้น อย่าคิดว่าเป็นคดีเล็กน้อยแล้วก็ปล่อยทิ้งไป อย่างน้อยที่สุดอยากให้มาแจ้งในระบบรับแจ้งความออนไลน์ อาจจะใช้เวลานิดหนึ่ง แต่สุดท้ายเราจะไปกวาดล้างจับกุมคนพวกนี้ ป้องกันไม่ให้มีคนตกเป็นเหยื่อเพิ่ม
“คนร้ายพยายามออกแบบกลโกงเพื่อหลอกลวงคนทุกกลุ่ม สำหรับคนที่มีรายได้ปานกลางไปถึงสูงมักโดนหลอกในเรื่องของการลงทุน การทำงาน การทำภารกิจ ส่วนผู้มีรายได้น้อยมักโดนหลอกเรื่องของการให้กู้เงิน เราจึงอยากให้ความรู้ประชาชนว่าถ้าจะไปทำงานในองค์กร ทำภารกิจ หรือไปกู้เงินก็ตาม เราไม่อยากให้ติดต่อผ่านทางออนไลน์เพียงอย่างเดียว ต้องขอเบอร์โทรออฟฟิศมาด้วย ติดต่อขอเข้าไปเพื่อเห็นหน้าเห็นตา บันทึกไว้เป็นหลักฐาน ถ้ามีการหลอกลวง เจ้าหน้าที่จะได้นำไปออกหมายจับได้
ญาติมิตรหรือมิจฉาชีพ
นอกจากนี้ พล.ต.ต.นิเวศน์ยังเล่าถึงการหลอกลวงรูปแบบใหม่ คือ การหลอกยืมเงิน โดยเริ่มจากการโทรมาคุยว่าจำได้ไหมเสียงใคร หากเราทักไปว่าเป็นเสียงของบุคคลคนนี้ เขาก็จะบอกว่าใช่ชื่อนี้นะ ให้จดเอาไว้ หลังจากนั้นจะให้แอดไลน์เป็นเพื่อนด้วย แล้วเข้าสู่กระบวนการหลอกยืมเงิน
พล.ต.ต.นิเวศน์กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “สำหรับภัยคุกคามที่คนร้ายใช้โจมตีอยู่ทุกวันนี้ก็คือการหลอกให้ติดตั้งแอปพลิเคชันดูดเงิน จึงพยายามแก้ปัญหาให้ตรงจุดด้วยการให้ความรู้กับประชาชนว่า จุดเริ่มต้นมาจากการกดลิงก์ที่ได้รับทาง SMS ที่อาจส่งมาจากค่ายมือถือหรือเสาสัญญาณปลอม
แล้วไปคุยต่อใน LINE ก็จะโดนหลอกให้ติดตั้งแอปดูดเงินผ่านลิงก์ที่ส่งมาทาง LINE อีกที ซึ่งจะมีขั้นตอนที่คล้ายคลึงกัน ดังนั้น ต้องให้ประชาชนฉุกคิดเสมอว่า เมื่อไรก็ตามที่มีการส่ง SMS มาให้กดลิงก์เพื่อคุยต่อกับเจ้าหน้าที่ นี่คือแก๊งมิจฉาชีพแน่นอน”
บูรณาการความร่วมมือกับทุกภาคส่วน
ด้วยตระหนักดีว่าความพยายามปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์จะไม่สามารถบรรลุผลได้เลย หากไม่ได้รับความร่วมมืออย่างดีจากทุกภาคส่วน
“ในส่วนแรกที่เรามีการประชาสัมพันธ์แล้วก็ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดก็คือธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พยายามเน้นเลยว่าเราเห็นพฤติกรรมของคนร้ายเป็นแบบนี้ สถิติของเราเป็นอย่างไร กลุ่มคนที่โดนหลอกเป็นกลุ่มไหน อย่างไรบ้าง ถือว่าเป็นนิมิตหมายอันดีที่ ธปท. มีความเข้าใจ แล้วออกนโยบายที่สำคัญออกมาให้ทุกธนาคารปฏิบัติตาม อย่างเช่นเริ่มมีมาตรการให้สแกนใบหน้าก่อนโอนเงินตามระดับวงเงินที่กำหนด
“ขณะเดียวกัน คิดว่าปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตัวเลขผู้เสียหายลดลง เกิดจากการที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เป็นหน่วยงานแรกในการออกมาตรการกำหนดว่าบัญชีต้องสงสัยที่คนร้ายใช้ในการโอนเงินเป็นบัญชีม้า ทันทีที่เราแจ้งเข้าไป ก็จะใช้อำนาจของ ปปง. ในการแจ้งให้ธนาคารระงับยับยั้งคนที่ใช้ชื่อบัญชีนี้ทั้งหมด ดังนั้น ถ้าคนร้ายเปิดไว้ 100 บัญชี ก็จะถูกระงับทั้งหมด นี่คือมาตรการแรกที่พอเริ่มใช้เมื่อเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา เราเห็นเลยว่าในเดือนมกราคมตัวเลขเริ่มลดลง
