19 ต.ค. 2023 เวลา 11:12 • หุ้น & เศรษฐกิจ

ทำความรู้จัก BLP

ม้าเร็วส่งสาร-ให้สัญญาณเศรษฐกิจไทย
3
การดำเนินนโยบายการเงินเพื่อดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินไทย มีความท้าทายจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ข้อมูลเชิงคุณภาพที่ถูกต้อง ชัดเจน และรวบรวมได้อย่างรวดเร็ว จึงมีบทบาทสำคัญที่ช่วยให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เห็นภาพเศรษฐกิจไทย รวมไปถึงนำไปประกอบการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสม และกลุ่ม “ม้าเร็ว” ที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลสำคัญจากทุกภูมิภาคของไทยนี้ อยู่ภายใต้โครงการที่มีชื่อว่า Business Liaison Program หรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า BLP นั่นเอง
Business Liaison Program หรือ BLP คืออะไร
BLP เป็นโครงการที่ ธปท. ตั้งขึ้นเมื่อปี 2547 ด้วยจุดประสงค์ที่ต้องการลดผลกระทบจากปัญหาความล่าช้าของข้อมูล และเพิ่มการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจและธุรกิจระหว่าง ธปท. กับผู้ประกอบธุรกิจในสาขาต่าง ๆ ไปจนถึงสมาคม องค์กรภาคเอกชน หน่วยงานของรัฐ และภาคครัวเรือน
เจ้าหน้าที่จากโครงการ BLP จะเดินทางไปพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลากหลายกลุ่ม เพื่อให้ได้รับข้อมูลเชิงคุณภาพที่ลึกซึ้ง ทันการณ์ ในมิติที่สำคัญของแต่ละช่วงเวลา เพื่อนำมาทำความเข้าใจภาวะเศรษฐกิจจริงในระดับจุลภาค ตั้งแต่ภาคครัวเรือน ภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม ที่ต่างมีจุดเปราะบาง เผชิญกับปัจจัยเสี่ยง และได้รับผลกระทบที่แตกต่างกันไป
ข้อมูลเชิงคุณภาพที่ได้รับมา จะถูกนำมาประเมินภาพเศรษฐกิจร่วมกับข้อมูลเชิงปริมาณระดับมหภาคที่เป็นภาพรวม ประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายการเงินของ กนง. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในภาวะที่สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไวและคาดเดาได้ยาก ข้อมูลจาก BLP จึงถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยจับชีพจรเศรษฐกิจในปัจจุบันและระยะข้างหน้าได้อย่างรวดเร็วและรอบด้าน
นอกจากนำไปเป็นข้อมูลให้ กนง. ประกอบการตัดสินนโยบายการเงิน และใช้ประกอบการประเมินภาวะเศรษฐกิจแล้ว ธปท. ยังสรุปสิ่งที่ได้ออกมาเป็นภาพรวมไว้ในรายงานแนวโน้มธุรกิจเป็นประจำทุกไตรมาส เพื่อเผยแพร่ให้เป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการ ทั้งนี้ ธปท. ให้ความสำคัญในเรื่องการดำเนินการด้านธรรมาภิบาลข้อมูลอย่างเข้มงวด โดยข้อมูลรายบริษัทที่ได้รับจาก BLP ถือเป็นความลับ และจะไม่นำมาเปิดเผย แต่จะถูกนำมาสรุปเป็นภาพรวมก่อนที่จะนำไปเผยแพร่ หรือเสนอต่อ กนง. ที่สำคัญ ผลที่ได้จากการวิเคราะห์จะใช้เพื่อประโยชน์ส่วนรวมเท่านั้น
ออกแบบมาตรการตรงจุดด้วยข้อมูลจากม้าเร็ว
เป็นระยะเวลาเกือบ 20 ปีแล้ว ที่โครงการ BLP ได้ต่อสายตรงไปยังกูรูในหลายสาขาธุรกิจ รวมถึงสมาคมและองค์กรเอกชนในทุกภูมิภาค โดยปัจจุบันได้พูดคุยกับผู้เกี่ยวข้องมากกว่า 800 รายต่อปี ฉะนั้น BLP จึงเปรียบเสมือนม้าเร็วด้านเศรษฐกิจ ที่ไม่เพียงคอยส่งสัญญาณเตือนจากผู้ประกอบการไปยังภาคส่วนที่เกี่ยวข้องให้ได้รับทราบถึงทิศทางเศรษฐกิจและอุปสรรคที่ธุรกิจกำลังเผชิญอยู่เท่านั้น
แต่ในช่วงที่ผ่านมายังมีบทบาทสำคัญในการนำความเห็นและข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ มาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการกำหนดนโยบายการเงินด้วย ซึ่งข้อมูลภาพรวมของเศรษฐกิจและภาคธุรกิจรายสาขาที่ครบถ้วนมากยิ่งขึ้น ก็เปรียบเหมือนเป็นการติดอาวุธในการทำงานให้กับ ธปท. เพื่อนำมาใช้ออกแบบมาตรการช่วยเหลือทางการเงินที่ตรงจุดและทันท่วงที
ตัวอย่างจากวิกฤตครั้งล่าสุดก็คือ ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด 19 ธปท. ได้รับข้อมูลจากผู้ประกอบการจำนวนมากที่ได้รับความเดือดร้อน จึงได้นำไปสู่การออกแบบมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) และมาตรการพักทรัพย์พักหนี้ (asset warehousing) เพื่อช่วยบรรเทาภาระหนี้สินและเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ภาคธุรกิจ
นอกจากนี้ จากสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุค new normal เพราะความก้าวหน้าของเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงกระแสความใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม ธปท. ก็ได้ติดตามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นและสอบถามผลกระทบที่มีต่อธุรกิจสาขาต่าง ๆ และนำมาออกแบบมาตรการสินเชื่อเพื่อการปรับตัว (transformation loan) เพื่อช่วยสนับสนุนการเพิ่มความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบธุรกิจ ให้เท่าทันกับกระแสของโลกด้วย
การลงพื้นที่เยี่ยมชมโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ปี 2566
“ที่ผ่านมา โครงการ asset warehousing ช่วยผู้ประกอบการโรงแรมรายย่อยไว้มาก อยากให้ขยายระยะเวลาออกไป เนื่องจากตอนนี้การท่องเที่ยวก็ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่”
ความเห็นผู้ประกอบการโรงแรมจากการลงพื้นที่ภาคกลาง เมื่อปี 2565
“ในภาวะปกติ (ก่อนโควิด 19) ธุรกิจโรงแรมแข่งขันสูงอยู่แล้ว หลังเปิดประเทศ อุปสรรคก็ยิ่งเพิ่มขึ้น จากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในทุกด้าน และปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคบริการ ทำให้ผู้ประกอบการไทยรายเล็ก-กลางแข่งขันได้ยากขึ้น หากไม่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเหมาะสม ต่อไปธุรกิจโรงแรมขนาดเล็ก-กลาง สัญชาติไทยก็จะลดลงและอาจสาบสูญไปในที่สุด”
ความเห็นจากแบบสำรวจ Hotel business operator Sentiment Index (HSI) เมื่อเดือนสิงหาคม 2565
รับฟัง แลกเปลี่ยน เรียนรู้ และสร้างเครือข่าย หัวใจสำคัญของ BLP
BLP มีรูปแบบการทำงานที่หลากหลาย เพื่อให้เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย โดยหลัก ๆ แบ่งได้เป็น 3 รูปแบบ คือ การสัมภาษณ์ การประชุมหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และการลงพื้นที่ตามโครงการ ธปท. สัญจร
ในแต่ละไตรมาส ตัวแทน BLP จะสัมภาษณ์ผู้ประกอบการราว 200 บริษัท ซึ่งมีทั้งการเดินทางไปยังสถานประกอบการ โทรศัพท์ หรือร่วมประชุมออนไลน์กับกลุ่มตัวอย่างที่ BLP คัดเลือกมา โดยพยายามแบ่งสัดส่วนและเลือกให้สอดคล้องกับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในแต่ละช่วงเวลามากที่สุด ทั้งในมิติของประเภทธุรกิจ ขนาด และพื้นที่ ซึ่งไม่เพียงแต่ภาคธุรกิจเท่านั้น
แต่รวมถึงสมาคม องค์กรเอกชน และหน่วยงานวิจัยต่าง ๆ ที่สามารถให้ข้อมูลในลักษณะภาพรวมของแต่ละธุรกิจด้วย และที่สำคัญก็คือ เมื่อเกิดเหตุการณ์ที่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจเกิดขึ้น ทีม BLP ก็จะโทรศัพท์สอบถามข้อมูลจากผู้ประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทันที หรือหากจำเป็นก็จะลงพื้นที่เพื่อประเมินสถานการณ์จริงอย่างรอบด้านด้วย
ในการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการที่ ธปท. จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี เพื่อติดตามภาวะธุรกิจให้มีความต่อเนื่องนั้น นอกจากผู้ประกอบการกลุ่มเดิมแล้ว ยังมีการเจาะเข้าถึงกลุ่มใหม่ ๆ เพื่อขยายเครือข่าย และสร้างความหลากหลาย รวมถึงให้สอดคล้องกับโครงสร้างเศรษฐกิจและสถานการณ์ของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป อย่างเช่นในช่วงที่ผ่านมาที่มีธุรกิจใหม่ ๆ อย่าง e-commerce รถยนต์ไฟฟ้า และพลังงานสะอาด เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ ธปท. ยังมีการรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากตัวแทนบริษัท หน่วยงาน หรือสมาพันธ์ สมาคม ไปจนถึงสภาต่าง ๆ อาทิ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาพันธ์ SME ไทย สมาคมผู้ค้าปลีกไทย สมาคมค้าส่ง - ปลีกไทย สภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย สหภาพแรงงาน สมาคมผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์รับจ้างประเทศไทย และสมาคมแท็กซี่ไทย เพื่อรวบรวมประเด็นที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ ผ่านการประชุมหารือแลกเปลี่ยนความเห็น หรือ roundtable ด้วย