“วันนี้ผมเชื่อว่าการแก้ปัญหาเริ่มตรงจุดมากขึ้น การทำงานกับองค์กรต่าง ๆ เริ่มมีประสิทธิภาพ ในฝั่งค่ายโทรศัพท์มือถือ เราก็พูดคุยกับทางคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เพื่อให้ออกมาตรการต่าง ๆ มายับยั้ง ป้องกัน และควบคุม แต่การทำงานก็ไม่ใช่ของง่าย ต้องมีการตีความทำความเข้าใจกัน ที่สำคัญ หลังจากทุกคนเข้าใจแล้วว่าจะทำแบบนี้ร่วมกัน เราต้องพัฒนาระบบไอทีขึ้นมาเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลทำงาน ร่วมกันตรวจสอบว่าทำถูกต้องตามกระบวนการ ซึ่งตรงนี้แน่นอนว่าต้องใช้เวลา
“ล่าสุดที่เราไปดูการทำงานของประเทศมาเลเซีย พบว่าเขามีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบเช่นเดียวกัน มีการตั้งวอร์รูม โดยออกกฎหมายให้เอาธนาคาร ค่ายโทรศัพท์มือถือ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปปง. มาร่วมทำงานในที่เดียวกัน แต่กฎหมายในบ้านเรายังไม่ได้ครอบคลุมถึงขนาดมาเลเซีย
ดังนั้น วิธีการทำงานของเราในเบื้องต้นจะขอใช้โมเดลสร้างเป็น virtual war room โดยใช้วิธีการประชุมทางไกลกับทุกธนาคาร ทุกค่ายโทรศัพท์มือถือเข้ามาทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจเป็นลักษณะบอร์ดพิจารณาคดีที่มีความสำคัญเร่งด่วน ไล่เส้นทางการเงินด้วยความรวดเร็วและแก้ปัญหาให้ตรงจุด พร้อมทั้งอัปเดตข้อมูลว่าวันนี้คนร้ายเปลี่ยนวิธีการเป็นแบบไหน อย่างไร จะได้เอาเงินคืนให้กับผู้เสียหายได้โดยเร็ว”
นอกจากงานด้านการปราบปรามแล้ว ยังมีการจัดทำโครงการวัคซีนไซเบอร์ เพื่อประชาสัมพันธ์สื่อสร้างภูมิคุ้มกันต้านภัยอาชญากรรมทางเทคโนโลยี นำเสนอรูปแบบกลโกงใหม่ ๆ ของคนร้าย ให้ประชาชนไทยทุกสาขาอาชีพในวงกว้างทั่วประเทศสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่าย โดยขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานราชการและภาคเอกชนเพื่อร่วมสนับสนุนการเตือนภัย
“ท่านผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติได้ขอความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐทุกแห่งในประเทศ ให้นำข้อมูลของโครงการวัคซีนไซเบอร์ไปกระจายสู่ประชาชน พร้อมทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางค่ายโทรศัพท์ ปั๊มน้ำมัน ก็มีการเอาแผ่นโปสเตอร์ประชาสัมพันธ์ไปติดตามสาขาต่าง ๆ ทั่วประเทศ
“ล่าสุดเราจัดทำแบบทดสอบวัคซีนไซเบอร์ 40 ข้อ ให้ลองเช็กว่าคุณรู้เท่าทันมิจฉาชีพออนไลน์หรือไม่ อย่างน้อยที่สุดให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐเข้ามาทำก่อน แล้วนำไปให้คนในครอบครัวร่วมทำเพื่อให้ความรู้ ในระยะยาว เราได้มีการคุยกับทางกระทรวงศึกษาธิการอยากจะให้บรรจุในเรื่องของวัคซีนไซเบอร์เป็นหลักสูตรการเรียนการสอน เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ได้รู้พิษภัยของพวกไซเบอร์และรู้วิธีการป้องกันตัว เป็นทักษะใหม่ที่ประชาชนควรจะต้องมีความรู้และเฝ้าระวัง”