ประโยชน์ของการประชุมแบบ roundtable ก็คือ ธปท. จะจัดขึ้นโดยยึดหัวข้อเศรษฐกิจที่ต้องการติดตามเป็นหลัก ยกตัวอย่างเช่น ผลกระทบของภาคท่องเที่ยวจากโควิด 19 ซึ่งจะได้รับความคิดเห็นที่หลากหลายของธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยตรงในคราวเดียวกัน เช่น โรงแรม บริษัทขนส่ง สถานที่ท่องเที่ยว ซึ่งทำให้เห็นภาพรวมได้ชัดเจนกว่าการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการรายบริษัท
สำหรับการลงพื้นที่ตามโครงการ ธปท. สัญจร ผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. และคณะทำงานจะเดินทางไปยังจังหวัดใน 4 ภูมิภาคหลัก เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับผู้ประกอบการภาคเอกชน สถาบันการเงิน หน่วยงานภาครัฐ เกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในพื้นที่ เพื่อทำความเข้าใจกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งจุดเด่นของการลงพื้นที่ก็คือ จะช่วยให้เราได้เห็นภาพเศรษฐกิจภูมิภาคได้อย่างชัดเจนกว่าการจัดประชุมร่วมและการสัมภาษณ์
จะเห็นได้ว่ารูปแบบการทำงานภายใต้โครงการ BLP ที่มีความแตกต่างและหลากหลายนี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ ธปท. ได้รับข้อมูลในภาคเศรษฐกิจจริงที่ครบถ้วน ทั้งในภาพกว้างและเชิงลึก อีกทั้งยังเอื้อให้เกิดการสร้างเครือข่ายและช่วยสานความสัมพันธ์ที่ดีกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย
จับชีพจรเศรษฐกิจให้ทัน ด้วยดัชนีความเชื่อมั่น
นอกจากการจับชีพจรเศรษฐกิจผ่านการพูดคุยตามแบบฉบับของ BLP แล้ว เรายังมีการพัฒนาดัชนีความเชื่อมั่น เพื่อใช้เป็นเครื่องชี้สำคัญในการติดตามพัฒนาการของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องด้วย โดยทุกเดือน ธปท. จะสำรวจความเชื่อมั่นในปัจจุบันและในอีก 3 เดือนข้างหน้า ทั้งจากภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน
ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (Business Sentiment Index: BSI) จัดทำขึ้นโดยการสำรวจผู้ประกอบการในทุกภาคธุรกิจ ครอบคลุมทั้งในมิติของประเภทและขนาดของธุรกิจ เพื่อช่วยให้การประเมินและติดตามการฟื้นตัวของธุรกิจ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ แนวโน้มการลงทุนและการจ้างงานในภาพรวมชัดเจนยิ่งขึ้น
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก (Retail Sentiment Index: RSI) เป็นการจัดทำร่วมกับสมาคมผู้ค้าปลีกไทย โดยสำรวจผู้ประกอบการค้าปลีกทั่วประเทศ ตั้งแต่ผู้ประกอบการรายใหญ่ไปจนถึงร้านค้าปลีกในหัวเมืองใหญ่ สามารถสะท้อนภาวะกำลังซื้อและความเชื่อมั่นของผู้บริโภคได้ทันต่อสถานการณ์
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม (Hotel business operator Sentiment Index: HSI) เป็นเครื่องชี้ล่าสุดที่ ธปท. ได้เริ่มจัดทำตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของโควิด 19 ร่วมกับสมาคมโรงแรมไทยเพื่อใช้ติดตามสถานการณ์ และแสดงให้เห็นถึงการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมและธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวอย่างใกล้ชิด
ดัชนีความเชื่อมั่นครัวเรือนฐานราก (Relationship Manager Sentiment Index: RMSI)เป็นเครื่องชี้ในการติดตามภาวะความเป็นอยู่ของครัวเรือนฐานราก ที่เป็นหน่วยเศรษฐกิจสำคัญของประเทศ เช่น เกษตรกร กลุ่มอาชีพอิสระ และผู้ค้าหาบเร่แผงลอย โดย ธปท. จัดทำร่วมกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ จากการประเมินของผู้จัดการสาขาธนาคารทั่วประเทศ ซึ่งช่วยทำให้ทราบถึงความเชื่อมั่นต่อรายได้ และภาระหนี้สินของครัวเรือนฐานรากทั้งในภาคเกษตรและนอกภาคเกษตร
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับ ดัชนีความเชื่อมั่น (Sentiment Indices) ของ ธปท. ได้ที่ FAQ_189.pdf (bot.or.th)
การลงพื้นที่เยี่ยมชมโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ปี 2566
การลงพื้นที่พบผู้ประกอบการในภาคการผลิตอาหารทะเลแปรรูป ปี 2565
การลงพื้นที่ภายใต้โครงการ ธปท. สัญจร (ภาคอีสาน) ปี 2566
โฆษณา