อุปสรรคและความท้าทาย
“สำหรับความท้าทายของตำรวจไซเบอร์ต้องเรียนว่า เราทำงานเป็นสองเท่าของตำรวจปกติ เพราะว่าคดีอาชญากรรมออนไลน์มีกระบวนการสืบสวนที่ซับซ้อนกว่า อาจเริ่มต้นสืบคดีผ่านคอมพิวเตอร์ แต่หลังจากได้ข้อมูลแล้วยังต้องไปตามจับคนร้ายเหมือนตำรวจในพื้นที่ ปัญหาอุปสรรคมีค่อนข้างเยอะในทุกขั้นตอน หลายเรื่องไม่ได้อยู่ในอำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยตรง ก็ต้องอาศัยการประสานงานการทำงานทำความเข้าใจ
“ยกตัวอย่างคดีหลอกขายรถมือสองที่ได้กล่าวถึงไปแล้ว ถือว่าเป็นคดีที่เราทำได้เร็วที่สุดแล้วคือประมาณ 1 เดือน เพราะกว่าที่จะได้ข้อมูลแต่ละขั้นตอน เราต้องส่งทีมงานไปสืบสวนหาข้อมูล วิเคราะห์ และขอข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ถ้าเป็นโทรศัพท์ก็ต้องขอจากค่ายโทรศัพท์มือถือ ถ้าเป็นบัญชีธนาคาร คนร้ายมักโอนหลายขั้นตอน
เช่น โอนไป 5 ทอด ซึ่งจากทอดที่หนึ่งไปสองอาจจะมี 10 บัญชีม้า ทอดที่สองไปสามอีก 10 บัญชีม้า เราต้องใช้คนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเข้ามาวิเคราะห์เส้นทางการเงินเหล่านี้ว่ามีอะไรเกี่ยวพันกันหรือไม่อย่างไร หากได้ข้อมูลมาช้าก็จะทำให้กระบวนการที่กำลังสืบช้าไปทั้งหมดด้วย
“ในด้านการประสานความร่วมมือ ต้องมีการพูดคุยกับทางศาลและอัยการเกี่ยวกับการใช้พยานหลักฐานที่ได้มาด้วยการใช้บทบัญญัติของกฎหมาย เราใช้วิธีการทำงานรูปแบบผสม ทั้งการออกหมายที่เป็นหนังสือประกอบและใช้อำนาจตาม พรก.
แต่ในอนาคตเราพยายามพัฒนาระบบเพื่อที่จะให้เป็นข้อยุติและข้อตกลงร่วมกันระหว่างตำรวจ ศาล อัยการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกันผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และนำมาพิจารณาใช้อย่างเป็นระบบว่า เรากำลังเผชิญกับอะไร รู้เท่าทันหรือไม่ จะแก้ไขตรงไหนให้ถูกจุด คาดว่าระบบต่าง ๆ ที่พัฒนาจะช่วยให้ข้อมูลมีความสมบูรณ์และแก้ปัญหาได้ดีขึ้นในอนาคต”
อีกหนึ่งความท้าทายของหน่วยงานที่ทำหน้าที่ป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีคือ ต้องเรียนรู้ ปรับตัว และก้าวตามให้ทันกลโกงรูปแบบใหม่ ๆ เพราะถึงแม้ประชาชนจะตระหนักรู้และระวังตัวเพียงใด หากแต่มิจฉาชีพก็ยังไม่หยุดพัฒนาเช่นกัน ยังดัดแปลงปรับเปลี่ยนกลวิธีที่ใช้หลอกลวงออกมาเรื่อย ๆ
“เราค่อนข้างโชคดี เป็นหน่วยงานที่ตั้งขึ้นมาใหม่ประมาณ 3 ปี แต่ได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานของสหรัฐอเมริกาและประเทศต่าง ๆ เข้ามาฝึกอบรมให้ เราได้อัปเดตหรือไปประชุมแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน ทำให้รู้ว่าวันนี้สถานการณ์ต่าง ๆ เป็นอย่างไรบ้าง สิ่งหนึ่งที่เราได้ข้อมูลจากต่างประเทศก็คือว่าแก๊งมิจฉาชีพพวกนี้เขายกระดับ ไม่ใช่เป็นแก๊งมิจฉาชีพแบบเดิม ๆ ที่เราเคยเจอในอดีต
เขาถือว่าแก๊งคอลเซนเตอร์พวกนี้เป็นอาชญากรรมข้ามชาติ มีการค้ามนุษย์ คือหลอกคนไปยังประเทศเพื่อนบ้านแล้วบังคับให้หลอกคนในประเทศเดียวกัน เราก็พยายามร่วมมือกับประเทศต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง มีการแลกเปลี่ยนข้อมูล เพื่อให้มีการยกระดับความร่วมมือระหว่างประเทศ ในการแก้ปัญหาอาชญากรรมไซเบอร์ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
ทุกวันนี้รูปแบบของอาชญากรรมเริ่มเปลี่ยนไป ทางสถานีตำรวจพบว่าคดีทั่วไปเริ่มลดลง แต่คดีไซเบอร์กลับเพิ่มมากขึ้น พล.ต.ต.นิเวศน์เล่าว่านี่จะเป็นทิศทางของรูปแบบของอาชญากรรมที่ประเทศไทยกำลังเผชิญ ทางตำรวจมีความพยายามเพิ่มการทำงานร่วมกับภาครัฐและเอกชนเพื่อที่จะยุติปัญหาตรงจุดนี้ แม้จะยังไม่ครอบคลุมทั้งหมด แต่ส่วนใหญ่ก็อยู่ในสถานการณ์ที่สามารถควบคุมได้
“ขอเล่าถึงกรณีของ LINE ซึ่งเป็นแอปพลิเคชันที่คนไทยใช้เยอะที่สุด แต่ปรากฏว่าเป็นแอปพลิเคชันที่เราไม่สามารถเข้าถึงการตรวจสอบข้อมูลได้ บางประเทศก็แนะนำว่าจะต้องยกระดับกฎหมาย เพื่อเข้าไปเป็นสมาชิกของอนุสัญญาบูดาเปสต์ (อนุสัญญาว่าด้วยอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ของสภายุโรป)
เพราะประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นเจ้าของบริษัทไลน์อยู่ในอนุสัญญาบูดาเปสต์ เมื่อเราไปเป็นสมาชิกในกลุ่มเดียวกับเขาก็จะมีสิทธิ์ขอข้อมูลจากประเทศเหล่านี้ได้ เป็นขั้นตอนที่เราพยายามคุยกับกระทรวงการต่างประเทศให้เป็นเจ้าภาพในการเดินเรื่อง เพื่อทำให้การทำงานของเรามีประสิทธิภาพมากขึ้น”
คำแนะนำเมื่อตกเป็นเหยื่อภัยไซเบอร์
พล.ต.ต.นิเวศน์ยังมีคำแนะนำสำหรับคนที่อาจตกเป็นเหยื่อ “ถ้าสงสัยว่าตัวเองกำลังจะโดนหลอกหรือไม่ แนะนำให้โทรหาตำรวจไซเบอร์ สายด่วน 1441 จะมีแอดมินให้บริการ 24 ชั่วโมง สำหรับท่านใดที่ตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพแก๊งออนไลน์ไปแล้ว สิ่งที่อยากจะให้ทำอันดับแรกคือเข้าไปที่เว็บ thaipoliceonline.com จะเห็นในหน้าแรกเลยว่ามีแนะนำเบอร์สายด่วนธนาคาร ดูชื่อธนาคารของตัวเองและเบอร์สายด่วน แล้วรีบโทรไปแจ้งธนาคารในลำดับแรก
“เมื่อธนาคารได้รับข้อมูลเรียบร้อย ท่านจะได้รับหลักฐานที่เรียกว่าแบงก์เคสไอดี นำไปให้กับเจ้าหน้าที่ตำรวจในระบบรับแจ้งความออนไลน์ และให้ผู้เสียหายมาแจ้งความออนไลน์ในเว็บไซต์ดังกล่าว และกรอกแบงก์เคสไอดี จากนั้นเจ้าหน้าที่ตำรวจจะประสานงานกับทางธนาคารต่อเพื่อตรวจสอบว่า เคสนี้เป็นการกระทำความผิดทางเทคโนโลยีจริงหรือไม่
ถ้าเป็นการกระทำความผิดจริง เราจะประสานยืนยันกลับไปที่ธนาคาร และประสานกับผู้เสียหายให้มาสอบปากคำ ตรงจุดนี้จะไปสอดรับกับที่ผู้เสียหายได้เลือกไว้ว่าจะไปพบพนักงานสอบสวนที่จุดไหน หลังจากนั้น เราจะมีกระบวนการให้ผู้เสียหายติดตามความคืบหน้าของคดีผ่านระบบออนไลน์ได้ แล้วก็จะพยายามพัฒนาต่อให้ผู้เสียหายสามารถร้องเรียนได้ในกรณีที่ขั้นตอนใดยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ แอดมินของเว็บจะเฝ้าดู และเข้าไปช่วยแก้ปัญหาตรงจุดนี้ให้ นี่เป็นระบบที่เราใช้เป็นเครื่องมือหลักในการแก้ปัญหาทั้งหมดอย่างเป็นระบบครับ”
โฆษณา